คริสต์มาสกลางสนามรบ (จบ) เมื่อทหารตัดสินใจจัดงานฉลองในแนวรบ!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

คริสต์มาสกลางสนามรบ (จบ)

เมื่อทหารตัดสินใจจัดงานฉลองในแนวรบ!

 

“ไม่มีอณูของความเกลียดชังจากแต่ละฝ่ายเลย แม้กระทั่งในฝ่ายเรา ก็ไม่มีช่วงเวลาที่ทหารมีความปรารถนาทำสงคราม หรือมีความประสงค์ที่จะทำร้ายทหารอีกฝ่ายหนึ่งเลย”

บันทึกของทหารอังกฤษในวันหยุดยิงของเทศกาลคริสต์มาส

25 ธันวาคม 1914

 

ความจริงของการเมืองโลกปัจจุบันที่ปฏิเสธไม่ได้ในวันนี้คือ สงครามดำเนินไปอย่างที่ไม่มีทางที่จะมีวันหยุดเลย

ขณะเดียวกันก็บอกความจริงที่หดหู่ในอีกด้านแก่เราว่า สันติภาพทั้งในยูเครนและในกาซายังเป็นอะไรที่อยู่ห่างไกล และอาจจะห่างไกลมากจนเราไม่อาจคาดเดาได้ด้วย

แต่ปรากฏการณ์สงครามเช่นนี้ก็ไม่ได้บอกให้เราต้อง “สิ้นหวัง” และจมอยู่กับความหดหู่

ฉะนั้น ปี 2024 จึงอยากจะขอนำเสนอภาพบางด้านบางมุมที่เป็นสัญลักษณ์ของ “ความเป็นมนุษย์” ในสนามรบ เพื่อเป็นตัวแทนของ “ความหวัง” ในวาระเริ่มต้นของปี แม้สงครามจะยังคงเป็นปรากฏการณ์ที่ปฏิเสธไม่ได้ในสถานการณ์โลกปัจจุบันก็ตาม…

เรื่องเล่าของ “คริสต์มาสกลางสนามรบ” ในปี 1914 ของสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น แม้จะเป็นเรื่องเก่า หากยังใช้เป็นสิ่งที่ช่วยเตือนสติให้เราเห็นสิ่งที่ต้องเรียกว่าความ “เป็นไปไม่ได้” ในสงคราม แต่แล้วสิ่งนั้น ก็เกิดขึ้นได้จริงอย่างไม่น่าเชื่อ แม้โอกาสในปัจจุบันที่เราจะเห็นปรากฏการณ์เหมือนเช่นในวันที่ 25 ธันวาคม 1914 น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้แล้วก็ตาม

ดังนั้น บทความนี้จึงอยากชวนย้อนอดีตในปัจจุบันที่ “แสงแห่งสันติภาพ” อาจจะยังดูริบหรี่และห่างไกล

แต่เรื่องราวต่อไปนี้อาจขอทำหน้าที่เป็นตัวแทนของ “ความหวัง” ในวันที่สงครามยังไม่มีเวลาหยุดรบ!

 

งานฉลองกลางสนามรบ!

ผู้คนเป็นจำนวนมากมักได้ยินหรือได้อ่านเรื่องเล่าของความโหดร้ายใน “แนวรบด้านตะวันตก” ของสงครามโลกครั้งที่ 1 (ท่านผู้อ่านที่สนใจอาจเห็นถึงความโหดร้ายของสงครามในแนวรบนี้ ได้จากภาพยนตร์เรื่อง “All Quiet on the Western Front” ใน Netflix) แต่หลายท่านอาจไม่เคยได้ยินว่า ทหารของรัฐคู่พิพาทในแนวรบได้ตัดสินใจที่ขัดแย้งกับความเห็นของผู้บังคับบัญชาระดับสูง ที่จะทำการหยุดยิง และเอาพื้นที่การรบเป็นเวทีจัดงานคริสต์มาสร่วมกัน

แน่นอนว่าคงจะมีคำถามทันทีว่า “เป็นไปได้อย่างไร” ที่ทหารฝ่ายสัมพันธมิตร และทหารเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการี ที่รบกันจะเป็นจะตายมาตั้งแต่กลางปี 1914 จะยอมหยุดรบ แล้วฉลองคริสต์มาสร่วมกัน…

ฉลองคริสต์มาสกลางสนามรบย่อมไม่ใช่เรื่องราวในภาวะปกติ เพราะในช่วง 4 เดือนแรกของสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น กองทัพและสังคมยุโรปต้องเผชิญกับความสูญเสียในสงครามสมัยใหม่อย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในบริบทที่โลกก้าวสู่ความเป็นสมัยใหม่ หรือเป็นสงครามที่รบด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution)

ความเป็นสมัยใหม่เช่นนี้ไม่ได้บ่งบอกว่าสงครามจะโหดร้ายน้อยลง ในทางกลับกัน โลกกลับต้องหดหู่กับชีวิตของชายหนุ่มจำนวนมากที่ต้องสละร่างลงในแนวรบ อันเป็นผลจากความก้าวหน้าของวิทยาการและเทคโนโลยีทหารสมัยใหม่ของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม… การกำเนิดของปืนกล ลวดหีบเพลง ปืนใหญ่สนาม ส่งผลให้เกิด “สงครามสนามเพลาะ” (trench warfare) เป็นแนวพาดยาวพื้นที่ของรัฐยุโรปอย่างไม่น่าเชื่อ ขณะเดียวกันชีวิตของทหารในสนามรบอยู่ภายใต้ความจำกัดของพื้นที่สนามเพลาะที่ถูกขุดขึ้น

บางคนอาจจะเรียกปรากฏการณ์ชุดนี้ว่า “สงครามอุโมงค์” (tunnel warfare) ของโลกสมัยใหม่ ที่ปรากฏในรูปแบบของสนามเพลาะ ซึ่งด้านหนึ่งของสนามเพลาะนี้คือ สิ่งที่จะใช้ในการป้องกันชีวิตของทหารจากการระดมยิงของข้าศึก หรือในอีกด้านหนึ่งก็คือ การเป็นแนวออกตีของฝ่ายตน ที่ทหารจะต้องรุกออกไปจากแนวสนามเพลาะนี้ เพื่อยึดที่มั่นของฝ่ายข้าศึก ซึ่งก็เป็นสนามเพลาะที่อยู่ฝั่งตรงข้ามเช่นเดียวกัน…

ภาวะเช่นนี้ทำให้กำลังทหารของทั้ง 2 ฝ่ายถูกตรึงอยู่กับที่ด้วยอำนาจการยิงของฝ่ายตรงข้าม และมีพื้นที่ตรงกลางระหว่างกำลังรบของทั้ง 2 ฝ่าย ที่ไม่มีผู้ใดอาศัยอยู่ได้ หรือที่เรียกในยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 ว่า “No man’s land”

ความพยายามในการยึดที่มั่นของฝ่ายตรงข้าม จึงมีนัยโดยตรงถึง “การเข้าตีตรงหน้า” (frontal attack) กับแนวป้องกันของข้าศึก ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตของทหารเป็นจำนวนมากอย่างน่าตกใจ ว่าที่จริงภาพของความสูญเสียขนาดใหญ่ของการเข้าตีตรงหน้าต่อที่หมายที่มีการป้องกันอย่างดีด้วยปืนกลและปืนใหญ่นั้น

เคยปรากฏให้เห็นมาแล้วจากการยุทธ์ที่ Balaclava ในสงครามไครเมียในปี 1854 ที่ทหารม้าเบาของอังกฤษต้องประสบความสูญเสียอย่างหนักจากอำนาจการยิงของกองทัพรัสเซีย หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “The Charge of the Light Brigade” ในวิชาประวัติศาสตร์ทหาร และทำให้พื้นที่การเข้าตีครั้งนั้นถูกเรียกว่า “หุบเขาแห่งความตาย” (The Valley of Death)

สงครามสนามเพลาะในรูปแบบเช่นนี้ มีส่วนสำคัญที่เอื้อต่อแนวคิดการยุทธ์ในแบบของ “สงครามทอนกำลัง” (attrition warfare) และส่งผลให้สนามรบมีสภาวะเป็น “สงครามตรึงกำลัง” หรือเป็น “การยุทธ์แบบไม่เคลื่อนที่”…

แน่นอนว่าภาวะเช่นนี้ทำให้สนามเพลาะในแนวรบด้านตะวันตกเป็น “นรก” อย่างแท้จริง และสังเวยด้วยชีวิตของทหารเป็นจำนวนตัวเลขที่น่าตกใจ หรือกล่าวได้ว่า อีก 60 ปีหลังการเข้าตีของทหารม้าเบาอังกฤษในปี 1854 ประวัติศาสตร์ของการเข้าตีตรงหน้าหวนกลับมาเกิดอีกครั้งในปี 1914 ที่มีพัฒนาการของอาวุธยิงที่มีประสิทธิภาพในการสังหารมากขึ้น

และผลที่ตามมาของสงครามในยุคอุตสาหกรรมอย่างชัดเจนคือ ทหารในสนามรบเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากอาวุธยิงสมัยใหม่อย่างคาดไม่ถึง

 

ไม่มีทหารคนไหนได้กลับบ้านในวันคริสต์มาส!

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มขึ้น มีคำกล่าวกันทั่วไปว่า “สงครามจะจบลงก่อนวันคริสต์มาส” (War would be over by Christmas.) และคนในสังคมเองก็ดูจะเชื่อเช่นนั้น ทหารที่ไปรบจึงหวังอย่างมากที่จะกลับบ้านในเร็ววัน… การสู้รบที่เกิดในต้นเดือนสิงหาคม 1914 นั้น อีกไม่นานน่าจะจบลง และทหารจะกลับมาก่อนที่คริสต์มาสจะเริ่มขึ้น

แต่ความจริงของสงครามดูจะไม่เป็นเช่นนั้น ตัวเลขของความตายเพียงชั่วระยะเวลาเพียง 4 เดือนแรกของสงครามนั้น คนหนุ่มใน 5 สังคมใหญ่ของรัฐยุโรป เอาชีวิตไปทิ้งในสงครามสนามเพลาะของแนวรบด้านตะวันตกกว่า 6 แสนคน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ ฝ่ายมหาอำนาจกลางคือ ทหารออสเตรีย-ฮังการี เสียชีวิต 189,000 ทหารเยอรมัน 116,000 นาย ฝ่ายสัมพันธมิตรคือ ทหารฝรั่งเศสเสียชีวิต 300,000 ทหารเบลเยียม 30,000 และทหารอังกฤษ 16,200 นาย…

ความตายในสนามรบอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ยอดการเสียชีวิตของทหารเพียง 4 เดือนแรกนั้น เกินกว่าที่จะยอมรับได้… จำนวนทหารตายใน 4 เดือนแรกเป็นภาพสะท้อนถึงความตายในสงครามแรกของยุคศตวรรษที่ 20

ความหวังที่กล่าวกันตอนที่สงครามเริ่มขึ้นว่า ทหารจะได้กลับมาบ้านก่อนคริสต์มาส และพวกเขาจะได้ร่วมฉลองเทศกาลแห่งความสุขร่วมกับคนในครอบครัวนั้น เป็นไปไม่ได้เลย การรบยังคงดำเนินต่อเนื่องจนถึงวันที่ 23 ธันวาคม 1914 อย่างไม่มีวี่แววว่าจะหยุดลงแต่อย่างใด และในวันที่ 24 ธันวาคม เสียงปืนในหลายพื้นที่เริ่มเงียบลง และในเย็นๆ วันนี้ ทหารทั้ง 2 ฝ่ายที่อยู่ในสนามรบเริ่มตะโกนคำอวยพรให้แก่กันว่า “Merry Christmas” พร้อมกับมีเสียงร้องเพลงของทหารในแต่ละฝากของสนามเพลาะตามมา

ถ้าเช่นนั้นจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อทหารในสนามรบตัดสินใจกันเองที่จะ “หยุดยิง” ชั่วคราว… พวกเขาตัดสินใจแล้วที่จะไม่รบในวันคริสต์มาส แม้ผู้บังคับบัญชาจะไม่เห็นด้วย แต่พวกเขาในสนามรบก็ตัดสินใจแล้วว่า พวกเขาจะไม่ยิงทหารฝ่ายตรงข้ามในวันนี้ และพวกเขาจะออกมาจากสนามเพลาะมาเฉลิมฉลองร่วมกับทหารฝ่ายตรงข้าม

ต้องยอมรับว่าการหยุดยิงชั่วคราวและร่วมฉลองคริสต์มาสระหว่างกำลังพลของรัฐคู่พิพาทในสนามรบซึ่งแทบจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้นั้น ได้เกิดขึ้นจริง… ค่ำของวันก่อนคริสต์มาส ทหารเยอรมันร้องเพลง “Silent Night” จากในสนามเพลาะ เมื่อเพลงจบ ทหารอังกฤษปรบมือแสดงความชื่นชม และขอให้ร้องซ้ำอีกครั้ง พร้อมกันนั้น ก็ตามมาด้วยเสียงตะโกนว่า “หยุดรบกันเถอะ” (no fighting) แล้วผู้บังคับบัญชาหน่วยในสนามเพลาะของทั้ง 2 ฝ่ายได้เห็นตรงกัน…

ค่ำคืนของวันคริสต์มาสอีฟ จึงมีแต่เสียงอวยพรข้ามสนามเพลาะ ไม่ใช่เสียงกระสุนที่แหวกอากาศเข้าหาเป้าหมายฝ่ายตรงข้ามดังเช่นที่เกิดทุกวัน

ในวันที่ 25 ธันวาคมนั้น ทหารแต่ละฝ่ายออกมาจากสนามเพลาะฉลองเทศกาลคริสต์มาสร่วมกันอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และต่างฝ่ายต่างอวยพรให้แก่กันด้วยมิตรภาพ แม้กระทั่งแลกของที่ระลึกแก่กัน เช่น หัวเข็มขัดทหาร และแลกอาหารและขนมระหว่างกัน เป็นต้น รวมถึงช่วยกันขุดศพของทหารที่เสียชีวิต และทำพิธีศพร่วมกันโดยไม่จำแนกฝ่าย

ผู้บังคับบัญชาในระดับสูงไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน และขู่ว่าจะลงโทษทหารทุกคนที่เข้าร่วมการหยุดยิงในวันคริสต์มาส แต่ทหารที่อยู่ในสนามตัดสินใจแล้ว ที่จะ “หยุดยิง 1 วัน” เพื่อร่วมฉลองกับทหารข้าศึกในวันแห่งความสุข… ทหารเหล่านี้ไม่ได้สร้าง “ขบวนการสันติภาพ” จากแนวรบในสนามเพลาะ แต่พวกเขาในวันนี้ขอแสดงออกถึง “ความเป็นมนุษย์” ที่ไม่จำเป็นต้องฆ่ากันอย่างไร้ขีดจำกัดในสนามรบ เพราะในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาไม่ได้รู้จักกันในทางส่วนตัว หรือมีเรื่องบาดหมางต่อกันมาก่อนแต่อย่างใด เพียงแต่พวกเขาทำหน้าที่ที่มีต่อรัฐด้วยความเป็น “ทหารอาชีพ” ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการต่อสู้กับ “ข้าศึกของรัฐ”

ดังจะเห็นว่าเมื่องานฉลองคริสต์มาสจบลงแล้ว พวกเขากลับลงสู่สนามเพลาะอีกครั้งในวันถัดมา เพื่อทำหน้าที่ของความเป็นทหารในสนามรบ และการรบก็เกิดตามปกติในวันที่ 26 ธันวาคม

 

ไม่มีเทศกาลคริสต์มาสในสนามรบอีกต่อไป!

สงครามจบลงในวันที่ 11 พฤศจิกายน 1918 ด้วยชีวิตของทหารทุกฝ่ายอีก 7 ล้านคน และเทศกาลแห่งความสุขของวันคริสต์มาสผ่านไปอีก 3 ครั้งในปี 1915 1916 และ 1917 โดยไม่มีโอกาสที่ทหารในสนามรบจะมีโอกาสจัดการเฉลิมฉลองเช่นในวันที่ 25 ธันวาคม 1914 อีกแต่อย่างใด

ดังนั้น บทความนี้จึงเขียนขึ้นเพื่อชวนย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้น และอยากชวนให้ทุกคนตระหนักเสมอถึง “คุณค่าของชีวิต” และ “ความมนุษย์” ทั้งของทหารและพลเรือนทุกคน ที่ต้องอยู่ภายใต้แรงกดดันของการบาดเจ็บ ล้มตายในสนามรบ…

ว่าที่จริงแล้ว แรงกดดันสงครามไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปจากสนามเพลาะในสงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงสนามเพลาะในยูเครน และใต้ซากปลักหักพังของอาคารในกาซาปัจจุบัน!