Power/knowledge : อำนาจ/ความรู้ : กับอนาคตอันพร่ามัวของการวิจัยในไทย (2)

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

Power/knowledge

: อำนาจ/ความรู้

: กับอนาคตอันพร่ามัวของการวิจัยในไทย (2)

 

ในที่ประชุมสัมมนาเมื่ออาทิตย์ที่แล้วในหัวข้อ ‘เทคโนโลยีใหม่ ประเทศไทยเปลี่ยน? (Research and Policy Dialogue : ตั้งโจทย์+ตอบอนาคต ประเทศไทยในบริบทโลกใหม่ #6 “เทคโนโลยีใหม่ ประเทศไทยเปลี่ยน?” – 101 PUB) กับที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร “ภูมิทัศน์สังคมศาสตร์ไทย สถานะ คุณค่า และทิศทางการพัฒนา” ((Facebook Live | Facebook) ผู้ทรงคุณวุฒิได้เสนอความเห็นและความรู้สึกต่อสภาพที่เป็นจริงของความสามารถทางเทคโนโลยีและการวิจัยด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

เวทีแรกของคณะ 101 Think Tank เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่ทำงานนอกภาคราชการ จึงแสดงสมรรถภาพที่เป็นตัวของตัวเองออกมาได้มาก ส่วนใหญ่กำลังเติบโตในภาคธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SME)

พวกเขาเล่าอย่างภาคภูมิใจในการมีโอกาสก่อตั้งและดำเนินกิจการไปได้

แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ประสบปัญหาใหญ่คือขาดการสนับสนุนและร่วมมืออย่างเต็มที่จากทุนใหญ่

นี่คือสัจธรรมของความรู้และการวิจัยสมัยใหม่ว่าในที่สุดมันมาตัดสินกันว่าใครให้ทุนสำหรับประกอบการในจำนวนเท่าไร ถ้าทั้งเอกชนและรัฐให้ และให้อย่างเต็มที่ ก็เป็นหลักประกันการอยู่รอดและเจริญเติบโตต่อไปได้

ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไทยสะท้อนความรู้สึกเหมือนกันว่า เมื่อออกไปยังเวทีต่างประเทศ ธุรกิจขนาดกลางและเล็กของไทยไม่อยู่ในสายตาของพวกเขาเลย แม้โดยส่วนตัวผู้ประกอบการไทยเชื่อว่าพวกเขาไม่ได้ด้อยหรือรู้น้อยกว่าผู้ประกอบการต่างชาติเลย

เพียงแต่ฐานการอุดหนุนแลสายป่านในตลาดใหญ่นั้นไม่ยาวและหนักแน่นพอที่จะรองรับความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติได้

ผลกระเทือนต่อมาคือทำให้การยกระดับเทคโนโลยีไม่อาจดำเนินไปได้อย่างเต็มที่ จำต้องทำตัวเป็นหุ้นส่วนเล็กของธุรกิจใหญ่นานาชาติต่อไป ไม่อาจเป็นตัวของตัวเองอย่างสิงคโปร์ได้

สำหรับผมเป็นการตอกย้ำถึงความสัมพันธ์อย่างแน่นเหนียวระหว่างความรู้ (เทคโนโลยี) กับทุน เมื่อดำรงอยู่ในรัฐชาติปัจจัยที่เข้ามากำกับและผลักดันให้มันก้าวเดินต่อไปหรือติดขัดได้แก่ภาคการเมืองคือรัฐบาลและกลุ่มคนที่ร่วมกุมอำนาจรัฐว่าจะมีญาณวิถีในการตระหนักรู้และเข้าใจธรรมชาติของการสร้างความรู้อย่างไร

ลองมาฟังนักวิชาการสังคมและมนุษยศาสตร์ดูบ้าง

เสียงส่วนใหญ่ที่ยังทำงานในมหาวิทยาลัยของรัฐออกมาเป็นแนวเดียวว่ารัฐบาลและสังคมไม่ให้ความสำคัญแก่งานวิจัยสังคมและมนุษยศาสตร์อย่างจริงจังหรือมากพอ

อุปสรรคของการวิจัยดังกล่าวมาจากภาครัฐ แทบไม่มีการสนับสนุนจากภาคเอกชนเลย ซึ่งเป็นเรื่องปกติเป็นมานานแล้วว่าทุนการค้าไทย (merchant capital) ไม่มีความศรัทธาในการสร้างความรู้ใหม่

วงการศึกษาไทยทุกระดับแทบไม่เคยได้รับทุนจากพวกเขาเท่าไรนัก แหล่งทุนและการสนับสนุนจึงมาจากภาครัฐทั้งหมด

ทำให้กรอบและกฎเกณฑ์ในการเรียนการสอนและการวิจัยต้องทำไปภายใต้ความต้องการของราชการ ในระยะแรกของการจัดตั้ง

อันนี้ไม่ใช่ปัญหาหากเป็นด้านบวกเพราะทำให้การก่อตั้งและผลักดันการศึกษาและการวิจัยดำเนินไปได้ แม้สภาพสังคมและเศรษฐกิจยังไม่พร้อมรองรับการลงทุนดังกล่าว ที่ยังไม่มีผลงานและผลประโยชน์ต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรมเลยก็ตาม

แต่เมื่อเวลาผ่านมาถึงยุคโลกาภิวัตน์ที่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมได้ก้าวผ่านเส้นเขตแดนของรัฐชาติ ความรู้และเทคโนโลยีกระจายเผยแพร่ไปทั่วอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

จุดนี้เองที่ระบบการเรียนการสอนและวิจัยแบบดั้งเดิมที่เคยทำกันมาเริ่มไม่ตอบโจทย์อีกต่อไปแล้ว

ที่ผ่านมารัฐไทยเรียนรู้และปรับตัวตามกระแสนานาชาติค่อนข้างเร็ว เนื่องด้วยมีบทเรียนจากอดีตก่อนหน้าว่าการรับสิ่งใหม่จากภายนอกจะเป็นเครื่องมือในการสร้างความเจริญก้าวหน้าแก่บ้านเมืองได้อย่างสะดวกง่ายดาย เพราะคนคัดค้านต่อต้านมีน้อยและไม่มีพลัง สบายกว่าการหัดคิดและทำเองทุกอย่าง มันยากและลงทุนมากกว่า จึงถนัดเดินทางลัด โดยเฉพาะกลุ่มจารีตที่กุมอำนาจรัฐในมือ จะเป็นผู้เสวยผลพวงของความเจริญทางเศรษฐกิจสังคมมากกว่าคนอื่น

ดังนั้น ในทัศนะของชนชั้นปกครองจารีต การนำเข้าความรู้จากต่างชาติเป็นเรื่องดีไม่มีปัญหา

เพียงแต่ระวังไม่ให้เติบใหญ่เหนือการควบคุมของรัฐโดยเฉพาะความรู้สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่มีแนวโน้มในการวิพากษ์รัฐและอำนาจรัฐมากกว่าสายวิทยาศาสตร์

ในความเป็นจริง ความเปลี่ยนแปลงให้เป็นสมัยใหม่ อาจทันสถานการณ์ในการเมืองโลก เอาตัวรอดจากการเป็นอาณานิคมได้อย่างไม่น้อยหน้าใคร

แต่หลังจากนั้นหนทางของประเทศหลังอาณานิคมทั้งหลายล้วนเหมือนกันคือจะเป็นการพัฒนาอย่างไม่เท่าเทียมและไม่เสมอหน้ากับตะวันตก ด้วยพลังและธรรมชาติของระบบทุนนิยมโลก

ดังนั้น การประยุกต์ใช้ความรู้สมัยใหม่ก็ดำเนินไปอย่างไม่เท่าเทียมและไม่มีประสิทธิภาพต่อคนส่วนใหญ่เช่นกัน จึงลงเอยที่เป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการอย่างหนึ่งอย่างใดของอำนาจรัฐ

ตัวอย่างเช่น การใช้ภาษาอังกฤษแต่แรกเริ่ม ภาษาอังกฤษไม่ได้ถูกทำให้เป็นภาษาในการถ่ายทอดและสร้างความรู้สมัยใหม่ในสยาม (จนกระทั่งเร็วๆ นี้) ไม่ถูกใช้แม้เป็นภาษาที่สองก็ตาม

ตรงกันข้ามภาษาอังกฤษกลับถูกทำให้เป็นภาษาอภิสิทธิ์ชน ใครอยากเรียนก็เรียนได้ด้วยความสามารถของตัวเอง

รัฐไม่ได้ทำให้การเรียนภาษาอังกฤษเป็นเรื่องเป็นราวที่เข้าถึงและใช้อย่างทั่วไป หากแต่ทำให้มันเป็นวิชาที่ยากและใช้แทบไม่ได้แก่สามัญชนและคนชั้นกลาง

ดังนั้น คนไทยที่รู้และใช้ภาษาอังกฤษได้ดีจึงมักตกที่คนชั้นสูงและกลางระดับสูง เป็นเงื่อนไขในการเลื่อนและรักษาฐานะนำของพวกนั้นไว้ตลอดกาล

และเป็นเครื่องกีดขวางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของคนชั้นล่างมายาวนาน

กรณีการสอบวัดทักษะความรู้การอ่าน คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของนักเรียน (PISA) ที่เป็นข่าวก็ทำนองเดียวกัน เป็นสัจธรรมของความเหลื่อมล้ำของความรู้ในสังคมไทยเรียกว่าเป็นพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ของสังคมไทย

 

เส้นทางของการสร้างความรู้ในสังคมไทยก็น่าสนใจ หากนับการก่อตั้งสถาบันทางความรู้ดังที่กระทำในประเทศตะวันตกเช่นสมาคมวิชาการต่างๆ และเผยแพร่ผ่านวารสารและหนังสือ สยามก็มีให้เห็นเหมือนกันตั้งแต่แรก เช่น วชิรญาณ ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยที่นักเขียนส่วนใหญ่มาจากเจ้านายและขุนนาง

น่าสนใจมากว่าในเวลาเดียวกันก็มีนิตยสารทำโดยเอกชนออกมาด้วยเช่นกันคือ “สยามประเภท” บรรณาธิการและผู้เขียนคือ ก.ศ.ร.กุหลาบ และ “ตุลวิภาคพจนกิจ” โดยเทียนวรรณ

แต่วารสารและบรรณาธิการเอกชนเหล่านั้นล้วนถูกลงทัณฑ์และคุมขังจากรัฐด้วยข้อหาว่า “กุ” คือโกหก

จนกระทั่งปัจจุบันนักศึกษาไทยระดับอุดมศึกษาก็ยังไม่เคยเห็นและอ่าน “สยามประเภท” และ “ตุลวิภาคพจนกิจ” กันเลย แม้แต่เรื่องเดียว

นักประวัติศาสตร์ไทยจารีตยังสำทับอีกเมื่อมีคนขออ่าน ว่ามันเป็นหนังสือ “อันตราย” ต่อบ้านเมือง?

วารสารที่เชิดหน้าชูตาสยามในวงการต่างประเทศก็มีเหมือนกัน คือการตั้งสยามสมาคมและตีพิมพ์ใน Journal of the Siam Society ในภาษาอังกฤษมาแต่แรกถึงปัจจุบัน แรกๆ ดำเนินงานโดยนักวิชาการชาวไทยและต่างชาติที่จ้างมาทำงานอื่นๆ เช่น การทหารและวิศวกรรม

นักวิชาการสมัครเล่นเหล่านั้นเน้นหนักทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์และวรรณคดีและมานุษยวิทยา นายกสมาคมและกรรมการที่มีชื่อเสียงและคูณูปการต่อการศึกษาด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ไทยอย่างสำคัญคือกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และนายยอร์จ เซเดส์ อีกแห่งคือราชบัณฑิตยสถาน ก่อตั้งตามการตั้ง Royal Institute ในยุโรป

ลักษณะเด่นของสถาบันการสร้างความรู้ดังกล่าวคือเกิดขึ้นมาเพื่อรับใช้จุดหมายเฉพาะของชนชั้นนำจารีตและรัฐ มีสมมติฐานที่เป็นการค้นคว้าของตะวันตก เช่น คือการหาหลักฐานที่บ่งบอกความเป็นอารยธรรมของตน เช่น การค้นคว้าถึงศิลาจารึกหลัก 1 ของพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัย ว่าเป็นหลักฐานถึงความเจริญและมีอารยธรรมของคนไทย

การวิจัยเพื่อความรู้แบบของเอกชนที่ค้นคว้าตามความเป็นจริงของพื้นที่แทบไม่เกิดหรือมีการปฏิบัติแต่ประการใด

ไม่แปลกใจอีกเช่นกันที่วารสารและสถาบันดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับความก้าวหน้าของวงการและนักศึกษานักวิชาการไทยทั่วไปน้อยมาก

 

การศึกษาเพื่อสร้างความรู้ใหม่จึงไม่มีในนโยบายของรัฐ ยิ่งการตั้งสถาบันการศึกษาเช่นโรงเรียนก็มุ่งทางด้านวิชาชีพเฉพาะทาง เช่น โรงเรียนการแผนที่ แพทยากร ฝึกหัดครูอาจารย์ และโรงเรียนกฎหมาย ไปถึงโรงเรียนกรมคลอง เพาะปลูกและข้าราชการพลเรือนในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนจะสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรก

กล่าวโดยรวมโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมายและยังพัฒนาต่อมาได้อย่างดีคือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และโรงเรียนแพทย์ สองอาชีพและความชำนาญที่สามารถนำเข้าและประยุกต์ใช้จากโลกตะวันตกได้เลยทันที จึงเป็นเสาหลักของการสร้างความรู้และความเจริญแบบไทย

เรียกว่าสดมภ์หลักของอำนาจ/ความรู้ ในสังคมไทยที่ดำเนินมาจนถึงปัจจุบันคือนายพลกับนายแพทย์ สองกุมารสยามแห่งการสร้างความรู้ใหม่ในไทย เป็นคู่แฝดในการสร้างรัฐไทยไม่น้อย

ยุคใหม่ของการสร้างความรู้ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อยู่ที่ท่านจอมพลเองเป็นผู้เสนอรายชื่อบรรดานักวิชาการให้เข้ามาทำหน้าที่ในคณะกรรมการต่างๆ เป็นผู้คัดเลือกและตัดสินใจเองว่าใครควรทำอะไรในตำแหน่งอะไร ดูจากรายชื่อจะเห็นได้ว่าแทบทั้งหมดเป็นนักวิชาการและข้าราชการอาวุโสที่มีความสามารถทั้งนั้น

เช่น ในคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สังกัดกระทรวงการคลัง เช่น บุญชนะ อัตถากร ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ฉลอง ปึงตระกูล เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อำนวย วีรวรรณ ที่ปรึกษานายกฯ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ในสภาการศึกษา

ไปถึงการเปิดหลักสูตรการเรียนแบบศิลปศาสตร์หรือ liberal arts แบบอเมริกันในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้เลือก ดร.อดุล วิเชียรเจริญ ให้มาเป็นผู้ดำเนินการในนโยบายดังกล่าวและได้ก่อตั้งคณะศิลปศาสตร์ขึ้นมาเป็นคณบดีคนแรกอย่างม้ามืด

เป็นยอดแห่งความย้อนแย้งที่หลักสูตรของเสรีชนผลักดันและส่งเสริมโดยผู้นำเผด็จอำนาจที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

 

ยุคคนไทย 4.0 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ทำคล้ายกัน แต่ต่างตรงที่บรรดาขุนนางนักวิชาการมือฉมังอย่างยุคจอมพลสฤษดิ์หาไม่ได้อีกแล้ว

หรือหาได้แต่ก็ไม่เชิญเพราะความคิดไม่ตรงกัน

ลองเปรียบเทียบบุคลากรระหว่างกระทรวงการคลัง และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กับของสภาพัฒน์และสภาการศึกษาสมัยโน้นดู

การเติบใหญ่และขยายตัวของทุนโลกและทุนชาติขณะนี้เปิดพื้นที่ใหม่ให้แก่นักวิชาการรุ่นใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องเติบโตแต่ในระบบราชการอีกต่อไป