ร้อยกรองกาล การสำรวจประวัติศาสตร์อารยธรรมโบราณ ด้วยผลงานศิลปะร่วมสมัยอันละเมียดละไม

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ร้อยกรองกาล

การสำรวจประวัติศาสตร์อารยธรรมโบราณ

ด้วยผลงานศิลปะร่วมสมัยอันละเมียดละไม

ในมหกรรมศิลปะ Thailand Biennale Chiang Rai 2023

 

ในตอนนี้ขอต่อด้วยเรื่องราวของศิลปินที่มาร่วมแสดงงานใน มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ที่จังหวัดเชียงรายกันอีกคน

ในคราวนี้เป็นคิวของศิลปินชาวไทยผู้มีชื่อว่า จิตติ เกษมกิจวัฒนา ศิลปินร่วมสมัย ภัณฑารักษ์อิสระ และนักการศึกษา ผู้อาศัยและทํางานในกรุงเทพฯ

จิตติทำงานศิลปะที่อาศัยการวิจัยเป็นพื้นฐาน (Research-based art) ด้วยการใช้ชุดข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และการทำงานที่เชื่อมโยงกับบริบทของพื้นที่อย่างแนบเนียน

ผลงานร้อยกรองกาล ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน ภาพถ่ายโดยศิลปิน
ผลงานร้อยกรองกาล ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน ภาพถ่ายโดยศิลปิน

ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ครั้งนี้ จิตตินำเสนอผลงาน ร้อยกรองกาล : Kala Ensemble ซึ่งเป็นเหมือนส่วนต่อเนื่องของผลงาน ร้อยกรองไกร : Cinematic Ensemble of Kailash ในนิทรรศการโครงการทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 22 ในปี 2023 ที่ผ่านมา https://www.matichonweekly.com/column/article_730482

หากในครั้งนี้ จิตติหยิบเอาโบราณวัตถุสองสิ่งในอารยธรรมล้านนาอย่าง “หน้ากาล” (หรือ “เกียรติมุข” อสุรกายผู้ปกป้องดูแลรักษามิให้สิ่งชั่วร้ายเข้าไปภายในศาสนสถาน ในอีกนัยหนึ่ง “กาล” หรือ “กาละ” นั้นมีความหมายถึง “เวลา” ที่กลืนกินทุกสิ่งทุกอย่างอีกด้วย) และ กลองสะบัดชัย (หรือกลองปู่จา เครื่องเคาะจังหวะที่มีบทบาทในพิธีกรรมล้านนา) มาใช้เป็นแรงบันดาลใจพื้นฐานในการสร้างสรรค์ผลงานวิดีโอจัดวางและประติมากรรมจัดวางอันละเมียดละไมราวกับเป็นร้อยกรองหรือลำนำที่แฝงตัวอยู่ในพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงแสนอย่างโดดเด่น

ทว่า แนบเนียนกลมกลืน

ผลงานร้อยกรองกาล ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน ภาพถ่ายโดย ศุภพงศ์ เหล่าธีรศิริ
ผลงานร้อยกรองกาล ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน ภาพถ่ายโดย นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์

“งานชุดนี้เริ่มต้นที่พระพุทธรูปปางเปิดโลก จากการที่ผมได้ไปสำรวจพื้นที่ของวัดป่าสัก และมีความสงสัยว่า ถ้าเมืองเชียงแสนเพิ่งถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาที่สร้างวัดนี้ขึ้น แล้ววัฒนธรรมหรือรูปแบบศิลปกรรมนั้นถูกพัฒนาขึ้นมาได้ถึงขนาดนี้ได้อย่างไร”

“ผมทำการสืบค้นว่า พระพุทธโลกปางเปิดโลก และเจดีย์วัดป่าสัก นั้นถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างไร จนกระทั่งได้ไปพบคุณเพ็ญสุภา สุขคตะ นักประวัติศาสตร์ศิลปะและนักวิจารณ์ศิลปะ ที่พาผมไปยังวัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน และได้เห็นเจดีย์สององค์ซึ่งเป็นต้นแบบของเจดีย์วัดป่าสัก ทำให้ผมได้รู้ว่าก่อนที่พญาแสนภูจะไปสร้างวัดป่าสักที่เชียงแสน ท่านได้มาครองเมืองหริภุญชัย”

“เท่ากับว่ารูปแบบของศิลปกรรมที่เราเห็นที่วัดป่าสักเชียงแสนนั้นเริ่มต้นที่หริภุญชัย จนกระทั่งล้านนาเข้าไปตีหริภุญชัย พญาแสนภูก็เอารูปแบบของเจดีย์ทั้งสอง ซึ่งเป็นรูปแบบทางศิลปกรรมที่พัฒนาในหริภุญชัยมาประกอบร่างกันเป็นเจดีย์วัดป่าสัก”

“ผลงานส่วนแรกของผมในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน ซึ่งเป็นส่วนขยายความเนื้อหาเกี่ยวกับการที่พื้นที่ของโลกธาตุที่พระพุทธเจ้ากล่าวถึงนั้นเป็นอย่างไร ภายในพิพิธภัณฑ์มีโบราณวัตถุ หุ่นปูนปั้นรูปหน้ากาล ซึ่งเป็นส่วนประกอบของสถาปัตยกรรมเจดีย์วัดป่าสัก”

“หน้ากาลที่ว่านี้เป็นอสุรกายที่มีแต่หัวและริมฝีปากบน เพราะหน้ากาลนั้นกลืนกินทุกสิ่งทุกอย่างแม้กระทั่งตัวเอง ซึ่งแสดงนัยยะถึงการที่กาลเวลานั้นกลืนกินทุกสิ่งทุกอย่าง”

“ผมใช้หุ่นปูนปั้นรูปหน้ากาลและพระพุทธรูปปางเปิดโลกเป็นจุดตั้งต้น และพยายามสืบค้นเส้นทางการเดินทางของวัฒนธรรมเหล่านี้ว่ามาจากไหน ด้วยความที่พิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่ที่ผู้คนเข้าไปดูโบราณวัตถุในระยะใกล้ และในพิพิธภัณฑ์มีหุ่นปูนปั้นหน้ากาล และพระพุทธรูปปางเปิดโลกจัดแสดงอยู่แต่เดิมแล้ว ผมก็สร้างภาพเคลื่อนไหวจัดวางเคียงคู่กับโบราณวัตถุทั้งสองชิ้นนี้ ให้เป็นการเล่าเรื่องในอีกมิติหนึ่ง เพื่อให้เห็นถึงการเคลื่อนตัวของเวลาและวัฒนธรรม ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร”

ผลงานร้อยกรองกาล ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน ภาพถ่ายโดย DDMY Studio

ชุดข้อมูลเหล่านี้ถูกแสดงผ่านผลงานวิดีโอจัดวาง 2 จอ ติดตั้งในมุมจัดแสดงศิลปะวัตถุโบราณของวัดป่าสัก ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน โดยจอแรกนำเสนอภาพเคลื่อนไหวของหน้ากาล ที่ใช้เทคนิคการขึ้นรูปด้วยโปรแกรมดิจิทัล 3 มิติ ที่มีต้นแบบจากหุ่นปูนปั้นหน้ากาลจากวัดป่าสัก และหน้ากาลรูปแบบต่างๆ ที่มีต้นแบบมาจากศิลปกรรมหลากยุคสมัยและวัฒนธรรมบนเส้นทางสายไหม

ในขณะที่จอที่สองนำเสนอรูปลายเส้นหน้ากาลจากวัดป่าสัก โดยมีถ้อยคำประกอบใต้ภาพที่เขียนคำว่า “พระเจ้าเปิดโลก” ในภาษาต่างๆ ทั้งภาษาโบราณจนถึงภาษาปัจจุบัน รวมถึงภาพแอนิเมชั่นที่ดัดแปลงมาจากภาพ จักรวาลที่สังเกตการณ์ได้ (Observable universe) ของปาโบล คาร์ลอส บูดาสซี่ (Pablo Carlos Budassi) ที่ถือว่าเป็นภาพที่แสดงสันฐานของจักรวาลได้อย่างใกล้เคียงที่สุดในปัจจุบัน

ภาพจักรวาลที่ว่านี้นี่เอง ที่เป็นตัวแทนของโลกธาตุในมิติต่างๆ ตามคติใน จูฬนิกาสูตร ในพระไตรปิฎก ที่ว่าด้วยโลกธาตุขนาดเล็กและจักรวาลจำนวนนับพันนับหมื่นจักรวาล ซึ่งเทียบได้กับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเอกภพ และแนวความคิดเรื่องปริภูมิ-เวลา (Spacetime) ที่ใช้ในการอธิบายการทำงานของเอกภพทั้งในระดับใหญ่กว่าดาราจักรและเล็กกว่าอะตอม

นอกจากวิดีโอจัดวางทั้งสอง ด้านข้างพระพุทธรูปปางเปิดโลก ยังมีประติมากรรมแผ่นทองเหลืองทรงกลมจารึกลวดลายไดอะแกรมที่ขยายความเชื่อเกี่ยวกับโลกธาตุและจักรวาลตามพุทธคติจัดแสดงอยู่ด้วย

ลักษณะการวนลูปไปมาของภาพเคลื่อนไหวในวิดีโอจัดวางทั้งสองจอ และลวดลายเวียนบนแผ่นทองเหลืองทรงกลม ยังทำให้ผู้ชมนึกถึงคติทางศาสนาพุทธอย่าง สังสารวัฏ หรือวัฏจักรอันไม่มีจุดเริ่มต้นหรือจุดสิ้นสุดของสัตว์โลกที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพภูมิ หรือโลกธาตุต่างๆ ไปชั่วกัปชั่วกัลป์

ผลงานร้อยกรองกาล ในวัดป่าสัก ภาพถ่ายโดย GroundControl
ผลงานร้อยกรองกาล ในวัดป่าสัก ภาพถ่ายโดย GroundControl

ส่วนวลี “พระเจ้าเปิดโลก” ในงานชิ้นนี้ก็ยังเชื่อมโยงกับประวัติที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับลงมายังโลกมนุษย์ หลังเสร็จสิ้นการขึ้นไปแสดงพระธรรมโปรดพุทธมารดาและเหล่าเทพยดาบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จนก่อให้เกิดแสงสว่างส่องให้ทุกภพภูมิมองเห็นซึ่งกันและกันได้ และคำสอนของพระพุทธเจ้านี่เองที่จะนำพาสัตว์โลกให้พ้นไปจากสังสารวัฏและการเวียนว่ายตายเกิดอันไม่มีที่สิ้นสุด

“ผลงานในส่วนที่สอง จัดแสดงในพื้นที่ของโบราณสถานวัดป่าสัก ในเชียงแสน ความน่าสนใจของวัดป่าสักในเชียงแสนคือ ถ้าเราย้อนกลับมาดูประเด็นเกี่ยวกับพระพุทธรูปปางเปิดโลก ผมก็ตั้งคำถามว่า ‘โลก’ คืออะไร? โลกในความหมายของคนในอดีต นั้นไม่ใช่โลกแบบเดียวกับที่เราเข้าใจในสมัยนี้ หากแต่คือ โลกธาตุ และเราก็อยากรู้ว่า โลกธาตุ มีขนาดเท่าไร ผมก็เลยไปสืบค้นดู และพบว่า โลกธาตุ คือหนึ่งกาแล็กซี่ ที่ประกอบด้วย ดวงอาทิตย์ 1,000 ดวง เขาพระสุเมรุ 1,000 ลูก มีทวีปและมหาสมุทรหลายพันแห่ง ฯลฯ เท่ากับในหนึ่งโลกธาตุ นั้นประกอบด้วยหลายสิ่งหลายอย่างจำนวนมาก ไม่ได้เป็นความคิดเชิงเดี่ยว เป็นพื้นที่แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่ประกอบด้วยสิ่งต่างๆ หลายพันสิ่ง นี่คือโลกธาตุขนาดเล็ก ความนัยที่ว่านี้ทำให้ผมพบว่า ความเข้าใจเรื่องพื้นที่และเวลา ระหว่างคนในยุคอดีตกับคนในยุคปัจจุบันนั้นต่างกันมาก เพราะเวลาและพื้นที่ของคนในอดีตนั้นไม่มีที่สิ้นสุด”

“ส่วนประเด็นเกี่ยวกับเชียงแสน ด้วยความที่เชียงแสนเคยเป็นเมืองหน้าด่านที่คอยกั้นไม่ให้อาณาจักรอื่นรุกรานเข้ามา ทั้งพม่า หรือจีนในยุคมองโกล ความเป็นเมืองหน้าด่าน เมืองชายขอบ เมืองชายแดน ทำให้มีการไหลเวียน เคลื่อนที่ของผู้คนตลอดเวลา ทำให้ผมสันนิษฐานว่า น่าจะมีชาติพันธุ์อยู่ในพื้นที่นี้มาก่อน อย่างเช่น ที่เรารู้จักก็มีชาวโยนกในตำนาน หรือชาติพันธุ์ที่ผสมผสานระหว่างไทยกับลาว ไทยกับพม่า ไทยกับไทใหญ่ มีชาติพันธุ์หลากหลายก่อนหน้าที่จะมีการแบ่งอาณาเขตชัดเจนแบบในปัจจุบัน”

“ผมอยากเอาเรื่องราวเหล่านี้มาแสดงในวัดป่าสักผ่านการใช้อักขระตัวอักษร เพราะวัฒนธรรมของชาติพันธุ์เหล่านี้เกิดการพัฒนาจนสามารถประดิษฐ์ตัวอักษรใช้เองได้ แสดงว่าพวกเขามีวิวัฒนาการ ในบางชาติพันธุ์อาจจะมีแค่ภาษาพูด แต่มีบางชาติพันธุ์ที่พัฒนาจนประดิษฐ์ภาษาเขียนขึ้นมาได้”

“แต่ในทุกวันนี้มีคนรู้จักภาษาเขียนเหล่านี้น้อยลง ผมจึงอยากทำงานที่เปิดเผยสิ่งที่คนไม่เห็นและอาจจะถูกหลงลืมเหล่านี้ให้ปรากฏแก่สายตาผู้ชมในวัดป่าสัก คนที่อาจจะไปเที่ยวโบราณสถาน ชมเจดีย์ ไหว้พระในวัดป่าสัก ก็จะมีโอกาสได้เห็นตัวอักษรโบราณ บางคนก็สามารถสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อเรียนรู้คำแปล และที่มาที่ไปของภาษาเหล่านี้ได้”

“โดยอักขระเหล่านี้มีเนื้อหาเป็นถ้อยคำเดียวกันที่คัดลอกและแปลมาจาก จูฬนิกาสูตร โดยเป็นการร่วมงานกับอาจารย์พอพล สุกใส ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในการแปลพระสูตรออกมาเป็นอักขระโบราณ 12 ภาษา”

ผลงานร้อยกรองกาล ในวัดป่าสัก ภาพถ่ายโดย GroundControl
ผลงานร้อยกรองกาล ในวัดป่าสัก ภาพถ่ายโดย GroundControl

สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ถูกนำเสนอผ่านผลงานศิลปะจัดวางที่ติดตั้งบนพื้นที่กลางแจ้งของวัดป่าสัก ศาสนสถานเก่าแก่ ที่เป็นจุดรวมของศิลปกรรมหลากหลายยุคสมัย ทั้งพุกาม ล้านนา สุโขทัย รวมถึงอิทธิพลจากศิลปะขอมและจีน บนลานจัดแสดงบริเวณระหว่างเจดีย์กับซากพระอุโบสถหลังเดิม ประกอบด้วยประติมากรรมทองเหลืองทรงกลมที่มีต้นแบบมาจากกระจกเงาทองเหลืองโบราณ และหน้ากลองสะบัดชัย ที่ติดตั้งอยู่บนเสา 12 ต้น บนแผ่นทองเหลือง ด้านหนึ่งจารึกรูปหน้ากาล อีกด้านจารึกอักขระโบราณหลากภาษาอันแปลกตาเอาไว้

ที่น่าสนใจก็คือตัวประติมากรรมที่ว่านี้มีลูกเล่นที่ทำให้สามารถพลิกหมุนไปมาได้ ดูๆ ไปก็ทำให้นึกไปถึงกงล้ออธิษฐานของศาสนาพุทธนิกายวัชรยานของทิเบต ที่จิตติอ้างอิงถึงไปในนิทรรศการ ร้อยกรองไกร ที่ผ่านมาอยู่ไม่หยอกเหมือนกัน

เมื่อมองผลงานประติมากรรมกระจกเงาทองเหลืองในรูปของผลงานศิลปะร่วมสมัยอันแวววาวมลังเมลืองบนพื้นที่ที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพังของศาสนสถานโบราณอายุนับพันปี ก็ทำให้อดนึกไม่ได้ว่า หรือนี่จะเป็นประตูมิติหรือประตูแห่งกาลเวลาที่จะนำพาผู้คน ประวัติศาสตร์ และสถานที่อันหยุดนิ่งในกาลเวลาแห่งนี้เดินทางไปสู่อนาคตข้างหน้าอันไกลโพ้นก็เป็นได้.

มิตรรักแฟนศิลปะท่านใดสนใจสัมผัสกับผลงาน “ร้อยกรองกาล : Kala Ensemble” ของ จิตติ เกษมกิจวัฒนา ก็สามารถมาเยี่ยมชมกันได้ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566-30 เมษายน 2567 ในพื้นที่แสดงงาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน ค่าเข้าชม 100 บาท เปิดวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. และ วัดป่าสัก ค่าเข้าชม 50 บาท เปิดทุกวันเวลา 08.00-17.00 น.

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.chittik.net/kala-ensemble.html

ผลงานร้อยกรองกาล ในวัดป่าสัก ภาพถ่ายโดย ณัฐกมล ใจสาร

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์