เวนิสตะวันตก เมืองตะวันออกในโลกตะวันตก (ต่อ)

ยุกติ มุกดาวิจิตร

บทความพิเศษ | ยุกติ มุกดาวิจิตร

 

เวนิสตะวันตก

เมืองตะวันออกในโลกตะวันตก (ต่อ)

 

เท่าที่ได้อ่านประวัติศาสตร์อิตาลีมา คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า เวนิสเป็นศูนย์กลางอำนาจแทบจะแห่งเดียวในอิตาลีที่สืบทอดความเป็นรัฐอิสระ คงความเป็นมหาอำนาจการค้าทางไกล และความเป็นเอกเทศทางการเมืองการปกครองมาได้ยาวนานนับพันปี

นอกจากกรุงโรมซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจต่อเนื่องมาตั้งแต่ 800 ปีก่อนคริสต์ศักราช จนถึง ค.ศ.ที่ 400 แล้ว ก็ดูจะไม่มีศูนย์กลางอำนาจอื่นใดในอิตาลีอีกแล้วที่สืบทอดความเป็นอิสระมาอย่างต่อเนื่องยืนยาวได้เท่าเวนิส

แม้แต่ฟลอเรนส์ มิลาน เจนัว ซิซิลี และเนเปิลส์ ซึ่งล้วนแต่เป็นเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลางที่ต่างก็มีประวัติศาสตร์เฉพาะตนมายาวนาน ก็ยังเกิดและดับในระยะเวลาที่สั้นกว่าเวนิส

เป็นรู้กันดีว่า การเติบโตจนกลายเป็นอาณาจักรย่อมๆ ของเวนิสนั้นเกิดจากการเชื่อมสัมพันธ์ทางการค้ากับไบแซนเทียม (Byzantium) เวนิสค้าขายกับโลกตะวันออกด้วยการรับรองของไบแซนเทียม และกลายเป็นจุดเชื่อมต่อส่งผ่านสินค้าระหว่างโลกตะวันออกและโลกตะวันตก

ดังนั้น การที่จะรู้จักเวนิสให้มากขึ้น จึงควรทวนย้อนกลับไปยังจักรวรรดิโรมัน ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ 30 ปีก่อนคริสตกาล

จักรวรรดิโรมันเกิดจากการก่อตัวเป็นราชอาณาจักรโรมัน (Roman Kingdom) ที่กรุงโรม ภายหลังระบอบกษัตริย์หมดอำนาจไป กลายเป็นสาธารณรัฐโรมัน (Roman Republic) ที่ช่วงชิงอำนาจกันระหว่างจอมทัพยุคต่างๆ โรมันก็ค่อยๆ ขยายอำนาจไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วยุโรปจนถึงเกาะอังกฤษ ยุโรปตะวันตก ยุโรปตะวันออก รวมทั้งแอฟริกาตอนเหนือ และเอเชียกลางในยุคต่อๆ มา จนเกิดเป็นจักรวรรดิโรมัน (Roman Empire) ที่มีอำนาจเหนือพื้นที่กว้างขวางเสียจนในที่สุดก็ยากที่จะคงเอกภาพและรวมศูนย์อำนาจไว้ได้

เมื่อถึงยุคของจักรพรรดิคอนสแตนติน (Constantine, มีชีวิตใน ค.ศ.272-337) ด้วยความกว้างใหญ่ไพศาลของจักรวรรดิ ในปี ค.ศ.330 คอนสแตนตินจึงย้ายเมืองหลวงของจักรวรรดิไปยังคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople นั่นคือตั้งชื่อตามชื่อเขาเอง ปัจจุบันคืออิสตันบูล) เพื่อเป็นแกนกลางยึดโยงอำนาจทั้งทางฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก

นั่นกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่ออนาคตของจักรวรรดิโรมันทั้งในทางศาสนา วัฒนธรรม และการเมือง

เดิมทีนั้น บรรดาจักรพรรดิโรมันต่างก็ตั้งข้อรังเกียจต่อคริสต์ศาสนา พวกโรมันระแวงว่าพระเยซูและสาวกจะเป็นฐานอำนาจในการต่อต้านอำนาจรัฐ มีตำนานการกีดกันคริสต์ศาสนาของจักรวรรดิโรมันที่แม้เพียงเมื่อมีข่าวว่าพระเยซูประสูติ จักรพรรดิโรมันก็สั่งทหารไปเที่ยวสังหารเด็กทารกโดยไม่เลือกหน้าว่าใครเป็นใคร

จนเมื่อพระเยซูมีอิทธิพลทางจิตวิญญาณต่อผู้คนในจักรวรรดิโรมันมากยิ่งขึ้น จักรพรรดิโรมันจึงจับพระเยซูไปประหารด้วยการตรึงกางเขน จากข้อหาเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ

แต่หลังจากนั้นจักรวรรดิโรมันก็ปล่อยให้คริสต์ศาสนาเป็นหนึ่งในความเชื่อต่างๆ อันหลากหลายของชาวโรมัน หากแต่ศาสนาคริสต์ก็ยังคงมีสถานะที่ต่ำต้อยกว่าลัทธิความเชื่ออื่นๆ

หากแต่เมื่อถึงยุคของจักรพรรดิคอนสแตนติน อาณาจักรโรมันทั้งหมดกลายเป็นฐานกำลังสำคัญของคริสต์ศาสนา เมื่อคอนสแตนติน ที่เดิมนับถือเทพเจ้า กลับเปลี่ยนมายอมรับคริสต์ศาสนา จนถึงกับสถาปนาเป็นศาสนาแห่งจักรวรรดิ

เหตุการณ์นี้เล่ากันว่า เกิดขึ้นหลังจากที่คอนสแตนตินมีชัยชนะในการต่อสู้กับแม็กเซนติอุส (Maxentius) ณ สมรภูมิสะพานมิลเวียน (Milvian Bridge) ทางตอนเหนือของกรุงโรมในปี ค.ศ.312 เพื่อช่วงชิงอำนาจเหนือจักรวรรดิโรมัน ในระหว่างการศึกนั้น คอนสแตนตินมีนิมิตเห็นสัญลักษณ์คริสต์ศาสนาปรากฏขึ้นโดยนัยที่ว่า หากเขายกย่องคริสต์ศาสนาแล้ว ก็จะได้ชัยชนะมาในที่สุด

คอนสแตนตินจึงหันมาเชิดชูคริสต์ศาสนา สุดท้ายแล้วเขาก็ได้รับชัยชนะ ประกาศให้คริสต์ศาสนาเป็นศาสนาที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ดี มีข้อถกเถียงมากมายว่าคอนสแตนตินเองยอมรับคริสต์ศาสนาจนถึงกับที่เขาจะเข้ารีตศาสนาคริสต์หรือไม่

ไม่มีหลักฐานว่าเขาได้เข้าพิธีรับศีล ในขณะที่ในสมัยนั้น ลัทธินอกคริสต์ศาสนาอื่นๆ (paganism ซึ่งความหมายดั้งเดิมคือ ลัทธิของพวกชาวนา) ที่นับถือเทพเจ้าของกรีกและโรมัน ก็ยังคงมีบทบาทไม่น้อย

ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ หลังจากที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยให้นักประวัติศาสตร์ศิลป์ในปัจจุบันสามารถขึ้นไปไล่เรียงดูรูปสลักบนประตูชัยแห่งคอนสแตนตินที่กรุงโรม ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานที่คอนสแตนตินสร้างเพื่อสดุดีชัยชนะครั้งนั้น อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นได้แล้ว นักประวัติศาสตร์ศิลป์กลับไม่พบสัญลักษณ์คริสต์ศาสนาปรากฏบนประตูชัยเลย

ไม่ว่าจะอย่างไร หลังจากที่คอนสแตนตินย้ายศูนย์อำนาจจักรวรรดิโรมันทั้งหมดไปยังคอนสแตนติโนเปิลแล้ว อาณาจักรโรมันทั้งหมดจึงถูกแบ่งอำนาจปกครองเป็น 2 ส่วน ได้แก่

จักรวรรดิโรมันตะวันตก ที่เดิมมีกรุงโรมเป็นเมืองหลวง (จนถึง ค.ศ.402) แต่เพื่อเลี่ยงการรุกรานกรุงโรมจากชนเผ่าจากนอกจักรวรรดิ จึงย้ายเมืองหลวงไปยังกรุงราเวนนา (Ravenna) ริมฝั่งทะเลแอดเดรียติก (ตั้งอยู่ใต้เวนิสลงมาพอสมควร) จนโรมันตะวันตกล่มสลายไปในคริสต์ศตวรรษที่ 500

ส่วน จักรวรรดิโรมันตะวันออก มีคอนสแตนติโนเปิลเป็นเมืองหลวง หรือที่ถูกเรียกขานในอีกนามหนึ่งว่า ไบแซนเทียม หรือจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine Empire) ตามนามเดิมของกรุงคอนสแตนติโนเปิลตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ เมื่อจักรวรรดิโรมันตะวันตกล่มลง จึงเหลือแต่อำนาจของจักรวรรดิไบแซนไทน์ที่มีอำนาจทัดเทียมจักรวรรดิโรมันเดิม

สาธารณรัฐเวนิสนั้นเกิดขึ้นมาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้ และตั้งอยู่บนพื้นที่ตรงกลางของจักรวรรดิโรมันทั้งสอง

ใต้ภาพ

1-ส่วนขยายของภาพฝาผนังคอนสแตนตินเห็นนิมิต ผลงานราฟาเอลและคณะ ค.ศ.1520-1524

2-ภาพประตูชัยเฉลิมฉลองชัยชนะของคนสแตนติน ที่กรุงโรม