ROUTE 112 ทางยาว ที่ก้าว (อีก) ไกล

หลังคำวินิจฉัยให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล รอดจากคดีหุ้นสื่อไอทีวี กลับมาดำรงตำแหน่ง ส.ส.ได้

ครานั้น ด้อมส้มยินดีพิธาได้กลับเข้าสภา

แต่ถ้ายังจำกันได้ วันนั้น สมชาย แสวงการ ส.ว.ตัวตึงผู้ประกาศตัวเป็นคู่อาฆาตพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความในทันทีว่า “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” เพราะยังมีคดี ล้มล้างการปกครอง จากกรณีแก้ไข ม.112 ให้ลุ้นในอีกสัปดาห์

ขณะที่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์หลายคน ไปออกรายการทีวี ให้ความเห็นแทบจะตรงกันว่า การเสนอแก้ไขมาตรา 112 ในการรณรงค์เลือกตั้งพฤษภาคม 2566 ไม่น่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

เพราะวันนั้นหลายพรรคก็พูดถึงการแก้ไขมาตรานี้ โดยอาจมีระดับการแก้ไข ปรับปรุงที่แตกต่างกันไปตามเฉดสี กลายเป็นวาระสำคัญๆ ในทุกเวทีดีเบต และทุกๆ ช่องรายการทีวี

แต่หลังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ บ่ายวันที่ 31 มกราคม ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นวงการเมือง วงวิชาการ ไปกระทั่งประชาชนทั่วไป จำนวนไม่น้อยตกอยู่ในอาการเซอร์ไพส์ ประหลาดใจ ไปจนถึงอาการช็อก

จะมียกเว้นก็คือ กลุ่มปกป้องสถาบันฯ ที่ไปรวมตัวใกล้ศาลรัฐธรรมนูญที่ตะโกนโห่ร้องดีใจ ตามด้วย ส.ว.สมชาย แสวงการ ที่โพสต์ออกมาในทันที ว่า “จบข่าว” เคารพการตัดสินของศาล พร้อมชี้เป้า สถานีต่อไป “ยุบพรรค”

ปิดท้ายด้วย เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นักร้องขาประจำ เดินทางไป กกต.ยื่นหนังสือขอให้ยุบพรรคก้าวไกลตามระเบียบ

เป็นการ “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” ของกองเชียร์ฝ่ายตรงข้ามพรรคก้าวไกล ดังคำกล่าวของ ส.ว.ตัวตึงจริงๆ

 

จุดเริ่มต้นชะตากรรมพรรคก้าวไกลครั้งนี้เกิดจาก นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพระพุทธอิสระ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2

ที่เสนอร่างแก้ไข มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ พร้อมขอให้สั่งให้ยุติการเคลื่อนไหวดังกล่าว

การวินิจฉัยครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของการเมืองไทย

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวไกล ระบุว่า อยากให้สังคมกลับมาตั้งหลักเรื่องนี้ให้มั่นๆ เพราะเชื่อว่าเป็นกฎหมายแล้ว กฎหมายไม่ได้ส่งแฟกซ์มาจากพระเจ้า กฎหมายร่างด้วยมือมนุษย์ มนุษย์ก็ต้องแก้ไขมันได้ คือหลักการพื้นฐาน หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเรียกได้เต็มปากว่าเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่สามารถแก้ไขกฎหมายได้ คิดว่าคงมีอะไรไม่ปกติในประเทศนี้

ขณะที่ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้าให้ความเห็นไว้ก่อนการวินิจฉัยว่า หากคำวิวินิจฉัยออกมาเป็นลบ นี่อาจจะเป็นการปิดประตูกระบวนการทางรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนในระบอบรัฐสภาในการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ

“ถ้าการแก้ไข 112 ถูกปิด แตะต้องไม่ได้เลย สุดท้ายจะแก้ปัญหาอย่างไร ดังนั้น ไม่ได้สำคัญต่อพรรคก้าวไกลเท่านั้น แต่ความสำคัญที่ไม่แพ้กันคือเราจะเอาอย่างไรกับประเด็น ม.112 เราจะแสวงหาฉันทามติร่วมกันผ่านกลไกของรัฐสภาร่วมกันได้ไหม มีแสงสว่างรำไรอยู่ อย่าปิดมันเลย” เขากล่าว

แต่สุดท้ายแล้ว คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 31 มกราคม ก็ออกมาตรงกันข้ามสุดขั้ว

 

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 (พิธา) และผู้ถูกร้องที่ 2 (พรรคก้าวไกล) มีพฤติการณ์ในการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่างๆ เพื่อการเรียกร้องให้มีการทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยซ่อนเร้นผ่านการนำเสนอร่างกฎหมายแก้ไข ม.112 และใช้เป็นนโยบายพรรค มีลักษณะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นขบวนการ

คำวินิจฉัยระบุต่อว่า หากยังปล่อยให้ผู้ถูกร้องทั้ง 2 กระทำการต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ศาลรัฐธรรมนูญจึงสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้ง 2 เลิกการกระทำ เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิก ม.112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไข ม.112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติต่อไปในอนาคตด้วย

 

หลังคำวินิจฉัย พรรคก้าวไกลก็แถลงท่าทีของพรรคทันที

นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวแสดงความกังวลว่า คำวินิจฉัยอาจก่อผลกระทบการเมืองไทยระยะยาว เช่น กระทบต่อความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับศาลรัฐธรรมนูญในอนาคต และกระทบความเข้าใจและการให้ความหมายรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นอกจากนี้ ยังทำให้สังคมไทยสูญเสียโอกาสในการใช้ระบบรัฐสภาหาข้อยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอนาคต และกระทบเรื่องประเด็นพระมหากษัตริย์ เป็นปมขัดแย้งในสังคมไทย และกระทบด้านลบต่อสถาบัน

“ศาลบอกว่า การมีนโยบายหาเสียงเรื่อง ม.112 เป็นการลดสถานะของพระมหากษัตริย์ เข้ามาอยู่ในความขัดแย้งทางการเมือง มาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนผ่านการเลือกตั้งใช่ไหมครับ คำถามผมก็คือว่า แล้วพรรคการเมืองที่รณรงค์หาเสียงว่าตนเองเป็นผู้จงรักภักดี อีกพรรคไม่จงรักภักดี โจมตีว่าอีกพรรคมีเจตนาเป็นลบต่อพระมหากษัตริย์ หรือมีการขึ้นรูปพระราชวงศ์ในวิธีหาเสียง ถือว่าเป็นการลดทอนบ่อนเซาะทำลาย ทำให้พระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เป็นกลางทางการเมืองไหมครับ”

นั่นคือคำถามเชิงเหตุผลคาใจของหัวหน้าพรรคก้าวไกล ทิ้งไว้กลางวงผู้สื่อข่าวจำนวนมาก

 

เป็นอันว่า “Route 112” ถนนแห่งการแก้ไขประมวลอาญามาตรา 112 จากพรรคก้าวไกล ที่ปูทอดยาวมาตั้งแต่การก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ถูกปิดตายแล้ว

ยังมีปัญหาในระดับวิชาการที่ต้องถกเถียงกันอีกมากหลังการวินิจฉัย เพราะกระทบกับคนทั่วไปไม่น้อย เช่น

การที่ศาลสั่งให้เลิกพูด เขียน พิมพ์ โฆษณา เพื่อไม่ให้มีการยกเลิก ม.112 หรือการสั่งไม่ให้มีการแก้ไข ม.112 ซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ความหมายคืออะไร

ตกลงแล้วการพูดถึง ม.112 ได้หรือไม่ / ได้ในระดับใด และการแก้ไข ม.112 กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ นิยามอย่างไร

สำหรับอนาคตการเมืองหลังการวินิจฉัย เรียกได้ว่าก้าวไกลต้องเจอกับวิบากกรรมระดับใหญ่

ในทางกฎหมาย เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันกับทุกองค์กร กกต.ก็จะตั้งเรื่องพิจารณาคำร้องตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค

ส่วน ป.ป.ช. ก็จะพิจารณาประเด็นจริยธรรมร้ายแรง เพื่อส่งศาลฎีกาวินิจฉัยหากเห็นว่าฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม ซึ่งโทษสูงสุดก็คือตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต

เป็นไปตามฉากทัศน์ที่ถูกฉายภาพให้เห็นมาแล้วก่อนหน้า

แต่ในทางการเมือง คำวินิจฉัยครั้งนี้หลายคนวิเคราะห์ว่าอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความ “บานปลาย” ปัญหาการเมือง ยิ่งทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองซึมลึกขึ้น

 

สํานักข่าวใหญ่ระดับโลกอย่าง CNN วิเคราะห์ว่าผลจากคำตัดสินวันนี้ถือเป็นการทำลายขบวนการทางการเมืองสำคัญของภูมิภาค Southeast Asian

ตอกย้ำความพ่ายแพ้ของคนรุ่นใหม่จำนวนมากต่อฝ่ายอนุรักษนิยม นอกจากนี้ ยังเปิดทางให้มีการดำเนินคดีมากขึ้นจากนี้

ขณะที่ BBC ถึงกับพาดหัวว่า พรรคก้าวไกลซึ่งได้รับคะแนนมากสุดในการเลือกตั้งของไทยอาจถูกยุบ แม้คำตัดสินจะยังไม่มีบทลงโทษในทันที แต่คาดว่าจะถูกนำมาใช้เป็นเหตุผลในการร้องยุบพรรค และสั่งตัดสิทธิการเมืองแกนนำพรรคก้าวไทยเป็นเวลาหลายปี

นี่คือสิ่งที่โลกมองเห็นว่านับจากวันนี้ พลังการเมืองกลุ่มใหม่ จะยิ่งขัดแย้งกับกลไกอำนาจของพลังการเมืองแบบเดิมหนักขึ้น

เส้นทางที่พรรคก้าวไกลกำลังมุ่งหน้าเดินทางไปจากนี้จึงยิ่งเหนื่อย ยิ่งเดินทาง ยิ่งดูเหมือนไกล จากถนนปกติ เปลี่ยนเป็นถนนลูกรัง ขรุขระ เต็มไปด้วยอุปสรรค

แต่ในความไกลของ “เส้นทาง” ก็ถูกมองว่ายังมีประชาชนโอบอุ้ม ดูได้จากสถิติการบริจาคเงินภาษีให้ ทำสถิติมากที่สุดในประเทศติดต่อกันหลายปี แม้เงินบริจาคภาษีทุกพรรครวมกัน ยังไม่ได้ครึ่งของพรรคก้าวไกล

หรือจะเป็นโพลสำรวจความนิยม ที่จนถึงวันนี้คะแนนนิยมของพรรคก้าวไกลและนายพิธา ก็ยังทิ้งขาดพรรคร่วมรัฐบาล

 

วันนี้เห็นชัดแล้วว่า พลังอนุรักษนิยม พร้อมใช้ทุกกลไกจัดการพลังกลุ่มอำนาจใหม่เมื่อมีโอกาส แม้จะอยู่ในห้วงขณะที่ครองอำนาจนำ ก็ไม่เป็นข้อยกเว้น

ตั้งแต่ไทยรักไทย พลังประชาชน อนาคตใหม่ ล้วนประสบชะตากรรมเดียวกัน

พาให้นึกถึงคำพูดของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่กล่าวไว้ช่วงกลางปี 2566 ที่ว่า…

“เวลาฝ่ายอนุรักษนิยมต้องการจะบดขยี้พลังของการเปลี่ยนแปลง พลังประชาธิปไตย เขาไม่เคยเกรงใจประชาชน เขาไม่เคยเห็นหัวประชาชน”

การเมืองวันนี้ก็ยังตอกย้ำจุดยืนปีก่อนของนายธนาธรให้ “ชัด” เข้าไปอีก

เป็นการเมืองไทยบนถนนลูกรัง… ขับเคลื่อนได้ยาก ทำความเร็วไม่ได้มาก เต็มไปด้วยหิน กรวด และยังอันตราย