สังคมไทย หลังคำตัดสินคดีก้าวไกล

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

บทความพิเศษ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

https://www.facebook.com/sirote.klampaiboon/

 

สังคมไทย

หลังคำตัดสินคดีก้าวไกล

 

ด้วยคำตัดสินว่าพรรคก้าวไกลล้มล้างการปกครองเพราะเสนอแก้กฎหมาย 112 สังคมไทยกำลังกลับสู่วังวนความขัดแย้งทางการเมืองแบบที่เคยเป็นตลอด 20 ปี เหมือนการยุบพรรคเครือข่ายเพื่อไทยอย่างไทยรักไทย, พลังประชาชน หรือไทยรักษาชาติ

ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงที่ประเทศจะวนเวียนสู่ความขัดแย้งเดิมๆ อีกที

สาระสำคัญของคำตัดสินคือแก้กฎหมาย 112 เท่ากับล้มล้างการปกครอง

แต่สิ่งที่จะเป็นประเด็นในอนาคตก็คือการยื่นยุบพรรคก้าวไกล, การขยายบทบาทศาลในเขตอำนาจสภาและพรรคการเมืองเรื่องแก้กฎหมาย

รวมทั้งการเปิดทางให้ตีความว่า 112 เป็นกฎหมายพิเศษที่ใครจะแสดงความเห็นเพื่อแก้ไขไม่ได้เลย

 

ก้าวไกลเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการ “เปลี่ยนโครงสร้าง” ในประเทศไทย ซึ่งไม่ว่าใครจะตีความว่า “โครงสร้าง” ว่าอย่างไร ภาพของก้าวไกลเรื่อง “เปลี่ยนโครงสร้าง” ที่มีคนลงคะแนนโหวตกว่า 14 ล้านก็คือหลักฐานที่ตอกย้ำว่าคนที่เห็นด้วยกับการ “เปลี่ยนโครงสร้าง” มีมากมายระดับมหาศาลจริงๆ

ไม่ใช่ความลับว่าเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลใช้ภาพลักษณ์เรื่อง “เปลี่ยนโครงสร้าง” เป็นข้ออ้างสกัดไม่ให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ และก้าวไกลตั้งรัฐบาล

และด้วยคำตัดสินแบบนี้ย่อมทำให้การ “เปลี่ยนโครงสร้าง” ไม่มีทางเกิดขึ้นเพราะระบบการเมืองถูกวางกรอบให้พูดและเปลี่ยนแปลงแค่ในขอบเขตที่ผู้มีอำนาจต้องการ

ถ้าโครงสร้างของประเทศไทยดีไปหมดก็ไม่เป็นไร

แต่หาก “โครงสร้าง” ของประเทศเป็นตัวก่อปัญหามิติต่างๆ เยอะไปหมด คำตัดสินศาลวันนี้ก็คือมือที่มองไม่เห็นซึ่งบีบบังคับให้ประเทศอยู่กับปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างนี้ไปอย่างไม่มีวันได้ผุดได้เกิดอีกเลย

 

ตรงข้ามกับความคาดหวังของสังคมไทยที่ต้องการเห็น “การเมืองแบบเปิด” ที่คนทุกกลุ่มมีเสรีภาพในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองแบบที่ตัวเองต้องการ

คำตัดสินวันนี้คือหมุดหมายใหม่ของ “การเมืองแบบปิด” ที่คู่ขนานกับ “การเมืองเครือข่าย” ซึ่งเชื่อมโยงกับการแช่แข็งประเทศอีกหลายประเด็น

เดือนมกราคมกำลังผ่านไปด้วยข่าวสำคัญที่ไม่มีใครสนใจอย่างการปิดโรงงานแห่งหนึ่งใน จ.ระยอง จนมีคนตกงานทันทีกว่า 800 คน

และไม่ว่าจะมองในแง่มุมไหน การตกงานในปี 2567 ในเวลาที่งานหายากและเศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้าแบบนี้ เท่ากับคนกลุ่มนี้อาจแทบไม่มีโอกาสจะหางานใหม่ได้เลย

ถ้าคนงาน 1 คนมีภาระเลี้ยงดูลูกอย่างน้อย 1 คนและพ่อแม่อีกอย่างน้อย 1 คน การตกงานของคนกว่าแปดร้อยก็หมายถึงจะมีคนเดือดร้อนด้วยอย่างต่ำ 240 คน และหากยอมรับความจริงว่าคนงานส่วนใหญ่ค่าแรงน้อยกว่าค่าครองชีพจนมีเงินเก็บน้อยมาก การปิดโรงงานก็ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่มีงานทำทั้งที่ไม่มีเงินเก็บเลย

ขณะที่นายกฯ, รองนายกฯ, หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และรัฐมนตรีหลายคนมีเวลาไปงานแต่งงานของทายาทอภิมหาอัครเศรษฐีของประเทศ

แต่นับจากวันแรกที่โรงงานนี้ปิดกิจการบางแผนกจนมีคนเดือดร้อนเป็นร้อย ยังไม่มีใครในรัฐบาลพูดถึงปัญหานี้แม้แต่นิดเดียว ไม่ว่าจะเป็นนายกฯ, รัฐมนตรี หรือว่าที่นายกฯ ก็ตาม

ยิ่งดูรายละเอียดของโรงงานที่ปิดกิจการก็ยิ่งเห็น “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ที่รัฐบาลควรคิดอย่างจริงจัง

เพราะเจ้าของโรงงานนี้คือบริษัทยักษ์ใหญ่อันดับ 3 ของโลกด้านผลิตชิ้นส่วนและไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีอนาคตคู่ขนานกับการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนตามธรรมชาติในปัจจุบัน

 

เท่าที่มีการประเมินโดยเว็บไซต์ precedenceresearch.com ตลาดโซลาร์เซลล์ปีนี้มีมูลค่า 134,800 ล้านเหรียญสหรัฐ และในอีกสิบปีข้างหน้าจะโตขึ้น 4 เท่าตัวโดยมีมูลค่าถึง 508,180 ล้านเหรียญสหรัฐ

นั่นแปลว่าโรงงานนี้ไม่ได้ปิดกิจการแผนกนี้เพราะธุรกิจไปต่อไม่ได้ แต่เพราะมีการย้ายฐานการผลิตจากไทย

รัฐบาลเศรษฐาคิดเหมือนรัฐบาลประยุทธ์ว่าประเทศไทยไม่เจริญเพราะไม่เกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเติบโตไปพร้อมกับพัฒนาการเศรษฐกิจและเทคโนโลยีแบบใหม่ๆ

แต่ถ้ารัฐบาลตระหนักถึงปัญหานี้จริง รัฐบาลต้องเห็นว่าการปิดโรงงานนี้คือสัญญาณเตือนภัยต่อการปรับตัวสู่ “อุตสาหกรรมใหม่” ของไทย

รัฐมนตรีเพื่อไทยมีเวลามากมายในการบอกว่าเศรษฐกิจประเทศไทยวิกฤตจนต้องกู้เงินแจก เช่นเดียวกับรัฐบาลมีเวลามากมายเพื่อบอกคนไทยว่าคุณเศรษฐาจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น

แต่ไม่มีใครเลยที่มีเวลาพอจะมองเห็นและหาทางแก้การตกงานที่เชื่อมโยงกับการย้ายฐานการผลิตใน “อุตสาหกรรมใหม่” ของไทย

ขณะที่พรรคเพื่อไทยประกาศช่วงหาเสียงว่าเลือกเศรษฐา คนไทยจะเป็นเศรษฐี เรื่องตลกร้ายคือครึ่งปีที่เพื่อไทยได้อำนาจรัฐเป็นของตัวเอง สิ่งที่เห็นได้ชัดคือคนรวยระดับสูงสุดรวยขึ้น บุฟเฟ่ต์มื้อละ 2,000-3,000 มีมากขึ้นและหาได้ง่ายขึ้น และบ้านหรูของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ราคาหลังละ 80-100 ล้านขายหมดในพริบตา

เศรษฐกิจไทยแย่เป็นเรื่องที่ถูกทั้งปีจนไม่มีอะไรให้เถียงกัน แต่ภาคเศรษฐกิจตรงไหนที่แย่ แย่กับใคร และ “วิกฤต” หรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องเถียงกันเพราะพัวพันกับแผนสร้างหนี้โดยกู้เงินไปแจก 5 แสนล้าน ทั้งที่ถ้าไม่กู้ก็จะไม่เจอเงื่อนไขทางกฎหมายบังคับว่าจะกู้ได้ต่อเมื่อเศรษฐกิจวิกฤต หรือมีเงินพอแจกก็แจกไปเลย

ถ้าไม่แก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ซึ่งเราไม่มีอุตสาหกรรมใหม่ๆ และไม่มีนวัตกรรมอะไรเลย ประเทศไทยก็จะมีแต่โรงงานเก่าๆ ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเก่าๆ ซึ่งใช้แต่แรงงานราคาถูกจนคนไทยไม่มีวันรวยขึ้น

ส่วน “อุตสาหกรรมใหม่” ก็ย้ายฐานการผลิตไปที่อื่นจนประเทศไทยถดถอยระยะยาว

ฟังแค่นี้ก็เห็นว่านโยบายกู้เงินแจกช่วยอะไรไม่ได้ ส่วนแลนด์บริดจ์ตอนนี้เป็นแค่แผ่นกระดาษที่ต่อให้ผ่านการอนุมัติจริงๆ ก็ต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าจะก่อสร้างจนเกิดรายได้เข้าประเทศ

สัญญาณของการแก้ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” เรื่องยกระดับอุตสาหกรรมเพื่อยุติการย้ายฐานการผลิตจึงไม่มีเลย

 

ล่าสุด กองทุนต้นโพธิ์ที่เคยทำผลตอบแทนจากการลงทุนในไทยระดับ 1,000% ก็ปิดตัวโดยคุณ “อธิไกร จาติกวณิช” ผู้จัดการกองทุนระบุว่า “หุ้นไทยเป็นสินทรัพย์ที่น่าผิดหวังมาก”, หุ้นไทยไม่ใช่ 1 ในสินทรัพย์ที่ดีที่สุด และไม่มีทางที่ไทยจะกลับไปสู่การเติบโตได้ แค่เติบโตแบบ 10 ปีที่แล้ว ก็ไม่สามารถทำได้เลย

ตรงข้ามกับความเชื่อว่าความขัดแย้งทางการเมืองทำให้ประเทศมี “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” จนระบบถดถอย คุณอธิไกรระบุว่าต้นตอของปัญหาคือรัฐให้อำนาจบริษัทขนาดใหญ่ผูกขาดจนประเทศมีนวัตกรรมต่ำ แข่งกับโลกไม่ได้ บริษัทใน SET50 เป็นบริษัทเก่าๆ ที่เป็นธุรกิจผูกขาด หรือไม่ก็ได้สัมปทานรัฐเท่านั้นเอง

ด้วยโครงสร้างของรัฐไทยที่เจ้าสัวรายใหญ่หากินแบบผูกขาดในธุรกิจค้าปลีก, เหล้าเบียร์, ก่อสร้าง, พลังงาน, โทรคมนาคม ฯลฯ ล้วนเป็น “สปอนเซอร์” ให้พรรคใหญ่แทบทุกพรรค , ทหารการเมือง, จ่ายตรงให้ ส.ส.บางกลุ่ม หรือเป็นรัฐมนตรีเองโดยตรง โอกาสที่เราจะออกจากระบบนี้จึงแทบไม่มีเลย

หากประเทศยังเป็นแบบนี้ต่อไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นในประเทศต่อไปเรื่อยๆ ก็คือคนจนยิ่งจนลง คนชั้นกลางและมนุษย์เงินเดือนที่ไม่มีเส้นสายมีชีวิตทางเศรษฐกิจที่ตีบตันขึ้น การลงทุนในประเทศกลายเป็นการเสียโอกาส

ส่วนคนกลุ่มเดียวที่จะร่ำรวยขึ้นคือนักการเมืองและนักธุรกิจกลุ่มผูกขาดประเทศไทย

 

คนไทยไปเลือกตั้งปี 2566 โดยแห่ไปลงคะแนนเสียงอย่างถล่มทลายเพราะอยากเห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลง

แต่ทันทีที่หีบเลือกตั้งปิดลง กระบวนการกำจัดความเปลี่ยนแปลงของประเทศก็เดินหน้าขึ้นจนมาถึงจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญหลังคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 31 มกราคม

ไม่มีสังคมไหนที่ประเทศเจริญก้าวหน้าด้วยฝีมือของชนชั้นนำฝ่ายเดียว แต่ประเทศไทยวันนี้คือประเทศที่ชนชั้นนำกำลังสร้างระบบการเมืองแบบกินรวบโดยตัดแต่งระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาให้บิดเบี้ยวภายใต้กรงที่มองไม่เห็น ถึงแม้ประเทศที่เป็นอยู่จะเป็นพยานของความห่วยของชนชั้นนำไทยจนปัจจุบัน

ระบบการเมืองที่ดีคือระบบที่โอบรับความเปลี่ยนแปลง หลักฐานของความเป็นระบบการเมืองที่ดีคือการเป็นระบอบที่คนยอมรับด้วยความยินยอมพร้อมใจที่สุด

ไม่มีระบบที่ดีในสังคมไหนอยู่ได้ด้วยการเอาผิดและลงโทษคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลง

ยกเว้นระบบนั้นเป็นระบบที่เลว