Silence Traces กระบวนการสำรวจเครื่องมือ สร้างการรับรู้เกี่ยวกับความเป็นชาติของรัฐด้วยแผนที่ ในมหกรรมศิลปะ Thailand Biennale Chiang Rai 2023

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนนี้ขอต่อด้วยเรื่องราวของศิลปินที่มาร่วมแสดงงานใน มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ที่จังหวัดเชียงรายกันอีกคน

ในคราวนี้เป็นคิวของศิลปินชาวไทยผู้มีชื่อว่า นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้ทำงานศิลปะที่สร้างบทสนทนาทับซ้อนระหว่างความทรงจำส่วนตัวกับความทรงจำส่วนรวมในสังคม ด้วยการหยิบเอาเรื่องราวส่วนตัว ทั้งความทรงจำ ประสบการณ์ ความรู้สึกนึกคิด และเรื่องราวส่วนรวม อย่างเรื่องของสังคม การเมือง และสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวหลอมรวมเข้าไว้ในผลงานศิลปะได้อย่างแนบเนียนกลมกลืน

ผลงานของเขามุ่งเน้นในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพื้นที่ ทั้งในแง่กายภาพและแง่ความคิด ทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย, อัตลักษณ์, การโยกย้ายถิ่นฐาน ไปจนถึงประเด็นทางประวัติศาสตร์, มานุษยวิทยา, ภูมิรัฐศาสตร์ และแนวคิดเกี่ยวกับแผนที่

รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับความเป็นภูมิกายา (ตัวตนหรือรูปร่างทางภูมิศาสตร์ที่ปรากฏเป็นรูปธรรมในแผนที่) ของรัฐและชาติ กลั่นกรองออกมาเป็นผลงานศิลปะที่ทำงานกับพื้นที่อย่างละเมียดละไมราวกับบทกวีทางสายตา ผ่านสื่อทางศิลปะหลากแขนง ทั้งงานจิตรกรรม, ประติมากรรม, ภาพถ่าย, สื่อผสม, วิดีโอ

และผลงานศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ที่ให้ความสำคัญกับประสาทสัมผัสและการรับรู้ของผู้ชม และพื้นที่ระหว่างผู้ชมกับงานศิลปะ

ผลงานของนิพันธ์ถูกจัดแสดงในนิทรรศการและเทศกาลศิลปะสำคัญๆ ทั้งในและต่างประเทศ อย่างเช่น The 12th Gwangju Biennale : Imagined Borders (2018), Kenpoku Art (2016), Setouchi Triennale, Asia Art Platform (2013 ), Singapore Biennale : If The World Change (2013), The 18th Biennale of Sydney : all our relations (2012)

และได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทยจัดแสดงผลงานในศาลาไทย ในเทศกาลศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 52 ในปี 2007

นิพันธ์ยังได้รับเลือกให้เข้าร่วมแสดงผลงานในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 โดยเขานำเสนอผลงาน Silence Traces (2023) ผลงานศิลปะจัดวางที่สำรวจความคิด, จุดมุ่งหมาย และอำนาจที่อยู่เบื้องหลังการสร้างแผนที่

ซึ่งเปรียบเสมือนการทบทวนประวัติศาสตร์การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับความเป็นชาติของรัฐด้วยแผนที่

เพราะแผนที่ไม่เพียงเป็นภาพแทนทางรูปธรรมอันชัดเจนในการสำรวจและทำความเข้าใจพื้นที่ อาณาเขต และพรมแดนของพื้นที่ต่างๆ ในชาติ

แต่แผนที่ยังเป็นเครื่องมือที่รัฐใช้ในการปกครอง ควบคุม และกำหนดพฤติกรรมของคนในชาติด้วยเช่นกัน

ผลงานชุดนี้ของเขาตั้งคำถามต่อการสร้างแผนที่จังหวัดเชียงรายจากความคิดและมุมมองในหลายระนาบและช่วงเวลา

ทั้งตัวแผนที่ หรือภาพถ่ายทางอากาศ และการสำรวจในระดับสายตาจากพื้นดิน

ผลงานของเขาเผยให้เห็นการทับซ้อนกันของพื้นที่, เวลา, ประวัติศาสตร์ ทั้งของรัฐและชุมชน ตลอดจนมุมมองส่วนบุคคล

ผลงานชิ้นนี้ของนิพันธ์เป็นเหมือนการทับซ้อนกันระหว่างทัศนวิสัยหรือมุมมองสามมุม แต่ละมุมมองถูกนำเสนอผ่านผลงานในสามรูปแบบ

แบบแรกคือ ชุดแผนที่ที่ผลิตและจัดพิมพ์โดยกรมแผนที่ทหารจำนวนสามชุด

เริ่มจากแผนที่ชุดที่เก่าแก่ที่สุด คือแผนที่หมายเลข L807 ที่ถูกผลิตขึ้นในปี พ.ศ.2479 และใช้จนถึงปี พ.ศ.2510

โดยนิพันธ์เลือกแผนที่จำนวน 16 แผ่น ครอบคลุม 5 อำเภอ ที่เขาลงพื้นที่ คือ 4 อำเภอชายแดนอย่าง แม่สาย, เชียงแสน, เชียงของ, เวียงแก่น และอีก 1 อำเภอคือ อำเภอเมืองเชียงราย

แผนที่ชุดถัดมาคือแผนที่หมายเลข L7017 ที่เริ่มใช้ในราวปี พ.ศ.2515 จำนวน 16 แผ่น ครอบคลุม 5 อำเภอเช่นเดียวกับแผนที่ชุดแรก

แผนที่ทั้งสองชุดนี้ถูกนำมารวมเป็นเล่มตั้งบนชั้นวางให้ผู้ชมสามารถผลิกดูได้ตามอัธยาศัย

ส่วนแผนที่อีกชุดคือแผนที่หมายเลข L7018 ซึ่งเป็นแผนที่ฉบับที่ใช้ปัจจุบัน จำนวน 28 แผ่น ครอบคลุมจังหวัดเชียงรายทั้งหมด แผนที่เหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนทั่วๆ ไปเข้าถึงได้ง่ายๆ โดยนิพันธ์ได้สำเนาแผนที่นี้มาโดยการติดต่อผ่านสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

สำเนาของแผนที่เหล่านี้เป็นของจริงที่มีตราประทับของกรมแผนที่ทหาร แต่เขาไม่สามารถขอมาได้ทั้งหมด เพราะมีแผนที่บางส่วนที่ทางการไม่อนุญาตให้เผยแพร่ เนื่องจากเหตุผลของความมั่นคง

แผนที่ชุดนี้ถูกใส่กรอบแขวนเรียงรายบนผนัง โดยเว้นช่องในตำแหน่งของแผนที่ที่ไม่สามารถขอมาได้ให้เป็นกรอบเปล่าๆ เอาไว้

ผลงานในส่วนที่สอง ถูกนำเสนอผ่านภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหารของ 5 อำเภอในจังหวัดเชียงรายที่เขาเคยลงพื้นที่จากในแต่ละช่วงเวลาในอดีต ในช่วงปี พ.ศ.2497 พ.ศ.2515 และ พ.ศ.2519

ส่วนที่สองคือภาพถ่ายทางอากาศในขนาดใหญ่ 4 ภาพ ที่ครอบคลุมพื้นที่ของเชียงรายทั้งจังหวัด โดยดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้

นอกจากนี้ ยังมีภาพถ่ายจากมุมมองบนพื้นดินของ 5 อำเภอในเชียงรายที่นิพันธ์ถ่ายภาพในช่วงเวลาที่เขาลงพื้นที่

ภาพถ่ายเหล่านี้ถูกจัดแสดงบนผนังแบบสุ่มโดยไม่ได้มีการเรียงลำดับ

ผลงานส่วนสุดท้าย เป็นผลงานศิลปะจัดวางที่ติดตั้งอยู่กึ่งกลางห้องแสดงงาน ที่นิพันธ์นำเอาแผนที่ของ 5 อำเภอในจังหวัดเชียงรายในยุคปัจจุบัน ที่เขาดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ มาพิมพ์ออกมาเป็นแผ่น แล้วตัดเจาะแผนที่ทุกส่วนออก เหลือไว้เฉพาะเส้นถนนกับแม่น้ำ เพื่อใช้เป็นแม่แบบลายฉลุในการโรยแป้งเด็กลงในช่องว่างที่ถูกเจาะ ให้ผงแป้งลงไปแทนที่พื้นที่ที่ถูกเจาะออก และจับตัวเป็นรูปเป็นร่างบนฉากที่ทำจากผ้าและโครงสร้างไม้

แล้วทำซ้ำๆ จนเต็มพื้นที่ เพื่อสร้างเป็นแผนที่ใหม่ในแบบฉบับของเขาขึ้นมา

ผลลัพธ์ก็คืองานศิลปะจัดวางรูปแผนที่จังหวัดเชียงรายขนาดใหญ่ น่าขันที่แผนที่อันเป็นเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ที่รัฐใช้ในการปกครอง ควบคุม และกำหนดพฤติกรรมของคนในชาติ (และยังถูกใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการรวมศูนย์อำนาจทางการปกครองในสมัยที่ล้านนาถูกผนวกเข้ากับสยาม) กลับถูกสร้างขึ้นจากการก่อร่างสร้างรูปจากฝุ่นของแป้งเด็กอันเปราะบาง พร้อมจะสูญสลายหายไป จากการถูกสัมผัส แตะต้อง หรือแม้แต่เป่าลมหายใจใส่แรงสักนิด

ผลงานศิลปะรูปแผนที่นี้ อาจเป็นการเสียดเย้ยความเป็นมายาคติแห่งอำนาจของแผนที่ที่สร้างโดยรัฐชาติ ไม่ต่างอะไรกับสิ่งสมมุติอันไม่จีรังยั่งยืนก็เป็นได้

ที่น่าสนใจก็คือ การติดตั้งลักษณะนี้ ทำให้ผู้ชมต้องเข้าไปใกล้ในระยะหนึ่งเพื่อเห็นรายละเอียดบนแผนที่ แต่ถึงกระนั้น การมองเห็นก็ยังคมมีขีดจำกัดของการรับรู้ด้วยระยะสายตา เพราะฉะนั้น ผู้ชมจึงต้องเดินไปรอบๆ ตัวงาน

เท่ากับผู้ชมต้องเปลี่ยนจุดยืนของการมอง เพื่อจะได้เห็นแผนที่ครบทั้งหมด

จุดสังเกตที่น่าสนใจอีกประการก็คือ พื้นที่ของแผนที่เมืองเชียงรายที่นิพันธ์เลือกมาใช้สร้างแผนที่จากแป้งเด็กในงานศิลปะจัดวางชิ้นหลักของเขาชิ้นนี้ เป็นแผนที่จากแค่ 5 อำเภอ ในเมืองเชียงราย ซึ่ง 4 อำเภอในจำนวนนั้นเป็นอำเภอชายแดนอีกด้วย

ซึ่งที่ผ่านมา ผลงานของเขามักนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับความเป็นชายแดน ชายขอบ หรือประเด็นเกี่ยวกับพรมแดน, การเปลี่ยนถ่ายพื้นที่, การโยกย้ายถิ่นฐาน เขามักเดินทางไปยังพื้นที่เหล่านี้เพื่อเก็บบันทึกสถานการณ์ การใช้ชีวิตของผู้คน และหลักฐานของการโยกย้ายถ่ายโอนบางอย่างระหว่างพื้นที่ชายแดนที่มีความแตกต่างกับพื้นที่ส่วนกลาง

ในขณะเดียวกัน ผลงานศิลปะของนิพันธ์ก็ไม่ใช่การหาคำตอบที่ตายตัวเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้

หากแต่เป็นกระบวนการสำรวจและตั้งคำถามด้วยการทำงานศิลปะต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีบทสรุปหรือผลลัพธ์ที่สมบูรณ์แบบเลยก็เป็นได้

มิตรรักแฟนศิลปะท่านใดสนใจสัมผัสกับผลงาน “Silence Traces (2023)” ของ นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ ก็สามารถมาเยี่ยมชมกันได้ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566-30 เมษายน 2567 ในพื้นที่แสดงงาน ช้างแวร์เฮ้าส์ (โกดังห้วยเกี๋ยง) ทางหลวงหมายเลข 1290 อำเภอเชียงแสน-สามเหลี่ยมทองคํา

เปิดให้เข้าชม (ฟรี) ทุกวัน เวลา 09:00-18:00 น. •

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์