เรื่องเล่าจาก ‘ลาฮอร์’

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สํานักข่าวเอพีนำเสนอเรื่องราวของเมืองลาฮอร์ อยู่ในแคว้นปัญจาบของปากีสถานซึ่งเผชิญวิกฤตมลพิษในอากาศ และปัญหาลุกลามไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ติดๆ กันทั้งอินเดียและบังกลาเทศ แต่ความขัดแย้งระหว่างประเทศทำให้วิกฤตนี้ยืดเยื้อเรื้อรัง

“ลาฮอร์เป็นเมืองที่มีสวนสวยๆ สร้างมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์โมกุล วันนี้กลับกลายเป็นเมืองที่มีกลิ่นเหม็นไหม้ คุณภาพอากาศที่ย่ำแย่” เอพีเกริ่นนำ

หมอกควันพิษทําให้ชาวเมืองลาฮอร์หลายหมื่นคนป่วยในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และทัศนวิสัยเลวร้าย สายการบินยกเลิกเที่ยวบิน

เมื่อปลายปีที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จัดหาเครื่องบิน 2 ลำพร้อมทีมทำฝนเทียม ไปช่วยแก้ปัญหาควันพิษในแคว้นปัญจาบ นับเป็นครั้งแรกที่ใช้ฝนเทียมแก้ปัญหาฝุ่นพิษในพื้นที่เอเชียใต้

เครื่องบินของยูเออีพ่นสารทำฝนเทียมประกอบด้วยซิลเวอร์ไอโอได โพแทสเซียม ไอโอไดและน้ำแข็งแห้งไปโปรยเหนือเมฆทำให้เกิดการควบแน่นและตกลงมาเป็นฝนเทียมในเมืองลาฮอร์ 10 แห่ง

แต่การทำฝนเทียมแก้ปัญหาได้แค่ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว เมื่อฝนเทียมหมด ฝุ่นก็กลับมาอาละวาดเมืองลาฮอร์อีก

ผู้บริหารเมืองลาฮอร์พยายามหาทางออกอื่นๆ ในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ เช่น ฉีดน้ำบนถนน ออกมาตรการปิดโรงเรียนช่วงที่มีคุณภาพอากาศเลวร้ายเสี่ยงต่อสุขภาพ

แต่ไม่ได้ผลเท่าไหร่

(Photo by Arif ALI / AFP)

มลพิษในอากาศที่ปกคลุมเมืองลาฮอร์มาจากแหล่งโรงงานอุตสาหกรรม มีทั้งโรงงานทอผ้า โรงเหล็ก โรงยาง และประชากรเฉียดๆ 10 ล้านคน อีกทั้งกระแสลมในพื้นที่มีส่วนสำคัญพัดเอาฝุ่นควันพิษไปถึงกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดียเป็นเพื่อนบ้านตั้งอยู่ติดกัน

ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศ เรียกร้องให้ปากีสถาน บังกลาเทศและอินเดียร่วมมือแก้ไขวิกฤตการณ์นี้แต่เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและปากีสถาน หักสะบั้นลงจนกระทั่งเกิดสงครามสู้รบถึง 3 ครั้ง ต่างฝ่ายต่างสร้างกองทัพแข่งกัน รวมถึงพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ไว้ข่มอีกฝ่ายจึงมองไม่เห็นหนทางว่าจะร่วมมือแก้วิกฤตทางอากาศได้อย่างไร

“เอบิด ชูเลอร์รี่” ผู้เชี่ยวชาญของสถาบันนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ไม่แสวงหากําไร แห่งปากีสถาน ชี้ว่า มลพิษทางอากาศนั้นเดินทางข้ามพรมแดนโดยไม่ต้องใช้วีซ่า ฉะนั้น การเจรจาเพื่อร่วมมือแก้มลพิษเป็นเรื่องที่อินเดีย ปากีสถานต้องทำ เพราะได้รับผลกระทบเหมือนๆ กัน

 

ปีนี้อินเดียและปากีสถาน กำลังจะมีเลือกตั้งครั้งใหม่ คนในซีกปากีสถานที่นำเสนอปัญหามลพิษทางอากาศและคิดหาทางแก้ก็มีเพียงนายบิลาวัล บุตโต ซาร์ดาริ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ประธานพรรคประชาชนปากีสถาน

“บิลาวัล บุตโต ซาร์ดาริ” บุตรชายของ “เบนาซีร์ บุตโต” อดีตนายกฯ ปากีสถาน ประกาศจะแก้ปัญหาโลกร้อน หลังเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ในแคว้นปัญจาบมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,700 คนเมื่อเดือนสิงหาคม 2565

เป็นที่รู้กันว่าเหตุเกิดน้ำท่วมใหญ่ในแคว้นปัญจาบเกิดจากฝนตกหนักติดต่อกันเป็นหลายอาทิตย์ ทำให้แม่น้ำสตลุช (Sutlej) เอ่อล้นทะลักท่วมกินบริเวณกว้างถึง 4 กิโลเมตร ทางการต้องอพยพประชาชนกว่า 1 แสนคนออกจากพื้นที่

หลังเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว ชาวแคว้นปัญจาบยังคงประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง ผู้คนอดหยากหิวโหย เด็กๆ ไม่ได้เข้าเรียนหนังสือ เชื้อโรคมาลาเรีย เชื้อไวรัสเดงกี่ อวิวาห์ตกโรคแพร่ระบาด

“ซาร์ดาริ” มองว่าปากีสถานกลายเป็นศูนย์กลางของวิกฤตโลกร้อนไปแล้ว และมีสัญญาณร้ายๆ หลายอย่างปรากฏขึ้น เช่น ธารน้ำแข็งบนยอดเขาหิมาลัยละลายเพราะสภาพอากาศที่ร้อนจัด

พื้นที่ทางภาคใต้ของปากีสถานกำลังจะเป็นทะเลทรายเนื่องจากทำลายพื้นที่ป่า ฉะนั้น ปากีสถานจึงต้องลงทุนเพื่อรับมือกับปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

AP Photo/ K.M.Chaudary,File

ส่วนพรรคการเมืองในอินเดีย หลายพรรคหยิบยกประเด็นโลกร้อนมาพูดในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง และรัฐบาลของนายนเรนทรา โมดี ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหามลพิษในอากาศ มีการตั้งเป้าแก้ปัญหาเมืองที่มีมลพิษปนเปื้อน 102 แห่ง ให้กลับมาเป็นเมืองสะอาด ภายใต้กฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาดแห่งชาติ

ธนาคารโลกได้เสนอแนะเรื่องนโยบายการจัดการกับมลพิษทางอากาศระดับภูมิภาคว่า ประเทศต่างๆ ต้องตกลงกันว่าจะกําหนดเป้าหมายและมาตรการคุณภาพอากาศร่วมกันอย่างไร และต้องร่วมประชุมนเป็นประจําเพื่อแบ่งปันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ถ้าเป็นไปได้ควรกําหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศร่วมกัน

ธนาคารโลกชี้ว่า เกือบ 93% ของชาวปากีสถานได้รับผลกระทบจากมลพิษที่รุนแรง และอินเดียมีประชากร 96% ได้รับผลกระทบดังกล่าวเช่นกัน

ประมาณว่า ประชากรทั้งอินเดียและปากีสถานีราวๆ 1,500 ล้านคนต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศที่มีความเข้มข้นสูง

เฉพาะแคว้นปัญจาบ มีผู้เสียชีวิตปีละประมาณ 220,000 คนจากสาเหตุที่เกี่ยวโยงกับมลพิษในอากาศ

เมืองลาฮอร์ในแต่ละวัน มีรถยนต์ มอเตอร์ไซค์วิ่งไปมารวมๆ กันแล้วราว 6.7 ล้านคัน มีโรงงานอุตสาหกรรมพ่นควันโขมง ทำให้เกิดฝุ่น หมอกควันปกคลุมท้องฟ้า หลังคาบ้านเรือน มัสยิด โรงเรียน ท้องไร่ท้องนา จนแทบมองอะไรไม่เห็นในระยะไกลๆ

เว็บไซต์ช้อปปิ้งของปากีสถานรายงานว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้วชาวแคว้นปัญจาบคลิกหาซื้อเครื่องฟอกอากาศและหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นอย่างมาก

“คาวาร์ อับบอส ชอดรี” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินหายใจ เล่าถึงเมืองลาฮอร์ว่า ครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองสวยงาม แต่ฤดูหนาวปีนี้ มีผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นถึง 100 เปอร์เซ็นต์

สาเหตุที่ผู้ป่วยเพิ่มเป็นเพราะมลพิษในอากาศ

แพทย์ผู้นี้ย้ำว่า ประเทศ รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา

“ไซเอ็ด นาซีม อูร์ เรห์ มาน ซาห์” ผู้อํานวยการแผนกคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของแคว้นปัญจาบ เล่าถึงความภูมิใจในความสําเร็จจากการต่อสู้กับปัญหามลพิษทางอากาศว่า โรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษสู่อากาศและเตาเผาอิฐจะถูกทางการควบคุมเข้มข้น ชาวนาชาวไร่จะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ช่วยให้การเผาตอซังพืชลดลง และบรรดาผู้ขับขี่รถตุ๊กตุ๊ก มอเตอร์ไซค์ รถบัสโดยสาร จะดีใจกับโครงการจัดหารถไฟฟ้า

“ซาห์” เคยไปอินเดียเพื่อหารือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับองค์กรระดับภูมิภาค สมาคมเอเชียใต้เพื่อหาความร่วมมือระดับภูมิภาค เปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ พูดคุยเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ แต่ยอมรับว่าไม่มีความร่วมมืออย่างเป็นทางการในระดับรัฐมนตรีกับอินเดีย

“ซาห์” โชว์หน้าจอในห้องตรวจสอบหมอกควันให้นักข่าวเอพีดูว่าดัชนีคุณภาพอากาศของปากีสถานต่ำกว่าจีน

“ประติมา สิงห์” นักวิทยาศาสตร์ของศูนย์การศึกษาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ซึ่งค้นคว้าเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศในอินเดียมานานกว่าทศวรรษ เล่าว่าประเทศในเอเชียใต้สามารถจำลองรูปแบบการทํางานร่วมกันของสหภาพยุโรปเพื่อจัดการกับความท้าทายด้านมลพิษ สร้างนโยบายใหม่ๆ แบ่งปันข้อมูลและค้นหาหนทางปฏิบัติที่ดีที่สุด

 

หันมาดูสถานการณ์ฝุ่นพิษในบ้านเราวันนี้ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรัง รัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มาออกมาตรการคุมเข้มการปล่อยควันพิษสารพัด ตั้งโต๊ะเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ไม่เกิดผลสำเร็จ ถึงหน้าหนาวปัญหาก็วนกลับมาหลอกหลอนคนไทยซ้ำแล้วซ้ำเล่า

คราวนี้ถึงคิวรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” โชว์ฝีมือจัดการกับหมอกควันฝุ่นพิษ ถ้าให้ประเมินเบื้องต้นจากการทำงานของรัฐบาลที่แสดงความขึงขังเอาจริงกับการใช้มาตรการเข้มข้นเพื่อลดปริมาณฝุ่นพิษ เช่น รณรงค์หยุดเผาป่า หยุดเผาซังข้าวโพด อ้อย ตรวจจับรถควันดำ ติดตามดูโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยเขม่าควันพิษ

หรือความพยายามผลักดันร่างกฎหมายอากาศสะอาดผ่านสภาซึ่ง ส.ส.ลงมติเอกฉันท์ในวาระแรกไปแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ

ร่างกฎหมายฉบับนี้ถ้าผ่านสภาและมีผลบังคับใช้แล้ว น่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ เพราะมีบทลงโทษมือเผาป่า ทั้งจำคุกทั้งปรับเพิ่ม มีกลไกภาษี ส่งเสริมการลงทุน และครอบคลุมไปถึงการเรียกร้องค่าใช้จ่ายจากผู้ก่อมลพิษข้ามพรมแดน

เมื่อต้นเดือนนี้ คุณเศรษฐาโทรศัพท์ไปคุยกับ “ฮุน มาเนต” นายกฯ กัมพูชา เพื่อหารือตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาฝุ่นพิษข้ามพรมแดน

ผมเห็นว่า รัฐบาลทำได้ดีพอใช้ แต่มาตรวัดความสำเร็จของการแก้ปัญหาฝุ่นพิษนั้นอยู่ที่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอากาศ หรือ AQI (Air Quality Index)

ถ้า AQI ในพื้นที่ทั่วประเทศปีนี้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ นั่นแหละจึงจะบอกได้ว่ารัฐบาล “เศรษฐา” แก้ปัญหาฝุ่นพิษดีเยี่ยม •