หักทองขวาง

ญาดา อารัมภีร
กล่องบุหรี่ ปักหักทองขวางบนผ้ากำมะหยี่ พุทธศตวรรษที่ ๒๔ - ๒๕ สมบัติของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร / ภาพจาก Facebook กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร

เห็นคำว่า ‘หักทองขวาง’ ครั้งแรกจาก “นิราศพระบาท” ตอนอ่านหนังสือให้คุณย่าฟัง

“เจ้าเณรน้อยเสด็จมาดูน่ารัก พระกลดหักทองขวางกางถวาย

พี่เหลียวพบหลบตกลงเจียนตาย กรตะกายกลิ้งก้อนศิลาตาม”

สมัยยังเด็ก คิดตามประสาเด็กว่าผู้ใหญ่ช่างใจร้าย เห็นเป็นเด็กเลยเอาพระกลดหรือร่มทองหักๆ จะพังมิพังแหล่มากางกันแดดให้

กว่าจะรู้ว่าไม่ใช่อย่างที่คิดก็ช่วงเป็นนักเรียนมัธยม

จำได้ว่าคุณครูอธิบายคร่าวๆ ว่า ‘หักทองขวาง’ เป็นวิธีการปักผ้าชนิดหนึ่ง ก็ไม่ได้สนใจอะไร ปล่อยผ่านเลยไปหลายปี จนเมื่ออ่านวรรณคดีหลายเรื่อง และพบคำนี้บ่อยๆ ถึงได้ลองค้นตำรับตำราดู

“พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน” ให้ความหมายคำว่า ‘หักทองขวาง’ ว่า

“วิธีปักไหมทอง หักเส้นไปตามขวางลาย ใช้ปักเครื่องสูง”

ศาสตราจารย์วิบูลย์ ลี้สุวรรณ ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ ‘เครื่องสูง’ ไว้ใน “พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรมไทย” ดังนี้

“เครื่องแสดงและประดับพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วยฉัตร 5 ชั้น ฉัตร 7 ชั้น บังแทรก ฉัตรชุมสาย จามร พระกลด บังสูรย์ พัดโบก”

 

“นิราศพระบาท” กล่าวถึง ‘เจ้าเณรน้อยเสด็จมาดูน่ารัก พระกลดหักทองขวางกางถวาย’ หมายถึงพระองค์เจ้าวาสุกรีขณะทรงผนวชเป็นเณร (เป็นพระโอรสองค์ที่ 28 ของรัชกาลที่ 1 ในกาลต่อมาคือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส) เจ้าพนักงานได้กางพระกลดที่มีลวดลายจากการปักที่เรียกว่า ‘หักทองขวาง’ ถวาย เป็นวิธีการปักที่มีลักษณะเฉพาะตามที่ “พจนานุกรมผ้าและเครื่องถักทอ” ของศาสตราจารย์วิบูลย์ ลี้สุวรรณ ให้ความกระจ่างว่าเป็น

“กลวิธีการทำลวดลายบนผืนผ้าด้วยการปักด้วยดิ้นเงิน ดิ้นทอง วางเรียงเส้นดิ้นให้ขวางตัวลาย เพื่อให้ดิ้นยึดเกาะผ้าได้แน่นไม่แตกหรือแยกจากกัน”

ทั้งยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับ ‘ผ้าปักหักทองขวาง’ ว่า

“ผ้าที่ใช้ด้ายยึดตรึงดิ้นเงินหรือดิ้นทอง ท้ายลายหักทบไปมาในลักษณะขวางตัวลาย อาจหนุนด้วยด้ายโดยไม่ปักเส้นด้ายไหมทองลงบนผืนผ้า แต่ตรึงด้วยด้ายในส่วนหัวและท้ายลาย มักใช้สอยหลายประเภท เช่น ย่ามพระชั้นผู้ใหญ่ พัดยศ เครื่องสูง เครื่องแต่งกายโขนละคร เป็นต้น”

 

ในบทละครรำเรื่อง “อิเหนา” บรรยายราชรถทรงของท้าวปันจะรากันที่มีพระกลดใช้วิธีการปักแบบเดียวกัน

“เครื่องสูงรายเรียงเคียงข้าง พระกลดหักทองขวางด้ามถม

กลองชนะแตรสังข์ดังระงม พ้นนิคมแว่นแคว้นแดนพารา”

ไม่ต่างกับตอนที่ท้าวปักมาหงันไปรับท้าวปันจะรากัน ท้าวล่าสำเข้าเมือง กวีบรรยายว่า

“เมื่อนั้น ท้าวปันจะรากันชาญสมร

ทั้งท้าวล่าสำฤทธิรอน ต่างองค์บทจรขึ้นทรงรถ

จึงให้เดินพยุหบาตรยาตรา เลิกทศโยธามาจนหมด

ท้าวปักมาหงันนั้นตามรถ กั้นพระกลดหักทองขวางมาข้างท้าย”

นอกจากเป็นวิธีที่ใช้ปัก ‘พระกลด’ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องสูงแล้ว ยังพบว่าใช้ปักได้กว้างขวางตั้งแต่ ‘อินทรธนู’ หรือเครื่องประดับบ่าแสดงยศ ดังปรากฏในเครื่องทรงของระตูจรกาว่า

“สอดใส่สนับเพลาภูษาทรง ฉลององค์อินทรธนูหักทองขวาง”

สนับเพลาหรือกางเกงของท้าวดาหาตอนกลับจากใช้บนก็เช่นกัน กวีบรรยายว่าหลังสรงน้ำเสร็จก็แต่งองค์ด้วยการ

“ปรุงปนนพคุณหนุนผิวพักตร์ สอดสนับเพลาปักหักทองขวาง”

แม้แต่รองพระบาทของนางคันธมาลีตอนขึ้นเฝ้าก็ไม่ต่างกัน บทละครนอกเรื่อง “คาวี” เล่าถึงนางว่า

“เรียกหาข้าไทอยู่อึงมี่ ใส่เกือกกำมะหยี่หักทองขวาง

ถือพระกลดคันสั้นกั้นกาง เยื้องย่างมาปราสาทพระทรงธรรม์”

 

เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” กล่าวถึงเถนขวาดตอนได้เป็นสังฆราชาว่า มีเครื่องยศครบครัน

“ถวายเครื่องยศอย่างสังฆราช ตลกบาตรตาลิปัดพัดย่าม

ล้วนปักหักทองขวางสำอางงาม ขี่เรือม่านคานหามกั้นสัปทน”

ทั้ง ‘ตลกบาตร’ (ถลกบาตร) หรือถุงหุ้มบาตรที่มีสายคล้องบ่า ตาลปัตร พัด และย่าม ‘ล้วนปักหักทองขวาง’ ทั้งสิ้น

ที่พิเศษกว่าเขาเพื่อนเห็นจะเป็น ‘กรองศอ’ หรือสร้อยคอ สร้อยนวม ที่เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องทรงสังคามาระตานั้นมีลวดลายจีน ดังที่บทละครรำเรื่อง “อิเหนา” เล่าว่า

“ฉลององค์ทรงข้าวบิณฑ์แย่งขอ กรองศอหักทองขวางกวางตุ้ง”

วิธีปักหักทองขวางคงเป็นที่นิยมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เพราะมีกล่าวถึงอยู่ทั่วไปในวรรณคดีสมัยนี้ ใช้ได้ทั่วถึงทั้งฆราวาสและนักบวช •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร