ตามชาวพระนครสมัยสงคราม ไปดูเครื่องบินอังกฤษตกที่ตลาดพลู | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

พลันเมื่อไทยยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทย (8 ธันวาคม 2484)

ต่อมา รัฐบาลประกาศการพรางไฟทั่วประเทศ ด้วยคาดว่าอังกฤษคงจะส่งเครื่องบินมาโจมตีไทย

และเพียงราว 1 เดือนหลังจากนั้น อังกฤษตอบโต้กลับไทยด้วยการส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่พระนคร

ด้วยเหตุที่ไทยยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านไทยเข้าโจมตีมลายูและพม่าของอังกฤษ

เครื่องบิน de Havilland DH.98 Mosquito และสถานีรถไฟตลาดพลู เครดิตภาพ : หมอตะลุยโลก

เมื่อ de Havilland
โจมตีพระนคร

เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2485 ราวเที่ยงวัน เครื่องบินทิ้งระเบิดสัญชาติอังกฤษ รุ่นเดอ ฮาวิลแลนด์ ดีเอช.98 มัสคีโต บินจากฐานบินในพม่ามาโจมตีทางอากาศในไทย

มีผู้บันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ว่า เสียงหวอดังลั่นดังทั่วพระนคร ติดตามด้วยเสียงเครื่องบินและมีเสียงระเบิด มีรายงานว่าระเบิดลงแถวพระราม 6 สะพานกษัตริย์ศึก โรงไฟฟ้าวัดเลียบ อาคารห้างร้านแถวพาหุรัด ย่านกรุงเกษม ย่านวัดดวงแขแถวถนนรองเมืองใกล้สถานีรถไฟหัวลำโพง ในช่วงเวลานั้น ชาวพระนครต่างสร้างหลุมหลบภัยตามบ้านแต่ไม่แข็งแรงนัก ครั้งนั้น ชาวบ้านกลับไม่หลบภัยในหลุม แต่ไปยืนตามถนนใหญ่เพื่อเฝ้าดูเครื่องบิน บางคนใช้กล้องส่องทางไกลดูเครื่องบินกันด้วยความตื่นเต้น (สรศัลย์, 2558, 60-61)

ทั้งนี้ เครื่องบินเดอ ฮาวิลแลนด์เป็นเครื่องบินรบ มีเครื่องยนต์ใบพัดบนปีกไหล่ทั้งสองข้าง สามารถทำปฏิบัติหน้าที่ได้หลายภารกิจ และเป็นหนึ่งในเครื่องบินที่สามารถบินปฏิบัติการที่เร็วที่สุดในโลก เดอ ฮาวิลแลนด์ประจำการในกองทัพอากาศอังกฤษในเขตสงครามยุโรปและในเขตสงครามเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อาจินต์ ปัญจพรรค์ บันทึกว่า ในวันนั้น เครื่องบินอังกฤษมาทิ้งระบิดที่ยศเส สะพานกษัตริย์ศึก เพื่อหวังทำลายหัวลำโพงแต่พลาดเป้า ด้วยสัมพันธมิตรต้องการสกัดการขนส่งทหารญี่ปุ่นขึ้นเหนือ โดยนักบินมุ่งทำลายโรงไฟฟ้าวัดเลียบ แต่ไม่ถูกเป้าหมายพลาดไปโดนบ้านเรือนแถวพาหุรัดแทน (อาจินต์ ปัญจพรรค์, 2541, 196)

สภาพสวนฝั่งธนฯ ในอดีต และชาวสวนช่วงปลายทศวรรษ 2470 เครดิตภาพ : โรเบิร์ต ลาริมอร์ เพนเดิลตัน

ข้ามสะพานพุทธ
ไปเป็นไทยมุงที่ตลาดพลู

หลังจากเครื่องบินอังกฤษฝ่าดงกระสุนทิ้งระเบิดวนเวียนเหนือท้องฟ้าพระนครอยู่ราวชั่วโมง ปรากฏว่าเครื่องบิน 1 ลำใน 3 ลำที่เข้ามาทิ้งระเบิดเกิดความผิดปกติเซแฉลบออกจากฝูง ร่อนถลาต่ำๆ ตกลงในสวนแถวตลาดพลู พลประจำเครื่อง 5 นายเสียชีวิตทั้งหมด รวมทั้งเรือกสวนผลไม้และต้นหมากเป็นพื้นที่กว้างขวาง มีผู้คนแห่ไปเป็นไทยมุงกันมากมาย ทหาร ตำรวจไปถึงช้ากว่าชาวบ้าน ทหารอากาศและทหารเรือเข้าไปกู้ศพ พบเป็นเครื่องบินชนิดเดอ ฮาวิลแลนด์ ปีกชั้นเดียวแบบสองเครื่องยนต์ (สรศัลย์, 2558, 60-61)

อาจินต์ ชาวปากคลองตลาดในครั้งนั้น บันทึกว่า เมื่อเครื่องบินข้าศึกลำหนึ่งมาตกที่บางสะแก ตลาดพลูแล้ว “ทีนี้ คนกรุงเทพฯ ไม่ต้องทำอะไรกันแล้ว ไม่ว่าผู้ใหญ่ ไม่ว่าเด็ก ไม่ว่าข้าราชการ หรือครู หรือนักเรียนต่างออกเดินกันแต่มืดข้ามสะพานพุทธไปตลาดพลูเพื่อดูเครื่องบินตก” (อาจินต์ ปัญจพรรค์, 2541, 114)

ควรบันทึกด้วยว่า ครั้งนั้น ไม่แต่เพียงย่านตลาดพลูเป็นที่ชุมนุมการค้าพลูและพืชผักแห่งสำคัญทางน้ำเท่านั้น แต่ยังมีสถานีรถไฟตลาดพลูอันเป็นเส้นทางรถไฟสายมหาชัยอีกด้วย ทำให้ตลาดพลูเป็นแหล่งซื้อขายอาหารทะเลจากมหาชัย แล้วยังมีร้านค้า โรงงิ้วให้กุลีชาวจีนตามโรงสี โรงเลื่อย โรงต่อเรือแถวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านดังกล่าวจับจ่ายใช้สอย ย่านดังกล่าวจึงมีความคึกคักตลอดทั้งวัน

เมื่อมีการตัดถนนเทอดไทเข้ามาในย่านตลาดพลู ราวปี 2480 ก่อนสงครามระเบิดขึ้น ทำให้ย่านดังกล่าวมีการคมนาคมและการค้ายิ่งเจริญขึ้น ชาวตลาดพลูบางส่วนเริ่มปรับเปลี่ยนการทำสวนพลูมาทำการค้าเพิ่มขึ้น เมื่อเกิดสงคราม เกิดการโจมตีทางอากาศในพระนคร ทำให้ชาวพระนครต่างอพยพข้ามมาพักอาศัยตามเรือกสวนในแถบนี้มากขึ้น (lek-prapai.org/663)

สภาพเครื่องบินอังกฤษ
ตกที่ตลาดพลู

ขุนวิจิตรมาตรา บันทึกการโจมตีทางอากาศในวันนั้นไว้ว่า “ข้าพเจ้านั่งอยู่ที่ปั๊มน้ำมันวัดสระเกศ ตอนบ่ายได้ยินเสียงเครื่องบินมาทางหลังร้านหรือทางวัดสระเกศผ่านเหนือร้านขึ้นไป บินไม่สูงนักแต่ก็ไม่ต่ำนัก ข้าพเจ้าและคนที่อยู่ในตึกแถวออกไปดูกลางถนนกันมาก ได้ยินเสียงเครื่องยนต์ดัง เครื่องบินบินเฉียงไปทางวัดสุทัศน์ค่อนข้างช้า…ถึงเย็นวันนั้นได้ยินว่ามีเครื่องบินลำหนึ่งตกที่บางสะแก บางสะแกอยู่ระหว่างตลาดพลูกับปากคลองด่าน…

เครื่องบินตกในสวนผลไม้ คนที่ไปดูมาบอกว่า เครื่องบินแหลกป่นปี้นักบินก็แหลก หน้าตาร่างกายไส้พุงฉีกขาดกระจายไปค้างอยู่บนกิ่งไม้และพื้นดิน ว่าเป็นฝรั่ง เข้าใจว่าเป็นลำเดียวกับที่บินผ่านร้านข้าพเจ้าไป…เป็นเครื่องบินอังกฤษ บินมาจากทางเหนือ และทิ้งระเบิดมุมหนึ่งของพระที่นั่งอนันตสมาคมเสียหายเล็กน้อยแล้วบินต่อลงมา จะเป็นด้วยถูกยิงหรือเครื่องเสียไม่ทราบจึงไปตกที่บางสะแก…” (ขุนวิจิตรมาตรา, 463-464)

สภาพเครื่องบินที่ตกในสวนย่านบางสะแกนอก ตลาดพลูนั้น เมื่อมองขึ้นไปจะเห็นปีกเครื่องบินคาที่ยอดหมาก ลำตัวแหลกที่ร่องสวน ที่ปีกมีรูปธงอังกฤษ เศษชิ้นส่วนนักบินกระจายไปทั่ว (อาจินต์ ปัญจพรรค์, 2541, 115) ชาวบางไส้ไก่ ย่านฝั่งธนฯ คนหนึ่งบันทึกถึงเหตุเครื่องบินตกที่ตลาดพลูว่า คนแถวบ้านที่อยากรู้อยากเห็นจึงดั้นด้นไปดูเล่าให้เขาฟังว่า พวกเขาเห็นชิ้นส่วนของนักบินแขวนตามยอดมะพร้าว (lek-prapai.org/home/view.php?id=191)

สรศัลย์ แพ่งสภา บันทึกว่า การเข้าโจมตีทางอากาศของเครื่องบินสัญชาติอังกฤษในพระนครนั้น นักบินคงยังไม่ทราบตำแหน่งยุทธศาสตร์หรือที่ตั้งของหน่วยงานญี่ปุ่นดีเพียงพอจึงไปทิ้งบ้านเรือนที่เยาวราช ทั้งที่ชาวจีนมิได้นิยมในญี่ปุ่นสักเท่าใด (สรศัลย์, 2558, 54)

อย่างไรก็ตาม ภายหลังอังกฤษโจมตีทางอากาศพระนคร เมื่อ 24 มกราคม 2485 แล้ว รัฐบาลไทยได้ประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐเมื่อ 25 มกราคม 2485

หนึ่งในเหตุผลคือ ระหว่างวันที่ 8 ธันวาคม 2484-20 มกราคม 2485 อังกฤษได้โจมตีทางอากาศไทย 30 ครั้ง และโจมตีทางบกไทย 36 ครั้ง โดยจังหวัดที่ถูกโจมตีคือ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ยะลา พระนคร และธนบุรี อันเป็นการโจมตีบ้านเรือนราษฎรและใช้ปืนกลยิงผู้คนปราศจากศีลธรรม

“ครั้นมาวันที่ 24 เดือนนี้เอง เครื่องบินอังกฤษได้มาโจมตีกรุงเทพฯ อีก ทั้งๆ ที่ไทยมิได้ประทุษร้ายอังกฤษและอเมริกาแต่อย่างใด” (ราชกิจจานุเบกษา 25 มกราคม 2485)

ในช่วงแรกบ้านเรือนที่ถูกทำลายจากการโจมตีทางอากาศรัฐบาลให้เก็บศพและปล่อยซากปรักหักพังให้ทิ้งคาอย่างนั้น อาจินต์ ปัญจพรรค์ คาดว่ารัฐบาลคงต้องการเก็บเป็นหลักฐานประจานความมีอารยธรรมของชาติตะวันตก ว่าได้ทำลายบ้านเรือนของพลเรือนมิใช่หน่วยราชการหรือหน่วยทหาร แต่ต่อมารัฐบาลให้ขนอิฐปูนไปทิ้งเพื่อมิให้เกะกะการสัญจร (อาจินต์ ปัญจพรรค์, 2541, 178-179)

ทั้งนี้ การโจมตีทางอากาศของอังกฤษเมื่อ 27 มกราคม 2485 ภายหลังไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐแล้ว สร้างความเสียหายให้กับพระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งขณะนั้นเป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรด้วย

ชาวตลาดพลูอีกคนหนึ่งบันทึกว่า ภายหลังที่พระนครถูกโจมตีทางอากาศถึง 3 ครั้งในเดือนมกราคม 2485 แล้ว จากนั้นไม่มีวี่แววการโจมตีทางอากาศอีกจวบจนน้ำท่วมพระนครในปลายปี 2485 (หลวงเมือง, 2552, 16) ด้วยขณะนั้นอังกฤษต้องร่นถอยการบุกของกองทัพญี่ปุ่นลึกเข้าไปในอินเดีย

ซากเครื่องบินอังกฤษที่ตกในสวนบางสะแกนอก ตลาดพลู เมื่อ 24 มกราคม 2485
ความเสียหายของอาคารย่านเยาวราชใกล้ตึก 7 ชั้น เมื่อ 24 มกราคม 2485
พระที่นั่งอนันตสมาคม ครั้งเป็นที่ประชุมสภา ถูกระเบิดเสียหายเมื่อ 27 มกราคม 2485
พระที่นั่งอนันตสมาคม ครั้งเป็นที่ประชุมสภา ถูกระเบิดเสียหายเมื่อ 27 มกราคม 2485