สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด : ความดีงามเล็กๆ ใน Bangkok Design Week (1)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด

: ความดีงามเล็กๆ

ใน Bangkok Design Week (1)

 

ภายใต้คำวิจารณ์เชิงลบที่มากขึ้นทุกปีต่อการจัดงาน Bangkok Design Week (BDW) ซึ่งผมเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ปีนี้แทบไม่มีความกระตือรือร้นนักในการชมงาน

แต่ในฐานะคนที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนด้านการออกแบบ ก็จำเป็นต้องติดตามดูผลงานของนักสร้างสรรค์ต่างๆ อยู่บ้าง

แม้โดยภาพรวม (เฉพาะเท่าที่มีโอกาสไปชม) จะสวยงามเหมาะแก่การถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึกเหมือนเช่นทุกปี แต่ในเชิงเนื้อหากลับไม่สร้างความประทับใจเท่าที่ควร ซึ่งก็เป็นเช่นนี้ทุกปีเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม มีนิทรรศการขนาดเล็กมากๆ งานหนึ่งชื่อว่า “สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด : Thai Urban Mess Stack Things Everyday Architecture” ซึ่งในความเห็นส่วนตัวคือหนึ่งในงานที่อาจจะดีที่สุดของ BDW ปีนี้ (ไม่กล้าบอกว่าดีที่สุดเพราะไปดูไม่ครบทุกงาน)

และทำให้ผมยังไม่หมดหวังกับเทศกาลในลักษณะแบบนี้มากจนเกินไป

นิทรรศการ สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด : Thai Urban Mess Stack Things Everyday Architecture ในงาน BDW 2024
ที่มาภาพ : เพจ Everyday Architect Design Studio

สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด เป็นผลงานของ ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้ง Everyday Architect Design Studio ภายในนิทรรศการจัดแสดงภาพสเก๊ตช์จำนวน 365 รูป ซึ่งเป็นภาพวาดที่บันทึกและวิเคราะห์งานออกแบบเล็กๆ น้อยๆ ที่เราทุกคนต้องเคยเห็นอย่างแน่นอนในพื้นที่สาธารณะทั่วกรุงเทพฯ แต่ไม่เคยสนใจอย่างจริงจัง

และหลายครั้งอาจรำคาญ เพราะงานเหล่านี้ไม่สวยงาม หลายชิ้นรุกล้ำที่สาธารณะ และตั้งวางอย่างเกะกะข้างทาง

ชัชวาลอธิบายที่มาของงานชิ้นนี้ตอนหนึ่งว่า

“…แม้ว่าภาพลักษณ์ของสถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราดนั้นอาจจะดูไม่น่าสนใจ หลายคนไม่เห็นประโยชน์ในการนำไปต่อยอดแต่จากที่ทางผู้ทำวิจัยได้วาดภาพสถาปัตยกรรมเหล่านี้เก็บมาตลอด 1 ปี กลับทำให้เราเข้าใจถึงเงื่อนไขและปัญหาของเมืองที่ซ่อนอยู่แบบที่คาดไม่ถึง ที่มักมาพร้อมกับความคิดสร้างสรรค์และเทคนิคที่ยากจะคาดเดา และช่วยท้ายทายวิธีคิดและมุมมองของเหล่านักออกแบบหรือบุคคลทั่วไปทุกครั้งที่ได้เห็น…”

แม้งานทั้งหมดจะเรี่ยราดดูไร้ระเบียบ แต่สิ่งที่ชัชวาลทำคือการเข้าไปจัดระบบระเบียบให้แก่งานเหล่านี้ผ่านการวิเคราะห์และจัดหมวดหมู่อย่างน่าสนใจ จนผู้ชมสามารถมองเห็นแง่มุมที่คิดไม่ถึง

ที่สำคัญคือ ภายใต้ฝีมือการสเก๊ตช์ภาพที่ดีของชัชวาลได้เข้ามาช่วยทำให้งานออกแบบเหล่านี้ ดูน่ารักน่าเอ็นดู ควรค่าแก่การให้ความสนใจ

ภาพสเก๊ตซ์งานออกแบบ 365 ชิ้นในนิทรรศการสถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด
ที่มาภาพ : เพจ Everyday Architect Design Studio

นิทรรศการชุดนี้เป็นเสมือนการจัดแสดงงานออกแบบเมืองของนักสร้างสรรค์สามัญชนนิรนามที่สร้างงานอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในพื้นที่เมือง แต่ไม่เคยถูกมองเห็นและไม่เคยถูกนิยามว่าเป็นนักออกแบบตามความคิดกระแสหลัก ให้ได้มีโอกาสในการแสดงความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง

สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด หากเรียกในชื่ออย่างเป็นวิชาการก็อาจพูดได้ว่าคืองานออกแบบในลักษณะ urban vernacular ในสังคมร่วมสมัย เป็นงานออกแบบโดยคนที่ไม่ถูกนิยามว่าเป็นนักออกแบบ ใช้วัสดุที่เรี่ยราดราคาถูกในพื้นที่เมือง เช่น ก้อนอิฐ ท่อน้ำพลาสติก เชือกฟาง แผ่นพื้นสำเร็จ สังกะสี และสิ่งของเหลือใช้ ฯลฯ ในการแก้ไขปัญหาการใช้ชีวิตประจำวันในพื้นที่สาธารณะของเมืองที่เต็มไปด้วยปัญหาเล็กน้อยสารพัน ซึ่งผลลัพธ์ที่ปรากฏหลายชิ้นน่าทึ่งอย่างไม่น่าเชื่อ

งานออกแบบในงาน BDW ส่วนใหญ่ คือ การทดลองสร้างสรรค์พื้นที่ใหม่ ปรับเปลี่ยนพื้นที่เก่า หรือสร้างสรรค์ชิ้นงานศิลปะขึ้นมาใหม่ โดยสอดแทรกลงไปในพื้นที่เมืองเดิมเพื่อนำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของการพัฒนาเมือง แต่น่าเสียดายที่หลายผลงานกลับไม่เป็นเช่นนั้น หลายชิ้นกลายเป็นเพียงสิ่งแปลกปลอมในพื้นที่ที่ชวนให้ถ่ายภาพเพียงอย่างเดียว

แต่นิทรรศการสถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราดวางสถานะตัวเองเสมือนเป็นเพียงคิวเรเตอร์ที่นำงานออกแบบเล็กๆ น้อยๆ ที่มีอยู่แล้ว (แต่คนไม่สนใจ) มาอธิบายด้วยเทคนิควิธีการใหม่ (ภาพสเก๊ตช์ที่สวยงามน่ารัก) เพื่อให้เรา (คนชั้นกลางที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของ BDW) ได้รู้จักกับความฉลาดของคนธรรมดาสามัญที่อยู่นอกคนชั้นกลาง โดยเฉพาะกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพฯ ที่ไม่ค่อยเอื้อประโยชน์แก่พวกเขามากนัก

ดังนั้น นิทรรศการสถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด จึงแตกต่างมากจากงานส่วนใหญ่ของ BDW

แน่นอน การนำเสนองานที่ผ่านการคัดกรอง จัดระเบียบ วิเคราะห์ และทำให้สวยงามตามมาตรฐานความงามกระแสหลักแบบคนชั้นกลางของชัชวาล ในด้านหนึ่งก็อาจเป็นการลดทอนความจริงจนกลายเป็นการสร้างความดีและความงามที่เกินจริง

จนสุดท้ายอาจกลายเป็นเพียงการ romanticize งานออกแบบเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของคนธรรมดาให้ดูยิ่งใหญ่เกินจริง

แต่จากการชมงานและฟังคำอธิบาย ผมคิดว่าตัวนิทรรศการยังไม่เดินไปถึงจุดนั้น และก็หวังว่าการพัฒนานิทรรศการชุดนี้ไปสู่งานรูปแบบอื่นๆ ในอนาคต จะสามารถรักษาสปิริตและสมดุลในแบบที่นิทรรศการชิ้นนี้ได้นำเสนอเอาไว้ได้

 

ภายใต้จำนวนชิ้นงาน 365 ชิ้นที่ถูกแบ่งออกเป็น 12 กลุ่มย่อยซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์กันไปมา (คงไม่สามารถอธิบายรายละเอียดในบทความนี้ได้ หากสนใจตามไปดูได้จากเพจ Everyday Architect Design Studio)

ผมมองเห็นงานออกแบบกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจมาก เป็นงานออกแบบในพื้นที่สาธารณะ เช่น ทางเดินเท้า รั้วกำแพง เสาไฟฟ้า ตรอกซอกซอย ฯลฯ ที่ตามกฎเกณฑ์มาตรฐานสากล ควรเป็นพื้นที่ที่แชร์ใช้ร่วมกันของคนทุกกลุ่มโดยปราศจากการเข้ายึดครองจนกลายเป็นพื้นที่ส่วนตัว

แต่งานออกแบบกลุ่มนี้ถูกสร้างขึ้นโดยมีเป้าหมายในการเข้าไปยึดครองใช้งานพื้นที่สาธารณะเหล่านั้นในแบบส่วนตัว ทั้งแบบชั่วคราวและกึ่งถาวร

หรือที่คนทั่วไปเรียกว่าการบุกรุกพื้นที่สาธารณะนั่นแหละครับ

สิ่งที่น่าสนใจคือ วิธีการออกแบบการบุกรุกที่แนบเนียนและเชื่อมฝังไปกับองค์ประกอบเดิมของเมืองจนเราแทบไม่ทันสังเกต เป็นการบุกรุกที่พยายามจะซ่อนการบุกรุกของตนเอง ซึ่งไม่ว่าจะเกิดขึ้นด้วยแนวคิดที่แท้จริงอย่างไร เพราะตัวผู้จัดเองก็ไม่ได้ทำการสัมภาษณ์คนที่ทำเอาไว้

แต่สิ่งที่ปรากฏชวนให้คิดว่างานออกแบบเหล่านี้ (อาจจะ) เกิดขึ้นจากความพยายามที่จะทำให้ตัวเองไม่กลายเป็นเป้าสายตาจากสาธารณะมากจนเกินไปจนทำให้ตนเองต้องถูกเพิกถอนสิทธิ์ที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้องในการบุรุกพื้นที่สาธารณะ

 

งานเหล่านี้ส่วนใหญ่เราทุกคนน่าจะเคยผ่านตากันมาทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น การถอดโครงเหล็กที่เป็นเพิงขายของออกเป็นชิ้นๆ โดยนำไปมัดรวมแนบอยู่กับเสาหรือต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะ ในลักษณะที่ทำให้พื้นที่สาธารณะดังกล่าวกลายเป็นที่เก็บของส่วนตัวของตนเอง

การทำเช่นนี้ทำให้ไม่ต้องขนย้ายเพิงขายของกลับไปกลับมาทุกวัน แต่ใช้วิธีฝากเอาไว้ในพื้นที่สาธารณะโดยการพรางตัวเองอย่างแนบแน่นจนแทบไม่มีใครสังเกตเห็น

การใช้ประโยชน์จากรูบนเสาไฟฟ้าสาธารณะให้กลายเป็นราวแขวนของของตนเองโดยการสอดไม้ยาวเข้าไปในช่องกลางเสาไฟฟ้า ซึ่งสามารถถอดเก็บได้ทันที รวดเร็ว และไร้ร่องรอย

หรือความพยายามในการสร้างพื้นที่นั่งรอลูกค้าของวินมอเตอร์ไซค์บนฟุตปาธบางแห่งที่มีลักษณะแนบตัวและเชื่อมผสานไปกับเสาผนังและฟุตปาธมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งทำให้การบุกรุกแลดูไม่บุกรุกมากจนเกินไป

หรือความพยายามขยายพื้นที่ขายของและพื้นที่วางสินค้าของตนเองลงบนทางเดินสาธารณะผ่านการสร้างโครงสร้างแขวนในรูปแบบต่างๆ ที่ยึดโยงเข้ากับกำแพงหรือเสาไฟฟ้า โดยโครงสร้างเหล่านี้สามารถพับแนบแอบซ่อนกลืนไปกับผนังหรือดึงเก็บกลับบ้านได้โดยง่าย

นิทรรศการนี้ในด้านหนึ่ง แสดงให้เราเห็นถึงความฉลาดในการออกแบบและปรับใช้พื้นที่เมือง ซึ่งหลายชิ้นทำให้เราถึงกับต้องอุทานออกมาว่าคิดได้ยังไง

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ชวนให้เรามองไปไกลกว่านั้น มองไปเห็นความป่วยไข้ในวิธีคิดและการออกแบบพื้นที่สาธารณะในเมืองที่ผ่านมา ว่าอาจะไม่ได้สะท้อนความต้องการในการใช้ชีวิตอย่างแท้จริงและครอบคลุมทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมมากพอ

จนทำให้ผู้คนเป็นจำนวนมากต้องสร้างสิ่งที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราดขึ้นมา