ผู้นำ ปตท.

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ว่าด้วยช่วงสำคัญ เกี่ยวกับผู้นำธุรกิจใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

เพิ่งผ่านมา (25 มกราคม 2567) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. (PTT) ประกาศแต่งตั้ง คงกระพัน อินทรแจ้ง เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) คนใหม่ ซึ่งจะดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในอีก 4 เดือนข้างหน้า

เข้ากับกระแสการเปลี่ยนตัวผู้นำองค์กรใหญ่ๆ พอจะเทียบเคียงในสังคมธุรกิจไทย กับ เอสซีจี

เป็นเรื่องบังเอิญพอควร ผู้นำใหม่มีโปรไฟล์คล้ายๆ กัน

 

ปตท.เป็นบริษัทใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอยู่ในลิสต์ Fortune Global 500 ในอันดับ 100-200 มาตลอด มีสินทรัพย์ล่าสุดมากถึง 3.5 ล้านล้านบาท ขณะมีรายได้ (ปี 2565) มากเช่นกัน 3.4 ล้านล้านบาท และมีกำไร (ปี 2565) กว่า 9 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ มีความเกี่ยวพันกับรัฐมากเป็นพิเศษ ด้วยกระทรวงการคลังยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด (51%)

ผู้นำคนใหม่ คงกระพัน อินทรแจ้ง มีประสบการณ์เชื่อมต่อในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC (ตั้งแต่ปี 2562) กิจการซึ่งมีความสัมพันธ์กับ ปตท.ตั้งแต่ต้น ปัจจุบัน ปตท.เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด (ประมาณ 45%)

เรื่องราวย้อนไปในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หรือที่ผมเรียก “ปตท.ยุคใหม่” เปิดฉากขึ้นในยุค ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ผู้นำ ปตท. ซึ่งอยู่ในตำแหน่งนานถึง 8 ปี (2546-2554) ด้วยความเชื่อมโยงในเชิงบวกกับตลาดหุ้น อยู่ในช่วงราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงลิ่ว ประสบการณ์ว่าด้วยธุรกิจปิโตรเคมีเป็นเรื่องใหม่ ท้าทาย ที่สำคัญ ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ มีเวลามากพอทำงานใหญ่ให้ลุล่วง (พิจารณา “ไทม์ไลน์ ปตท.ยุคใหม่” ประกอบ)

สถานการณ์เวลานั้น หลายสิ่งหลายอย่างเอื้อต่อ ปตท. เป็นช่วงคาบเกี่ยวรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร (17 กุมภาพันธ์ 2544-19 กันยายน 2549)

“ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก แสดงสัญลักษณ์แห่งอิทธิพลในจินตนาการใหม่ จากอำนาจ ‘นายทุน’ สู่อำนาจทางการเมืองอย่างเปิดเผย จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ถือเป็นตัวแทนของ ‘ผู้มาใหม่’ เผชิญหน้าท้าทายกับกลุ่มดั้งเดิม จากความสามารถสะสมความมั่งคั่งมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ (อ้างจากการขายหุ้นของตระกูลชินวัตรในบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น ให้กับเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ แห่งสิงคโปร์ มูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาท-มกราคม 2549)” (ผมเคยเสนอไว้เมื่อทศวรรษที่แล้ว)

ก่อให้เกิดกระแสเชิงลบกับ ปตท.ช่วงหนึ่ง เชื่อกันว่าความอ่อนไหวสัมพันธ์กับการเปลี่ยนยุทธศาสตร์สำคัญของ ปตท. เกี่ยวกับธุรกิจปิโตรเคมี จากยุทธศาสตร์ในยุคแรก (รัฐกับเอกชนร่วมมือลงทุน Up Stream และเอกชนลงทุนใน Dawn Stream) สู่ยุทธศาสตร์ใหม่ เรียกในขณะนั้นว่า Integrated Value Chain อ้างอิงในกรณีสำคัญเข้าถือหุ้นใน TPI (ปี 2549)

 

ดูเป็นความต่อเนื่อง เมื่อผู้นำสืบทอดต่อจาก ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เป็นบุคคลสำคัญในกระบวนการหลอมรวมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีให้มารวมศูนย์อยู่ที่ ปตท.-ไพรินทร์ ชูโชติถาวร (2554-2558) นอกจากเขาเป็นผู้นำพา PTTGC เข้าตลาดหุ้น (2554) แล้ว PTTGC เดินหน้าเป็นกลุ่มธุรกิจใหญ่ใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

ให้ภาพธุรกิจครบวงจรใหม่ในเวลาอันสั้น ด้วยควบคุมทั้งห่วงโซ่ โดยเฉพาะจากต้นธาร ในฐานะเจ้าของสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเป็นคู่สัญญารายเดียวในฐานะตัวแทนรัฐกับเจ้าของสัมปทานต่างชาติในประเทศไทย ในส่วนธุรกิจขั้นปลายในประเทศไทย หลายกรณีร่วมทุนกับเจ้าของเทคโนโลยี

ที่สำคัญ ปตท.ตั้งใจเป็นพิเศษในเวลานั้นในแผนการขยายเครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศ

ดังกรณีอ้างถึง ปรากฏในรายงานของ PTTGC เองช่วงปี 2555

“บริษัท PTTGC (Netherlands) ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 100 ผ่านทางบริษัท PTT Chemical International Private Limited ได้ดำเนินการเข้าซื้อหุ้นร้อยละ 51 ของหุ้นทั้งหมด ในบริษัท Perstorp Holding France SAS จากผู้ถือหุ้นเดิม พร้อมกันนี้ยังได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อจากบริษัท Perstorp Holding France SAS เป็น VENCOREX Holding”

Perstorp Group แห่งเนเธอร์แลนด์ ก่อตั้งมากว่า 100 ปี เป็นเจ้าของเทคโนโลยีขั้นสูง ต่อเนื่องจากปิโตรเคมี มีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการบิน เดินเรือ เคมีภัณฑ์ พลาสติก วิศวกรรม และการก่อสร้าง รวมทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์ อาหารสัตว์ บรรจุภัณฑ์อาหาร สิ่งทอ กระดาษ และอุปกรณ์ไฟฟ้า โดยมีเครือข่ายการผลิตส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป ส่วนในเอเชีย มีที่จีน อินเดีย และสิงคโปร์

 

ที่น่าตื่นเต้น ช่วงนั้น ปตท.มีมุมมองเกี่ยวกับพลังงงานในอนาคตด้วย กรณี “บริษัท PTTGC International (USA) Inc. ซึ่งเป็นบริษัทที่บริษัทถือหุ้นอยู่ร้อยละ 100 ผ่านทางบริษัท PTT Chemical International Private Limited ได้ร่วมลงทุนร้อยละ 50 ในบริษัท NatureWorks LLC. ประเทศสหรัฐอเมริกา (2555) กลุ่มผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมี (Oleochemicals) ผลิตภัณฑ์จากไขมันพืชและสัตว์ เป็นกลุ่มไบโอเคมิคอล ได้แก่ แฟตตี้แอลกอฮอล์ สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมยา เครื่องสำอาง และอนามัยส่วนบุคคล และเมทิลเอสเตอร์จากวัตถุดิบธรรมชาติ สำหรับผสมในไบโอดีเซลเพื่อใช้เป็นเคมีภัณฑ์ทดแทน” รายงานของ PTTGC อีกชิ้นหนึ่งในช่วงเวลาเดียวกัน

กรณีข้างต้นมีความเชื่อมโยงกับผู้นำคนใหม่ของ ปตท.ด้วย อ้างอิงจากโปรไฟล์ทางการ-คงกระพัน อินทรแจ้ง (นำเสนอต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ)

อยู่ในช่วงคาบเกี่ยวกับที่เขาดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงาน International Business Operations PTTGC (2557-2560) ต่อเนื่องด้วย ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้น PTTGC (2560-2562) อาทิ เป็นกรรมการ NatureWorks LLC (2557-2561) กรรมการและ Vice President PTTGC International (USA0 Inc. (2557-2561) และกรรมการ PTTGC (Netherlands) B.V. (2558-2562)

ว่าด้วยประสบการณ์ ผู้นำ ปตท.คนใหม่ เป็นไปตามสถานการณ์ในภาพกว้าง กับทิศทางสำคัญของธุรกิจใหญ่ไทย •

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com