ผลเลือกตั้งภายในรีพับลิกัน การกลับมาของ ‘ทรัมป์’

(Photo by ANGELA WEISS / AFP)

การเลือกตั้งขั้นต้นภายในพรรครีพับลิกัน เพื่อหาตัวแทนพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในตอนปลายปีนี้เพิ่งจะเริ่มต้น

แต่ดัชนีชี้วัดทุกอย่างส่อแสดงให้เห็นว่า นี่อาจเป็นการเลือกตั้งตัวแทนพรรคที่ง่ายที่สุด เบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่สุด และรู้ผลลัพธ์กันเร็วที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยมีมา

เมื่อ 15 มกราคม พรรครีพับลิกันประเดิมปีแห่งการเลือกตั้งด้วยการจัดการเลือกตั้งขั้นต้นแบบคอคัสขึ้นที่รัฐไอโอวา เป็นรัฐแรก หลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งครั้งนั้น การแข่งขันกันเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันก็หลงเหลือเพียง 2 คนเท่านั้น หนึ่งคือ โดนัลด์ เจ. ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีที่ได้ชื่อว่าอื้อฉาวที่สุดผู้หนึ่งของสหรัฐอเมริกา

กับ นิกกี้ เฮลีย์ อดีตผู้ว่าการรัฐเซาธ์แคโรไลนา ที่เคยได้รับการแต่งตั้งจากทรัมป์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีให้เป็นเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรของสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ (ยูเอ็น)

คนอื่นๆ ที่เหลือทยอยถอนตัวออกจากการแข่งขันจนหมด

 

ทั้งๆ ที่ผลเลือกตั้งที่ไอโอวา เฮลีย์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็น “นักการทูตคู่บารมี” ของประธานาธิบดีทรัมป์ พ่ายแพ้ขาดลอยได้รับคะแนนเสียงมาเป็นลำดับที่ 3 ตามหลังผู้ชนะอย่างทรัมป์อยู่มหาศาลถึง 32 จุด (51.0 เปอร์เซ็นต์ ต่อ 19.1 เปอร์เซ็นต์) แต่เฮลีย์ก็ยังสู้ต่อไป

เมื่อ 23 มกราคมที่ผ่านมา รีพับลิกันจัดเลือกตั้งขั้นต้นขึ้นที่นิวแฮมป์เชียร์ เป็นรัฐที่สอง ที่กลายเป็นเสมือนการดวลกันตัวต่อตัวระหว่างทรัมป์กับเฮลีย์ ซึ่งเธอพ่ายแพ้ชนิดขาดลอยอีกครั้ง ตามหลังทรัมป์ถึง 11 จุด (54.6 เปอร์เซ็นต์ กับ 43.1 เปอร์เซ็นต์)

ที่แย่ยิ่งกว่าผลการนับคะแนน (ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จอย่างเป็นทางการ) ก็คือ ชัยชนะในการเลือกตั้งขั้นต้นของทรัมป์ที่รัฐนี้ เบ็ดเสร็จเด็ดขาดชนิดที่ปิดหีบลงคะแนนเสียงไปเพียงแค่ 2 นาที

สำนักข่าวเอพี ที่คร่ำหวอดและเกาะติดการเลือกตั้งในสหรัฐมาทุกยุคทุกสมัย ก็ประกาศอย่างมั่นใจในคาดการณ์ผลการเลือกตั้ง ยกชัยชนะให้กับผู้สมัครอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ในทันทีทันควัน

 

แม้ว่าถึงที่สุดแล้ว นิกกี้ เฮลีย์ จะยังคงยืนกรานที่จะลงแข่งขันในการเลือกตั้งภายในพรรคต่อไป แต่ผลการเลือกตั้งที่นิวแฮมป์เชียร์ก็สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า สมาชิกพรรครีพับลิกันส่วนใหญ่ ยังคงเลือกที่จะยืนอยู่เคียงข้างกับอดีตประธานาธิบดี ไม่ว่าเมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ทรัมป์จะก่อเหตุปั่นป่วนและอื้อฉาวเอาไว้มากมายแค่ไหน หรือหลังจากที่แพ้เลือกตั้งแล้วทรัมป์จะก่อปัญหาเอาไว้มากมายก่ายกองอย่างไร

ทรัมป์ดูเหมือนจะเป็นยิ่งกว่าผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทั่วๆ ไป

ทรัมป์ไม่ใช่นักการเมืองดาดๆ อย่างที่ทุกคนเป็นกัน แต่เป็นเสมือนเจ้าลัทธิ “ผู้มาโปรด” หรือ “ช่วยให้รอด” สำหรับรีพับลิกันเหล่านั้นด้วยซ้ำไป

เฮลีย์ยืนยันในการกล่าวปราศรัยรับความพ่ายแพ้ที่นิวแฮมป์เชียร์อย่างดื้อแพ่งว่า การแข่งขันยังไม่จบ ยังคงหลงเหลือการเลือกตั้งขั้นต้นในอีกหลายสิบรัฐ

“รวมทั้งรัฐถัดไปที่เป็นรัฐของฉันอย่างเซาธ์แคโรไลนา” ซึ่งเฮลีย์เคยได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการรัฐมาแล้วนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ผู้สันทัดกรณีทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาล้วนลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าหากนิกกี้ เฮลีย์ ไม่ได้รับชัยชนะที่นิวแฮมป์เชียร์ เธอก็คงไม่สามารถชนะในการเลือกตั้งขั้นต้นนี้อีกแล้วไม่ว่าจะในรัฐไหนๆ

 

ประเด็นสำคัญที่สนับสนุนข้อกล่าวอ้างซึ่งดูเหมือนจะ “เกินไป” นี้ก็คือ สถานการณ์ในนิวแฮมป์เชียร์ หลายอย่างเข้าข้างและเอื้อต่อชัยชนะของเฮลีย์มากที่สุดแล้ว

สมาชิกรีพับลิกันส่วนใหญ่ในรัฐนี้มีระดับการศึกษาสูง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เป็นฐานคะแนนนิยมสำคัญของเฮลีย์ เป็นคนกลุ่มที่ถือว่าตนเองมีความเป็นกลางทางการเมือง และไม่นำเอาศรัทธาทางศาสนาเข้ามายุ่งเกี่ยวกับความเชื่อทางการเมืองของตน

รีพับลิกันกลุ่มนี้เชื่อในข้อเท็จจริงที่ว่า โจ ไบเดน คือผู้ชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันเมื่อปี 2020 ไม่ใช่กลุ่มที่เชื่ออย่างมืดบอด และหลงใหลในวาทกรรมปั้นน้ำเป็นตัวของทรัมป์ที่ย้ำว่า ตนคือผู้ชนะในการเลือกตั้งครั้งนั้น

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ เฮลีย์ยังได้รับการประกาศสนับสนุนอย่างเป็นทางการจาก คริส ซานูนู ผู้ว่าการรัฐนิวแฮมป์เชียร์ผู้โด่งดัง ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้ว่าการรัฐสังกัดรีพับลิกันที่ได้รับความนิยมสูงสุด ถึงขนาดลงมาช่วยระดมสมองหาเสียงช่วยเฮลีย์อย่างขันแข็งอีกด้วย

ปัจจัยพื้นฐานทางการเมืองในพื้นที่เลือกตั้งอีกหลายสิบรัฐที่ตามมาหลังจากนี้ ล้วนแล้วแต่ค่อนไปในทางเป็นปฏิปักษ์ต่อเฮลีย์มากกว่าที่นิวแฮมป์เชียร์ทั้งสิ้น

ไม่เว้นแม้แต่ที่เซาธ์แคโรไลนา ที่เฮลีย์เชื่อว่าตนเองเป็น “เจ้าถิ่น” อยู่อีกด้วย

 

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า สถานการณ์ในเซาธ์แคโรไลนา ซึ่งจะมีการเลือกตั้งขั้นต้นกันในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ค่อนไปในทางที่เอื้อต่อทรัมป์แบบเดียวกับที่ไอโอวา

เพราะที่นี่ทรัมป์ไม่เพียงได้รับการประกาศสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากนักการเมืองรีพับลิกันระดับหัวแถวทั้งหมดแล้ว

เขายังได้รับความนิยมในหมู่สมาชิกพรรคที่ค่อนไปในทางอนุรักษนิยมและชาตินิยมจัดอย่างมากอีกด้วย

โพลโดยเฉลี่ยครั้งล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ที่นิวแฮมป์เชียร์ เฮลีย์มีคะแนนนิยมตามหลังทรัมป์อยู่มากถึง 37 จุดเลยทีเดียว

ผู้สันทัดกรณีหลายคนเชื่อว่า อีกไม่ช้าไม่นาน กระบวนการและขบวนการรณรงค์หาเสียงเพื่อเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันของนิกกี้ เฮลีย์ คงสะดุดแล้วก็พังทลายลงทั้งหมด ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อใดเท่านั้น

ทิ้งให้โลกหนาวๆ ร้อนๆ อยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่า ตัวแทนของพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งครั้งใหม่ในปีนี้ หนีไม่พ้น โดนัลด์ ทรัมป์ คนที่มีคดีน้อยใหญ่ติดตัวเป็นหางว่าวอย่างน้อย 90 คดีคนนี้อีกครั้ง