ค่านิยมการเลี้ยงดูลูก กลุ่มพ่อแม่เจนวาย ที่กำลังเปลี่ยน ตอกย้ำต้องเร่ง ‘รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า’

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ในช่วงเดือนที่ผ่านมาผมมีโอกาสติดตามกลุ่มสนทนาออนไลน์เรื่องการเลี้ยงลูก โดยเฉพาะกับกลุ่มที่มีลูกเล็ก อายุน้อยกว่า 6 ปี

ในฐานะที่อยู่ในระบบการศึกษาทุกระดับมาหลายปี ผมต้องบอกว่าผมเห็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ ถึงแม้ว่าความใส่ใจของพ่อแม่ต่อการเลี้ยงลูกจะมีมาทุกยุคทุกสมัย หลายคำอธิบาย หลายสำนัก แต่การเปลี่ยนแปลงที่ผมเริ่มเห็นมีความน่าสนใจไม่น้อย

และดูเหมือนจะไม่ได้เป็นค่านิยมเฉพาะกลุ่ม หรือเฉพาะฐานะทางเศรษฐกิจเฉพาะแต่อย่างใด

เมื่อพิจารณาไปที่พ่อแม่ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี หรือกล่าวสั้นๆ อาจหมายถึงกลุ่มพ่อแม่ Gen-Y ซึ่งมีทัศนะที่เปลี่ยนไปจนน่าจะเป็นส่วนใหญ่ แตกต่างจากรุ่นพ่อแม่ของพวกเขาเมื่อประมาณ 30-40 ปีก่อน หรือแม้แต่เมื่อเปรียบเทียบกับพ่อแม่ที่มีลูกโตแล้ว อยู่ในระดับมัธยม หรือมหาวิทยาลัย

สาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและความคิดทางสังคมครั้งใหญ่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

ความคิดของพ่อแม่ต่อกลุ่มลูกเล็กวัย 0-6 ปีดูแตกต่างไปจากยุคก่อนแบบเห็นได้ชัด

ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถบอกว่าเป็นค่านิยมหลักของสังคม แต่จากการสังเกตของผมค่านิยมเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและไม่จำกัดที่ชนชั้นทางเศรษฐกิจของพ่อแม่ด้วย

โดยผมลองลิสต์ประเด็นสำคัญที่เห็นว่าน่าสนใจในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

 

1.ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับลูก

ค่านิยมความกตัญญูและความคาดหวังให้ลูกดูแลพ่อแม่ไม่ทางใดทางหนึ่งเป็นลักษณะหลักของสังคมไทยมานับศตวรรษ

ปัจจุบันคนอายุ 30-50 ปี นับเป็น Sandwich Generation ที่ดูแลทั้งคนรุ่นใหม่ และประชากรวัยเกษียณ ทั้งในทางสถิติและในความรู้สึก

ความสัมพันธ์ที่คนวัยทำงานแบกรับคนวัยเกษียณที่หนักอึ้งไม่เคยราบรื่น ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูกในสังคมที่ระบบสวัสดิการไม่ดีนักก็ลำบากไม่แพ้กัน

อย่างไรก็ตาม จากการสังเกตของผมก็พบว่า ในกลุ่มพ่อแม่ที่มีลูกอายุน้อยกว่า 6 ปี ไม่ว่าพ่อแม่จะยากจน ร่ำรวย ก็ไม่คาดหวังว่าเป็นหน้าที่ลูกต้องมาดูแลพ่อแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติทางเศรษฐกิจ ไม่คิดว่าลูกต้องตอบแทนจากการเลี้ยงดู

พ่อแม่ต้องพยายามรับผิดชอบวางแผนการเงินเอง หรือแม้กระทั่งต่อสู้เรียกร้องจากรัฐเอง

ความคิดที่ว่าลูกเป็นเพื่อน เป็นกัลยาณมิตร ได้รู้จักสัมพันธ์กันในช่วงหนึ่ง หากรักกันก็สัมพันธ์กันไปตลอดชีวิต ถ้าไม่ผูกพันธ์สัมพันธ์กันก็ไม่เป็นไร ลูกไม่ใช่หน่วยลงทุน ในอนาคต ก็เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น

 

2.ความคาดหวังต่อลูก

เป็นปกติของพ่อแม่ หรือมนุษย์ทั่วไป ย่อมมีความคาดหวังต่อคนที่เรารู้จัก และยิ่งกับลูก จะไม่ให้มีความคาดหวังเลยได้อย่างไร?

แต่ที่สังเกตก็จะพบว่า ความคาดหวังที่เราคุ้นชินในอดีตหลายสิบปีก่อนที่ อยากให้ลูกเรียนหนังสือเก่ง มีความสามารถ ชนะการแข่งขัน มีงานการที่ร่ำรวยมั่นคง มีคู่ครองที่ดี แม้จะยังปรากฏอยู่แต่ไม่ได้เป็นกระแสหลักของการเลี้ยงลูก

เพราะเหมือนพ่อแม่ก็ตระหนักได้ว่า วันหนึ่งลูกก็ต้องดิ้นรนอยู่รอดในโลกนี้ได้อยู่ดีตามเส้นทางที่ลูกเลือก

แต่ความคาดหวังสำคัญดูเรียบง่ายมากขึ้น คือ พ่อแม่รุ่นใหม่ส่วนมากอยากให้ลูกมีความสุข มากกว่าลูกที่ร่ำรวยหรือประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางไหนของชีวิตก็ตาม

และดูแล้วพ่อแม่ส่วนมากเลิกเอาความคิด ความคาดหวังของตนในเรื่องอาชีพ และความสำเร็จที่ตนคุ้นเคยไปผูกกับลูก มีความเคารพชีวิตกันมากขึ้น

และหากพูดถึงคุณลักษณะส่วนมากที่อยากให้ลูกเป็น ไม่ใช่เป็นคนเก่ง หรือคนเอาตัวรอด แต่อยากให้เป็นคนที่ใจดี เห็นอกเห็นใจ และเจ็บปวดกับผู้อื่น

ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้ลูกเป็นที่รักตามบรรทัดฐานอื่นอย่างไร้ความหมาย ไม่ว่าจะเป็นความสวย ความเก่ง หรือนิสัยใจคอ เท่ากับการให้ลูกเป็นตัวของตัวเองที่มีความสุข

 

3.ประเด็นสุดท้ายที่เห็นว่าน่าสนใจ เมื่อเทียบกับ 20 ปีก่อนผมพบว่า ครอบครัวให้ความสำคัญกับคุณค่าวัตถุนิยมอย่างชัดเจน ซึ่งมันมาพร้อมกันกับ ค่านิยม Pay to Win หรือการจ่ายเพื่อชนะ จ่ายเพื่อการศึกษา เพื่อซื้อสังคม เพื่อเพิ่มโอกาส ฯลฯ

ค่านิยมนี้ยังคงอยู่อย่างชัดแจ้งในสังคมที่ไร้สวัสดิการและเหลื่อมล้ำนี้

แต่สัญญาณที่ดีผมพบว่า คนปริมาณมากขึ้นๆ ทั้งมีฐานะมั่นคงและไม่มั่นคง ต่างไม่มองว่าเรื่องนี้ปกติ แม้จะอยู่ส่วนหนึ่งในนั้น แต่ไม่คิดจะปลูกฝังค่านิยมนี้ให้ลูกต่อไปในอนาคตแน่นอน

ทั้งหมดนี้ผมไม่ได้หมายความว่าเป็นค่านิยมหลักของสังคมโดยสิ้นเชิง หรือไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่รุ่นใหม่จะไม่สร้างปัญหาต่างๆ ตามมาให้แก้อีก เพราะก็ถือเป็นเรื่องปกติของพัฒนาการในสังคมมนุษย์

ไม่ได้หมายความว่าแนวทางในอดีตมันไม่ดี มันก็เหมือนโทรศัพท์บ้านเป็นสิ่งที่ก้าวหน้าในยุคหนึ่งและยกระดับชีวิตมนุษย์ได้ แต่เราก็ต้องการเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เหมาะกับสังคมที่เปลี่ยนไป

ดังนั้น เรื่องใหญ่ที่เราต้องคิดกัน เมื่อพ่อแม่ และครอบครัวคาดหวังให้ลูกเติบโตมาในสังคมที่โอบอุ้มและใจดีต่อกัน เราเองก็จำเป็นต้องร่วมแรงกันต่อสู้ให้ “รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า” เกิดขึ้นได้ในยุคสมัยของลูกหลานเราให้ได้

เราอาจไม่ได้เห็นไม่ได้ใช้มัน แต่ลูกหลานเรามีโอกาสได้เห็นได้ใช้มันอย่างแน่นอน