“กลาโหม” กรุ่น! รับฤดูกาลโผทหาร เช็กสเตตัส ‘บิ๊กทิน’ บอร์ด 6 เสือกลาโหม และเกมซื้อใจทหารของ ‘เศรษฐา’

แม้จะยังไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรี แต่กระแสข่าวลือที่ออกมาก่อนกาล ก็ทำให้นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม หวั่นไหว จนต้องมีการเช็กข่าวกันเลยทีเดียวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะมาควบ รมว.กลาโหม เองจริงหรือไม่

เพราะนาทีนี้ น่าจะยังไม่ถึงเวลาปล่อยเก้าอี้สนามไชย 1 ให้ทหารเก่าคนไหนมาเป็น รมว.กลาโหม เพราะต้องรักษาภาพลักษณ์รัฐบาลพลเรือนก็ตาม

ถึงขั้นที่นายสุทินต้องเช็กที่มา ต้นตอข่าว ในสื่อต่างๆ ว่ามีน้ำหนักเพียงใด แต่จะให้ชัวร์ที่สุด ก็ต้องเช็กกับ 2 อดีตนายกรัฐมนตรี

คนหนึ่งคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะนายเศรษฐา ก็ถือเป็นนายกฯ สายตรง และเปรียบเสมือนที่ปรึกษาส่วนตัวของนายเศรษฐา

ส่วนอีกคนหนึ่งคือ นายทักษิณ ชินวัตร ที่เชื่อกันว่า ไม่ว่าสิ่งใด ก็จะอยู่ในการรับรู้ และการตัดสินใจทั้งหมด เพราะสำหรับนายสุทิน ก็ได้ชื่อว่าอยู่ในขั้วของนายทักษิณ ในฐานะที่เป็น ส.ส.มาหลายสมัย อยู่พรรคมายาวนาน และเคยเป็นแกนนำเสื้อแดง อีกทั้งยังสนิทสนมกับนายพายัพ ชินวัตร น้องชาย

โดยมีรายงานข่าวว่า ทั้ง 2 อดีตนายกฯ ยืนยันว่า ยังไม่มีการปรับ ครม. และไม่เคยได้ยินว่านายเศรษฐาจะต้องการนั่งควบ รมว.กลาโหม และมองว่า นายสุทินทำหน้าที่ รมว.กลาโหมได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว

พร้อมมีคำแนะนำด้วยว่า แม้กองทัพจะเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับ รมว.กลาโหม ที่ปฏิบัติหน้าที่กับรัฐบาลราบรื่นดีก็ตาม แต่เมื่อถึงสถานการณ์หนึ่ง กองทัพจะฟัง “สัญญาณ” ที่ถูกส่งออกมาจากขั้วอนุรักษนิยม จึงต้องทันเกม และเข้าใจกองทัพ

ทั้งนี้ อาจด้วยเพราะบทเรียนในอดีตของทั้งนายทักษิณ และโดยเฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ฝ่ายทหาร ฝ่าย ผบ.เหล่าทัพในเวลานั้น ล้วนปฏิบัติต่อ รมว.กลาโหมหญิงด้วยดี แต่ท้ายที่สุด ก็จบด้วยการยึดอำนาจ

แม้ว่าบริบทของสถานการณ์ทางการเมืองและขั้วอำนาจในปัจจุบัน จะแตกต่างจากเมื่อปี 2549 และ 2557 เพราะ “บิ๊กดีล” จนมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้วของพรรคเพื่อไทย และขั้วอำนาจ 3 ป. และคีย์แมนสายอนุรักษนิยม ที่ยังคงอยู่พร้อมหน้า แตกต่างเพียงหมดยุคของขั้วอำนาจบ้านสี่เสาเทเวศร์ไปแล้ว เข้าสู่ขั้วอำนาจใหม่ ที่มีทหารเก่า คีย์แมนคนเดิมๆ อยู่

แต่ตราบใดที่ขั้วอนุรักษนิยมยังจำเป็นต้องอาศัยพรรคเพื่อไทยและนายทักษิณ ในการต่อสู้ทางการเมือง ต่อสู้การเลือกตั้ง สู้กับพรรคก้าวไกล ก็ยังจำเป็นที่จะต้องรักษาดีล และทำตามข้อตกลงต่างๆ ก่อนการตั้งรัฐบาลของนายเศรษฐาต่อไป

ในห้วง 3-4 เดือนของรัฐบาลนายเศรษฐา ที่ผ่านมา ถือได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาล ระหว่างนายเศรษฐา กับ ผบ.เหล่าทัพ เป็นไปด้วยดี ปรากฏภาพความใกล้ชิดของนายเศรษฐากับผู้นำกองทัพที่มีการไปพบปะหารือกันนอกรอบ และในบางครั้งก็ไม่ได้ออกสื่อ

จนถึงขั้นมีการนัดพบปะกินข้าวพูดคุยกันแบบส่วนตัวสบายๆ เมื่อ 31 มกราคม ที่คลับส่วนตัว ที่นายเศรษฐาเคยนัดหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลดินเนอร์ครั้งแรก เพราะต้องการรู้จัก ผบ.เหล่าทัพมากขึ้นในมุมที่เป็นส่วนตัวเพื่อกระชับความสัมพันธ์

เพียงแต่ต้องเลื่อนออกไปเพราะนายเศรษฐาไม่สบาย ติดเชื้อไข้หวัดสายพันธุ์เอ จึงต้องเลื่อนมื้อดินเนอร์กับ ผบ.เหล่าทัพ และนายสุทินออกไปก่อน

ที่ผ่านมา กองทัพยังคงสนับสนุนนโยบายรัฐบาล และปฏิบัติตามคำสั่งนายกฯ แม้บางเรื่องอาจจะมีอึดอัดใจบ้าง เช่น เรื่องสวัสดิการเชิงพาณิชย์ของหน่วยทหาร ที่กำลังถูกรุกคืบ เพื่อให้โอนไปเป็นของรัฐ ทั้งๆ ที่เป็นกิจการที่หน่วยทหารริเริ่มขึ้นมาเอง เพื่อเป็นเงินสวัสดิการในการดูแลหน่วยและกำลังพล

รวมทั้งเรื่องการขอคืนพื้นที่ทหาร ที่ทหารไม่จำเป็นต้องใช้ คืนให้กรมธนารักษ์ เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ เพราะในหลายพื้นที่ ทหารยังจำเป็นต้องปล่อยเป็นที่ว่าง เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากแนวชายแดน

หรือในส่วนของ ทอ. จะต้องมีพื้นที่ฝึก พื้นที่ปลดระเบิด และพื้นที่ปลอดภัยสำหรับอากาศยาน แต่กองทัพก็ยอมปฏิบัติตามคำสั่งรัฐบาล

แม้แต่การเฉือนพื้นที่ทหาร เช่น การยอมให้ใช้พื้นที่กองบิน 41 เชียงใหม่ สร้างเส้นทางวงแหวน เส้นทางลัด แก้ปัญหาการจราจรในเมืองเชียงใหม่ ที่กระทบพื้นที่การรักษาความปลอดภัย ฐานที่ตั้งทางทหาร และมีพระตำหนักอยู่ภายใน

จากที่ ทอ.ไม่เคยยอม แต่มาในยุคนี้ ในเมื่อนายเศรษฐาได้เอ่ยปากเชิงสั่งการกับบิ๊กไก่ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. ทาง ทอ.จึงต้องยอม แต่รัฐต้องสนับสนุนงบประมาณในการติดตั้งระบบความปลอดภัย ระบบสแกนใบหน้า แผ่นป้ายทะเบียน การลงทะเบียนประวัติผู้ขับขี่และรถ และสร้างรั้วกำแพง ไฟจราจรใหม่เพิ่ม

แต่ด้วยความสัมพันธ์อันดีระหว่างกองทัพกับรัฐบาลจึงทำให้ ผบ.ทอ.ยินยอม

อีกทั้งนายเศรษฐา ก็แสดงท่าทีสนับสนุนโครงการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะการจัดซื้อเครื่องบินรบฝูงใหม่ ที่ ทอ.จะเสนอ ครม. ขออนุมัติหลักการ และกรอบงบประมาณปี 2568 งบฯ 1.9 หมื่นล้านบาท และไม่ล้วงลูกแทรกแซง

ไม่มีใบสั่งว่าต้องให้ซื้อเครื่องบินแบบใดจากประเทศใด แต่ให้กองทัพอากาศเลือกเองที่ดีที่สุด และเหมาะสมที่สุด เพราะกองทัพอากาศเป็นผู้ใช้ เพียงแต่ให้ยึดนโยบายออฟเซ็ต ที่คำนึงถึงการค้าขายกับประเทศคู่ค้าที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย

นายเศรษฐา ก็แสดงความจริงใจด้วยการระบุว่า หากมีใครในฝ่ายการเมืองไปกดดัน หรือบีบให้เลือกเครื่องบินแบบที่กองทัพอากาศไม่ได้ต้องการ ก็ขอให้บอก

ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ทอ.เล็งจะเลือกซื้อเครื่องบิน กริพเพ่น ฝูงที่ 2 จากสวีเดน มากกว่าเครื่องบินเอฟ 16 บล็อก 70 จากสหรัฐอเมริกา อีกทั้งเมื่อครั้งที่นายเศรษฐาไปประชุมที่สวิตเซอร์แลนด์ก็ยังได้พบปะกับประธานบริษัท SAAB สวีเดน ที่ขายเครื่องบินกริพเพ่น ที่ ทอ.ต้องการพอดี

แม้แต่กองทัพเรือก็ส่อเค้าว่าจะมีข่าวดี เพราะนายเศรษฐาและนายสุทิน อาจยินยอมที่จะให้เดินหน้าต่อเรือดำน้ำจีนลำแรกต่อไป โดยจะยอมให้แก้ไขข้อตกลง ในการเปลี่ยนเครื่องยนต์จากของเยอรมนี มาเป็นเครื่องยนต์จีน ตามที่กองทัพเรือได้ศึกษามา และเสนอมาก่อนหน้านี้ และจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติแก้ไขข้อตกลงและขยายสัญญาต่อเรือดำน้ำออกไปอีกเกือบ 4 ปี

อีกทั้งรัฐบาลนายเศรษฐา ก็ห่วงว่าหากยกเลิกต่อเรือดำน้ำจีน จะกระทบความสัมพันธ์ และส่งผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล เพราะจีนเองก็ไม่ต้องการที่จะยกเลิกโครงการต่อเรือดำน้ำ และไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนจากเรือดำน้ำเป็นเรือผิวน้ำ หรือเรือฟริเกต อีกทั้งจะไม่คืนเงินที่ผ่อนมาหลายงวดกว่า 8 พันล้าน ด้วยเพราะจีนก็ลงทุนต่อเรือไปมหาศาลแล้ว

ขณะเดียวกัน นายเศรษฐา ก็ช่วยลงภาพกิจกรรม ผลงานของกองทัพในการช่วยเหลือประชาชนตามที่สั่งการในหลายเรื่องที่เสมือนเป็นการโปรโมตผลงานกองทัพไปด้วยในตัว

แต่ที่ ผบ.เหล่าทัพ ต้องระมัดระวังกันเอง ก็คือทุกครั้งที่ไปพบนายเศรษฐา จะต้องเตรียมพร้อมตัวเองสำหรับการถูกถ่ายภาพ เพราะนายกฯ จะนำมาโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย ก่อนหน้านี้ ผบ.เหล่าทัพจะไม่รู้ตัวว่าภาพจะออกสื่อ ถือเป็นเรื่องที่ ผบ.เหล่าทัพต้องปรับตัวตามสไตล์ของนายกรัฐมนตรี

รวมทั้งนายเศรษฐา มักจะสัมภาษณ์ออกสื่อเสมอว่าได้โทรศัพท์ หรือพบปะกับผู้นำเหล่าทัพ เช่น บิ๊กอ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และในระยะหลังๆ นี้ จะคุยกับบิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. ที่เป็นรอง ผอ.รมน. ด้วย เพราะก่อนหน้านี้นายเศรษฐา จะสั่งการผ่าน พล.อ.ทรงวิทย์ เป็นส่วนใหญ่ จนที่สุดมีคนสะกิดว่า จะต้องสั่งการให้ตรงแชนแนลกับ ผบ.เหล่าทัพโดยตรง

รวมทั้งการไปออกงานตามคำเชิญของกองทัพ เช่น การไปร่วมเทศกาลมวยไทย ที่อุทยานราชภักดิ์ 6 กุมภาพันธ์นี้ และการประชุมต่างๆ ทั้ง กอ.รมน. และสภาความมั่นคงแห่งชาติ และมีแผนลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

แต่ที่ถูกจับตามองมากที่สุด คือการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพลครั้งแรกของรัฐบาลนายเศรษฐา และครั้งแรกของนายสุทิน ในฐานะ รมว.กลาโหมพลเรือน ที่กำลังเริ่มต้นขึ้นในกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้

เพราะโดยไทม์ไลน์แล้ว จะเป็นช่วงที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพ จะต้องส่งบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายให้กับผู้บัญชาการทหารสูงสุด และส่งให้กับกลาโหม เพื่อให้ปลัดกลาโหมนำมารวบรวมและเตรียมพิจารณาในคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายชั้นนายพลกระทรวงกลาโหม หรือที่เรียกว่าบอร์ด 7 เสือกลาโหม เพื่อให้บัญชีรายชื่อเสร็จเรียบร้อยภายในต้นเดือนมีนาคมนี้

แต่ทว่าในยุคนี้ จะกลายเป็นบอร์ด 6 เสือกลาโหม เนื่องจากไม่มี รมช.กลาโหม จึงมีแค่นายสุทินในฐานะ รมว.กลาโหม เพียงเสียงเดียว หากเทียบกับผู้บัญชาการเหล่าทัพที่มีถึง 5 เสียง คือ ปลัดกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผบ.ทบ. ผบ.ทร. และ ผบ.ทอ.

ที่น่าจับตาคือเสียงของ 5 ผู้บัญชาการเหล่าทัพ อาจไม่ได้ไปในแนวทางเดียวกัน

สำหรับ พล.อ.ทรงวิทย์ กับ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี นั้นเพื่อนสนิท เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 24 น่าจะเห็นพ้องต้องกันในเกือบทุกเรื่อง

ขณะที่ พล.อ.เจริญชัย กับ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม เป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.23 และจะเกษียณพร้อมกัน กันยายนนี้

ส่วน พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกลาโหม แม้จะเป็น ตท.24 แต่ก็ไม่ได้เห็นพ้องในทางเดียวกันกับ พล.อ.ทรงวิทย์ ในทุกเรื่อง

อีกทั้งในฝ่ายการเมืองอาจจะมองว่า เป็นน้องรักสายตรงของบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

อาจเรียกได้ว่า โผทหารมีนาคมนี้ จะเป็นการอุ่นเครื่องการบริหารอำนาจของนายสุทิน ในฐานะ รมว.กลาโหม รวมถึงนายเศรษฐา ในฐานะที่คุมความมั่นคงด้วยตนเอง ครั้งแรกด้วย

แต่การแต่งตั้งโยกย้ายชั้นนายพล หรือที่เรียกว่าโผทหารกลางปีนี้ เป็นการโยกย้ายเล็ก ที่อาจไม่มีการขยับตำแหน่งหลักใดมากนัก เพราะเป็นการโยกย้ายเพื่อรองรับคนที่จะเกษียณราชการเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ต้องผ่านการพิจารณาของบอร์ด 6 เสือกลาโหม

เพราะการโยกย้ายใหญ่รออยู่ช่วงปลายปี ราวเดือนสิงหาคม-กันยายน เพราะจะต้องมีการแต่งตั้ง ผบ.ทบ.คนใหม่ เพราะ พล.อ.เจริญชัย จะเกษียณอายุราชการ ที่ถือว่าจะเป็นการจัดโผที่ร้อนแรงที่สุด เพราะมีแคนดิเดตชิงเก้าอี้ ผบ.ทบ.หลายคน โดยยังมีชื่อบิ๊กปู พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ เสนาธิการทหารบก จาก ตท.26 ยังเป็นเต็งหนึ่ง

แม้ว่าในระยะหลังจะมีกระแสข่าวว่า “สัญญาณเปลี่ยน” อาจให้บิ๊กหนุ่ย พล.อ.ธราพงษ์ มะละคำ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. จาก ตท.24 ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ก่อนก็ตาม

แต่ดูจากการระมัดระวังตัวของ พล.อ.พนา และการโลว์โปรไฟล์ ก็เป็นการสะท้อนว่าเป็นการเตรียมพร้อมที่จะขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ในโยกย้ายปลายปีนี้ โดยมีอายุราชการถึง 2570 เลยทีเดียว

และจะมีการแต่งตั้ง ผบ.ทร.แทนบิ๊กดุง พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร.ที่จะเกษียณราชการ และมีแคนดิเดตชิงกันถึง 3 คนคือ บิ๊กวิน พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ทร. จาก ตท.25 ซึ่งอาวุโสสูงสุด และถือเป็นนายทหารที่มีเส้นทางรับราชการตามธรรมเนียมของทหารเรือ ผ่านตำแหน่งสำคัญครบ

ที่ต้องชิงกับบิ๊กโอ๋ พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วย ผบ.ทร. จาก ตท.23 ที่ พล.ร.อ.อะดุง ก็ต้องการหนุนเพื่อนให้เป็น ผบ.ทร.อีกคน จึงให้ดูเรื่องเรือดำน้ำ และการกู้ รล.สุโขทัย ต่อ เพื่อระวังหลังให้ด้วย

โดยมีบิ๊กน้อย พล.ร.อ.วรวุธ พฤกษารุ่งเรือง เสธ.ทร. จาก ตท.24 เป็นแคนดิเดตอีกคน ที่หวังอาศัยพลัง ตท.24 ที่เป็น ผบ.เหล่าทัพอยู่ถึง 3 คน ช่วยหนุน เพื่อสกัด พล.ร.อ.สุวิน ที่ชิงเก้าอี้ ผบ.ทร.มาแล้ว 2 ครั้ง และครั้งนี้เป็นเดิมพันสุดท้าย แม้ พล.ร.อ.สุวิน จะเลิกหวังแล้ว แต่ทว่า กองเชียร์เพียบ เพราะเห็นใจที่ถูกรุมสกัดกั้นมาแล้วถึง 2 ครั้ง ในฐานะที่เป็นดาวเด่นในกองทัพเรือมานาน โดยแคนดิเดตทั้ง 3 คนล้วนเหลืออายุราชการ 1 ปีเท่ากัน

เมื่อถึงเวลานั้น กองทัพก็จะร้อนระอุจากการชิงเก้าอี้ผู้นำเหล่าทัพ เช่นที่เคยเป็นมา

ดังนั้น โผโยกย้ายกลางปีนี้จึงจะเป็นแค่การอุ่นเครื่องและดูทิศทางหยั่งเชิงท่าทีของรัฐบาลเพื่อไทย ทั้งตัวนายสุทิน และนายเศรษฐาได้อีกด้วย