E-DUANG : ประเด็นร้อน นายกรัฐมนตรี “คนนอก”

พลันที่มีการเสนอแนวทาง “ไม่เอา” นายกรัฐมนตรี “คนนอก” ขึ้นข้อ

เรียกร้องจาก นายพิชัย รัตตกุล ก็เริ่มก่อรูปขึ้นในทาง “ความคิด”

กลายเป็น “กระแส” ในทางสังคม

กลายเป็นพันธมิตรใน “แนวร่วม” ทางการเมืองขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยไม่จำเป็นต้องจับมือและร่วมกันลงนามประกาศเป็น

“สัตยาบัน”

นี่คือ กระบวนการเคลื่อนไหวในทาง “ความคิด” ที่ค่อยๆแปรไปสู่การปฏิบัติในทาง “การเมือง”

และพัฒนาเป็นลักษณะ”การจัดตั้ง”ขึ้นมา

ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ล้วนเข้ามาอยู่ใน”เส้นทาง”ใกล้เคียงกัน

เป้าหมาย คือ “ไม่เอา” นายกรัฐมนตรี “คนนอก”

 

ยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงตนผ่านคำกล่าว “ผมเป็นนัก การเมือง” ยิ่งเท่ากับแสดงบทบาทเด่นชัด

เด่นชัดพร้อมกับยืนยัน “แนวทาง”

ที่จะสืบทอดอำนาจผ่านช่องทางมาตรา 272 วรรคสอง อันเป็นบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ

โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อตามมาตรา 88

นั่นเท่ากับเป็นการแสดงตัวกลางเมืองอย่างโจ่งแจ้งว่าพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี”คนนอก”

หากมีสมาชิกรัฐสภาจัดพานถวาย

ยิ่งทำให้พันธมิตรในแนวร่วมของการ”ไม่เอา”นายกรัฐมนตรี”คนนอก”ดำเนินไปด้วยความคึกคัก หนักแน่น

เพราะนายกรัฐมนตรี”คนนอก”มากับ “รัฐประหาร”

 

การเมืองไทยนับแต่เข้าสู่ปี 2561 จึงเป็นการเมืองอันแบ่งขั้วขึ้นมาอย่างเด่นชัด

ไม่ใช่”เหลือง”กับ”แดง”เหมือนในอดีต

ไม่ว่าก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

หากแต่เป็นใน 2 ประเด็นที่สัมพันธ์กัน

1 คือ เอา หรือ ไม่เอา นายกรัฐมนตรี”คนนอก” อันสัมพันธ์กับอีก 1 ประเด็น คือ จะมีท่าทีอย่างไรต่อการแก้ปัญหาการเมืองด้วยกระบวนการ “รัฐประหาร”

นั่นก็คือ เอา หรือไม่เอา “รัฐประหาร”