เดินตามรอย ‘บิ๊กตู่’ ‘เศรษฐา’ ฟื้นประเพณี มีตติ้ง ผบ.เหล่าทัพ กระชับระยะห่าง เจาะ แบ๊กอัพ ‘บิ๊กทิน’ กับ ศึกลูก จักรดาว

แม้จะไปได้ด้วยดีกับกองทัพ แต่ก็ยังมีแรงเขย่าเก้าอี้ “สนามไชย 1” ของบิ๊กทิน นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ว่าจะมีการปรับเปลี่ยน ทั้งบิ๊กทหารตัวจริง มารออยู่แล้ว ตาม “ดีลเดิม” ทั้งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะควบ รมว.กลาโหมเอง

จนทำให้นายสุทิน จากที่เคยมั่นใจ ก็กลายเป็นหวั่นไหวว่า จริงหรือไม่ มีใครวางแผนอะไรอยู่ หรือเป็นแค่การคาดเดาของสื่อ จากกรณี “สมศักดิ์ เทพสุทิน-สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ-ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รมต.คีย์แมนหลักของพรรคเพื่อไทย ลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ถูกตีความว่า เป็นการการันตีว่าจะเป็น รมต.ยาวเท่านั้น

แต่ความเคลื่อนไหวหลายอย่าง ทำให้นายสุทินเริ่มไม่แน่ใจ แม้ว่าจะไม่มีสัญญาณใดๆ มาถึงก็ตาม เพราะนายสุทินเอง ก็มั่นใจว่า ผบ.เหล่าทัพทุกคนก็แฮปปี้กับตนเอง เพราะไม่ได้มาห้ำหั่น ล้างบาง หรือล้วงลูกใดๆ มาช่วยกองทัพด้วยซ้ำ

ทั้งการสร้างความเข้าใจระหว่างทหารกับประชาชน และชี้แจงประเด็นต่างๆ แทนกองทัพ ทั้งในสภาและนอกสภา

จนถูกแซวว่าเป็น โฆษกกลาโหม

พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี,พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์

ยิ่งหลังไปตีกอล์ฟร่วมก๊วนกับเสี่ยหนู อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย กับ ผบ.เหล่าทัพ ทั้งบิ๊กอ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทหารสูงสุด บิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. ที่ถือว่าเป็น 2 ผบ.เหล่าทัพที่ถูกจับตามองว่ามีบทบาทมากที่สุด และเป็น 2 ผบ.เหล่าทัพที่นายเศรษฐาเรียกหา เรียกพบ หรือโทร.คุยบ่อยๆ

โดยมีบิ๊กอั๋น พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา ที่ปรึกษา รมว.กลาโหม บิ๊กเล็ก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขานุการ รมว.กลาโหม เป็นตัวแทนทีมกลาโหม ร่วมก๊วน

แม้จะเกิด “สโตนฮิลล์ เอฟเฟ็กต์” อยู่บ้าง เพราะขาดบิ๊กหนุ่ม พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกลาโหม และบิ๊กดุง พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร.

เพราะ บิ๊กไก่ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. แม้ไม่ได้ร่วมก๊วนกอล์ฟ แต่ก็มาพบปะรับประทานอาหารด้วยกัน โดยงานนี้คนชักชวนคือนายอนุทิน

แต่ทว่า ในภาพรวมก็สะท้อนความใกล้ชิดของมหาดไทยกับกลาโหม ที่ถือเป็นกระทรวงความมั่นคง และระหว่างนายสุทินกับ ผบ.เหล่าทัพ

แม้ว่าจะมีชื่อของ พล.อ.ณัฐพล เป็นแคนดิเดต รมว.กลาโหม มาตั้งแต่จัดตั้งรัฐบาล ในนามน้องรักของบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี และอดีตนายกฯ แต่ พล.อ.ณัฐพลก็ไม่ได้หวังที่จะเป็น รมว.กลาโหม เพราะแค่ทำหน้าที่เลขานุการ รมว.กลาโหมก็แทบไม่มีเวลาแล้ว

แม้แต่กระแสข่าว นายเศรษฐาจะควบ รมว.กลาโหม เพื่อรักษาภาพพจน์ของรัฐบาลพลเรือน แต่ก็จำเป็นต้องตั้ง รมช.กลาโหม ที่ก็มีชื่อ พล.อ.ณัฐพล เป็นแคนดิเดต อีกนายสุทินและ พล.อ.ณัฐพลทำงานใกล้ชิดกัน จึงทำให้นายสุทินรู้จัก พล.อ.ณัฐพลมากขึ้น ก็จะรู้ว่าไม่ใช่เป็นคนอยากมีอยากได้อะไร

นายสุทินจึงไม่ได้หวาดหวั่นคนในกลาโหม แต่อาจเป็นกระแสข่าว หรือความพยายามจากคนนอกกลาโหม และคนในแวดวงการเมือง แม้ว่าจะไม่มี ส.ส. หรือ แกนนำพรรคเพื่อไทยคนใดอยากมาเป็น รมว.กลาโหม แต่งานนี้อาจมีปฏิบัติการตีเมืองขึ้น

ด้วยที่ผ่านมา นายสุทินพยายามเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุดในการทำหน้าที่ รมว.กลาโหม โดยมีคนในวงการการเมืองพยายามมาเรียกร้องต่างๆ จากนายสุทิน หรือแม้แต่ขอเก้าอี้ในทีมงาน รมว.กลาโหม หรืองานต่างๆ แต่นายสุทินไม่เล่นด้วย

ทำให้อาจไม่พอใจ และแสดงออกในการเลื่อยขาเก้าอี้นายสุทินก็เป็นได้

แต่นายสุทินมาเป็น รมว.กลาโหมได้ ไม่ใช่เพราะแค่นามสกุลคลังแสง หรือเพราะเคยเป็นคนเสื้อแดง แต่เพราะก็มีแบ๊กอัพ กองหนุน กองเชียร์ในสายชินวัตร ทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ และนายพายัพ ชินวัตร ที่เคยมีชื่อเป็นประธานที่ปรึกษา รมว.กลาโหม แต่ข่าวรั่ว เจอแรงต้าน จึงอยู่วงนอก

ในยุครัฐบาลผสมข้ามขั้ว ในยุคที่ขั้วชินวัตรจับมือกับขั้วอนุรักษนิยมเช่นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ตอนที่เป็นนายกฯ และ รมว.กลาโหม ก็เจรจาต่อรองต่างๆ จนที่สุดก็ทำให้ พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการยกมือสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา สาย พล.อ.ประยุทธ์

แต่หากในอนาคตมีการปรับ ครม.เกิดขึ้น หากนายเศรษฐาจะเป็นนายกฯ ที่ควบ รมว.กลาโหมพลเรือนอีกคน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเคยมีมาหลายคนแล้ว ทั้งนายชวน หลีกภัย นายสมัคร สุนทรเวช และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รมว.กลาโหมหญิงคนแรก อีกทั้งนายเศรษฐาคุมความมั่นคงเองอยู่แล้ว ไม่ได้มอบหมายรองนายกฯ คนใดให้คุมความมั่นคง

แม้จะมีบิ๊กป๊อด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร เป็นรองนายกฯ และ รมว.ทรัพยากรฯ แถมเป็นน้องชายแท้ๆ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมก็ตาม แต่ก็ไม่ได้รับมอบหมายให้คุมความมั่นคง

เพราะการให้อดีตบิ๊กตำรวจมาคุมทหาร คุมกองทัพ อาจไม่เหมาะ และเพื่อลิมิตอำนาจของ พล.อ.ประวิตร ไม่ให้เข้ามามีบทบาทในเรื่องกองทัพหรือตำรวจอีก

ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา นายเศรษฐาถือว่าเป็นนายกฯ ที่มีความใกล้ชิดกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ เพราะมีการโทร.คุยสั่งงาน สอบถามและเรียกพบหารือเสมอๆ โดยเฉพาะ พล.อ.ทรงวิทย์ และ พล.อ.เจริญชัย ที่เป็นทั้ง ผบ. ทบ. และรอง ผอ.รมน.

จนมีรายงานว่า นายเศรษฐามีนัดพบปะหารือรับประทานอาหารค่ำกับผู้บัญชาการเหล่าทัพเร็วๆ นี้ เพื่อเพิ่มความใกล้ชิดสนิทสนมและเพิ่มความรู้จักกันมากขึ้นเพราะ นายเศรษฐายังไม่รู้จักตัวตนและสไตล์ของ ผบ.เหล่าทัพแต่ละคน

เพราะจะพูดคุยกับ พล.อ.ทรงวิทย์บ่อยที่สุด มากที่สุด แต่อาจยังไม่รู้จัก พล.อ.เจริญชัย พล.ร.อ.อะดุง และ พล.อ.อ.พันธ์ภักดีมากนัก เพราะจะเป็นการพูดคุยกันในพื้นที่ส่วนตัวที่จะทำให้ได้รู้จักกันมากขึ้น ได้คุยกันแบบลูกผู้ชาย

แต่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความหวาดระแวง นายเศรษฐาอาจเชิญนายสุทิน รมว.กลาโหม มาร่วมวงด้วย

กล่าวได้ว่าการพบปะรับประทานข้าวระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ เป็นเสมือนการรื้อฟื้นประเพณีในยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีการพบปะรับประทานข้าว พูดคุยนอกรอบกับผู้บัญชาการเหล่าทัพทุก 1-2 เดือน เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และเป็นทหารที่ถือว่าเป็นรุ่นพี่เตรียมทหารด้วย

สมัย พล.อ.ประยุทธ์มีการพบปะรับประทานข้าวกับผู้บัญชาการเหล่าทัพโดยในครั้งนั้นบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ในเวลานั้น เป็นแม่งานหลัก ที่โดยส่วนใหญ่จะมาใช้สถานที่ของกองทัพเรือโดยเฉพาะบ้านรับรองผู้บัญชาการทหารเรือ สีขาวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ใช้งบประมาณสร้างถึง 112 ล้านบาท ที่อยู่ข้างหอประชุมกองทัพเรือ

แต่สไตล์ของนายเศรษฐา คาดว่าจะนัดไปรับประทานอาหารในพื้นที่ส่วนตัว เหมือนตอนนัดหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ที่น่าจับตามองว่าจะมีใครเป็นแขกพิเศษในวงนี้หรือไม่

สิ่งที่น่าจับตามองกองทัพในตอนนี้มีหลายเรื่อง เช่น เป็นช่วงที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพเตรียมจัดโผโยกย้ายทหารกลางปีที่จะต้องทำให้เสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อเตรียมผ่านขั้นตอนเข้าบอร์ด 7 เสือกลาโหมครั้งแรกของนายสุทิน เพื่อที่จะนำเข้าขั้นตอนและทูลเกล้าฯ ให้จบภายในกลางเดือนมีนาคมนี้

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องร้อนในส่วนของกองทัพอีกหลายเรื่องที่ต้องได้รับไฟเขียวในระดับนโยบายจากนายกรัฐมนตรีและกลาโหม ทั้งการหาทางออกโครงการเรือดำน้ำจีน ที่นายสุทินแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมาเพื่อพิจารณาหาทางออกที่ดีที่สุด ที่ถูกมองว่าเป็นการหาทางลง เพื่อกลับมาเดินหน้าโครงการเรือดำน้ำจีนลำแรกต่อ ด้วยการยอมเปลี่ยนเครื่องยนต์ จากเครื่องยนต์ MTU มาเป็นเครื่องยนต์ CHD 620 ของจีนผลิตเอง ตามที่กองทัพเรือและทางบริษัทต่อเรือจีนต้องการ เพื่อไม่ให้กระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

รวมถึงการกู้เรือหลวงสุโขทัย ที่กองทัพเรือต้องยกเลิกบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกหลังจากพบว่าไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่ได้ประกาศตัวไว้

อีกทั้ง JUSMAG Thai ของสหรัฐ ส่งหนังสือ ให้ ทร.ทำตามข้อตกลง ไทย-สหรัฐ มา 2 ฉบับ ตั้งแต่มกราคม 2566 และธันวาคม 2566 ทวงถามรายงานเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปาง 18 ธันวาคม 2565 และการกู้เรือ ที่สหรัฐต้องมีส่วนร่วมรับรู้ว่าจะให้ใครมากู้เรือ

เพราะเรือหลวงสุโขทัยเป็นเรือในโครงการความช่วยเหลือทางการทหาร FMS ของสหรัฐ และมีอาวุธปืนติดเรือ ซึ่งทางสหรัฐต้องรักษาความลับเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์และเรือด้วย

อีกทั้งบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกก่อนหน้านี้จะใช้เครื่องมือของบริษัทจีนในการกู้เรือหลวงสุโขทัย ซึ่งทางสหรัฐรับรู้เองอย่างไม่เป็นทางการ จึงทวงถามให้ทำตามข้อตกลง ไม่เช่นนั้นจะมีผลต่อโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ที่จัดซื้อตามโครงการความช่วยเหลือทางทหาร FMS ทั้งหมด ระหว่างระหว่างกองทัพไทยกับสหรัฐอเมริกา

จนที่สุดทำให้กองทัพเรือต้องยกเลิกผลการประมูล และเตรียมที่จะคัดเลือกใหม่ตามข้อตกลงกับสหรัฐ ที่จะส่งผลให้การกู้เรือหลวงสุโขทัยต้องยืดเวลาออกไปจากเดิมที่กองทัพเรือตั้งเป้าจะกู้ให้ได้ในเดือนเมษายน 2567 นี้ ก็อาจต้องเลื่อนออกไปอีกหลายเดือน และหากเป็นช่วงปลายปีก็เป็นช่วงฤดูมรสุมคลื่นลมแรง ไม่สามารถทำการกู้เรือได้

คาดการณ์ว่าเรือหลวงสุโขทัยอาจจะต้องจมอยู่ใต้ทะเลถึง 2 ปี หรือนานกว่านั้นก็เป็นได้

ดังนั้น กองทัพเรือจึงยังไม่อาจสรุปผลการสอบสวนสาเหตุการอับปางของเรือหลวงสุโขทัยได้เพราะขาดตัวเรือหลวงสุโขทัยที่เป็นวัตถุพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นผลดีต่อตัว พล.ร.อ.อะดุงเองที่เคยถูกพาดพิงเมื่อครั้งที่เป็นผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ช่วงที่เกิดเหตุ รวมถึงนายทหารชั้นผู้ใหญ่อีกหลายคน และบางคนก็เป็นแคนดิเดต ผบ.ทร. ในโยกย้ายกันยายนนี้ด้วย จึงจะไม่เกิดแรงกระเพื่อมจากการกู้เรือหลวงสุโขทัย

สายสัมพันธ์ที่แนบแน่นมากขึ้นของนายเศรษฐากับผู้บัญชาการเหล่าทัพอาจกลายเป็นอีกเหตุผลประกอบการตัดสินใจ หากนายเศรษฐาต้องควบ รมว. กลาโหมด้วยตนเอง เพื่อทำให้รัฐบาลดูมั่นคงมากขึ้น เพราะมีกองทัพเป็นแบ๊กอัพและเป็นสัญลักษณ์ความปรองดอง และลบความหวาดระแวงเรื่องการปฏิวัติรัฐประหารออกไป

แต่ก็ไม่ได้มีเหตุผลความจำเป็นถึงขั้นนั้น อีกทั้งต้องหาเก้าอี้รองรับนายสุทินที่ถือว่ายังคงทำงานร่วมกับทหารได้ดี

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า ผบ.เหล่าทัพก็ล้วนเป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง และไม่ได้มีความเคลื่อนไหวในช่วงที่มีการล่ารายชื่อ ส.ว. เพื่ออภิปรายรัฐบาลแต่อย่างใด เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า ส.ว. ผบ.เหล่าทัพจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง แต่เป็นโดยตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ทั้งหมดจึงได้ไม่รับเงินเดือนและไม่ร่วมโหวตในประเด็นที่เป็นความขัดแย้งทางการเมือง

แม้ว่าจะมี 98 ส.ว. ร่วมลงชื่อเพื่อเปิดอภิปรายรัฐบาลส่งท้าย ก่อนที่ ส.ว.จะหมดวาระในเดือนพฤษภาคม 2567 นี้ก็ตาม แต่ดูจากรายชื่อก็ยังไม่มีการส่งสัญญาณที่เป็นนัยยะสำคัญว่า “ดีล” เปลี่ยน แต่อย่างใด เพราะบรรดา ส.ว. ที่เป็นคีย์แมนสาย พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตรก็ไม่ได้ร่วมลงชื่อ แต่คนที่ลงชื่อก็ได้ชื่อว่าตัวตึงที่มีจุดยืนชัดเจนมาก่อนหน้านี้แล้ว

เช่น สายอำนาจบ้านสี่เสาเทเวศร์ที่ก็เสื่อมคลายอำนาจลงไปแล้ว เช่น บิ๊กอู้ด พล.อ.อู้ด เบื้องบน อดีตปลัดกลาโหม ลูกป๋า พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตหัวหน้าสำนักงานป๋าเปรม พล.อ.สนั่น มะเริงสิทธิ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 และผู้ช่วย ผบ.ทบ. ที่เคยทำงานในมูลนิธิรัฐบุรุษของ พล.อ.เปรม และ พล.อ.พิษณุ พุทธวงศ์ อดีตหัวหน้าสำนักงานป๋าเปรมอีกคน

แม้จะมีเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ และบรรดา ส.ว.สาย คสช. เช่น บิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ บิ๊กตี๋ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร อดีต ผบ.ทหารสูงสุด บิ๊กเยิ้ม พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 ร่วมลงชื่อกับ ส.ว. ก็เป็นการตัดสินใจส่วนตัว เพราะผู้ประสานงาน ส.ว. สาย พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าฟรีโหวต แล้วแต่ว่าใครจะลงชื่อร่วมอภิปรายหรือไม่ ไม่ได้มีการส่งสัญญาณมาว่าให้ร่วมลงชื่อหรือไม่ให้ร่วมลงชื่อ

รวมทั้ง พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม พล.อ.บุญธรรม โอริส พล.อ.นิวัตร มีนะโยธิน พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ พล.อ.สุนทร ขำคมกุล พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ พล.ร.ท.สนธยา น้อยฉายา พล.อ.ศุภรัตน์ พัฒนาวิสุทธิ์ พล.อ.วีรัน ฉันทศาสตร์โกศล พล.อ.สราวุธ ชลออยู่ พล.อ.ประสาท สุขเกษตร พล.อ.วราห์ บุญญะสิทธิ์ และ พล.อ.อ.สุจินต์ แช่มช้อย ส.ว.สายทหารที่ร่วมลงชื่อเหล่านี้ก็ไม่ได้สะท้อนว่าเกิดความขัดแย้งระหว่างขั้วชินวัตรกับคู่อนุรักษนิยมหรืออาจเรียกได้ว่า “ดีลยังไม่เปลี่ยน” แต่เป็นแค่การสะกิดและคุมเชิงไว้เท่านั้น

ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพจึงยังไม่ได้มีสัญญาณใดที่สะท้อนให้เห็นปัญหา

เพราะในส่วนของนายเศรษฐาก็มีการปรับตัวเองในเรื่องการสั่งการ ให้ตรงช่องทางว่าเรื่องใดควรจะคุยกับผู้บัญชาการเหล่าทัพคนใด จากเดิมที่คุยแต่กับ พล.อ.ทรงวิทย์ เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่นายกฯ เข้าใจว่าคุมทั้ง 3 เหล่าทัพ แต่ในบริบทของกองทัพแบบไทยๆ แล้วแต่ละเหล่าทัพถือว่าเป็นหน่วยกำลังรบ ที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพโดยเฉพาะ ผบ.ทบ.จะถูกมองว่ามีอำนาจที่สุด และใหญ่ที่สุด

ในระยะหลัง นายเศรษฐาจึงคุยตรงยิงตรง พล.อ.เจริญชัย และ ผบ.เหล่าทัพเอง

แต่ในกองทัพเองแล้ว อาจจะยังมีร่องรอยของปัญหาภายในอยู่บ้างโดยเฉพาะจากกรณีการมอบรางวัลเกียรติยศจักรดาว ศิษย์เก่าดีเด่น โรงเรียนเตรียมทหาร หลังมีข่าวออกไปว่า พล.อ.ทรงวิทย์ไม่รับรางวัลนี้ เพราะไม่ได้จบโรงเรียนเตรียมทหาร แม้จะเคยเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่น 24 แค่ไม่ถึงเดือน ก่อนลาออกไปเรียนเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ แล้วจากนั้นไปเรียนดรงเรียนนายร้อย VMI สหรัฐอเมริกา จนจบ

และไม่รับตำแหน่งประธานมูลนิธิศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมทหารด้วย โดยขอให้ พล.อ.สนิธชนก ปลัดกลาโหม เพื่อน ตท.24 เป็นประธานแทน เพื่อตัดปัญหา

ด้วยที่ผ่านมา มีนายทหารทั้งในราชการและนอกราชการที่เป็นศิษย์เก่าเตรียมทหารไม่เห็นด้วยที่จะให้ พล.อ.ทรงวิทย์ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพราะไม่ได้จบโรงเรียนเตรียมทหาร เพราะจะต้องมานั่งเป็นประธานมูลนิธิศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมทหาร

จน พล.อ.ทรงวิทย์ ซึ่งในตอนนั้นเป็นรอง ผบ.ทหารสูงสุด ได้หารือบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในเวลานั้นว่า หากได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็จะไม่ขอรับตำแหน่งประธานมูลนิธิฯ และไม่รับรางวัลใดๆ

และเมื่อ พล.อ.ทรงวิทย์ได้ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดก็ได้ทำตามนั้น เพื่อจบทุกปัญหา

แต่ก็ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันในเตรียมทหารรุ่นต่างๆ ว่า พล.อ.ทรงวิทย์ไม่มีสิทธิ์ที่จะบอกว่าแสดงสปิริต ไม่ขอรับรางวัลเกียรติยศจักรดาว เพราะ พล.อ.ทรงวิทย์ ไม่มีสิทธิ์อยู่แล้วเนื่องจากไม่ใช่ศิษย์เก่า แล้วจะทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับ ผบ.เหล่าทัพคนอื่นที่รับรางวัลหรือไม่

ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งแย้งว่าคำว่า “ศิษย์เก่า” หมายถึง ต้องเรียนจบ หรือว่าแค่เคยเข้าเรียนเท่านั้น ก็เป็นศิษย์เก่าแล้วหรือไม่ อีกทั้ง พล.อ.ทรงวิทย์ก็ได้ประกาศที่จะไม่ให้ทางมูลนิธิฯ ต้องพิจารณาชื่อตนเองตั้งแต่ต้น

จนเกิดการโต้เถียงถึงขั้นค้นในทำเนียบศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมทหารว่าไม่มีชื่อ พล.อ.ทรงวิทย์แต่อย่างใด แม้ว่าตอนเข้าเรียน พล.อ.ทรงวิทย์จะได้รับเลขประจำตัว นักเรียน นตท.ก็ตาม

กองหนุนและฝ่ายค้านเถียงกันไม่จบสิ้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ได้รับรางวัลเกียรติยศจักรดาว แต่ พล.อ.ทรงวิทย์ก็จะไปร่วมแสดงความยินดีกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ ทั้ง พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์ เอี่ยม ผบ.ทร. รุ่นพี่เตรียมทหาร 23 และ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 24

ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ไม่ได้ให้ รมว.กลาโหมมอบรางวัลเกียรติยศจักรดาวให้ เนื่องจากนายสุทินเป็น รมว.กลาโหมพลเรือน ไม่ใช่ศิษย์เก่าเตรียมทหาร

จึงให้ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีต ผบ.ทหารสูงสุด ที่แม้ไม่ได้จบโรงเรียนนายร้อย จปร. แต่จบจากนายร้อย Westpoint แต่ก็เป็นเตรียมทหารรุ่น 6 เป็นคนมอบรางวัล แม้ว่าจะไม่เคยมีหลักเกณฑ์ชัดเจนว่าคนมอบรางวัลต้องเป็นศิษย์เก่าเตรียมทหารก็ตาม

ดังนั้น แม้กองทัพกับรัฐบาลจะไม่ได้มีปัญหากัน

แม้นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กับผู้บัญชาการเหล่าทัพ จะทำงานร่วมกันได้ด้วยดี

แต่ปัญหาภายในกองทัพ ปัญหาระหว่างรุ่นทั้งรุ่นเดียวกันและรุ่นพี่กับรุ่นน้อง การแต่งตั้งโยกย้าย เป็นสิ่งที่ฝ่ายการเมืองต้องไม่มองข้าม

เพราะอาจกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวกันเลยทีเดียว