ฝรั่งเศส ‘หมาป่า’ มหาอำนาจ กับ สยาม ‘ลูกแกะ’ ตัวเขื่องในโลกยุคอาณานิคม

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
The Wolf and the Lamb / Jean Baptiste OUDRY (Paris 1686 - Beauvais 1755)

เมื่อเดือน ค.ศ.1893 หรือ พ.ศ.2436 นิตยสาร Punch ได้ตีพิมพ์ภาพการ์ตูนล้อเลียนการเมืองโลกชิ้นหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นภาพที่เป็นที่รู้จักกันดี โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงการล่าอาณานิคมของโลกในครั้งกระโน้น

ภาพล้อเลียนดังกล่าว วาดเป็นรูป “หมาป่า” สวมเครื่องแบบทหารของฝรั่งเศสอย่างเต็มยศ กำลังจ้องหน้าถมึงทึงมองไปที่ “ลูกแกะน้อย” ตัวหนึ่ง ซึ่งกำลังแสดงท่าทีหวาดกลัวต่อเจ้าหมาป่าตัวนั้นอย่างจับจิตจับใจ

ในคำบรรยายใต้ภาพบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า “ลูกแกะ” ตัวนั้นหมายถึง “สยาม” ดังนั้น นี่จึงเป็นภาพล้อเลียนเหตุการณ์เรือดำปิดปากอ่าวของประเทศสยาม ร.ศ.112 ซึ่งเมื่อแปลงกลับมาเป็นปีพุทธศักราชแล้ว ก็จะต้องตรงกันกับ พ.ศ.2436 อันเป็นปีที่นิตยสาร Punch ได้ตีพิมพ์ภาพดังกล่าวออกมาอย่างพอดิบพอดี

ภาพการ์ตูนล้อเลียนที่ว่านี้ได้กลายเป็น “ภาพจำ” ของยุคล่าอาณานิคม ที่ชาติตะวันตกเป็น “หมาป่า” มหาอำนาจ ออกไล่ล่าบรรดา “ลูกแกะ” ตัวน้อยไปในสมัยหลัง ซ้ำยังถูกผลิตซ้ำอยู่เรื่อยๆ ให้เห็นกันจนชินตาเลยนะครับ

 

อย่างไรก็ตาม หากเราจะย้อนกลับไปดูรายละเอียดของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับประเทศสยามในช่วงเวลาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในครั้งนั้น คือช่วงของการปักปันเขตแดนระหว่างสยาม กับรัฐอินโดจีนในอารักขาของฝรั่งเศส ได้แก่ กัมพูชา และลาว ในพื้นที่สุดท้ายนั้น เจ้าหมาป่าตัวร้ายก็ถูกลูกแกะที่ดูจะไม่มีพิษมีภัยตัวนี้ฟาดกลับไปไม่ใช่น้อยอยู่เหมือนกัน ตัวอย่างที่สำคัญคือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2445 ตรงกับ ร.ศ.121 หลังจากเหตุการณ์เรือดำล้อมปากอ่าวเมื่อ ร.ศ.112 เป็นเวลา 9 ปี

ในเรือน พ.ศ.ดังกล่าว สยามกับฝรั่งเศส ได้จัดทำ “อนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส และรัฐบาลของพระราชาธิบดีพระมหากษัตริย์แห่งสยาม วันที่ 7 ตุลาคม ร.ศ.121 หรือ พ.ศ.2445″(Conventiom Conclue, le 7 Octobre 1902 Entre Le Gouvernement de la Répulique Française et Le Gouvernement de Sa Majesté le Roi de Siam) ขึ้นมา

แน่นอนว่า พระราชาธิบดีแห่งสยามองค์นี้ก็คือรัชกาลที่ 5

อนุสัญญาฉบับดังกล่าว สยามได้เปรียบฝรั่งเศสบานตะเกียง เพราะฝรั่งเศสยอมรับอำนาจของสยามเหนือฝั่งตะวันตกของตนเลสาบเขมร ซึ่งหมายถึงเมืองพระตะบอง-เสียมเรียบ-ศรีโสภณ รวมทั้งฝั่งตะวันตกของเมืองกำพงจามไปจนถึงแม่น้ำเสน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดกำพงธม, เทือกเขาพนมดงเร็ก, แม่น้ำมูน และแม่น้ำโขง ที่ฝรั่งเศสถึงขนาดยอมรับว่าเมืองไซยะบุรี ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับเมืองหลวงพระบาง (เวลาพูดว่าฝั่งซ้าย-ขวา ของแม่น้ำโขง ให้มองลงจากต้นน้ำมาทางทิศใต้ ไม่ใช่ทิศเหนือ) อยู่ในอำนาจสยามเลยทีเดียว

ในอนุสัญญาฉบับนี้สยามกับฝรั่งเศสยังได้ตกลงแลกเปลี่ยน จันทบุรี (ที่ฝรั่งเศสเอาไปตั้งแต่ ร.ศ.112) กับเมืองมโนไพร (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดเปรี๊ยะวิเฮียร์ หรือพระวิหารในกัมพูชา) และเมืองจำปาสัก ทางตอนใต้ของลาว กันอีกด้วย

รายละเอียดต่างๆ เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่สยามจะไม่มีอำนาจต่อรองอะไรกับเขาเลย แถมยังสามารถต่อรองเสียจนได้เปรียบชาติหมาป่ามหาอำนาจอย่างฝรั่งเศส ไปเสียบานเบอะ

ที่มาภาพประกอบ : https://en.m.wikipedia.org/wiki/File:The_French_Wolf_and_The_Siamese_Lamb.jpg

ผมคงต้องบอกด้วยว่า ผมทราบดีถึงความโหดร้ายของลัทธิล่าอาณานิคม รวมถึงเรื่องสะเทือนใจชาวไทยอย่างกรณี ร.ศ.112 และผลกระทบที่ตามมา

อย่างไรก็ตาม สยามเองก็ไม่ได้ยอมเป็นฝ่ายถูกกระทำเพียงถ่ายเดียว เพราะหลักฐานมากมายบ่งชี้ว่าพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังกรณี ร.ศ.112 ได้สร้างทุนรอนในการต่อสู้กับชาติมหาอำนาจ และการได้มาซึ่งดินแดนประเทศไทยในปัจจุบัน ที่รู้จักกันดี เช่น การเสด็จเยือนยุโรป เป็นต้น

อนุสัญญาระหว่างฝรั่งเศสกับสยาม ฉบับลงวันที่ 7 ตุลาคม ร.ศ.121 ฉบับนี้ ก็คือดอกผลของความพยายามในการสร้างทุนรอนดังกล่าว จนทำให้ฝ่ายชาติมหาอำนาจ อย่างฝรั่งเศสเสียเปรียบสยามบ้างเข้าให้

และก็เป็นเพราะฝรั่งเศสเสียเปรียบอย่างนี้แหละครับ ที่ทำให้พรรคฝ่ายค้านของฝรั่งเศสในขณะนั้น ใช้โจมตีฝ่ายรัฐบาลเสียจนยับ โดยเฉพาะ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศของฝรั่งเศสในขณะนั้น คือ นายธีโอฟิลล์ เดอกาเซ (Théophile Delcasse) ที่โดนกล่าวหาว่าไม่รักษาผลประโยชน์ของประเทศ และอันที่จริงแล้ว นายเดอกาเซถูกตั้งข้อสงสัยถึงขนาดว่าเขาเป็นเครื่องมือของรัชกาลที่ 5 เสียด้วยซ้ำ

แน่นอนว่า รัฐบาลฝรั่งเศสเลยต้องย้อนกลับไปทบทวนท่าทีของตัวเองใหม่ จนสุดท้ายก็ไม่ยอมลงสัตยาบันในอนุสัญญาฉบับที่ว่าไปอย่างน่าเสียดายสำหรับคนที่ถือหางฝั่งสยาม

การณ์จึงกลับกลายเป็นว่า สยามและฝรั่งเศสเลยต้องย้อนกลับไปเจรจาเรื่องเขตแดนกันใหม่อีกครั้ง

ผลที่ตามมาคือ “อนุสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ว่าด้วยอนุญาตที่ดินริมฝั่งขวาแม่น้ำโขง ตามความในสัญญา วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ร.ศ.122 หรือ พ.ศ. 2446/2447” (Convention entre la France et le Siam Modifiant les Stipulations du Traité du 3 Octobre 1893, concernant des Territoires et des Autres Arrangemants, signé à Paris, le 13 Février 1904) ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2447 หากนับแบบปัจจุบัน เพราะสมัยนั้น สยามยังนับวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่

และต่อเนื่องมาถึง “หนังสือสัญญาระหว่างสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามกับเปรสิเดนต์แห่งรีปับลิกฝรั่งเสศ 23 มีนาคม ร.ศ.125 พ.ศ. 2449/2550” (Traité entre Sa Majesté le Roi de Siam et Monsieur le Président de la République Français, fait à Bangkok, le 23 mars 1907) ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2450 หากนับแบบปัจจุบัน

แน่นอนว่า อนุสัญญา กับหนังสือสัญญาสองฉบับนี้ทำให้สยามได้ขวานทองดุ้นนี้มาเป็นกรรมสิทธิ์จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ เพราะพื้นที่ส่วนที่สยามของรัชกาลที่ 5 กำลังเกี้ยเซียะกับรัฐบาลของฝรั่งเศสอยู่นั้น คือพื้นที่ที่จะปักปันเขตแดนเป็นระวางสุดท้ายจนเกิดเป็นแผนที่สยามโดยสมบูรณ์นั่นเอง

 

น่าสนใจนะครับ พื้นที่ที่อยู่ในเขตของกัมพูชา ลาว และภาคอีสาน (ตอนล่าง) ของไทยปัจจุบัน (ที่มีคนขแมร์เลอ คือเขมรสูง อาศัยอยู่ให้เพียบ) กลับถูกแย่งชิงกันโดยสยาม และฝรั่งเศส โดยชาวลาว กัมพูชา และขแมร์เลอเหล่านั้นได้แต่มองตาปริบๆ

ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ลักษณะอย่างนี้ถูกจำลองเข้าไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ของประเทศไทย เพราะนอกจากสยามแล้ว ไม่มีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ของประเทศอื่นใดในอุษาคเนย์ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงอาณานิคม-หลังจากนั้นเล็กน้อย (นอกเหนือจากสิงคโปร์ ที่สร้างขึ้นภายหลัง) ที่มีห้องจัดแสดงศิลปวัตถุจากต่างประเทศ

โดยปกติแล้วประเทศที่ถูกปกครองโดยชาติเจ้าอาณานิคม มักใช้พิพิธภัณฑสถาน เป็นเครื่องมือในการสร้างชาติของตนเอง จึงมักจะจัดแสดงศิลปวัตถุที่พบในประเทศ และสร้างอดีตของความเป็นชาติขึ้นมา

ลักษณะอย่างนี้ต่างไปจากชาติเจ้าอาณานิคมที่มักจะรวบรวมเอาศิลปวัตถุชิ้นสำคัญต่างๆ ที่สะท้อนถึงความรุ่งเรืองของชาติอื่นๆ ในอดีต มาจัดแสดงในฐานะผู้พิชิตกลุ่มชนที่สืบทอดมาจากอารยธรรมเหล่านั้น

ในกรณีนี้สยามเองจึงไม่ได้กระทำตนแตกต่างไปจากชาติมหาอำนาจ หรือเจ้าอาณานิคมทั้งหลายนัก เพียงแต่เป็นชาติมหาอำนาจประจำท้องถิ่นเท่านั้นเอง

จึงไม่น่าแปลกใจอะไรเท่าไหร่นัก ที่นักวิชาการหลายคนจะบอกว่า อันที่จริงแล้วรัฐสยามก็เป็นสิ่งที่เรียกว่า “อาณานิคมภายใน” (internal colonialism) เพราะที่จริงสยามเองก็ไม่ต่างอะไรไปจากนักเลงเจ้าถิ่นของอุษาคเนย์นักหรอก

ผมจึงไม่ค่อยจะแน่ใจนักเวลาที่สยามถูกวาดภาพเป็นลูกแกะตัวน้อยๆ ที่ไร้หนทางต่อสู้

ยิ่งเมื่ออันที่จริงแล้ว นิตยสาร Punch ที่ตีพิมพ์ภาพหมาป่ากับลูกแกะนั้น เป็นนิตยสารของฝ่ายอังกฤษ ช่วงนั้นเป็นเวลาที่อังกฤษกับฝรั่งเศสแย่งชิงพื้นที่อุษาคเนย์กัน โดยมีสยามเป็นรัฐกันชนอยู่ตรงกลาง

ในกรณีอย่างนั้น ถ้าอังกฤษจะสร้างภาพให้รัฐสยามเป็นลูกแกะเชื่องๆ ตัวน้อย ของหมาป่ามหาอำนาจอย่าง ฝรั่งเศส (ทั้งที่ใจจริงก็รู้ดีอยู่เต็มอกว่า ถ้าจะเปรียบสยามในช่วงเวลานั้นให้เป็นแกะ ก็ควรจะเป็น แกะเปลี่ยวตัวเขื่อง มากกว่า) ก็ไม่เห็นจะแปลกที่ตรงไหนเลย ไม่ใช่หรือครับ?

ที่มาภาพประกอบ : https://en.m.wikipedia.org/wiki/File:The_French_Wolf_and_The_Siamese_Lamb.jpg

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ