ระบบยุติธรรม ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว | มุกดา สุวรรณชาติ

 

ระบบยุติธรรม

ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

 

อำนาจ 3 ฝ่าย

ในโครงสร้างระบอบประชาธิปไตย

ในระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ส่วนระบอบการปกครองแบบเผด็จการ อำนาจอธิปไตยเป็นของหัวหน้าเผด็จการ เช่น หลังรัฐประหาร คสช.มีอำนาจสูงสุด

ถ้าประเทศเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยจริง โครงสร้างอำนาจก็จะถูกแบ่งเป็น 3 ฝ่าย คือ

1. อำนาจนิติบัญญัติ โดยประชาชนเลือก ส.ส.เข้าไปเป็นตัวแทนในสภา และใช้อำนาจนี้ในการออกกฎหมาย และตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร

2. อำนาจบริหาร ใช้อำนาจโดยรัฐบาล ซึ่งเลือกโดย ส.ส. ที่มีนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ใช้อำนาจนั้น ในการบริหารและดูแลประเทศ

3. อำนาจตุลาการ คือ อำนาจชี้ถูกหรือผิด ในความขัดแย้งของประชาชน หรือของรัฐกับประชาชน หรือการความกฎหมาย โดยใช้ผ่านศาล เพื่อพิจารณาอรรถคดีต่างๆ และออกคำสั่งในการบังคับโทษให้เกิดแก่ผู้กระทำผิด

การแบ่งอำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 ส่วนเช่นนี้ เป็นหลักการที่สำคัญในเรื่องของการแบ่งแยกอำนาจในการปกครอง โดยโครงสร้างตามหลักการประชาธิปไตยที่กล่าวมา รัฐบาลจึงควรมีสิทธิ์บริหารประเทศตามนโยบายที่วางเอาไว้

ถ้าหากเห็นว่ามีปัญหา ส.ส.ในสภาก็สามารถตรวจสอบทักท้วงหรือแม้กระทั่งเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ส่วนสภานั้นก็ควรทำหน้าที่ออกกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นใหญ่ระดับรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเฉพาะเรื่อง กฎหมายใดที่เห็นว่าไม่เหมาะสม สภาก็มีสิทธิ์แก้ไขปรับปรุงให้เหมาะกับยุคสมัยและสถานการณ์ การออกกฎหมายของสภาจึงไม่น่าไปเกี่ยวข้องกับฝ่ายตุลาการ ในขณะเดียวกันการตัดสินคดีของฝ่ายตุลาการ รัฐบาลและสภาก็ไม่ควรเข้าไปก้าวก่าย

แต่ภายหลังรัฐประหาร 2549 และ 2557 องค์กรอิสระและศาลได้มาตัดสินคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของรัฐสภาและฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและนโยบายทางการเมือง จนมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ประชาชนเลือกมา

 

การยอมรับอำนาจรัฐประหาร

เมื่อมีการรัฐประหารซึ่งเป็นการทำผิดกฎหมาย กลับไม่มีองค์กรใดดำเนินการ ที่จะเอาผิดกับผู้ทำการรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญ แม้คณะรัฐประหารหมดอำนาจแล้ว การทำงานของคณะรัฐประหารก็ไม่มีใครกล้าตรวจสอบ

แม้เราจะมีรัฐธรรมนูญที่เขียนว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่หลังรัฐประหาร2549 และ2557 คนชั้นนำและคนส่วนหนึ่งในสังคมไทยการยอมรับอำนาจ จากการรัฐประหาร ว่าถูกต้อง

ตัวอย่างเช่น…

ทหารที่เป็นพยานโจทก์คดี ‘ไผ่ ดาวดิน’ ชูป้ายต้านรัฐประหาร บอกว่า การชูป้าย “คัดค้านรัฐประหาร” เป็นการทำลายประชาธิปไตย ต้องรับโทษและถูกปรับทัศนคติ นี่ไม่ใช่เรื่องตลก และไม่ใช่เรื่องแปลกในสังคมนี้ เพราะมีคนจำนวนมากเชื่ออย่างนั้นจริงๆ ดังนั้น การเมืองไทยจึงยังล้าหลัง และวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์ ไม่ต่างจากครึ่งศตวรรษที่แล้ว

ในสังคมไทยตั้งแต่ดั้งเดิมมา ประชาชนจะยอมรับอำนาจของฝ่ายผู้ปกครองเสมอ ไม่ว่าอำนาจนั้นจะมีที่มาอย่างไร แม้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ความเคารพเชื่อมั่นต่ออำนาจของตนเอง ของประชาชน ก็ยังน้อยกว่าความเกรงกลัวต่ออำนาจของผู้ปกครอง ความเข้าใจของทหารท่านนี้หรือความเข้าใจของประชาชนจำนวนมากต่ออำนาจปกครอง คือเมื่อมีการรัฐประหาร ใครก็ตามที่ยึดอำนาจได้สำเร็จ จะได้รับการยอมรับไปชั่วระยะที่มีอำนาจ ว่าทำถูกต้อง การต่อต้านจะมีน้อยมาก จะมาประณามด่าว่า ก็ต่อเมื่อคนนั้นหรือคนกลุ่มนั้นตกอำนาจไปแล้ว จากวีรบุรุษจึงจะกลายเป็นผู้ร้าย

การยอมรับอำนาจรัฐที่มาจากการยึดอำนาจ นั้นไม่เพียงจากคนธรรมดา แต่จะได้รับการยอมรับจากสถาบันต่างๆ แม้แต่ฝ่ายตุลาการซึ่งเป็นหนึ่งในสามอำนาจก็ยอมรับ ถึงแม้กฎหมายจะมีมาตรา 113 เขียนไว้ว่าโทษของผู้กำลังล้มล้างอำนาจอธิปไตยของประชาชน มีโทษถึงประหารชีวิต แต่คณะรัฐประหารทุกชุด ก็จะนิรโทษกรรมตัวเอง สภาที่เลือกตั้งส่วนใหญ่ก็มักจะถูกปิดถูกยุบไปแล้ว

เมื่อฝ่ายตุลาการยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหาร และถือคำสั่งของคณะรัฐประหารเป็นกฎหมาย ประชาชนยอมรับตามไปด้วย นานไปก็กลายเป็นอำนาจถาวรในที่สุด

เราจึงได้เห็นคำสั่งคณะรัฐประหารหลายชุด ที่กลายเป็นกฎหมายหลายฉบับ

 

ที่มาขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ

องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญที่มีบทบาททางการเมือง ในขณะนี้ เกิดจากกระแสการปฏิรูปการเมือง เมื่อครั้งมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ต้องการให้มีองค์กรแบบใหม่ทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและเป็นอิสระจากจากการควบคุมของนักการเมือง

โดยกำหนดให้สัดส่วนของคณะกรรมการสรรหาของทุกองค์กรต้องมีตัวแทนของทุกพรรคการเมืองในสภาและมีนักวิชาการซึ่งเป็น อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเข้าไปด้วย อีกทั้งผู้ที่จะให้ความเห็นชอบบรรดาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระคือ วุฒิสภา ซึ่งมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

แต่เมื่อมีการรัฐประหารเมื่อปี 2549 และมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นรัฐธรรมนูญ ปี 2550 กำหนดให้มีการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอยู่ในมือของศาลและลดสัดส่วนคณะกรรมการสรรหาที่เป็นนักการเมืองลงและตัดส่วนส่วนนักวิชาการออก อีกทั้งผู้ที่จะให้ความเห็นชอบบรรดาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระคือ วุฒิสภา ก็มาจากการเลือกตั้ง 76 คน และการสรรหา 74 คน

พอมาหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 กำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทำหน้าที่แทนวุฒิสภา ซึ่งรวมไปถึงการแต่งตั้งองค์กรอิสระ

ทำให้คณะรัฐประหารเข้าไปเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งสรรหาองค์กรอิสระทุกองค์กร

และหลังจากนั้นเมื่อมีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคสชวุฒิสภาก็มาทำหน้าที่แทน สนช.ต่อไป ดังนั้น องค์กรอิสระทั้งหลายส่วนใหญ่แล้วจึงถือว่า มีที่มาจากสายอำนาจของ คสช. มีทั้งที่มีการ set zero ตั้งใหม่และตั้งเพิ่มเติม หรือต่ออายุ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแต่ความต้องการของ คสช.

 

ต้องปฏิรูประบบยุติธรรม

ให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย

ในระบอบการปกครองแบบนิติรัฐ กฎหมายจะต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชน แต่ในระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายลดลง ประชาชนมองว่าเป็นความยุติธรรมที่ไม่มีมาตรฐาน มีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทำลายบุคคลหรือกลุ่ม เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

การแก้ไขจะต้องเริ่มตั้งแต่การคัดสรรคนที่จะมา เป็นกรรมการชี้ถูกชี้ผิด ว่าจะต้องเป็นกลาง และยึดหลักนิติธรรม และจะต้องแก้ไขกฎหมายให้ถูกต้องเหมาะสม เช่น ถือหุ้น 0.00001% ควรถือว่าผิดหรือไม่ โทษที่ถึงขั้นยุบพรรค กฎหมายที่เปิดช่องให้มีการซื้อ-ขาย ส.ส. ฯลฯ

ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการยุติธรรมมีมากมาย ตั้งแต่อาจารย์ นักศึกษากฎหมาย และทนาย อัยการ ศาล จะต้องต่อสู้ เพื่อหลักกฎหมายที่ถูกต้อง บังคับใช้กฎหมายให้เท่าเทียม ให้กระบวนการยุติธรรมเดินไปอย่างเที่ยงตรง

ขณะนี้การปฏิรูประบบยุติธรรมเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด…ถ้าไม่ทำ ความขัดแย้งก็จะขยายตัวต่อไป เพราะมีแต่ต้องเป็นธรรม ความขัดแย้งจึงจะยุติ