‘หนานบัวผัน’ จิตรกรเอกแห่งวัดหนองบัว-วัดภูมินทร์ เป็นชาว ‘ไทลื้อ’ หรือ ‘ไทพวน’?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

บทความนี้ดิฉันอยากนำเสนอสองประเด็น

ประเด็นแรก ภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารวัดภูมินทร์ อันลือลั่นของเมืองน่านนั้น จิตรกรผู้วาดใช่คนเดียวกันกับ “หนานบัวผัน” คนที่วาดภาพในวิหารวัดหนองบัว หรือไม่?

กับอีกประเด็นคือ ชาติพันธุ์ของหนานบัวผัน จิตรกรเอกแห่งเมืองน่านผู้นี้ ตกลงแล้วเขาเป็นชาว “ไทลื้อ” หรือว่า “ไทพวน” กันแน่?

จิตรกรรมฝาผนังวัดหนองบัว ภาพพระพุทธเจ้าปางไสยาสน์ โปรดสังเกตลีลาการวางช่วงขา ริ้วจีวร และกรอบฟูก เป็นทรงเดียวกันกับวัดภูมินทร์
จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ พระพุทธเจ้าปางปรินิพพาน การจัดวางองค์ประกอบเหมือนกันกับที่วัดหนองบัว

วินัย ปราบริปู ศิลปินเอกเมืองน่าน

คือผู้เปิดประเด็นเรื่องหนานบัวผัน

การที่ดิฉันรู้สึกสนใจสองประเด็นนี้ ก็เนื่องมาจาก ทุกครั้งที่พานักศึกษาสาขามีเดีย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ช่วงที่เป็นอาจารย์พิเศษที่นั่นระหว่างปี 2555-2563) ไปทัศนศึกษาที่เมืองน่านเป็นประจำทุกปีนั้น

1 ในสถานที่ที่ต้องพานักศึกษาไปเยี่ยมเยือนเสมอก็คือ “หอศิลป์ริมน่าน” ณ ที่แห่งนี้เอง เราจะได้พบกับศิลปินผู้มีชื่อเสียงระดับชาติ นาม “วินัย ปราบริปู” รุ่นพี่ดิฉันที่มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่เราอยู่ต่างคณะกัน พี่วินัยจบภาควิชาประยุกต์ศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์

ไม่ว่ากี่ครั้งต่อกี่ครั้งที่ดิฉันพานักศึกษาไปเยี่ยมชมขอความรู้จากพี่วินัย ณ หอศิลป์ริมน่าน หากไม่สุดวิสัย ไม่เหลือบ่ากว่าแรงจริงๆ ไม่ว่าพี่วินัยจักอยู่แห่งหนไหน ไกลแสนไกล เมื่อรู้ว่าคณะเรามา แกต้องรีบบึ่งรถกลับมารับหน้าที่บรรยายนำชมงานศิลปกรรมทุกชิ้นด้วยตัวเองทุกครั้งไป

ทั้งนี้ พี่เขารู้ดีว่าการจะสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กเรียนศิลปะวัยละอ่อนเช่นนี้ ควรได้รับพลังสัมผัสจากศิลปินตัวเป็นๆ จึงจักบังเกิดสุนทรียรสอย่างถึงแก่น

ดิฉันตั้งข้อสังเกตว่า พี่วินัยมักให้ความสำคัญต่อห้องนิทรรศการพิเศษในอาคารขนาดเล็กๆ ซึ่งตั้งอยู่ริมน้ำน่าน ด้านนอกของห้องจัดแสดงหลัก มากกว่าที่จะให้นักศึกษาหมกมุ่นอยู่กับงานศิลปกรรมร่วมสมัย โดยอาคารหลังนั้น นำเสนอเรื่องราวของจิตรกรผู้วาดภาพฝาผนังวัดภูมินทร์และวัดหนองบัว

“ผมอยากให้นักศึกษารู้จักจิตรกรบรมครูแห่งเมืองน่านนาม ‘หนานบัวผัน’ ยิ่งพวกเราเรียนศิลปะ ลองมาช่วยกันวิเคราะห์ดูสิว่า ทฤษฎีที่ผมนำเสนอนั้นถูกต้องหรือไม่ คือก่อนหน้านั้น เราไม่เคยรู้ชื่อเสียงเรียงนามเลยว่าใครคือผู้วาดภาพฝาผนังวิหารวัดภูมินทร์ เอกสารทุกเล่มมักระบุว่าเป็นจิตรกรนิรนาม แต่ผมกลับเชื่อมั่นว่า จิตรกรผู้นั้นหาใช่ใครที่ไหนไม่”

“เขาก็คือคนเดียวกันกับ ‘หนานบัวผัน’ คนที่ฝากผลงานไว้ที่วัดหนองบัวนั่นเอง”

ศิลปินวินัย ปราบริปู เจ้าของหอศิลป์ริมน่าน อ.วังผา กำลังอธิบายถึงร่องรอยฝีมือของหนานบัวผันต่อจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์
บ้านจำลองของจิตรกรเอกเมืองน่านคือ “หนานบัวผัน” จัดสร้างไว้ที่วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา

ฟังเรื่องราวนี้คราใด ดิฉันก็รู้สึกทึ่งและศรัทธาในภูมิปัญญาของพี่วินัย จริงสิพี่เขาเป็นจิตรกรเหมือนหนานบัวผัน ย่อมมองทะลุทะลวงถึงหัวใจ จิตวิญญาณของกันและกัน รอยฝีแปรงที่ไม่อาจพ้นสายตาของศิลปิน ลูกเล่น รหัส หรือจะเรียกว่า Signature ของศิลปินคนหนึ่งก็ไม่สามารถซ่อนสัญลักษณ์บางอย่างที่เจ้าตัวพึงพอใจไว้ได้มิดชิด แม้ว่าภาพจิตรกรรมที่วัดภูมินทร์จะเขียนขึ้นห่างจากจิตรกรรมที่วัดหนองบัวนานถึง 2 ทศวรรษก็ตามที

“น้องเพ็ญดูสิ! ร่องรอยของการวาดรูปนกฮูก แม่ไก่จิกหญ้า ต้นไม้ ผ้าซิ่น ลีลาการเบือนหน้าของแม่ญิง มันไม่ใช่สิ่งที่ใครจะมาลอกเลียนกันได้ง่ายๆ ต่างกันแค่โครงสี พื้นหลังของภาพวาดที่วัดหนองบัวเป็นโทนสีเย็น อมฟ้า แต่ของวัดภูมินทร์โทนสีโดยรวมออกแดงส้มเป็นโทนร้อน”

เมื่อดิฉันสอบถามผู้รู้ที่เป็นปราชญ์เมืองน่านท่านอื่นๆ ว่าตกลงมีฉันทามติได้ข้อสรุปแล้วใช่ไหมว่าใครคือจิตรกรผู้วาดภาพวัดภูมินทร์ ใช่หนานบัวผันไหม ตามที่พี่วินัยนำเสนอ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์

หลายคนยังไม่ปักใจเชื่อ ตอบสั้นๆ ว่า “ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของศิลปินวินัยเท่านั้น”

ทำให้ช่วงแรกๆ ดิฉันจึงไม่ใส่ใจประเด็นนี้ ทั้งยังไม่ค่อยกล้าฟันธงตามไปด้วย เกรงจะผิดพลาด

แต่ครั้นเมื่อกาลเวลาผ่านไปนานนับ 10 ปี เมื่อหยิบยกเรื่องนี้มาแลกเปลี่ยนความเห็นกับเพื่อนนักวิชาการด้านล้านนาศึกษา หรือนักประวัติศาสตร์ศิลปะกันอีกรอบ ปรากฏว่าทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า

“หันโตย (เห็นด้วย) กับอ้ายวินัย เปิ้นมีสายตาแหลมคมจริงๆ ตอนแรกๆ ทุกคนก็กังขา หาว่าเปิ้นมโนเอาคนเดียว ดูไปดูมาทั้งสองวัด เราได้เห็นพัฒนาการอันต่อเนื่องของสล่าบัวผันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตามที่อ้ายวินัยชี้ไว้หมดทุกข้อ”

บทสรุปของวงเสวนา ทำให้ดิฉันได้เห็นชีวิตของสล่าหนุ่มคนหนึ่ง ที่ทุ่มเททำงานให้กับวัดหนองบัวตั้งแต่อายุ 20 ต้นยาวนานกว่า 22 ปีกว่าจะเขียนภาพให้วัดหนองบัวเสร็จ

ครั้นมาจับงานใหญ่ในวัย 40 เศษ ความท้าทายของผนังที่สูงกว่า กว้างกว่า ระดับอารามหลวงอย่างวัดภูมินทร์ บวกกับประสบการณ์ที่ได้ติดสอยห้อยตามผู้หลักผู้ใหญ่ไปเมืองบางกอก ยิ่งคงได้เสพเอาอิทธิพลรัตนโกสินทร์มาผสมผสานอีกชั้นหนึ่ง มิพักต้องแปลกใจเลยว่า ไยภาพจิตรกรรมวัดภูมินทร์จึงยิ่งใหญ่ อลังการ และอาจหาญได้ถึงเพียงนี้

แน่นอนทีเดียว จิตรกรคนใดเล่า จู่ๆ ก็อุบัติขึ้นมาแบบโอปปาติกะสร้างงานระดับ masterpiece ได้เลยล่ะหรือ หากเขาผู้นั้นไม่เคยผ่านงานที่ไหนมาก่อน เชื่อได้เลยว่าสนามที่เขาได้ผึกฝีมือลองถูกลองผิดอยู่นานก็หาใช่วัดใดไหนอื่น หนีไม่พ้นวัดหนองบัวนั่นเอง

ปริศนาข้อแรก ก็น่าจะหมดข้อสงสัยไปเปลาะหนึ่งแล้วนะคะ

ภาพแม่ไก่กำลังคุ้ยเขี่ยหาอาหาร กับไก่ตัวผู้ยืนขาเดียว ซ้ายวัดภูมินทร์ ขวาวัดหนองบัว เห็นได้ว่าเป็นผลงานของคนคนเดียวกัน
ภาพแม่ชีแแอบเลี้ยงแมวในมุมอับ ซ้ายวัดภูมินทร์ ขวาวัดหนองบัว

ชาติพันธุ์ของหนานบัวผัน

“ไทลื้อ” หรือ “ไทพวน”?

มาถึงประเด็นที่สอง จิตรกร “หนานบัวผัน” เป็นชาวไทลื้อหรือไทพวนกันแน่?

ข้อขัดแย้งนี้ เกิดจากการเผยแพร่ข้อมูลของพระครูมานิตย์บุญการ (ครูบาปัญญา) ผู้เป็นปราชญ์ชาวบ้านหนองบัวโดยกำเนิด ท่านได้เล่าให้ อาจารย์สน สีมาตรัง ปรมาจารย์ใหญ่แห่งค่ายหน้าพระลาน (ผู้เป็นอาจารย์ของศิลปินวินัย ปราบริปู) ฟังตั้งแต่ปี 2521 ซึ่งขณะนั้นพระครูมีอายุมากแล้วว่า

“นายเทพ” ผู้เป็นบิดาของท่านพระครู เป็นทหารของ เจ้าอนันตวรฤทธิเดช (เจ้าผู้ครองนครน่านระหว่างปี 2395- 2434) โดยนายเทพเคยติดตามกองทัพน่านไปรบที่ เมืองพวน แคว้นหลวงพระบาง เมื่อเสร็จศึกยกทัพกลับเมืองน่าน นายเทพได้นำ “ช่างเขียนชาวลาวพวน” ชื่อ “หนานบัวผัน” กลับมาด้วย

ทำให้หนานบัวผันตั้งรกรากอยู่แถววัดหนองบัวท่ามกลางชาวไทลื้อ ต่อมาหนานบัวผันได้ทำการวาดภาพที่ฝาผนังวิหารวัดหนองบัว ร่วมกับ พระแสนพิจิตร ผู้เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองบัวในขณะนั้น รวมทั้งนายเทพเอง (บิดาท่านพระครู) ซึ่งเป็นชาวไทลื้อก็ยังได้เป็นผู้ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่หนานบัวผันได้วาดภาพจนแล้วเสร็จ

ข้อมูลทั้งหมดนี้ปรากฏในหนังสือชื่อ “โครงสร้างจิตรกรรมฝาผนังล้านนา” ของอาจารย์สน สีมาตรัง แห่งภาควิชาประยุกต์ศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเคยสัมภาษณ์ท่านพระครูมานิตย์บุญการ ไว้ตั้งแต่ปี 2521 ยุคนั้นท่านพระครูก็มีอายุเกือบ 90 ปีแล้ว (แต่หนังสือตีพิมพ์ปี 2526)

ภาพนกกางปีกยาวแหลมเป็นพวงสองชั้น และหางนกเป็นกระหนกเปลว ซ้ายวัดภูมินทร์ มีลักษณะเหมือนกับภาพร่างกินรีในสมุดปั๊บสาที่จัดแสดงวัดหนองบัว (ขวา)
หนังสือ “จิตรกรรมฝาผนังเมืองน่าน” เรียบเรียงโดยศิลปิน วินัย ปราบริปู มีจำหน่ายที่หอศิลป์ริมน่าน เล่มละ 650.- จะเห็นความตั้งใจของศิลปินที่ทุ่มเทศึกษาค้นคว้าเรื่องหนานบัวผันอย่างละเอียดลออทุกมิติ

อย่างไรก็ดี ศิลปินคนสำคัญลำดับต้นๆ ของเมืองน่านคือ “พี่วินัย” ของเรา ได้ทำการศึกษาภาพจิตรกรรมที่วิหารวัดหนองบัวเปรียบเทียบกับที่วัดภูมินทร์อย่างละเอียดยิบ นอกจากจะได้คำตอบข้อแรกไปแล้วว่า ภาพวาดของวัดทั้งสองแห่งเป็นฝีมือของจิตรกรคนเดียวกันคือ “หนานบัวผัน”

พี่วินัยยังค้นพบคำตอบอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นความเห็นแย้งจากเอกสารที่อาจารย์สนบันทึกไว้ตามคำสัมภาษณ์ของพระครูมานิตย์บุญการ ที่เชื่อกันว่า หนานบัวผันเป็นชาวไทพวน แต่พี่วินัยกลับมองว่าเขาผู้นี้น่าจะเป็นชาวไทลื้อมากกว่า

การถอดรหัสค้นหาคำตอบว่าสล่าบัวผันควรมีชาติพันธุ์ใดนั้น พี่วินัยค่อยๆ เริ่มจากการสืบค้นหาหมู่บ้าน “ไทพวน” ในเขตอำเภอต่างๆ ของจังหวัดน่าน พบว่ามีเหลืออยู่แค่ไม่กี่หมู่บ้าน มีที่บ้านฝายมูล อ.ท่าวังผา และบ้านหลับมืนพวน อ.เวียงสา เท่านั้น

กองทัพทหารถือปืนยาว ไว้ผมทรงมหาดไทย (หลักแจว) และสวมเสื้อราชปะแตนแบบสยาม ซ้ายวัดภูมินทร์ ขวาวัดหนองบัว

ข้อสำคัญ ท่ามกลางชุมชนไทพวนทั้งสองแห่งในจังหวัดน่าน กลับไม่พบร่องรอยของการสร้างภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดในชุมชนใดๆ เลย และคัมภีร์ใบลานของชุมชนไทพวนเหล่านี้ ก็ใช้อักษรธัมม์ค่อนไปทางธัมม์อีสาน มากกว่าจะเป็นอักษรธัมม์ล้านนาที่เข้าไวยากรณ์ด้วยภาษาไทลื้อ

พี่วินัยตามแกะรอยอักขระตามฝาผนังของวัดทั้งสองแห่ง ที่เขียนอธิบายว่าใครเป็นใคร เมืองนั้นๆ ชื่อเมืองอะไร พบว่าเป็นอักษรธัมม์ล้านนาแต่เข้าไวยากรณ์แบบภาษาไทลื้อ

แน่นอนว่า สำหรับวัดหนองบัวแล้ว บางท่านอาจแย้งได้ว่า ก็แน่ล่ะ! ในเมื่อวัดหนองบัวช่วยกันสร้างหลายคน ไหนจะนายเทพ บิดาของพระครูเอง ไหนพระแสนพิจิตรเจ้าอาวาส คนเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นไทลื้อ บางทีทั้งสองอาจมีส่วนช่วยหนานบัวผันเขียนตัวอักษรประกอบภาพ เพื่อให้คนพื้นเมืองที่เป็นชาวไทลื้ออ่านเข้าใจ ก็เป็นได้

ใครจะมองเช่นนั้นก็ย่อมได้ ทว่าคำถามที่ตามมาก็คือ เหตุไฉนลายมือที่เขียนคำอธิบายประกอบภาพของวัดภูมินทร์ จึงเป็นลายมือเดียวกันกับที่วัดหนองบัวด้วยเล่า ในเมื่อวัดหนองบัวอยู่ในชนบทห่างไกล แต่วัดภูมินทร์อยู่ติดคุ้มเจ้าหลวง

หนานบัวผันได้หอบหิ้วเอานายเทพกับพระแสนพิจิตร มาช่วยเขียนอักขระด้วยหรือไร ในเมื่อกาลเวลาเคลื่อนคล้อยนานถึง 20 ปี หนานบัวผันจากสล่าบ้านๆ ที่ท่าวังผา น่าจะเริ่มมีชื่อเสียงโผผินยืนแถวหน้า จนได้รับว่าจ้างจากเจ้าหลวงให้มาเขียนรูปที่วัดหลวงคือภูมินทร์

ทำไมหนานบัวผันจึงไม่ใช้อาลักษณ์หรือเสมียนลายมืองามในคุ้มหลวงมาช่วยเป็นลูกมือเขียนอักขระภาษาไทลื้อประกอบภาพด้วยเล่า (สมมุติว่า 20 กว่าปีผ่านไป หลังจากวาดภาพที่วัดหนองบัวเสร็จแล้ว หนานบัวผันก็ยังเขียนอักษรธัมม์ภาษาไทลื้อไม่ได้ด้วยตัวเอง เหตุที่เขาเป็นชาวไทพวน)

ศิลปินวินัยมองว่า นอกจาก “ลายมือ” ที่เขียนตัวอักษรประกอบภาพจิตรกรรมทั้งสองแห่งจะมีการกระดกหาง ตวัดหัว เป็นฝีมือของคนคนเดียวกันแล้ว ลายมือนั้นยังทิ้งลีลาทีแปรงว่าเขียนโดยจิตรกรผู้วาดภาพอีกด้วย หาใช่ให้อาลักษณ์หรือเสมียนมาเขียนเสริมไม่

ทั้งนี้ เสื้อผ้าหน้าผมนมเนื้อของตัวละครที่เน้นการแต่งกายด้วยเสื้อปั๊ดก็ดี ผ้าซิ่นที่มีลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนช่องใหญ่ที่กลางตัวซิ่นก็ดี ล้วนเป็นวัฒนธรรมไทลื้อทั้งสิ้น

“พี่ไม่ได้กลิ่นอายใดๆ เลยของความเป็นไทพวน ภาพจิตรกรรมทั้งสองแห่งนี้อวลอบไปด้วยบรรยากาศของสังคมไทลื้อสมัยร้อยกว่าปีก่อนอัดแน่นทั่วทุกอณู พี่ไปตระเวนศึกษาดูวัดของชาวไทพวนตามที่ต่างๆ ทั้งอีกฟากฝั่งโขงและแถวภาคกลางของไทย ก็ไม่พบว่าศิลปะแบบไทพวนมีลักษณะเช่นนี้”

น่าคิดทีเดียวค่ะ ศิลปินวินัย ปราบริปู เชื่อมั่นอย่างมากมายว่า หนานบัวผันน่าจะเป็นชาวไทลื้อมากกว่าไทพวน แม้ว่าข้อมูลที่ท่านพระครูให้สัมภาษณ์กับอาจารย์สน สีมาตรัง จะฟันธงไปแล้วว่าหนานบัวผันเป็นไทพวน

ทำไงดี สำหรับดิฉันแล้ว ค่อนข้างเชื่อ Sense ของศิลปินวินัย ปราบริปู อยากให้ทุกท่านได้อ่านหนังสือเรื่อง “จิตรกรรมฝาผนังเมืองน่าน” ที่พี่เขาตั้งใจศึกษาค้นคว้าอย่างละเอียดยิบ ดิฉันอ่านจบทุกหน้าแล้วอย่างเมามัน คงยากที่จะปฏิเสธว่าหนานบัวผันไม่ใช่ “ไทลื้อ”

ภาพราชรถ (รัถยา) ซ้ายวัดภูมินทร์ ขวาวัดหนองบัว เน้นกงล้อเป็นกลีบบัวสวยงาม หัวรถเป็นเศียรนาค หางรถเป็นกระหนกเปลว
ภาพลิงคู่ตัวผู้ตัวเมียที่ศิลปินวินัยเรียกว่า “เกาะติดพัวพัน” ซ้ายวัดภูมินทร์ ขวาวัดหนองบัว เป็นภาพร่างในสมุดปั๊บสา

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ