ทุนล็อตเตอรี่สู้ ‘โลกร้อน’

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ชาวเมืองบุ๊ด (Bude) อยู่ปลายแหลมด้านตะวันตกเฉียงใต้ในเขตปกครอง “คอร์นวอลล์” รู้สึกภูมิใจกับฉายา “มัลดีฟส์” แห่งอังกฤษ ด้วยภูมิทัศน์ริมฝั่งทะเลที่สวยงาม คลื่นเหมาะกับการเล่นวินด์เซิร์ฟ มีสระน้ำทะเลขนาดใหญ่ และโตรกผาสูงให้ท้าทาย

มาวันนี้ชาวเมืองได้รวมใจเป็นหนึ่งเดียวเพื่อหาวิธีป้องกันไม่ให้เมืองนี้จมอยู่ใต้ทะเลในอีก 30 ปีข้างหน้า

โครงการร่วมมือเพื่อ “บุ๊ด” สู้โลกร้อน ที่มีนายโรเบิร์ต อูลิก เป็นผู้อำนวยการ เป็นการจับมือระหว่างสภาเมือง คณะกรรมการท่องเที่ยว กลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ช่วยกันเขียนแผนปฏิบัติการป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลังจากเห็นปรากฏการณ์พายุพัดถล่มและอุณหภูมิที่ร้อนผิดปกติในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

เมื่อ 2 ปีก่อนพายุไซโคลนยูนิซ (Eunice) ความเร็วลมราว 196 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พัดกระหน่ำเมืองบุ๊ดอย่างหนักหน่วง แรงลมกระชากต้นสนมอนเทอรี่ไซเปรสขนาดใหญ่อายุราว 100 ปี ตั้งอยู่กลางใจเมืองล้มครืน

เหตุการณ์ครั้งนั้นได้สร้างความสะเทือนใจกับชาวเมืองอย่างมากเพราะทุกปีเมื่อถึงช่วงเทศกาลคริสต์มาส ชาวเมืองจะช่วยกันตกแต่งประดับต้นสนไซเปรสต้นนี้อย่างสวยงาม

ความรู้สึกสูญเสีย “ต้นสน” ซึมลึกจนสภาเมืองบุ๊ดทนไม่ไหวต้องลุกขึ้นมาช่วยฟื้นฟูจิตใจประชาชนด้วยการเสนอหั่นต้นไซเปรสน้ำหนัก 23 ต้นมาตัดแต่งเป็นเก้าอี้ยาว 2.5 เมตร 6 ตัวพร้อมกับออกแบบเก้าอี้ให้มีรูปลักษณ์เหมือนแนวคลื่นทะเล กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำเมือง

ชายหาดครุกเล็ตส์ในเมืองบุ๊ด ได้ชื่อว่า มัลดีฟส์แห่งอังกฤษ ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น (ที่มา : สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งอังกฤษ)

ไซโคลนยูนิซไม่เพียงสร้างความสูญเสียให้กับเมืองบุ๊ด แต่เมืองอื่นๆ ในอังกฤษได้รับความเสียหายอย่างหนักหน่วงเช่นกัน นับเป็นพายุไซโคลนที่ถล่มอังกฤษรุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

“อูลิก” บอกกับสำนักข่าวบีบีซีว่า ได้เห็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อเมืองบุ๊ด ซึ่งชาวเมือง 70 เปอร์เซ็นต์พึ่งพาธุรกิจท่องเที่ยว ฉะนั้น การป้องกันเมืองเป็นเรื่องจำเป็นในขณะที่ภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วรุนแรง

แผนปฏิบัติการสู้กับภาวะโลกร้อนที่ “อูลิก” ร่วมกับชาวเมืองบุ๊ดยื่นให้กองทุนล็อตเตอรี่เพื่อสภาพภูมิอากาศแห่งชาติของอังกฤษและได้รับคัดสรรเป็นเงิน 2 ล้านปอนด์ (ราว 100 ล้านบาท) ตั้งแต่ปีที่แล้ว มีระยะดำเนินงาน 5 ปี มีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้เมืองบุ๊ดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

ชาวเมืองบุ๊ดแบ่งหน้าที่กันทำ บางกลุ่มช่วยกันไปปลุกสร้างจิตสำนึกของผู้คนให้รวมตัวเป็นชุมชนแข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

บางกลุ่มไปฝึกเด็กๆ รุ่นใหม่เพื่อช่วยดูแลป้องกันความปลอดภัยของนักเล่นวินด์เซิร์ฟขณะที่มีคลื่นลมแรง

หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของเมืองบุ๊ด ทำหน้าที่ป้อนข้อมูลสถิติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อจำลองภาพเมืองบุ๊ดในอนาคตว่าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร คอมพิวเตอร์คำนวณพบว่า ถ้าหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นดังปัจจุบัน เมืองบุ๊ดในอีก 30 ปีข้างหน้าจะจมอยู่ใต้น้ำ

เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อม นำภาพถ่ายสถานที่ริมชายฝั่งทะเลเมืองบุ๊ดที่มีหาดครุกเล็ตส์อันเลื่องชื่อ มีร้านกาแฟ ร้านอาหารดังๆ อยู่ใกล้ๆ มีสโมสรวินด์เซิร์ฟ และลานจอดรถมาเปรียบเทียบกับภาพจำลองอนาคตในอีก 30 ปี ซึ่งสถานที่ที่ระบุมานั้นน้ำทะเลเอ่อท่วมหมด

ภาพเปรียบเทียบดังกล่าวนี้ ชาวเมืองบุ๊ดเห็นแล้วช็อก แต่เชื่อว่ามีความเป็นไปได้

“ลิซ เทย์เลอร์” เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมบอกว่า การสร้างภาพจำลองเมืองบุ๊ดอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้เรารู้อนาคตของเมือง

ในกลุ่มที่ทำงานด้านการท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืน ร่วมกันคิดหาวิธีดึงนักธุรกิจและชุมชนช่วยกันปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ๆ เช่น การนำเอาพลังงานสะอาดเข้ามาใช้ในธุรกิจให้มากขึ้น เปลี่ยนระบบไฟฟ้าเป็นโซลาร์เซลล์ ช่วยลดต้นทุนและประหยัดพลังงาน

ภาพจำลองชายหาดครุกเล็ตส์ในเมืองบุ๊ด ในอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้าเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น จนแหล่งท่องเที่ยวจมอยู่ใต้ทะเลแทบหมดสิ้น (ที่มา ; สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งอังกฤษ)

นอกเหนือจากเงินกองทุนล็อตเตอรี่แล้ว “บุ๊ด” ยังได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณจากรัฐบาลอังกฤษอีก 3 ล้านปอนด์สำหรับการนำไปใช้ในการวางแผนโยกย้ายอาคารชุมชนและการปรับสภาพเมืองรับมือกับภาวะโลกร้อน

เมืองบุ๊ดตั้งคณะลูกขุนเชิญชาวเมือง 40 คนมาร่วมกันคิดหาวิธีทางธรรมชาติรับมือกับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งส่วนใหญ่ตระหนักรู้แล้วว่า คลื่นทะเลมีความรุนแรงเกรี้ยวกราดและเมื่อพายุมาคลื่นแต่ละลูกสูงมาก

ชาวเมืองบุ๊ดที่ทำธุรกิจสปา พยายามสนับสนุนให้ลูกค้าหันมาท่องเที่ยวเชิงยั่งยืนมากขึ้น เช่น เช่าจักรยานปั่นดูเมือง หรือเดินทอดน่อง ท่องป่า ปีนเขาแทนการขับรถยนต์

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่คอร์นวอลล์ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง บางครั้งเกิดพายุน้ำท่วมหนัก น้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง คลื่นความร้อนที่รุนแรง จนสภาเมืองคอร์นวอลล์ต้องออกประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ เมื่อปี 2562

และเมื่อ 2 ปีที่แล้ว สภาแห่งคอร์นวอลล์มอบหมายให้คณะนักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศจัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในรายงานสรุปว่า ระดับน้ำทะเลในพื้นที่คอร์นวอลล์มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นถึง 1 เมตรภายในสิ้นศตวรรษนี้

ผมนำเสนอเรื่องนี้ แค่อยากจะให้สำนักงานสลากกินแบ่งของบ้านเรา คิดหาทางตั้งกองทุนดูแลป้องกันภาวะโลกร้อนเหมือนอังกฤษบ้างเพียงเท่านั้น •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]