นโยบายเศรษฐกิจเพื่อไทย ทำไม ‘เกาไม่ถูกที่คัน’

(Photo by MANAN VATSYAYANA / AFP)

ปีเตอร์ วอร์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านนโยบายสาธารณะ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (เอเอ็นยู) เขียนบทความว่าด้วยนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อไทย ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ไว้น่าสนใจอย่างยิ่งในอีสต์เอเชียฟอรั่ม เว็บไซต์ที่เป็นเวทีแลกเปลี่ยนทัศนะทางวิชาการไว้เมื่อ 25 มกราคมที่ผ่านมา ย้ำว่า รัฐบาลเศรษฐากำลังแก้ปัญหาไม่ถูกจุด

ผู้เขียนระบุว่า เศรษฐกิจไทยตกอยู่ในสภาพชะลอตัว เติบโตช้ามาตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งในช่วงระหว่างปี 1997-1999 โดยชี้ให้เห็นว่า ในปี 2023 จีดีพีไทยขยายตัวเพียง 2.5 เปอร์เซ็นต์โดยประมาณ จัดอยู่ในระดับต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยกเว้นเมียนมาเพียงประเทศเดียวเท่านั้น และคาดหมายกันว่า ในปี 2024 นี้ก็จะอยู่ในสภาพเดียวกัน

ปีเตอร์ วอร์ ระบุว่า หลังจัดตั้งรัฐบาล ก็มีการประกาศนำนโยบายแจกเงิน “ดิจิทัล” 10,000 บาทมาใช้ตามที่เคยหาเสียงไว้ โดยเตรียมใช้เงินกู้ 500,000 ล้านบาท มารองรับโครงการดังกล่าว ซึ่งนำไปสู่ข้อถกเถียงว่า โครงการนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถ้าหากเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้อยู่ในภาวะ “วิกฤต”

แต่นักวิชาการผู้นี้ชี้ให้เห็นว่า ยังมีคำถามพื้นๆ อยู่อีกประการ นั่นคือ ในแง่มุมทางเศรษฐศาสตร์แล้ว การกระตุ้นดีมานด์ภายในประเทศด้วยวิธีเช่นนี้ “มีเหตุมีผล” ในเชิงเศรษฐศาสตร์จริงหรือ?

 

เขาเชื่อว่า นโยบายดังกล่าว สะท้อนให้เห็นความ “เข้าใจผิด” ในแก่นของปัญหาเศรษฐกิจของไทย และชี้ว่า เหตุผลที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในระดับต่ำมาต่อเนื่องตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง ไม่ใช่เป็นเพราะขาดดีมานด์ ซึ่งเคยเกิดขึ้นจริงๆ ในช่วง “ล็อกดาวน์” ระหว่างปี 2020-2021 และควรนำเอานโนยายกระตุ้นทำนองนี้มาใช้ แต่ไม่ใช่ในปี 2023 ที่ผ่านมา

การขาดแคลนดีมานด์ในประเทศ ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไปในปี 2023 ปัญหาในเวลานี้ ไม่ใช่เพราะเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพแต่ไม่ได้นำมาใช้เพราะการขาดดีมานด์ ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจชั่วคราว โดยการแจกเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งเป็นนโยบายตอบสนองต่อปัญหาการขาดดีมานด์ จึงถือเป็นการกำหนดนโยบายผิดที่ผิดทาง เพราะการขาดดีมานด์ไม่ได้เกิดขึ้นจริงๆ ในประเทศไทย

ตรงกันข้าม ปีเตอร์ วอร์ ระบุว่า ปัญหาของเศรษฐกิจไทยอยู่ในอีกด้านหนึ่งของสมการเศรษฐกิจ นั่นคือในฝั่งของซัพพลาย เขาเชื่อว่า การที่เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างจำกัดจำเขี่ยมานานกว่า 2 ทศวรรษ เป็นเพราะศักยภาพในการผลิตของเราไม่ขยายตัว

ความสามารถในการผลิตหรือผลิตภาพ (productivity) ไม่เติบโต ไม่ขยายตัว เป็นผลมาจากการลงทุนในภาคเอกชนอยู่ในระดับต่ำ และรัฐบาลมีการลงทุนกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการสร้างเสริมผลิตภาพไม่เพียงพอ

ปีเตอร์ วอร์ ชี้ว่า เอกชนไทยลงทุนต่ำมากเมื่อเทียบเป็นอัตราส่วนกับจีดีพี เป็นอย่างนี้มานานตั้งแต่ต้มยำกุ้ง เทียบแล้วต่ำกว่าประเทศที่มีสถานะเศรษฐกิจใกล้เคียงกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกประเทศ จนพูดได้ว่า เอกชนไทยไม่มีความมั่นใจพอที่จะลงทุนเพื่อเสริมสร้างผลิตภาพของตัวเอง

เขาชี้ให้เห็นว่า นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลเพื่อไทยก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะปัญหาที่แท้จริงที่ทำให้แรงงานไทยยังได้รับค่าจ้างอยู่ในระดับต่ำ ก็เพราะผลิตภาพของแรงงานยังคงอยู่ในระดับต่ำนั่นเอง

 

ปีเตอร์ วอร์ นำเสนอข้อมูลว่าด้วย การอ่านออกเขียนได้, การคำนวณ และความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศ ของหนุ่มสาวชาวไทยว่า โดยรวมแล้วจัดอยู่ในระดับต่ำ แทบจะท้ายสุดในบรรดาชาติอาเซียนด้วยกัน

สาเหตุหลักมาจากระบบการศึกษาที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน ทำให้ผลผลิตที่ได้จากระบบย่ำแย่ตามไปด้วย แถมยังก่อให้เกิดปัญหาเชิงผลิตภาพในระยะยาวตามมา

ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาของไทยชี้ให้เห็นปัญหานี้มานานหลายทศวรรษแล้ว แต่ไม่ได้รับการแก้ไขจนแล้วจนรอด

“การกำหนดนโยบายระยะสั้น นโยบายที่เพียงหวังผลทางการเมือง โดยละเลยการปฏิรูปที่จะช่วยเสริมสร้างผลิตภาพในระยะยาว เป็นความล้มเหลวในเชิงนโยบายของไทยมาอย่างต่อเนื่อง”

สิ่งนี้เป็นปัญหาที่เน้นให้เห็นชัดกันมาแล้วอย่างน้อยในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้รับความสนใจทุกรัฐบาล ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม