หย่าศึกอาชีวะให้จบที่รุ่นเรา ยุติมหากาพย์ ‘อุเทน-ปทุมวัน’ หยุดรับ น.ศ.-ย้ายออกกรุงเทพฯ

ความรู้สึกคนกรุงเทพฯ โล่งอกขึ้นเมื่อทราบแผนจากปากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่าอาจย้ายอาชีวะคู่ขัดแย้งออกนอกเมือง ลดปัญหาตีกัน

แม้ไม่ระบุ แต่รู้ทันทีว่าหมายถึง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกวิทยาเขตอุเทนถวาย (มทร.อุเทนถวาย) ที่เป็นคู่ขัดแย้งสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน หรือช่างกลปทุมวัน

ตามด้วยการสำทับ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ให้อุเทนถวายต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ย้ายออกจากพื้นที่ของจุฬาฯ ภายใน 60 วัน หลังจากมีคำสั่งศาล แต่ยังยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน

รมว.อว.บอกว่า ต้องย้ายไปยังวิทยาเขตใหม่ เพื่อลดความรุนแรงในการปะทะที่จะเจอกัน

งานนี้ตำรวจจะเป็นเจ้าภาพนัดคุยกับทุกหน่วยงานเพื่อเริ่มแผนการย้าย ไม่มีกรอบเวลา แต่ต้องทำให้เร็วที่สุด

อย่างน้อยต้องไม่รับนักศึกษาปีหนึ่งใหม่ ทั้งหมดได้สั่งการไปยังอธิการบดีแล้ว

 

ว่ากันว่าปฐมเหตุที่เป็นตัวการสำคัญความขัดแย้งสองสถาบัน น่าจะเป็นเหตุการณ์การใช้ระเบิดขวดขว้างปาใส่กันในการแข่งขันฟุตบอลระหว่างสถาบัน ที่สนามกีฬาแห่งชาติ เมื่อปี 2511

หลังจากนั้นความขัดแย้งได้ปะทุขึ้น แต่ละปีจะมีเรื่องราวความรุนแรงผู้บาดเจ็บ ล้มตาย สะสมมาถึงปัจจุบันถือว่ามีจำนวนมาก กลายเป็นความแค้นที่มีอยู่ในใจแต่ละฝ่ายต่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย

จนในที่สุดเกิดเหตุการณ์คดีนักเรียน-นักเลงไล่ฆ่ากลางกรุง เมื่อ 11 พฤศจิกายน 2566 ปฏิเสธไม่ได้ว่า เกิดแนวร่วมของผู้คนต่างต้องการให้ย้ายสถาบันอาชีวะที่เป็นคู่ขัดแย้งออกนอกกรุงเทพฯ ไปให้พ้นๆ

ถ้าจำกันได้ เช้าวันฝันร้าย เริ่มจากนายอนาวิน แก้วเก็บ หรือ “อั้ม” ผู้ต้องหาซ้อนท้ายจักรยานยนต์นายอับดุลเลาะ หรือ “เลาะ” ดือราแม มายิงนายธนสรณ์ หรือน้องหยอด ห้องสวัสดิ์ อายุ 19 ปี นักศึกษาปี 2 อุเทนถวาย

แล้วคมกระสุนพลาดโดน น.ส.ศิรดา สินประเสริฐ หรือครูเจี๊ยบ ครูสอนคอมพิวเตอร์โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ เสียชีวิต เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน แล้วต่อมาน้องหยอดเสียชีวิตตาม

ผ่านไป 2 สัปดาห์ 22 พฤศจิกายน 2566 พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. ได้สั่งการบุกตรวจค้นจับกุมผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด แล้วทยอยจับกุมรวมผู้ต้องหา 32 ราย เหลือ “ไอ้เลาะ” คนเดียวที่ยังหลบหนีอยู่

พบว่าเป็นรูปแบบ ‘องค์กรอาชญากรรม’ กระทำเป็นขบวนการ ไล่ฆ่าเก็บแต้มนักศึกษาต่างสถาบันโดยมีเฟืองประทับแขนประกาศศักดา เมื่อก่อเหตุแล้วจะมีทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันให้ความช่วยเหลือ

มีสถานที่เป็นแหล่งซ่องสุม รวมนักศึกษาที่พ้นสภาพแต่ไม่มีงานทำ สร้างโลกเสมือนจริง ตั้งกลุ่มดึงนักศึกษาปัจจุบันเข้าร่วมสร้างคุณค่าให้คนที่เข้ามาด้วยการไปทำร้ายนักศึกษาสถาบันคู่อริ

นอกจากนี้ หนึ่งในผู้ที่ถูกจับกุมมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ยิงนักศึกษาอุเทนถวาย ที่หน้าจุฬาฯ เมื่อช่วงต้นปี 2566 เนื่องจากมีแผนประทุษกรรมคล้ายคลึงกันและพยานหลักฐานชัดเจน

 

ต่อมาเมื่อ 26 มกราคม เกิดการเอาคืนของกลุ่มเด็กช่าง ทราบว่าเป็นนักศึกษาอุเทนถวาย 2 คน และพ้นสภาพไปแล้ว 7 คน รวมพลยกพวกบุกไปถึงหน้าสถาบันช่างกลปทุมวัน บุกกระหน่ำแทงนายวราวุธ หรือเร ขันคำนอก อายุ 25 ปี นักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ปวส.1 ช่างไฟฟ้า เสียชีวิต

ถัดมา 30 มกราคม ตำรวจนครบาล เปิดปฏิบัติการปิดเมืองล่ามือฆ่านักศึกษาปทุมวัน กระจายกำลังตรวจค้น 7 จุด พื้นที่เป้าหมายในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ล่าตัวผู้ก่อการและบีบให้ทยอยมอบตัวจนครบ 9 คน แจ้งข้อหา “ร่วมกันฆ่า”

มีจุดสำคัญคล้ายสถาบันคู่ขัดแย้งคือมีเซฟเฮาส์เป็นสถานที่ซ่องสุมรวมตัว และมีการพ่นสีข้อความวันสถาปนาสถาบัน 1 กุมภาพันธ์ ไว้ที่กำแพง

ปฏิบัติการทั้งวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 และ 26 มกราคมที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการทลายจอมปลวกองค์กรอาชญากรรมช่างกลอย่างถอนรากถอนโคน เพื่อไม่ให้เป็นแบบอย่าง และยังสร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้กับประชาชน

 

สถานการณ์ขณะนี้ ความขัดแย้งระหว่าง “อุเทนถวาย” และ “ช่างกลปทุมวัน” ไปสู่ทิศทางดีขึ้น

ความเขม็งเกลียวการเผชิญหน้าของนักศึกษาทั้งสองแห่งเริ่มผ่อนคลาย โดย พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. ได้ประสานกับผู้บริหารทั้งสองสถาบัน ขอไม่ให้ลูกศิษย์ที่โดนไล่ออก ที่เรียกว่า “ผี” มายุ่มยามในสถานศึกษาช่วงเวลากลางคืน และวันหยุด โดยแยกนักศึกษาปัจจุบันออกมาไม่ให้ยุ่งเกี่ยวตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ผู้ปกครองยังให้ความร่วมมือกับตำรวจมากขึ้น เมื่อก่อนต่างไม่รู้ว่าบุตรหลานมีพฤติกรรมอย่างไร

แต่หลังเกิดเหตุครูเจี๊ยบ และน้องหลอด เสียชีวิต ตำรวจได้ดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เหมือนกระชากหน้ากาก ทำให้ทุกคนต้องดูแลและเฝ้าระวังบุตรหลานมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ศิษย์เก่าที่เรียนสำเร็จการศึกษาไปแล้ว ถือว่าเป็น “น้ำดี” แต่ละสถาบันให้ข้อมูลกับตำรวจว่าใครเป็นหัวโจก ดีกว่าแต่ก่อนมากที่ไม่เคยให้ความร่วมมือ

 

“คีย์แมน” ตำรวจที่ทำคดีนี้ ให้ข้อมูลว่า “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับทั้งสองสถาบัน ตำรวจนครบาลได้ดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด แจ้งข้อหา ‘ซ่องโจร’ ผู้เกี่ยวข้องคดีฆ่าน้องหลอด และเมื่อนำตัวฝากขัง ปรากฏว่า ศาลก็ไม่ได้ให้ประกัน ทำให้แนวร่วมแต่ละสถาบันเริ่มถอยออกมา”

“ถ้าเปรียบเทียบความเป็นองค์กรอาชญากรรมย่อยของสองสถาบันมีความคล้ายคลึง แต่โลกเสมือนของช่างกลปทุมวันน่ากลัวกว่า มีสัญลักษณ์ฟันเฟืองบนแขนซ้าย ที่พบในผู้ต้องหาบางคน ทราบว่าถ้าใครฆ่าคู่อริตายจะประทับให้ ทราบว่าทำมานานเป็น 10 ปีแล้ว”

อย่างกรณีการจับกุมผู้เกี่ยวข้องฆ่าน้องหลอด ครูเจี๊ยบนั้น ได้จับกุมถึง 32 ราย ถือว่ามากที่สุดเท่าที่เคยจับกุมมา พบว่าเป็นแบบอาชญากรรมกลุ่มย่อย มีการปลุกปั้นรุ่นน้อง มีมือปืน และวางแผนฆ่า แล้วหลบหนีอย่างเป็นระบบ มีผู้ช่วยสนับสนุนการหนี มีการช่วยเหลือระหว่างดำเนินคดี

จากนี้ไปการบังคับใช้กฎหมายจริงจังเข้มงวด ถ้าพบกระทำความผิด เช่น กรณีซ่อนมีดไว้ในรองเท้า ตำรวจตรวจเจอเมื่อวันสถาปนาสถาบัน นอกจากดำเนินคดีแล้วจะทำประวัติไว้ เพื่อให้ไม่กล้าทำอีก มิฉะนั้นจะเสียอนาคต

ท้ายที่สุดแนวทางที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งสองสถาบันนี้ คือการย้ายอุเทนถวายออกไปตามคำสั่งศาลปกครอง…เป็นคำสรุปนายตำรวจที่รับผิดชอบคดีนี้