คิดใหญ่สไตล์นักชีวะ (ซีรีส์ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทคตอนที่ 26)

ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

Biology Beyond Nature | ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

 

คิดใหญ่สไตล์นักชีวะ

(ซีรีส์ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทคตอนที่ 26)

 

Gilbert กลายเป็นผู้รับช่วงต่อคนสำคัญ ด้วยเกียรติประวัติยาวเหยียดตั้งแต่รางวัลโนเบลปี 1980 เรื่องเทคนิคอ่านลำดับเบสดีเอ็นเอ, ผลงานบุกเบิกการศึกษา mRNA, ผลงานการค้นพบกลไกการเปิด/ปิดยีนด้วยระบบ repressor, ไปจนถึงผลงานการผลิตอินซูลินสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลกในแบคทีเรีย (แต่เป็นอินซูลินจากยีนหนู ขณะที่ Genentech ผลิตอินซูลินจากยีนมนุษย์สำเร็จเจ้าแรก) ชื่อเสียงความน่าเชื่อถือนี้ทำให้เขาเป็นนายแบกของโครงการนี้ต่อได้สบาย

หลังประชุมที่ UCSC จบ Gilbert เดินสายบรรยาย เขียนบทความ ถ่ายสารคดีโปรโมตโครงการอ่านจีโนมมนุษย์จนเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ

Gilbert ยังเป็นนักวิจัยที่สวมวิญญาณสตาร์ตอัพได้อย่างไม่ขัดเขิน ช่วงปี 1982 ตอนที่เริ่มตั้งบริษัท Biogen เขาถูก Harvard บีบให้เลือกระหว่างตำแหน่งศาสตราจารย์กับการทำงานบริษัท

Gilbert เลือกอย่างหลังและไปเป็น CEO ของ Biogen อยู่สองปีก่อนจะลากลับออกมาเป็นศาสตราจารย์ที่ Harvard อีกรอบ

Walter Gilber กับแนวคิดค้ากำไรจากข้อมูลจีโนม
Cr : ณฤภรณ์ โสดา

เรื่องโครงการจีโนมมนุษย์ Gilbert ก็มองว่าควรจะอยู่ในมือเอกชนมากกว่าหน่วยงานรัฐที่ทำงานชักช้าไม่ทันใจและไร้ความทะเยอทะยาน

ปี 1987 Gilbert ประกาศจะตั้งบริษัทใหม่ชื่อ Genome Corporation บริษัทแห่งนี้จะทำแผนที่การจัดเรียงจีโนม (physical map) ให้เสร็จภายในสองปี

จากนั้นก็จะเริ่มทำการอ่านลำดับเบสทั้งหมดภายในสิบปีด้วยงบรวมสามร้อยล้านเหรียญสหรัฐ (ต้นทุนประเมินอยู่ที่สามพันล้านเหรียญในตอนนั้นแต่ Gilbert มองว่าเทคโนโลยีจะดีขึ้นและราคาอ่านจีโนมช่วงท้ายๆ จะถูกกว่าช่วงแรก)

ระหว่างนั้นบริษัทจะสร้างรายได้จากการขายข้อมูลจีโนมให้นักวิจัยหรือบริษัทยา ข้อมูลจีโนมที่สมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไปก็จะมีมูลค่าสูงขึ้นและลูกค้าก็จะยอมจ่ายแพงขึ้น

แม้ว่าเทคโนโลยีการอ่านลำดับเบสจีโนมจะไม่ใช่ความลับอะไร นักวิจัยหรือบริษัทยาทำกันเองก็ได้ แต่การซื้อข้อมูลจาก Genome Corporation จะสะดวกกว่า เร็วกว่า และถูกกว่าทำเอง

“นักเคมีซื้อเครื่องแก้วอุปกรณ์แล็บแทนที่จะเป่าแก้วใช้เองเหมือนสมัยก่อน นักชีววิทยาในอนาคตก็จะซื้อข้อมูลจีโนมมาทำวิจัยแทนที่จะต้องอ่านข้อมูลเอง” Gilbert ให้เหตุผล

ส่วนข้อโต้แย้งว่าจีโนมมนุษย์ไม่ควรมีบริษัทใดถือสิทธิคิดค้าเอากำไร Gilbert เปรียบเทียบว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของวิวทิวทัศน์ธรรมชาติแต่เราก็ถือลิขสิทธิ์ในภาพถ่ายได้ แม้ไม่มีใครเป็นเจ้าของจีโนมแต่เราควรจดลิขสิทธิ์ในข้อมูลจีโนมได้

“ข้อมูลจีโนมปริมาณมหาศาลจะถูกเก็บและแบ่งปันผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ นักชีววิทยาไม่เพียงต้องใช้คอมพิวเตอร์ได้อย่างคล่องแคล่ว แต่ยังต้องเปลี่ยนลำดับกระบวนการทั้งหมดในการเข้าใจสิ่งมีชีวิต”

Gilbert ทำนายการกำเนิดของศาสตร์ที่เรียกว่า ชีวสารสนเทศน์ (bioinformatics) อย่างแม่นยำในยุคที่อินเตอร์เน็ตเพิ่งเริ่มตั้งไข่

 

Gilbert เดินสายพบปะนักลงทุนหาเงินมาลง Genome Corporation เป้าหมายเริ่มต้นอยู่ที่สิบล้านเหรียญสหรัฐ แม้จะดันสุดฤทธิ์แต่ติดปัญหาเศรษฐกิจช่วงนั้นบวกความที่วอลล์สตรีตเริ่มจะเลิกเห่องานไบโอเทคแล้วเพราะหลายบริษัทที่ลงเงินกันไปช่วงต้น 1980s (รวมทั้ง Biogen ของ Gilbert ด้วย) เข็นผลิตภัณฑ์ออกทำกำไรไม่ได้ตามเป้า

ขณะเดียวกันนักลงทุนหลายคนก็กลัวว่าเกิดภาครัฐเอาจริงเรื่องอ่านจีโนมมนุษย์ขึ้นมาจะกลายเป็นว่าบริษัทจะต้องไปแข่งกับโครงการรัฐที่ทุนหนากว่าแถมให้บริการฟรี

Genome Corporation ล่มไปตั้งแต่ยังไม่เป็นบริษัท แต่วิสัยทัศน์และความทะเยอทะยานของ Gilbert เป็นอีกหนึ่งแรงผลักให้หน่วยงานรัฐหันมาจริงจังกับโครงการอ่านจีโนมมนุษย์ยิ่งกว่าเดิม

Hood เล่าว่า แหล่งทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพอย่าง National Institute of Health (NIH) คัดค้านโครงการนี้ตั้งแต่ต้น โดยให้เหตุผลว่า NIH ให้ทุนวิจัยด้านพันธุศาสตร์ (genetics) อยู่แล้วปีละสามร้อยล้านเหรียญสหรัฐ ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะเอาเงินไปลงโครงการจีโนมให้ซ้ำซ้อนอีกเป็นร้อยล้าน

ผู้สนับสนุนใหญ่รายแรกกลับเป็นกระทรวงพลังงาน (Department of Energy, DOE) หน่วยงานมากประสบการณ์กับโครงการระดับเมกะโปรเจ็กต์ย้อนไปตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง หน่วยงานเดียวกับที่ดูแลโครงการพันล้านที่ Los Alamos และ Livermore ร่วมกับ University of California ตามที่เล่าไปตอนแรก

DOE มาจากไหน? แล้วมาสนใจโครงการจีโนมมนุษย์ขนาดอัดฉีดเงินตั้งต้นหลายสิบล้านได้อย่างไร?

ติดตามต่อตอนหน้าครับ