ขอขมาข้าว

ขอขมาข้าว

สูมาเขั้า

สูมาเข้า อ่านว่า “สูมาเข้า” แปลว่า ขอขมาข้าว

ต้นข้าว หลังการเก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 2-3 วัน จะได้รับการมัดด้วยตอกไม้ไผ่เป็นฟ่อนๆ เรียกว่า “เฟ่าเข้า” ฟ่อนข้าวนี้จะถูกกองรวมไว้เป็นที่ๆ ในท้องนาพักไว้ จากนั้นจะจัดเตรียมลานนวดข้าวที่เรียก “ตาลาง”

ตาลาง ในภาษาล้านนา หมายถึง ลานนวดข้าว ซึ่งโดยปกติชาวล้านนามิได้ใช้วัวควายเหยียบ หากแต่ใช้วิธีฟาดให้เมล็ดข้าวหลุดออกจากรวงเรียกว่า “ตีเข้า” (ตีข้าว)

และการตีมีอยู่ 2 วิธี คือ วิธีแรกตีลงใน “ครุ” ซึ่งเป็นภาชนะขนาดใหญ่สานด้วยไม้ไผ่ เมล็ดข้าวจะตกลงในครุ

วิธีที่สองคือตีในตาลาง วิธีหลังนี้จะต้องเตรียมลานหรือตาลางก่อน การทำตาลางเริ่มแรกก็เลือกพื้นที่นาที่เนื้อดินไม่เปียกแฉะ

เมื่อเลือกได้กระทงนาที่เหมาะสมแล้วก็เริ่ม “ถากตาลาง” คือแผ้วถาง ถากและทุบปรับหน้าดินให้ราบเรียบ

โดยจะเลือกเอาวันพุธเป็นวันแรกถากตาลาง จากนั้นจึงใช้ขี้วัวหรือขี้ควายผสมน้ำเทราด กวาดรองทับหน้าดินจนทั่วแล้วตากแดดไว้ประมาณ 2 วันพอให้แห้ง

แม่โพส฿บฯฯเปนฯเทวดาเขั้า
อ่านว่า แม่โปสบเป็นเตวะดาเข้า
แปลว่า พระแม่โพสพเป็นเทพแห่งข้าว

เมื่อบริเวณตาลางแห้งสนิท ชาวนาก็ขนย้ายฟ่อนข้าวในนาไปกองรวมไว้รอบๆ ตาลาง และประกอบพิธี “สูมาเข้า” ก่อนที่จะ “ตีเข้า” ด้วยเชื่อว่าการตีข้าวด้วยการฟาดฟ่อนข้าวให้เมล็ดข้าวหลุดจากรวง อาจทำให้ขวัญข้าวตกใจหรือได้รับความเจ็บปวด อันจะเป็นเหตุให้ขวัญข้าวหนี ซึ่งจะมีผลทำให้ผลิตผลของข้าวลดลง ข้าวในนาจะไม่สมบูรณ์

ในพิธีจะมีการจัดเตรียมดอกไม้ธูปเทียน อาหารคาวหวาน ขนม ผลไม้ หมากพลู บุหรี่ วางตั้งบนแคร่ไม้ไผ่บริเวณกลางลานนวดข้าว แล้วกล่าวคำขอขมาขวัญข้าวซึ่งมี “เทวดาเข้า” อันหมายถึงพระแม่โพสพเทพแห่งข้าวว่า

สาธุ โอกาสะ ข้าแด่แม่โพสพเป็นเจ้า

นางหน่อเหน้าราชอิตถี บัดนี้ผู้ข้าขออัญชุลี

สิบนิ้วกราบวันที ขอแม่เมตตามีผายโปรด

ขอหื้อแม่ยกโทษโทสา แม้นผู้ข้าได้ประมาท

ถกฟาดผูกเกี้ยวมัดย่ำตี กลัวเป็นกายกัมม์

วจีกัมม์ มโนกัมม์จิ่มผู้ข้า จิ่งขอสูมาแม่หื้อผายโปรด

ขอแม่อย่าได้ลุโทษโทษา ผู้ข้าขอสูมาเมี้ยนเสี้ยงพร่ำพร้อมดั่งนี้เต๊อะฯ

กล่าวเสร็จจึงเริ่ม “ตีเข้า” โดยผู้ประกอบพิธีเป็นผู้เริ่มลงมือฟาดฟ่อนข้าวบนแคร่พอเป็นพิธี แล้วต่อด้วยเจ้าของไร่นา ตามด้วยคนอื่นๆ ที่มาช่วยงานในวันนั้น •

 

ล้านนาคำเมือง | ชมรมฮักตั๋วเมือง