Kiasu : ความ ‘กลัวแพ้’ ที่กลายเป็นวัฒนธรรมแห่งชาติ | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

ฝรั่งมีคำว่า FOMO (Fear of Missing Out) อันหมายถึงอาการของคนยุคนี้ที่กลัวจะ “ตกขบวนรถไฟ” หมายถึงจะตามเพื่อนไม่ทัน ใครมีอะไรก็ต้องมี ใครรู้อะไรก็ต้องรู้เท่ากัน รู้ช้ากว่ายังไม่ได้เลย

แต่สิงคโปร์เขาบอกว่าพฤติกรรมเยี่ยงนี้ของเขามีมาก่อนหน้านี้นานแล้ว

มันคือ kiasu (เกียซู)

มาจากภาษาจีนฮกเกี้ยน แปลตรงตัวว่า “ความกลัวแพ้”

“เกีย” แปลว่า “กลัว

“ซู” แปลว่า “แพ้”

เอ่ยคำนี้กับคนสิงคโปร์หรือมาเลเซียก็จะมีทั้งเสียงหัวเราะกับอาการซึมเศร้า

เพราะมันสะท้อนถึงอาการหลายอย่างในสังคมคนจีนในประเทศนั้นที่ต้องแข่งกันเอาชนะคะคานกันทุกเรื่อง

จะหมายถึงความรุนแรงและเข้มข้นของการแข่งขันทุกอย่างในชีวิตประจำวันก็ได้

หรืออาจจะออกไปในทางตำหนิติเตียนว่า “ไอ้หมอนี้ขี้เหนียวชะมัด” ก็ได้

และยังลามไปถึงการต่อว่าคนที่มีนิสัยเห็นแก่ตัว แม้การลัดคิวในที่สาธารณะหรือไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ใครเลย

เหมือนที่คนไทยบอก “กินไม่แบ่งแม้กับสุนัข” (แปลงให้สุภาพกว่าประโยคในชีวิตจริง)

หรือถ้าคุณยอมยืนเข้าแถวยาวเป็นชั่วโมงเพียงเพื่อรอรับของฟรี…นั่นก็ถูกเรียกเป็นพฤติกรรม “kiasu” ได้เฉกกัน

หรือถ้าคุณแสดงอาการจองโต๊ะในศูนย์อาหารที่พลุกพล่านด้วยการวางกระดาษทิชชู่หนึ่งห่อตอนที่คุณเดินออกไปตามหาเพื่อนมาร่วมโต๊ะ…นั่นคือคือ kiasu อีกเวอร์ชั่นหนึ่งเช่นกัน

“เกียซู” มาได้ทุกรูปแบบและคนทุกวัย

 

เช่นหากคุณเป็นผู้ปกครองที่ยอมใช้เวลาหลายชั่วโมงในโรงเรียนเพียงเพื่อให้ลูกหลานของคุณมีโอกายื้อแย่งลงทะเบียนเพื่อให้เข้าเรียนให้ได้ ก็เข้าข่ายอาการ kiasu อย่างปฏิเสธไม่ได้เหมือนกัน

เพราะคุณไม่เพียงแต่กลัวลูกหลานคุณ “แพ้” ลูกหลานคนอื่นเท่านั้น คุณยังกลัวจะ “แพ้” เพื่อนๆ ของคุณอีกด้วย

ภาษาที่บ้านผมเรียกว่า “พวกประสาทกิน” (นี่ก็ปรับลดความรุนแรงของภาษาแล้วเช่นกัน)

ทั้งหมดนี้ก็คือสัญชาตญาณในการ “เอาตัวรอด” ที่ฝังรากลึกในวัฒนธรรมจีนโดยเฉพาะในสังคมสิงคโปร์ที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดเลือดพล่าน

อีกทั้งยังตอกย้ำถึงความรู้สีก “ไม่มั่นคง” ลึกๆ ในสังคมที่สะกดคำว่า “เอื้ออาทร” ไม่เป็น

เป็นทัศนคติที่กลายเป็นความเชื่อว่าการปล่อยให้โอกาสที่จะได้อะไรมากกว่าคนอื่นผ่านไปเท่ากับเป็น “ความล้มเหลว” ของชีวิตที่ให้อภัยไม่ได้

จึงมีคำว่า Kiasuism อันหมายถึง “ลัทธิเกียซู”

และ Kiasuland (ดินแดนแห่งเกียซูซึ่งก็หมายถึงสิงคโปร์นั่นเอง)

 

ไม่เพียงแค่คุณจะตำหนิคนใกล้ชิดว่าเป็นคนใช้ไม่ได้ที่ไม่ฉวยโอกาสที่ผ่านมาหรืออยู่ต่อหน้าเท่านั้น แต่คุณยังตำหนิตัวคุณเองอย่างจริงจังอีกด้วย

เพื่อนสิงคโปร์คนหนึ่งบอกว่าข้ออ้างของคนบนเกาะแห่งนี้ที่ติดโรค kiasu ก็คือสิงคโปร์เป็นประเทศเล็กกระจิริดในโลกที่กว้างใหญ่ไพศาล

และเมื่อเกาะแห่งนี้มีทรัพยากรที่จำกัดเหลือเกิน ถ้าไม่ดิ้นรนต่อสู้เพื่ออนาคตของตัวเอง ใครจะช่วยคุณได้?

บทสนทนาของผมกับเพื่อนสิงคโปร์เรื่องนี้มีทั้งประเด็นขำขันและจริงจัง

ใครไม่เข้าใจความหมายของ kiasu ก็จะไม่เข้าใจคนสิงคโปร์ซึ่งก็ลามไปถึงเพื่อนบ้านมาเลเซียด้วยในหลายกรณี

เพราะ kiasu คือการผสมผสานของ “ลักษณะประจำชาติ” อย่างไม่เป็นทางการ

เป็นวิธีคิดและหลักปฏิบัติที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก

การแข่งกันไปถึงจุดสุดยอดที่มีพื้นที่จำกัดคือเหตุผลที่บ่มเพาะให้คนมีนิสัยที่ต้องแข่งขันในทุกเรื่อง

เพราะสังคมคาดหวัง พ่อแม่ตั้งเป้า ลูกหลานจึงต้องทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ต่ำกว่าความคาดหวัง

เริ่มต้นด้วยความคาดหวังของสังคมภาพรวม กดดันมาลงที่คนเป็นพ่อแม่ ซึ่งก็ส่งแรงกดดันนี้ลงไปที่เยาวชน

และไปสะท้อนออกในชีวิตการทำงานและแม้ในกิจกรรมประจำวัน

เป็นสาเหตุหนึ่งที่อดีตนายกฯ ลี กวน ยิว ผู้ก่อตั้งสิงคโปร์ต้องออกแผนรณรงค์ให้คนสิงคโปร์ “หัดยิ้ม” เสียบ้าง

เพราะคนทั้งเกาะเครียดเกินไป

แต่จะโทษใครไม่ได้นอกจากตัวผู้นำเองที่กระตุ้นเตือนให้คนสิงคโปร์ต้องสร้างอุปนิสัยของการพร้อมจะแข่งขันกับทุกคนในทุกกรณีเพื่อความอยู่รอด

จึงไม่ต้องแปลกใจว่าแม้แต่การ “ยิ้ม” ผู้นำยังต้องเป็นคนออกนโยบายให้ “แข่งกันยิ้ม”

 

ผมสังเกตว่าแม้แต่นโยบายต่างประเทศของสิงคโปร์ยังไม่รอดพ้นจากการเดินตามแนวทาง kiasu

ซึ่งแสดงออกในรูปแบบของการต้องแข่งกับชาติอื่นในเรื่องการทูตและการสร้างเสริมศักยภาพทางด้านกองทัพตลอดเวลา

ผู้นำสิงคโปร์มักจะแสดงจุดยืนในลักษณะที่ว่าโลกใบนี้โหดร้าย ประเทศที่อยู่รอดจากปากเหยี่ยวปากกาคือชาติที่ต้องฉวยทุกโอกาสที่จะแย่งชิงจังหวะและสร้างความได้เปรียบในทุกๆ ด้าน

“อย่าให้ใครแย่งกินอาหารมื้อเที่ยงของคุณ”

Don’t let anyone eat your lunch

คือหลักคิดที่ผู้นำสิงคโปร์สอนสั่งผู้คนในแวดวงต่างๆ ตลอดเวลา

อาจจะเป็นที่มาของแนวทางที่ดูเหมือนแข็งกร้าว, ไร้เพื่อน และโอหังอหังการในบางจังหวะ

 

หากคุยกับคนรุ่นก่อนเก่าที่สิงคโปร์ ก็จะได้รับรู้ถึงบทเรียน kiasu ที่ได้ช่วยสร้างชาตินี้จากเกาะเล็กๆ ที่ไร้ทรัพยากรใดๆ มาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของโลก

ที่ทำให้ลี กวน ยิว ประกาศในหนังสือ “From Third World to First World” อย่างภาคภูมิใจ

มีความหมายซ่อนอยู่ลึกๆ ในแนวคิดนี้ว่าหากไม่มีนิสัย kiasu สิงคโปร์ก็คงจะยังคงเป็นประเทศโลกที่สามที่ต้องพึ่งพาเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียเพื่อความอยู่รอดแล้ว

อาจจะด้วยความมั่นใจอย่างสูงยิ่งว่า kiasu คือปรัชญาที่ใช้สร้างประเทศได้ จึงทำให้คนสิงคโปร์ไม่รู้สึกมีปมด้อยที่เคยถูกอดีตผู้นำอินโดนีเซียกล่าวถากกางว่า

“Singapore is just a little red dot on the map”

(สิงคโปร์เป็นแค่จุดสีแดงเล็กๆ บนแผ่นที่โลก)

แทนที่จะตอบโต้ด้วยความแค้นเคือง ผู้นำสิงคโปร์กลับพลิกจุดอ่อนนี้เป็นความภาคภูมิใจว่า

“นี่ไง ไอ้จุดแดงเล็กๆ นี้ไงที่ทำให้คุณต้องกลัวเรา”

 

ไปๆ มาๆ kiasu ไม่ใช่แค่เรื่องแซวกันเล่นเท่านั้น แต่มีการทำงานวิจัยศึกษาข้อดีข้อเสียของพฤติกรรรมเช่นนี้อย่างเอาจริงเอาจังกันเลยทีเดีย

นักวิชาการที่ผมรู้จักวิเคราะห์ว่าในแง่บวก kiasu มีความโยงใยที่สร้างแรงจูงใจอันแกร่งกล้า

ซึ่งนำไปสู่การประสบความสำเร็จในหน้าที่งานการไม่น้อย

“ความกลัวที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” หรือ “ความหวาดหวั่นที่จะพลาดโอกาส” เป็นแรงผลักดันให้แต่ละคนทำงานหนัก

นำไปสู่การตั้งเป้าหมายที่ทะเยอทะยาน และมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศในด้านต่างๆ ของชีวิต

นักวิจัยที่นั่นมองว่า kiasu สร้างจิตวิญญาณแห่งการแข่งขันกระตุ้นให้แต่ละคนทำทุกอย่างแบบสุดสุด เพื่อสร้างผลงานให้เหนือกว่าคู่

สะท้อนได้จากการสร้างความสามารถในการแข่งขันที่สะท้อนได้ชัดจากความสำเร็จทางวิชาการ ความก้าวหน้าในอาชีพ และการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว

ก่อให้เกิดสิ่งที่คนสิงคโปร์ภูมิใจว่าเป็น “วัฒนธรรมของการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง”

 

นักวิเคราะห์ที่นั่นมองด้วยว่า kiasu ทำให้เกิดการปรับตัวและความยืดหยุ่นเพราะแนวคิดอย่างนี้สร้างความพร้อมของคนสิงคโปร์ในการแสวงหาเส้นทางใหม่ๆ และสร้างทักษะใหม่ๆ เพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง

อีกทั้งการยอมรับการปรับเปลี่ยนตลอดเวลาทำให้เกิดความพร้อมที่จะตั้งรับความท้าทายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้น

แต่แน่นอนว่า kiasu ก็ทำให้เกิดผลลบต่อสังคมมากมายหลายด้าน

ที่ชัดเจนที่สุดคือการทำให้คนทั้งเกาะสั่งสมความเครียดทุกรูปแบบ

“ความกลัวที่จะสูญเสียความได้เปรียบ” นำไปสู่อาการหงุดหงิดเมื่อไม่ได้ดั่งใจ และมีระดับความวิตกกังวลส่วนบุคคลที่มีระดับสูงกว่าผู้คนชาติอื่นๆ

นิสัยการแสวงหาความสำเร็จอย่างไม่หยุดยั้งส่งผลให้คนสิงคโปร์กดดันตนเองจนกลายเป็นประชากรไร้ความสุข

ทุกความคาดหวังอยู่ในระดับสูงกว่าเพื่อนบ้าน…และเมื่อไม่ได้ตามที่มุ่งหวังก็พาลหาเรื่อง

กลายเป็นคนไม่น่าคบไปเลยในหลายๆ กรณี

ที่เห็นได้ชัดคือ kiasu ทำให้เกิดวัฒนธรรมวัตถุนิยมและบริโภคนิยมอย่างน่ากังวล

เพราะพฤติกรรมอย่างนี้ให้ความสำคัญกับการครอบครองวัตถุและการแสวงหาวิถีชีวิตที่โน้มเอียงไปทางด้านสุดขั้ว

และเมื่อมีวิธีคิดแบบ “ใครมีฉันก็ต้องมี” ก็เป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมบริโภคนิยมล้นเกิน

เป็นการเปิดช่องทางให้เกิดการไม่สนใจเรื่องจริยธรรมและความเหมาะควรในพฤติกรรม “ฉันล้มเหลวไม่ได้ ฉันแพ้ไม่ได้”

นำไปสู่การทำทุกอย่างเพียงเพื่อบรรลุเป้าหมาย…โดยไม่สนใจวิธีการที่จะนำไปสู่ “ความสำเร็จอันพึงปรารถนา” นั้น

(สัปดาห์หน้า : มี Kiasu ก็ต้องมี Kiasi)