ก้าวหน้า-ก้าวหลัง | สถานีคิดเลขที่ 12 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

สถานีคิดเลขที่ 12 | สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

 

ก้าวหน้า-ก้าวหลัง

 

กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รอดพ้นจากกรณี “หุ้นไอทีวี”

สร้างแรงกระเพื่อม ในหลายด้าน

อยากโฟกัส สัก 2 ด้าน

ด้านแรก สืบเนื่องจาก คำแถลง ของ ดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ที่มาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมา

ที่นอกจากกล่าวถึงความร่วมมือในด้านต่างๆ แล้ว

ยังพูดเกี่ยวเนื่องถึงการเมืองด้วย

โดยยินดีถึงความก้าวหน้าของประชาธิปไตยไทย

“ช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศไทยเพิ่งผ่านการเลือกตั้งซึ่งมีคนไทยออกมาใช้สิทธิ์ถึง 75% เป็นตัวเลขที่สะท้อนถึงความเข้มแข็งในระบอบประชาธิปไตยในโอกาสนี้จึงขอกล่าวแสดงความยินดี กับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและอวยพรให้สมัยของท่านเป็นสมัยที่ประสบความสำเร็จ”

แต่ที่น่าสนใจ ประธานาธิบดีเยอรมัน ยังกล่าวอีกว่า

“ผมยินดีสำหรับข่าวคำพิพากษาของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คิดว่าคำพิพากษาที่ออกมาเป็นสัญญาณที่ดีของการดำเนินไปในทิศทางที่ดีของประเทศไทย”

หลังจากนั้นยัง “พบปะ”นายพิธา อย่างไม่เป็นทางการอีก

การให้น้ำหนักต่อกรณีนายพิธา นี้

ไม่ว่าจะเป็นความสนใจของประธานาธิบดีเยอรมัน เอง

หรือเป็นการทำการบ้านของคณะทำงาน ก็ตาม

แต่สะท้อนว่าเยอรมัน ที่ถือเป็นต้นแบบประเทศประชาธิปไตย หนึ่งของโลก ให้ความสำคัญต่อกรณีนายพิธา อย่างมาก

ซึ่งอาจตีความ “ก้าว-ไกล”ไปถึงการให้ความสนใจต่อบุคคลและพรรค ที่ประชาชนเสียงส่วนใหญ่ แสดงเจตจำนง ให้เป็นตัวแทนของตนเอง เข้าไปบริหารประเทศ ตามหลักประชาธิปไตย แต่มิอาจก้าวไปถึงจุดนั้นได้

แม้จะเป็น”เงื่อนไขภายใน”ของเรา

แต่เยอรมันและชาติประชาธิปไตยก็จับตามอง

และไม่ลังเลที่จะกล่าวถึง เมื่อปรากฏความคืบหน้าในเชิงบวกตามครรลองประชาธิปไตย

ซึ่งนี่ย่อมทำให้ฝ่าย”ก้าวหน้า”และ”จารีต”ในไทย ต้องคิดเหมือนกันว่า ทำไมเยอรมัน จึงให้น้ำหนักกรณีนี้

เขาหวังจะเห็น”ความก้าวหน้า”ของประชาธิปไตยไทยมากกว่านี้ใช่หรือไม่

ประเด็นที่สอง ที่อยากโฟกัส ในกรณีนายพิธา

นั่นคือที่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตีความ”โดยเคร่งครัด” กรณีการถือหุ้นสื่อ ของนักการเมือง

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า “การถือหุ้นเพียงหุ้นเดียว ย่อมเป็นการถือหุ้นตามความหมายในรัฐธรรมนูญแล้ว แม้ผู้ถือหุ้นจะไม่มีอำนาจบริหารหรือครอบงำกิจการก็ตาม”

ตีความตามนี้ นักการเมืองจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ไม่มีสิทธิจะถือหุ้นสื่อแม้แต่หุ้นเดียว ใครฝ่าฝืนย่อมมีสิทธิ ถูก”ประหารทางการเมือง”ทันที

ถือเป็นบรรทัดฐาน ที่ผูกพันทุกองค์กร นับจากนี้ไป

ซึ่งก็มีคำถามที่น่าพิจารณา

นั่นคือแม้เราจะมีมาตรการแข็งแกร่งไม่ให้นักการเมืองถือหุ้นสื่อโดยหวังว่าจะไม่ให้มีการครอบงำหรือใช้สื่อเพื่อประโยชน์ของตน

อาจจะจริงตาม”นิตินัย”

แต่ในทาง”พฤตินัย”เรายังมีความจำเป็นที่จะต้องเข้มงวดอย่างยิ่งต่อกรณีหรือไม่

เพราะในปัจจุบัน แม้นักการเมืองจะไม่มีหุ้นสื่อแม้แต่หุ้นเดียว

แต่กลับสามารถใช้สื่อโดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ผ่านรูปแบบต่างๆไม่ว่าเฟสบุ๊ค ยูทูบ เอ็กซ์ ติ๊กต็อก ฯลฯ ได้อย่างเสรี ไร้ขอบเขต และแทบจะ”เรียลไทม์”

ทำได้มากกว่าการเป็นผู้ถือหุ้นสื่อหลายร้อยหลายพันเท่า

การมานั่งเข้มงวดเรื่องถือหุ้นสื่อเพียงหุ้นเดียว จึง”ก้าวถอยหลัง”อย่างยิ่ง

รัฐธรรมนูญที่ห้ามเรื่องนี้ไว้ จำเป็นต้องถอดรื้อแล้วใช่หรือไม่

นี่เป็นสิ่งที่คนไทยต้องร่วมกันคิดและลงมือแก้ไข

เราควรจะ”ก้าวหน้า” ไม่ใช่”ก้าวถอยหลัง”มิใช่หรือ

—————