ความยุติธรรม ต้องเริ่มที่ตำรวจ

“กฎหมายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุด ที่อยู่คู่กับมนุษย์มาเนิ่นนานแล้ว” จากข้อเขียนของ วรเจตน์ ภาคีรัตน์-ศาสตราจารย์ทางกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อจะต้องอยู่ร่วมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปอาจต้องมี “กฎ” หญิงชาย ผัวเมีย ครอบครัว พี่น้อง วงศาคณาญาติ กลุ่มตระกูล ชุมชน แต่ก่อนอาจเป็นแค่ “กฎ” อะไรทำได้ หรือทำไม่ได้

กฎหรือกฎหมายไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกับ “ความยุติธรรม” จึงเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม ยกเลิก หรือเขียนใหม่ได้เสมอเพื่อให้เกื้อกูลแก่การพัฒนาสังคมแต่ละยุคสมัย

การห้ามกระทำ ห้ามประพฤติสิ่งใดในแต่ละช่วงของสังคมจึงไม่เหมือนกัน

หรือถ้าจะมี “สิ่งที่เหมือนกัน” อย่างหนึ่งก็คือ ในทุกสังคมต้องมี “คนคุมกฎ” หรือผู้บังคับใช้กฎหมาย

กระบวนการยุติธรรมไทยมี “ผู้คุมกฎ” เริ่มตั้งแต่ “ตำรวจ” ถัดไปก็เป็นชั้น “พนักงานอัยการ” สุดท้ายการตัดสินชี้ขาดอยู่ที่ “ศาล”

ประเทศเราใช้ “ระบบกล่าวหา” การดำเนินคดีจึงเริ่มที่ “ตำรวจ”

แต่ถึงแม้ว่างานของตำรวจ อัยการ และศาล ดูจะมีความเกี่ยวพันยึดโยงกันเป็น “กระบวนการ” ในด้านหน้าที่ “การสอบสวน-การฟ้องร้อง และการพิจารณาพิพากษาคดี” ก็แยกออกจากกันเพื่อให้มีความอิสระและถ่วงดุล

ด้วยระบบนี้ “ศาล” จะดำเนินคดีได้ก็ต่อเมื่อ “อัยการ” ยื่นฟ้องคดี!

และคดีจะถูกฟ้องหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับ “ตำรวจ” เป็นสำคัญ

“งานสอบสวน” ซึ่งต้องตรวจที่เกิดเหตุ ซักถามบุคคล รวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดที่เกี่ยวข้องจึงมีความสำคัญมากจนถึงขั้นที่เรียกกันในวงการยุติธรรมว่าเป็น “ต้นธาร” ของกระบวนการยุติธรรม

ถ้างานสอบสวนที่ “สถานีตำรวจ” หรือที่หน่วยงานในระดับกองกำกับการซึ่งทำหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษ ปฏิบัติกันเหลวแหลก เป่าทิ้งคดี ไม่มีความสำนึกรับผิดชอบในวิชาชีพก็จะเกิดความเดือดร้อนไปทั่วทุกหย่อมหญ้า

 

“แก๊งเด็กนรก” ที่เลือดยังสดๆ คือประจักษ์พยานหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า ถ้าตำรวจในท้องที่ไม่เอาไหน กากเดนนักเลงอันธพาลจะอหังการ แม้จะก่อความวุ่นวาย กระทำชำเราหญิง ตีรันฟันแทงไล่ล่าฆ่าคนตายอย่างเหี้ยมโหด ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายคดีก็ไม่มีคำว่า ยำเกรงต่อกฎหมาย และผู้บังคับใช้กฎหมาย

ทำให้ทั้งผู้คนทั่วไปและผู้ร้ายต่างก็หมิ่นแคลนตำรวจ!

ในหนังสือชื่อ “ฝ่าวิกฤต วิธีคิด ประสบการณ์ – ตำรวจแบบผม พลตำรวจเอกนเรศ นันทโชติ”

บางตอนตั้งปุจฉา “ทำไมคนเกลียดตำรวจ” พร้อมกับตอบคำถามเอาไว้น่าสนใจว่า

“1 ในปัจจัย” ที่คนเกลียดตำรวจ มาจาก “พฤติกรรม” และ “การปฏิบัติงาน”

เช่น ตำรวจเลือกปฏิบัติ บังคับใช้กฎหมายไม่เท่าเทียม บิดเบือนสำนวนคดี ปั้นพยานหลักฐานเท็จแสวงหาประโยชน์ ละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ถูกจับกุม ไม่เป็นมิตรกับประชาชน จ้องจับผิดมากกว่าการแนะนำช่วยเหลือเป็นที่พึ่งของประชาชนที่ไม่รู้กฎหมาย หนักขึ้นไป ถึงขั้นกลั่นแกล้งจับกุม รวมทั้งปล่อยปละละเลยให้ลูกเมียไปรังแกไปทำร้ายและเอาเปรียบประชาชน

ที่เลวร้ายจนเส้นแบ่งขาดสะบั้นคือ คบค้าสมาคมกับผู้กระทำความผิดในพื้นที่ จนถึงขั้นก่ออาชญากรรมเสียเอง ค้ายา ค้าของผิดกฎหมาย รับซื้อของโจร ยังมีอีกมากมายจนสุดที่บรรยายพฤติกรรม

จึงมีคำถามว่า “แล้วจะแก้กันอย่างไร”

 

หลายปีมาแล้วที่รัฐบาลในประเทศนี้เห็นตำรวจเป็นแค่ “เครื่องมือ” ใช้ประโยชน์ทางการเมือง เอาไว้ใช้คุ้มกัน ใช้ค้ำบัลลังก์ ใช้คุกคามฝ่ายตรงข้าม และชี้ให้จับคนเห็นต่างเข้าคุก

ผู้ที่มีอำนาจรัฐทุกสมัยไม่ได้คิดจะสร้างตำรวจให้เป็น “ที่พึ่งของประชาชน”

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีต ผบ.ตร. มักจะยกคำโบราณกล่าวให้โอวาทกับตำรวจบ่อยๆ ว่า

“ไม่มีไพร่พลเลว มีแต่แม่ทัพนายกองที่เลว”!

หลายปีมาแล้วเช่นเดียวกัน ที่ระบบการบังคับบัญชา ระเบียบวินัย การปกครองหน่วย การสอนงาน การสร้างคนของตำรวจเหลวแหลกสิ้น

คนที่เป็นหัวหน้าหน่วยไม่ใช่ “ผู้นำ”!

บางทีตั้งแต่ระดับหัวหน้าโรงพัก ผู้กำกับการ ผู้บังคับการ หรือแม้แต่ระดับ “ผู้บัญชาการ” ไม่มียางอาย กลายเป็นไอ้โลภโมโทสัน ตะกละตะกลามตัวหนึ่งที่ผู้ใต้บังคับบัญชาแสนจะสะอิดสะเอียน

ยังไม่เคยได้ยินว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้เป็น “ผบ.ตร.” มีแผนงานประการใด

 

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์อ้างได้ก็แต่เพียงว่า ปีที่แล้วเอาตำรวจออกไปกว่า 300 นาย และในการประชุม ก.ตร.ครั้งหน้าก็จะมีคำสั่งให้ออกอีกกว่า 60 นาย

ที่จริงไม่ว่า “ต่อศักดิ์” จะเป็น หรือไม่ได้เป็น “ผบ.ตร.” ทุกๆ ปีก็มีตำรวจถูกออกจากราชการ

ก่อนที่ต่อศักดิ์จะขึ้นมาเป็น “ผบ.ตร.” ก็มีการเอาตำรวจออกจากราชการ

ปัญหาสำคัญที่ “ผบ.ตร.” ควรจะต้องตั้งวงสนทนาและ “ลงมือทำ” กันอย่างจริงจังในวันนี้ก็คือ

จะทำอย่างไรกับ “แม่ทัพนายกอง” ที่เลวและยังลอยหน้าลอยตาเติบใหญ่อยู่ในระบบตำรวจ

ที่ไพร่พลเลวกล้าประพฤติตนเป็น “คนร้าย” ก็เพราะมีผู้บังคับบัญชาเป็น “ตัวแบบ”!

ตำรวจเป็นลูกหลานไทย เกิด เติบโต และเรียนรู้จากสภาพสังคมไทยที่จำนน นบนอบในวัฒนธรรม “อำนาจ”

ตำรวจย่อมเรียนรู้ที่จะอยู่รอดจึงถอยห่างจากบทบาท “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์”

ที่นี่ใครใหญ่คนนั้นอยู่

ขนาดใช้กำลังอาวุธแย่งยึด “อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย” แล้วสถาปนารัฏฐาธิปัตย์ยังทำกันได้

คนมีอำนาจมาก มีพวกมากจะเป็น “ผู้ชนะ”!

กฎหมู่ กฎแห่งอำนาจ ทำให้เข้าใจกันว่าการใช้ความเหนือกว่ากดขี่ข่มเหงเอาเปรียบผู้อื่นเป็นเส้นทางไปสู่ความสำเร็จ

แน่นอนว่า ภายใต้บริบทนี้ ย่อมจะมี “ตำรวจ” จำนวนหนึ่ง ที่แม้จะเรียนกฎหมาย รู้กฎหมาย และมีหน้าที่รักษากฎหมาย แต่ก็ไม่ได้ซึมซับกับคำว่า “กฎหมาย เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่สำคัญของมนุษย์”

การใช้ดุลพินิจ การบังคับใช้กฎหมายจึงผิดเพี้ยนพิสดาร จนล่วงพ้นไปจากคำว่า “ความยุติธรรม” หนักยิ่งขึ้นทุกวัน!?!!