ศัพทานุกรมอำนาจนิยม : ลัทธิไม่เสรีนิยม (illiberalism) (ตอนกลาง)

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

ศัพทานุกรมอำนาจนิยม

: ลัทธิไม่เสรีนิยม (illiberalism)

(ตอนกลาง)

 

ศาสตราจารย์มาร์เลน ลารูเอล ชาวฝรั่งเศสผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซียศึกษาและผู้อำนวยการโครงการศึกษาลัทธิไม่เสรีนิยม แห่งมหาวิทยาลัยยอร์จ วอชิงตัน สหรัฐ (https://www.illiberalism.org/about-illiberalism-studies-program/) ยังได้อธิบายขยายความเพิ่มเติมไว้โดยพิสดารในบทความปริทัศน์ “Illiberalism : a conceptual introduction”, East European Politics, 38: 2 (2022), 303-327 ตอนหนึ่งว่า :

“คำนิยามลัทธิไม่เสรีนิยมที่อรรถาธิบายไว้ในบทความนี้เป็นดังนี้คือ :

“1) ลัทธิไม่เสรีนิยมเป็นเอกภพใหม่ทางอุดมการณ์ซึ่งถึงแม้จะเป็นลัทธิความเชื่อที่มีลักษณะลื่นไหลและตั้งอยู่บนบริบทอันเฉพาะเจาะจง แต่กระนั้นก็เป็นปึกแผ่นมีเอกภาพในบางระดับ

“2) มันเป็นตัวแทนปฏิกิริยาตอบโต้ต่อเสรีนิยมทุกวันนี้ในตัวบทอันผันแปรไปหลากหลายทั้งหมดของมัน ไม่ว่าจะเป็นทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ภูมิรัฐศาสตร์ หรืออารยธรรม โดยบ่อยครั้งมันกระทำในนามของหลักการประชาธิปไตยและด้วยการช่วงชิงการสนับสนุนของมหาชนมาได้

“3) มันนำเสนอทางออกที่ยึดเสียงข้างมากเป็นที่ตั้ง ยึดชาติหรืออำนาจอธิปไตยเป็นศูนย์กลาง นิยมชมชอบลำดับชั้นเหลื่อมล้ำต่างๆ ตามประเพณีและความบรรสานกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันทางวัฒนธรรม

“มันเสนอที่จะฟื้นฟูอธิปไตยแห่งชาติในปริมณฑลอันหลากหลาย กล่าวคือ ในปริมณฑลสากลด้วยการปัดปฏิเสธบรรดาสถาบันเหนือชาติและพหุภาคีทั้งหลายโดยยกประโยชน์ให้แก่รัฐชาติที่มีอธิปไตยแทน ในปริมณฑลเศรษฐกิจด้วยการประณามทัศนะดั้งเดิมแบบเสรินียมใหม่และส่งเสริมลัทธิปกป้องทางการค้าในระดับรัฐชาติ (ขณะเดียวกัน เมื่อกุมอำนาจได้ บางทีมันก็ดำเนินการปฏิรูปแบบเสรีนิยมใหม่เสียฉิบ) และในปริมณฑลทางวัฒนธรรมด้วยการปัดปฏิเสธลัทธิพหุวัฒนธรรมและสิทธิชนกลุ่มน้อยโดยยกประโยชน์แก่ลัทธิเสียงข้างมากแทน

“ลัทธิเสียงข้างมากที่ว่านี้ยื่นเสนอวิสัยทัศน์เพศสัมพันธ์ ‘ตามประเพณีเดิม’ (สิ่งที่ถูกนิยามว่า ‘ตามประเพณีเดิม’ นั้นครอบคลุมแบบแผนการปฏิบัติอันกว้างไพศาลขึ้นอยู่กับบริบทท้องถิ่น) และวิสัยทัศน์ของชาติที่ – ไม่ว่าจะเป็นแบบสารัตถนิยม ชาติภูมินิยมหรือลัทธิกลืนกลายก็ตาม – เลือก หยิบยกเอามาจากชาตินิยมซึ่งการแบ่งแยกระหว่างเกไมน์ชาฟต์ (Gemeinschaft หรือวิถีหมู่บ้านชนบท) กับ เกเซลล์ชาฟต์ (Gesellschaft หรือวิถีสังคมเมืองสมัยใหม่) และเห็นว่าเกเซลล์ชาฟต์เป็นเพียงผลผลิตของเกไมน์ชาฟต์เท่านั้น

“4) มันเรียกร้องให้เปลี่ยนย้ายจากการเมืองไปสู่วัฒนธรรมและมีลักษณะหลัง-หลังสมัยใหม่ (post-postmodern) ค่าที่มันกล่าวอ้างถึงการยึดติดรากเหง้าในยุคสมัยโลกาภิวัตน์”

(https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/21599165.2022.2037079)

 

กล่าวได้ว่าพร้อมกับการเติมแต่งคำวิเศษณ์ว่า “ไม่เสรี” ในแนวคิด “ระบอบประชาธิปไตยไม่เสรี” ของฟารีด ซาคาเรีย ให้กลายเป็นคำนาม “ลัทธิไม่เสรีนิยม” (โดยเติม -ism ต่อเข้าไปท้ายคำ) นัยของมันก็พอกพูนหนาขึ้นกลายเป็นลัทธิความเชื่อซึ่งเค้าโครงของมันสามารถผันแปรไปในสังคมการเมืองของแต่ละประเทศได้ แง่มุมของลัทธิไม่เสรีนิยม 2 ประการซึ่งค่อนข้างแพร่หลายในประเทศต่างๆ ได้แก่ การปัดปฏิเสธการอพยพเข้าเมืองและไม่ยอมรับสิทธิของชนส่วนน้อยทางเพศ

(อนึ่ง ชนส่วนน้อยทางเพศได้แก่ LGBTQIA : ย่อจาก Lesbian (หญิงรักหญิง), Gay (ชายรักชาย), Bisexual (คนฝักใฝ่สองเพศ), Transgender (คนข้ามเพศ), Questioning (คนที่ยังไม่แน่ใจในเพศ), Intersex (เพศกำกวม), Asexual (คนไม่ฝักใฝ่ทางเพศ) ดูเพิ่มเติมใน https://www.amnesty.or.th/latest/blog/669/; https://www.gqthailand.com/culture/article/intersex-and-art; https://themomentum.co/asexuality-movement/)

นอกจากนี้ ก็อาจมีทีทรรศน์ความเชื่ออื่นเป็นองค์ประกอบผสมผสานเข้ามา ที่โดดเด่นได้แก่การดูหมิ่นดูแคลนเหล่าบรรทัดฐานกับสถาบันระหว่างประเทศทั้งหลาย รวมทั้งอาจนำไปสู่การคัดค้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจด้วย

กล่าวโดยทั่วไปแล้ว ลัทธิไม่เสรีนิยมต้องการให้คนส่วนใหญ่/เสียงข้างมากสามารถยัดเยียดทัศนะของตนแก่สังคมได้ ขณะที่การตรวจสอบถ่วงดุลและหลักนิติธรรมกลับถูกบั่นทอนให้อ่อนเปลี้ยลง

ความที่ลัทธิไม่เสรีนิยมวิพากษ์วิจารณ์หลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของปัจเจกบุคคล ทำให้มันละม้ายใกล้เคียงกระแสปฏิกิริยาที่ปฏิเสธบรรดาค่านิยมของการปฏิวัติฝรั่งเศสอย่างเช่นลัทธิสากลนิยมมหาชน (Universalisme r?publicain ที่ถือว่ามีเอกภาพในเผ่าพันธุ์มนุษย์อันพ้นเกินไปกว่าความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมของแต่ละสังคม ดู https://www.reseau-canope.fr) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ลัทธิไม่เสรีนิยมก็ฉีกตัวเองออกมาจากคริสต์ศาสนาแบบปฏิกิริยา (เช่นแนวคิดของโจเซฟ เดอ แมสตร์, 1753-1821, นักคิดนักเขียนอิงคริสต์ศาสนาผู้ต่อต้านการปฏิวัติฝรั่งเศส www.britannica.com/print/article/358824) ตรงที่ไม่ตั้งอยู่บนฐานลัทธินิยมศาสนาขั้นมูลฐานใดๆ อาทิ มารีน เลอ เปน ผู้นำพรรคฝ่ายขวาจัดของฝรั่งเศสก็ปกป้องโครงการการเมืองไม่เสรีนิยมของเธอโดยไม่อ้างอิงธรรมเนียม คริสต์ศาสนานิกายคาทอลิก เป็นต้น

 

ในบรรดาผู้นำการเมืองไม่เสรีนิยมปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีวิกตอร์ ออร์บาน แห่งฮังการี (1998-2002, 2010-ปัจจุบัน) แหลมคมเด่นชัดกว่าเพื่อนตรงที่ประกาศรับสมอ้างฉายา “ไม่เสรีนิยม” ออกมาโต้งๆ ตรงๆ ในคำปราศรัยต่อค่ายเยาวชนและมหาวิทยาลัยเสรีฤดูร้อน ณ เมืองไบเล ตุสนาด ประเทศโรมาเนีย เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2014 ว่า : (ดูภาพประกอบ https://budapestbeacon.com/full-text-of-viktor-orbans-speech-at-baile-tusnad-tusnadfurdo-of-26-july-2014/)

ออร์บานถือว่าลัทธิเสรีนิยมส่งเสริมความเห็นแก่ตัวของปัจเจกบุคคลและลัทธิไม่ถือชาติไร้รกราก มันสร้างสังคมที่พลเมืองแตกตัวเป็นอะตอมและถือพหุวัฒนธรรม ชอบอ้างสิทธิโดยไม่ยอมรับหน้าที่พึงมีใดๆ ต่อชุมชนชาติกับรัฐ ชนชั้นนำของฮังการีและหลายประเทศยุโรปตะวันออกช่วงสองทศวรรษหลังสงครามเย็นยุติได้หลุดลอยไปจากชาติที่เป็นจริง พร้อมกับการแพร่ระบาดเข้ามาของลัทธิเสรีนิยมใหม่กับทุนนิยมโลกนั้น ลัทธิปัจเจกนิยมกับลัทธิสุญนิยมทางศีลธรรมก็ผงาดขึ้นมา

ออร์บานนำเสนอระเบียบวาระของการสร้าง “รัฐไม่เสรีนิยม” โดยหยิบยืมจากที่ปรึกษาคนหนึ่งของเขาชื่อ กีลา เตลลาร์ ลัทธิไม่เสรีนิยมนี่แหละจะเป็นคำตอบต่อความล้มเหลวนานัปการของเสรีนิยม มันจะเป็นสังคมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการทำงานโดยงานจะเป็นตัวกำหนดคุณค่าของปัจเจกบุคคลแต่ละคน เสียงข้างมากจะกำหนดทิศทางของประเทศ บนพื้นฐานคุณค่าอนุรักษนิยมอันเข้มแข็ง

 

ในระดับสากล ออร์บานได้ยกตัวอย่างสิงคโปร์ จีน รัสเซียและตุรกีในฐานะเหล่าประเทศที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจโดยไม่จำต้องเดินตามตัวแบบระบอบรัฐสภาเสรีนิยมคลาสสิคที่ยึดตะวันตกเป็นศูนย์กลาง จีนกับตัวแบบเอเชียเป็นแรงดลใจหลักที่ออร์บานมักหยิบมาเอ่ยถึงเป็นประจำ

ท่าทีอหังการ์ของออร์บานในการตีกินตีกลืน “ประชาธิปไตย” ไปประกบกับ “ลัทธิไม่เสรีนิยม” ของตนอย่างหน้าตาเฉยทำให้ ฟลูรอง กีนาร์ด ศาสตราจารย์ปรัชญาแห่งมหาวิทยาลัย Paris-Est-Cr?teil เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญคับขันที่จะต้องจำแนกแยกแยะแนวโน้มเผด็จการอำนาจนิยมออกจากประชาธิปไตยให้ชัดเจนเพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนที่ว่านี้ ด้วยการขยายนิยามความหมายของโครงการสร้างประชาธิปไตยให้ครบเครื่องลุ่มลึกที่สุดในทางปรัชญา กล่าวคือ :

“ประชาธิปไตยไม่ใช่เป็นแค่ชุดหีบห่อของกระบวนการเลือกตั้งเท่านั้น หากยังบรรจุเอาคุณค่าเรื่องความเสมอภาค เสรีภาพและความยุติธรรมทางสังคมไว้ในตัวมันเองอีกด้วย” (https://www.lemonde.fr/idees/article/2023/09/06/illiberalisme-une-doctrine-qui-defend-la-majorite-au-detriment-de-l-etat-de-droit_6188018_3232.html)

(ต่อสัปดาห์หน้า)