ศาสนาผีในชุมชนเริ่มแรก

ชุมชนเริ่มแรกในไทยนับถือศาสนาผี และมีความเชื่อเรื่องขวัญ

ศาสนาผี หมายถึงศาสนาที่นับถือผีว่ามีอำนาจเหนือธรรมชาติ ดังนั้น ปรากฏการณ์ทั้งหลายไม่ว่าดีหรือร้ายเกิดจากการกระทำของผี โดยคนกับผีติดต่อสื่อสารกันได้ด้วยการเข้าทรงผ่านร่างทรงซึ่งเป็นหญิง (ไม่มีร่างทรงเป็นชาย) ทำให้ผู้หญิงเป็นใหญ่ในพิธีกรรมทางศาสนาผี นับเป็นศาสนาเก่าแก่ที่สุดในโลกเพราะมีก่อนศาสนาอื่นๆ และมีคนนับถือมากที่สุดในโลก (แม้คนทั่วไปไม่ยอมรับเป็นศาสนา แต่ทางวิชาการสากลนับเป็นศาสนา)

[ศาสนาผีที่กล่าวถึงนี้ไม่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและศาสนาพุทธ เพราะสมัยนั้นคนในโซเมียยังไม่รู้จักและไม่ติดต่อรับวัฒนธรรมอินเดีย ดังนั้น ศาสนาผีไม่มีเวียนว่ายตายเกิด, ไม่มีโลกหน้า, ไม่มีเทวดานางฟ้า, ไม่มีสวรรค์นรก, ไม่มีวิญญาณ, ไม่มีเผาศพ ฯลฯ]

ผีฟ้า มีอำนาจเหนือธรรมชาติสูงสุดอยู่บนฟ้า หมายถึง ผู้เป็นใหญ่บนฟ้า บางทีเรียกเจ้าแห่งฟ้า หรือเจ้าฟ้า เป็นแหล่งรวมพลังขวัญของคนชั้นนำที่ตายแล้วของเผ่าพันธุ์ ถูกส่งขึ้นฟ้ารวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกับผีฟ้าเพื่อปกป้องคุ้มครองคนที่ยังไม่ตายอยู่ในชุมชนให้มีความอุดมสมบูรณ์

“ผีกับคนไปมาหากันบ่ขาด” มีการติดต่อสื่อสารกันโดยผ่านร่างทรงหรือคนทรง ดังนั้นคนในชุมชนถูกควบคุมอย่างใกล้ชิดจากผี (ผีบรรพชน, ผีฟ้า) ผ่านจารีตประเพณีพิธีกรรม และหมอมด, หมอขวัญ ฯลฯ รวมทั้ง “ตัวกลาง” คือ ร่างทรง หรือคนทรง

ต่อมาผีฟ้าถูกเรียกอีกชื่อว่าแถน ซึ่งได้จากภาษาฮั่นว่าเทียน แปลว่าฟ้า หมายถึงผู้เป็นใหญ่บนฟ้า [บอกไว้ในหนังสือ พงศาวดารโยนก ของพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) เรียบเรียงเมื่อปลายแผ่นดิน ร.5 พ.ศ.2451]

ขวัญ หมายถึงพลังของชีวิตซึ่งเป็นระบบความเชื่อทางศาสนาผีที่มีอิทธิพลกว้างขวาง และเกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ทางภาษาและวรรณกรรมรวมถึงสิ่งอื่นๆ

ขวัญเป็นคำออกเสียงตามการรับรู้ในภาษาไทยปัจจุบัน ซึ่งใกล้ชิดเป็นคำเดียวและความหมายเดียวกับภาษาฮั่นว่า หวั๋น (กวางตุ้ง) ฮุ้น (แต้จิ๋ว) น่าเชื่อว่าเป็นระบบความเชื่อร่วมกันมาแต่เดิม [มีคำอธิบายอยู่ในหนังสือหลายเล่ม ได้แก่ (1.) ไทย-จีน ของพระยาอนุมานราชธน (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2479) พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2505 หน้า 93, (2.) บทความเรื่อง “พิธีกรรมหลังความตาย มีส่งขวัญคล้ายกันทั้งไทยและจีน” ในหนังสือ “คนไท” ไม่ใช่ “คนไทย” แต่เป็นเครือญาติชาติภาษา โดย เจีย แยนจอง สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548 หน้า 86]

ขวัญคือส่วนที่ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น แต่เคลื่อนไหวได้ ลักษณะเป็นหน่วย มีหลายหน่วย แต่ละหน่วยสิงสู่อยู่กระจายตามส่วนต่างๆ ของคน, สัตว์, พืช, สิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้, อาคารสถานที่ เป็นต้น ต่อมาคนตาย เพราะขวัญหายไม่อยู่กับเนื้อกับตัว หรือไม่อยู่กับมิ่งคือร่างกายอวัยวะของคน หรือกล่าวอีกอย่างว่าคนตาย ส่วนขวัญไม่ตาย แต่หายไปไหนไม่รู้? ถ้าเรียกขวัญคืนร่างได้คนก็ฟื้นคืนปกติ

[มีรายละเอียดอีกมากในหนังสือ ขวัญเอ๋ย ขวัญมาจากไหน? ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์นาตาแฮก (พิมพ์ครั้งแรก 2560) พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2562]

ขวัญเคลื่อนไหวทั่วไปในทุกมิติ และเข้าสิงได้ในทุกสิ่ง เช่น หิน, ไม้ ฯลฯ วัตถุเหล่านั้นเป็น “ร่างเสมือน” ที่คนมีชีวิตต้องการให้เป็น เช่น ขวัญฆ้องสิงในหินเป็นแผ่นหรือเป็นก้อน ทำให้แผ่นหินหรือก้อนหินนั้นคือ “ร่างเสมือน” ของฆ้อง เป็นต้น

ผู้หญิงมีสถานะสูงกว่าชายในสมัยดั้งเดิมเริ่มแรก [ภาพเจ้าแม่โคกพนมดี โครงกระดูกเพศหญิง ราว 3,000 ปีมาแล้ว ประดับประดาด้วยลูกปัดเปลือกหอย ราว 120,000 เม็ด แล้วยังมีวัตถุสัญลักษณ์แสดงอำนาจ เช่น แผ่นวงกลมมีเดือย, กำไลข้อมือ และเครื่องประดับศีรษะ ฯลฯ (ภาพจาก สยามดึกดำบรรพ์ : ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยสุโขทัย โดย ชาร์ลส ไฮแอม และรัชนี ทศรัตน์ สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2542)]
ผู้หญิงมีสถานะสูงกว่าผู้ชาย

ในศาสนาผี ผู้หญิงมีสถานะสูงกว่าผู้ชาย เพราะ (1.) ผู้หญิงเป็นหัวหน้าพิธีกรรมทางศาสนาผี และเป็นหัวหน้าชุมชน ส่วนผู้ชายอยู่นอกพิธีกรรม (2.) ผู้หญิงเป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน ส่วนผู้ชายเป็นผู้อาศัย (3.) พิธีแต่งงาน ผู้หญิงเป็นเจ้าสาว แปลว่า ผู้เป็นนาย ส่วนผู้ชายเป็นเจ้าบ่าว แปลว่า ผู้รับใช้ (4.) สายโคตรตระกูลสืบทางฝ่ายผู้หญิง (ดังนั้น สมัยโบราณการสืบราชสันตติวงศ์เป็นไปตามสายแม่ จึงมีระบบวังหลวงกับวังหน้ามักเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน)

ผู้หญิงหัวหน้าพิธีกรรมซึ่งเป็นหัวหน้าชุมชน ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของเผ่าพันธุ์ และโดยทั่วไปผู้หญิงที่บอกเล่าได้รับยกย่องเป็นร่างทรงเมื่อผีฟ้าลงทรงแล้วเล่าเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับเผ่าพันธุ์ ขณะเดียวกันได้รับยกย่องเป็นมด หรือหมอมด

คำว่า มด (คำที่กลายจากภาษาเขมรว่า ม็วต) หมายถึง หญิงผู้มีพลังอำนาจสูงส่ง (เหนือชาย) สามารถติดต่อสื่อสารได้ดีกับผีฟ้า (ผีบรรพชนบนฟ้า) จึงถูกเรียกอีกคำหนึ่งว่าหมอ ได้แก่ หมอทรง (คือ หมอเข้าทรง), หมอลำ (คือ หมอลำผีฟ้ารักษาโรค) ดังนั้น มดกับหมอมีความหมายเดียวกันว่าผู้ชำนาญการใดการหนึ่งมากกว่าคนทั่วไป เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยต้องได้รับการดูแลรักษาอาการนั้น จึงมีคำพูดในชีวิตประจำวันว่า “หามดหาหมอ” หรือ “หาหมอหามด” เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เองทำให้รู้ถึงคำว่ามดลูก หมายถึงอวัยวะส่วนที่คุ้มครองทารกในครรภ์

หมอมดซึ่งเป็นหญิงผู้มีพลังอำนาจทางศาสนาผี บางสถานการณ์ต้องทำหน้าที่หมอขวัญ เพื่อทำขวัญ (หมายถึง สู่ขวัญ, เรียกขวัญ, ส่งขวัญ) เพื่อสื่อสารกับผีฟ้าช่วยบันดาลสิ่งที่ต้องการให้ผู้รับทำขวัญ หรือให้เป็นที่รับรู้ทั่วกันของคนทั้งชุมชนที่ร่วมพิธีกรรมนั้น

คำทำขวัญเป็นภาษาพูดในชีวิตประจำวันที่เรียบเรียงเนื้อความเน้นเรียกขวัญที่หายไปให้คืนร่างตามเดิม ครั้นนานไปได้สร้างสรรค์สอดแทรกคำคล้องจองตรงที่ต้องการเน้นเป็นพิเศษ จนถึงที่สุดแต่งเป็นคำคล้องจองทั้งหมดแล้วสร้างทำนองขับลำกำกับไว้ด้วยให้เฮี้ยนขลัง (ส่วนคำคล้องจองจะเป็นต้นทางโคลงกลอนหรือร้อยกรองต่อไปข้างหน้า)

คำบอกเล่ามีพลังผนึกความเป็นปึกแผ่นของเผ่าพันธุ์ (หรือชาติพันธุ์) ดังนั้น ชุมชนสมัยเริ่มแรกมีพิธีกรรมตามคำบอกเล่าเหล่านั้น พบหลักฐานหลากหลายเหลือเป็นซากสิ่งต่างๆ ได้แก่ ไม้, โลหะ, หิน เป็นต้น แต่ที่สำคัญและพบกว้างขวาง คือ หินรูปร่างหลากหลายลักษณะและขนาดต่างๆ เช่น แผ่นผา, แท่ง, ก้อน, สะเก็ด ฯลฯ ทางวิชาการสากลเรียกวัฒนธรรมหิน (Megalith culture) เรียกง่ายๆ เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่า “หินตั้ง” หินจึงมีคำบอกเล่าสมัยเริ่มแรกเป็นเรื่องราวมหัศจรรย์พันลึก แต่อาจถอดรหัสคลาดเคลื่อนหรือแตกต่างกันได้จึงไม่ถือเป็นยุติ

ในหินมีคำบอกเล่าเป็นพิธีกรรมสืบเนื่องจากความเชื่อเรื่องขวัญว่า ขวัญเคลื่อนไหวออกจากร่างจริงแล้วไปสิงสู่อาศัยในวัสดุต่างๆ ก็ได้ ไม่ว่าท่อนไม้, กองดิน, ก้อนหิน ฯลฯ โดยสมมุติเรียกสิ่งนั้นว่าร่างเสมือน ดังนั้น บรรดาขวัญของคน, สัตว์, พืช, สิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้, อาคารสถานที่ ไปสิงสู่อาศัยร่างเสมือนได้ทั้งนั้น และร่างเสมือนที่สำคัญอย่างยิ่งคือหิน

[ร่างเสมือนเป็นคำผูกใหม่โดยถอดความหมายจากคำนิยามว่า “The substitute body of the dead chief” ของนายควอริตช์ เวลส์ (นักปราชญ์ชาวอังกฤษ ผู้เคยมารับราชการเป็นที่ปรึกษาในราชสำนักสยาม ยุค ร.6 และ ร.7 และบุกเบิกการศึกษาค้นคว้าเรื่องพิธีกรรมดึกดำบรรพ์ในโลก รวมถึงพระราชพิธีต่างๆ ของสยาม) อยู่ในหนังสือ Prehistory and Religion in South-East Asia ของ H.G. Quaritch Wales, (London : Bernard Quaritch) 1957 p. 35. ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับงานวิชาการของนายควอริตช์ เวลส์ ได้จากบทความวิชาการภาษาไทย เรื่อง “หินตั้ง, หินใหญ่ และความตายในศาสนาผีกับพระนอน และพุทธประวัติตอนปรินิพพาน” ของ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ (พิมพ์ในหนังสือ The Old Man and SEA ชายชรากับอุษาคเนย์ วิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2565 หน้า 118-163) หินถูกสมมุติเป็นร่างเสมือนของหลายสิ่งหลายอย่างซึ่งพบไม่น้อยในคำบอกเล่าท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศและต่อเนื่องถึงเพื่อนบ้านซึ่งเกินวิสัยที่จะรวบรวมได้หมด แต่ที่รู้จักกว้างขวางขณะนี้ได้แก่คำบอกเล่าท้องถิ่นรอบอ่าวไทย แสดงความสัมพันธ์ทางสังคม-วัฒนธรรมและการค้า-การเมือง บนเส้นทางการค้าทางทะเลเลียบชายฝั่งระหว่างจีนกับบ้านน้อยเมืองใหญ่รอบอ่าวไทย ซึ่งมีหลายสำนวนแตกต่างในรายละเอียดตามปากคำท้องถิ่นนั้นๆ ตัวอย่างที่พบลายลักษณ์อักษรมีเรื่อง ตาบ้องไล่ ยายรำพึง (อยู่ในหนังสือ นิราศตังเกี๋ย ของ หลวงนรเนติบัญชากิจ (นายแวว) แต่ง พ.ศ.2430 คุรุสภาพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2504 หน้า 9-11) อีกฉบับหนึ่งเรื่อง ท้าวม่องไล่, เจ้ากงจีน และเจ้าลาย (มีผู้จดเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วพิมพ์ไว้ในหนังสือ สมุดราชบุรี พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2468 หน้า 55-63)]

หินตั้งหรือวัฒนธรรมหินเป็นวัตถุทางความเชื่อในศาสนาผีเพื่อแสดงพื้นที่เฮี้ยนและขลังอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันก็เป็นร่างเสมือนมีขวัญสิงสู่ ครั้นหลังรับศาสนาพุทธจากอินเดียหินตั้งบางลักษณะจึงถูกปรับเปลี่ยนเป็นเสมาบอกเขตศักดิ์สิทธิ์ แล้วสลักภาพเล่าเรื่องเป็นร่างเสมือน •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ