จาก ‘สองนคราประชาธิปไตย’ เป็นปรากฏการณ์ ‘ไข่ดาวหลายฟอง’

สุทธิชัย หยุ่น

ทฤษฎี “สองนคราประชาธิปไตย” ของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่เป็นข้อเสนออันฮือฮากว่า 30 ปีก่อนยังใช้ได้ถึงทุกวันนี้หรือไม่?

เป็นประเด็นของงานวิจัยจากผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่น่าใคร่ครวญมากสำหรับการวิเคราะห์การเมืองจากนี้ไป

ผลงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการทำงานร่วมของ ดร.ณพล จาตุศรีพิทักษ์, เมธิส โลหเตปานนท์ และ Allen Hicken ที่เพิ่งจะตีพิมพ์ใน Contemporary Southeast Asia

แต่เพื่อให้เนื้อหาครบวงจร ผมชวน ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ มาร่วมวงเสวนาด้วย

ดร.นพลเล่าว่าหนึ่งในวิธีการทดสอบคำว่า “เมือง” กับ “ชนบท” คือการใช้วัดความเป็นเมืองในแต่ละเขตเลือกตั้ง ด้วยวิธีง่ายๆ คือความหนาแน่นของประชากรเป็นตัวชี้วัด “ความเป็นเมือง”

โดยเอาพื้นที่เขตหารด้วยจำนวนประชากร และนำมาหาความสัมพันธ์กับคะแนนเสียงที่พรรคแต่ละพรรคได้รับในการเลือกตั้งแบ่งเขต

ในการหาความสัมพันธ์ระหว่างความหนาแน่นของประชากรกับสัดส่วนของคะแนนที่แต่ละพรรคได้ในแต่ละเขตเลือกตั้ง

สำหรับอดีตพรรคฝ่ายค้านคือพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทย พบว่าก้าวไกลได้คะแนนเสียงมากในเขตเมืองขณะที่พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงเยอะในเขตชนบท

ส่วนกลุ่มพรรคที่เป็นอดีตพรรครัฐบาลเช่นรวมไทยสร้างชาติได้คะแนนมากกว่าในเขตเมือง

ขณะที่พลังประชารัฐกับภูมิใจไทยได้คะแนนมากกว่าในเขตชนบท

หากโยงกลับไปทฤษฎีสองนคราฯ ที่เชื่อว่าคนชนบทอาจต้องพึ่งพิงระบบเครือข่ายท้องถิ่นหรือระบบหัวคะแนนมากกว่าคนในเมืองที่เข้าใจว่าเป็นฐานของนโยบายพรรค หรืออุดมการณ์หรือการเมืองที่มีความสุจริตมากกว่า

การที่พรรคก้าวไกลกับรวมไทยสร้างชาติได้คะแนนในเขตเมืองมากกว่าพรรคอื่นก็สะท้อนว่าทฤษฎีสองนคราฯ ก็อาจจะยังมี “ความทันสมัย” อยู่ในระดับหนึ่ง

เพราะพรรคก้าวไกลที่นำเสนอตัวเองเป็นตัวแทนแนวทาง “ก้าวหน้า ต่อต้านระบอบ คสช.” และพรรครวมไทยสร้างชาติที่มีความเด่นชัดในนโยบายอนุรักษนิยม ผูกไว้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เป็นสองพรรคที่มีจุดยืนและอุดมการณ์ที่ชัดเจน

และทั้งสองพรรคก็ทำคะแนนได้ดีในเขตเมือง

ส่วนพรรคเพื่อไทยที่มีภาพพจน์ค่อนข้างคลุมเครือ มีความไม่แน่นอนว่าจะจับมือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตามที่มีข่าวลือระหว่างหาเสียงหรือไม่

พรรคเพื่อไทยตอบคำถามนี้ไม่ชัดเจนนัก

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งปี 2562 มีความชัดเจนในนโยบายอนุรักษนิยม แต่ในการเลือกตั้งปี 2566 ก็เปลี่ยนแนวทางเป็น “ก้าวข้ามความขัดแย้ง”

พล.อ.ประวิตรพูดไว้ชัดเจนว่าทั้งอนุรักษนิยมและเสรีนิยมเป็น “กับดัก” ที่ต้องก้าวข้าม

ทำให้ภาพพจน์ของพรรคพลังประชารัฐก็ไม่ค่อยชัดเจนเช่นกันในแง่อุดมการณ์

 

สะท้อนจากผลการลงคะแนนของประชาชนว่าทฤษฎีสองนคราฯ ก็ยังใช้ในการอธิบายเรื่องความแตกต่างระหว่าง “เขตเมือง” กับ “เขตชนบท”

แม้จะเพิ่งเลือกตั้งเสร็จไม่นานมานี้ ยังไม่อาจจะสรุปได้ชัดเจนมากนัก แต่ก็พอจะสรุปได้ว่าแทนที่จะเป็นคนต่างจังหวัดเลือกรัฐบาล คนเมืองล้มรัฐบาล ก็เห็นได้ว่าคนกรุงที่เลือกพรรคก้าวไกลกับคนต่างจังหวัดที่เลือกพรรคเพื่อไทยได้มาร่วมมือกับพยายามจะตั้งรัฐบาล

แต่การสลับขั้วของพรรคเพื่อไทย ซึ่งคนที่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งนี้คงไม่ได้คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น

ที่แน่ๆ คือสภาพการเมืองไทยวันนี้ก็มีลักษณะคล้ายกับ “ไข่ดาวหลายฟอง”

ไม่ใช่ความแตกต่างระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด

แต่เป็นความแตกต่างระหว่างเขตเมืองทั้งหมดกับเขตชนบททั้งหมด

ทำให้ทุกพรรคการเมืองต้องไปคิดทบทวน เป็นการบ้านสำหรับการวางยุทธศาสตร์สำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป

โดยต้องพิจารณาว่าการเมืองแบบบ้านใหญ่ที่พึ่งพิงระบบเครือข่าย ระบบหัวคะแนน ระบบอุปถัมภ์จะยังสามารถอยู่ต่อไปได้หรือไม่

การที่พรรคการเมืองทั้งหลาย (ยกเว้นก้าวไกล) ที่มีคะแนนบัญชีรายชื่อตกต่ำก็เป็นประเด็นที่สะท้อนว่าการเมืองแบบเก่าๆ อาจจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป

เป็นสัญญาณเตือนว่าจะต้องปรับวิธีการทำการเมืองให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญยิ่ง

โดยต้องสร้างอุดมการณ์ที่ชัดเจน ต้องสร้าง “หัวคะแนนธรรมชาติ” เพื่อดึงดูดฐานเสียงในเมืองที่ขยายตัวมากขึ้นตลอดเวลา

ต้องสร้างอุดมการณ์และแบรนด์ที่ชัดเจนเพื่อดึงเอา “คนเมือง” (ที่เดิมอาจจะเป็นคนชนบท) มาเลือกพรรคตนเองให้ได้

 

“กระสุน” ยังจะมีความสำคัญไหม?

ทีมวิจัยเห็นว่าในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ในเขตเมือง “กระสุน” อย่างเดียวอาจจะไม่พอ

เพราะเขตเมืองหลายๆ แห่งแม้จะมี “บ้านใหญ่” ที่ในอดีตเคยชนะการเลือกตั้งอย่างสบายๆ แต่พอเจอ “กระแส” ของพรรคก้าวไกลก็เป็นศึกหนักพอสมควรเลยทีเดียว

แต่ความสำคัญของ “กระสุน” ก็คงไม่ได้หายไปเสียเลยทีเดียว เพราะหลายๆ พรรคที่อุดมการณ์ไม่ชัดเจนเท่าไหร่ก็ยังสามารถเอาชนะเลือกตั้งครั้งนี้มาได้หลายเขต

 

ผมถาม ดร.เอนก กว่า 30 ปีผ่านไป ทฤษฎี “สองนคราฯ” ยังมีความหมายอะไรหรือไม่?

“ตอนที่ผมคิดและเขียนเรื่องสองนคราฯ นั้น (ภาษาอังกฤษใช้หัวข้อ : A Tale of Two Democracies) ผมพูดถึงชนชั้นกลางและความเป็นเมือง (urbanization) หลายคนก็ดูเบา เพราะเขารู้สึกว่าการเมืองไทยไม่มีวันเปลี่ยน…

“พอพูดถึง Middle Class ก็มีคนไม่เชื่อเพราะเชื่อว่าคนไทยก็ยังเป็นคนจนเสียส่วนมาก แต่ตอนนั้นผมก็เริ่มสังเกตว่าเริ่มมีชนชั้นกลางเกิดขึ้น และชนชั้นกลางจะเป็นกำหนดการเมือง”

ระหว่างปี 2535-2540 คนทั่วไปก็ยังเชื่อว่าประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นชนบท แต่ ดร.เอนกเห็นว่าความเป็นตัวเมืองกำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว “เพราะผมเดินทางออกต่างจังหวัดบ่อย”

ตอนนั้น ไม่ใช่เพียงกรุงเทพฯ เป็นโตเดี่ยว แต่เมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่และนครราชสีมากับขอนแก่นก็โตมาก

เป็นที่มาของการนำเสนอทฤษฎี “สองนคราฯ” ที่กลายเป็นแนวคิดทางการเมืองที่ยังเป็นที่กล่าวขวัญถึงทุกวันนี้

“ผมไม่กลัวว่าทฤษฎีสองนคราฯ จะล้าสมัย เพราะทฤษฎที่ดีต้องดูจากความเป็นจริง แต่ความจริงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ดังนั้น ทฤษฎีนี้ก็จะแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่นกัน” ดร. เอนกเล่า

โดยเน้นว่าทฤษฎีนี้จะใช้อธิบายสถานการณ์การเมืองไทยช่วง 2530-2540 เป็นหลัก

“แต่ฟังจากสองนักวิจัย…ดร.ณพลกับคุณเมธิส…ก็เห็นว่าแนวคิดนี้ก็ยังพอจะเป็นประโยชน์อยู่”

 

ดร.เอนกย้ำว่ามีความตั้งใจที่ตั้ง “ทฤษฎีแบบไทยๆ” ให้มาก ให้เป็นหลักในการคิดเกี่ยวกับการเมืองไทย

“อย่าพยายามเอาแต่ทฤษฎีของฝรั่งมาอธิบาย…”

ปัจจัยหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือการก้าวหน้าของเทนโนโลยีที่ทำให้การวิเคราะห์แนวโน้มการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

เช่น 30 ปีก่อนยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ การสื่อสารด้านการเมืองก็ยังจำกัดอยู่กับการใช้เครื่องมือในสมัยนั้นซึ่งไม่สะดวกรวดเร็วเหมือนวันนี้

วันนี้ สื่อโซเชียลมีเดีย โทรศัพท์มือถือ และล่าสุด AI กำลังจะมีบทบาทสำคัญต่อแนวโน้มทางการเมืองของไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้

ดร.ณพลในฐานะนักวิจัยที่เกาะติดความเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยยอมรับว่า

ยังมีหลายคำถามที่ยังต้องหาคำตอบต่อไป

เช่น ทำไมเรายังเห็นความแตกต่างในตัวเมืองและชนบทในผลการเลือกตั้ง

ทำไมความเป็น “สองนคราฯ” ยังมีอยู่แม้จะไม่ใช่เรื่องระหว่างตัวเมืองกับชนบทอีกต่อไป

และต้องคำนึงถึงการเข้าถึงบริการภาครัฐและสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาชนไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำไหล, ไฟสว่าง, ทางสะดวกหรือไม่

ขณะเดียวกันโอกาสของการศึกษาก็ยังกระจุกอยู่ในตัวเมือง และอายุเของคนมีการศึกษาในตัวเมืองอาจจะต่ำกว่าในเขตนอกเมือง

ตามมาด้วยปัจจัยการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เช่น ความแตกต่างระหว่างเมืองกับนอกเมืองที่ยังมีให้เห็นอยู่

และโครงสร้างของชุมชนที่ยังเอื้อต่อ “บ้านใหญ่” ที่ทำงานได้สะดวกกว่าในบริเวณชนบท

“ชาวบ้านยังรู้สึกเข้าถึงบ้านใหญ่ได้ง่ายกว่า…เพราะไม่รู้สึกอึดอีก ไม่ต้องไปเคาะประตู…” ดร.ณพลสรุป

 

นั่นแปลว่าแม้จะผ่านมา 30 ปี คำว่า “สองนคราประชาธิปไตย” แม้จะแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและวิวัฒนาการแห่งสังคม

แต่ลึกๆ แล้วก็ยังมีความเป็น “สองนครา…”

เพราะอำนาจและความมั่งคั่งยัง “กระจุก” และความยากจนกับการด้อยโอกาสยัง “กระจาย” อยู่ดี!