‘ญี่ปุ่น’ ประเทศที่ 5 ของโลก นำยานลงจอดบนดวงจันทร์

(Photo by Handout / various sources / AFP)

เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้กลายเป็นประเทศที่ 5 ในประวัติศาสตร์ของโลก ที่สามารถนำยานอวกาศลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้ นอกเหนือจากสหรัฐอเมริกา อดีตสหภาพโซเวียต จีน และอินเดีย ที่เคยประสบความสำเร็จในการนำยานอวกาศลงสู่ดวงจันทร์มาได้แล้วตามลำดับ

โดยยานของญี่ปุ่นดังกล่าว มีชื่อว่า สมาร์ตแลนเดอร์ฟอร์อินเวสติเกติ้งมูน หรือ สลิม ซึ่งเป็นยานที่ไม่ได้มีนักบินอวกาศขึ้นไปด้วย มีขนาด 2.4 ม. x 1.7 ม. x 2.7 ม. ประกอบด้วยเครื่องยนต์หลัก 2 ตัว และตัวขับดัน 12 ตัว ล้อมรอบด้วยแผงโซลาร์เซลล์ เสาอากาศ เรดาร์ และติดกล้องอินฟาเรด น้ำหนักรวมอยู่ที่ราว 700 กิโลกรัม

ถูกส่งออกจากพื้นผิวโลกเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2023 และใช้เวลาในการเดินทางถึงดวงจันทร์ 4 เดือน มีภารกิจเพื่อการสำรวจดวงจันทร์นั่นเอง

ความสำเร็จในการลงจอดบนดวงจันทร์ของยานสลิม ถือเป็นการทดสอบเทคโนโลยีการลงจอดอย่งแม่นยำในระยะไม่เกิน 100 เมตรจากจุดที่ตั้งเป้าไว้

และจะใช้ท่าในการลงจอดแบบใหม่ คือการลงจอดในแนวนอน โดยยานจะค่อยๆ ลดความเร็วลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ ก่อนที่จะลอยค้างอยู่ในระดับความสูงประมาณหนึ่งเมตร ก่อนที่จะค่อยๆ เอียงข้าง และลงจอดด้วยขาตั้งที่ติดตั้งไว้บริเวณด้านข้างของยาน

โดยวิธีการลงจอดแบบนี้ ไม่เคยมีการใช้มาก่อน

ซึ่งสำนักงานสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (จาซา) หวังไว้ว่า ภารกิจของยานสลิมนี้ จะนำไปสู่การออกแบบภารกิจการสำรวจดวงจันทร์ ที่ไม่ใช้งบประมาณมากได้

 

อย่างไรก็ตาม หลังการลงจอดครั้งประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น ที่สร้างความดีใจได้ไม่นาน ทางจาซาได้แจ้งว่า หลังจากการลงจอดอย่างนุ่มนวลบนพื้นผิวดวงจันทร์สำเร็จ แต่กลับพบว่า แผงโซลาร์เซลล์ของยานเกิดปัญหาไม่จ่ายไฟ อาจเป็นเพราะการลงที่ทำมุมผิดของยาน

ปัญหาดังกล่าวอาจจะส่งผลต่อภารกิจของยานสลิม ซึ่งจาซาเองก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า แบตเตอรี่ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ของยานสลิมนั้น จะสามารถผลิตพลังงานขึ้นมาได้อีกหรือไม่

และหวังว่า หากแสงแดดสาดส่องถึงฝั่งตะวันตกของดวงจันทร์ ซึ่งจะตรงกับแผงโซลาร์เซลล์ ก็อาจจะผลิตพลังงานสำหรับยานขึ้นมาได้

นายฮิโตชิ คุนินากะ หัวหน้าศูนย์วิจัยของจาซา ได้กล่าวระหว่างการแถลงข่าวว่า สิ่งสำคัญลำดับแรกคือการถ่ายโอนข้อมูลของยานสลิมกลับมายังโลก ซึ่งยานสลิมต้องอาศัยพลังงานจากแบตเตอรี่ที่ติดตั้งอยู่เท่านั้น โดยเหลือพลังงานใช้ได้เพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น แม้ว่าจะเข้าสู่โหมดปิดการทำความร้อนเพื่อทำให้พลังงานอยู่ได้นานขึ้นอีกก็ตาม

นายคุนินากะ บอกด้วยว่า จาซาจะคงสถานะเช่นนี้ไว้ มากกว่าที่จะดำเนินการใดๆ ที่เป็นความเสี่ยง และหวังว่าการเปลี่ยนมุมของแสงอาทิตย์จะช่วยทำให้แสงอาทิตย์ส่งถึงแผงโซลาร์เซลล์ ที่จะช่วยทำให้ยานสลิมกลับมาทำงานได้

โดยคาดว่า อาจจะต้องใช้เวลานานราว 30 วัน

 

แม้ว่าจะเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดขึ้น เกี่ยวกับภารกิจของยานสลิมในครั้งนี้ แต่คุนินากะ ก็บอกว่า จากข้อมูลที่ติดตามได้ ถือว่ายานสลิมประสบความสำเร็จในการลงจอดสู่เป้าหมายได้อย่างแม่นยำในระยะ 100 เมตร

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ก็คงต้องอยู่ระหว่างรอดูต่อไปว่า ยานสลิมจะสามารถฟื้นกลับมาปฏิบัติภารกิจสำรวจดวงจันทร์ได้ตามเป้าหมายอีกครั้งหรือไม่

แม้ว่าจะดูไม่ราบรื่นเสียเท่าไหร่ สำหรับปฏิบัติการสู่ดวงจันทร์ของญี่ปุ่น แต่ตอนนี้ ญี่ปุ่นก็ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ 5 ของโลก ที่สามารถนำยานขึ้นไปเหยียบบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้