ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เครื่องเคียงข้างจอ |
เผยแพร่ |
“ทําให้ดีที่สุด ในจุดที่ยืนก็พอ”
เป็นคำพูดสำคัญของคนเป็นแม่ ที่พูดกับลูกชายที่เป็นหมอ จากละครเรื่อง “หมอตลอดกาล” ที่ออกอากาศทางช่อง Thai PBS ตอนนี้
ฟังดูเหมือนจะเป็นคำพูดทั่วไปที่เราได้ยินอยู่บ่อยๆ แต่สำหรับละครเรื่องนี้แล้ว มันไม่ใช่คำพูดดาษๆ แต่เป็นแก่นของเรื่องราวของละครทีเดียว
ในช่วงที่ผ่านมามีละครหรือซีรีส์ไทยที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับอาชีพหมออยู่ไม่น้อย อย่างทางช่อง 3 ก็จะมี “สืบลับหมอระบาด” ที่ตัวเอกเป็นหมอและต้องสืบเรื่องของโรคระบาด ออกแนวแอ๊กชั่นสืบสวน หรือจะเป็นหมอย้อนยุคอย่าง “ทองเอก หมอยาท่าโฉลง” และ “หมอหลวง”, ทางช่อง One ก็เคยมี “รักฉุดใจนายฉุกเฉิน” หรือทาง AIS Play ก็จะมี “ทริอาช” ที่มีความเป็นละครวายมาผสมด้วย
สำหรับทางช่อง Thai PBS ได้เคยทำละครเกี่ยวกับหมอมาแล้วเมื่อปีที่แล้ว ชื่อ “The Intern หมอ/มือ/ใหม่” ที่เล่าถึงกลุ่มแพทย์ฝึกหัดกลุ่มหนึ่ง
สำหรับปีนี้ได้ทำละครเกี่ยวกับหมออีกครั้ง แต่เป็นหมอที่จบมาแล้ว ได้ประกอบวิชาชีพมาสักระยะจนก่อให้เกิดเรื่องราวชวนติดตาม ในชื่อเรื่อง “หมอตลอดกาล”
คําว่า “หมอตลอดกาล” เป็นทั้งชื่อของพระเอก และเป็นคำที่มีความหมายว่า ถ้าได้เป็นหมอ ก็จะต้องเป็นหมอไปตลอดชีวิต ซึ่งบอกถึงปมเรื่องราวของพระเอกที่ชื่อ “ตลอดกาล” นั่นเอง
โทนี่ รากแก่น รับบท “หมอตลอดกาล” เขาเป็นศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก ด้วยเหตุการณ์หนึ่งจากการรักษาทำให้นักร้องสาวที่เป็นไอดอลของแฟนเพลงต้องเสียชีวิตลง สังคมในโซเชียลรุมประณามเขา นั่นยิ่งเพิ่มความเสียใจให้กับเขามากยิ่งขึ้น จนเขาต้องขอย้ายไปเป็นหมอที่อำเภอเบตงเพื่อรักษาบาดแผลในใจ
คำพูดที่ว่า “ทำให้ดีที่สุด ในจุดที่ยืนก็พอ” นั้น เป็นของหมอเพ็ญนภา แม่ของหมอตลอดกาล ที่ให้สติกับลูกในเรื่องที่เกิดขึ้น
แม้ว่าตอนแรกที่เขาขอย้ายไปที่โรงพยาบาลทะเลหมอก อำเภอเบตงนั้น จะสร้างความแปลกใจให้กับผู้อำนวยการโรงพยาบาล เพราะที่นั่นมีห้องผ่าตัดที่แทบจะไม่ได้ใช้งานเลย ได้แต่รักษาโรคทั่วๆ ไป แต่หมอฝีมือดีอย่างเขาขอย้ายมาทำงานที่นี่
ในระยะเวลา 1 ปีที่เขาอยู่ที่นั่น กลับกลายเป็นว่าห้องผ่าตัดได้ถูกปลุกขึ้นมาใช้งานอีกครั้ง เพราะมีคนไข้อาการหนักและฉุกเฉินหลายรายที่จำเป็นต้องผ่าตัด ทำให้เขาได้ใช้ความรู้และฝีมือช่วยชีวิตคนไม่น้อย
ด้วยบรรยากาศที่สวยงาม สงบ ของเมืองเล็กๆ ในจังหวัดภาคใต้ และวิถีชีวิตที่เรียบง่าย และจริงใจของชาวบ้าน ทำให้เขาได้เรียนรู้อะไรในชีวิตเพิ่มขึ้นอีกมาก
และสิ่งที่ทำให้เขาภูมิใจคือการได้สร้างความสุขให้กับผู้คนจากการรักษาของเขา
ขณะที่เขาช่วยชีวิตคนอื่นๆ ทางนั้น แม่ของเขากลับล้มป่วยกะทันหันด้วยอาการของหัวใจโต แม้ในวันที่ต้องเข้าห้องผ่าตัดอย่างเร่งด่วน เขาก็ยังทำงานช่วยชีวิตคนเป็นครั้งสุดท้ายอยู่ที่นั่น
เมื่อกลับมากรุงเทพฯ ผลจากการผ่าตัดออกมาไม่ดี สุดท้ายเขาก็จำต้องปล่อยให้แม่สุดที่รักต้องจากไป นั่นคือความทุกข์แสนสาหัสที่เขาได้เจอ จนขอยื่นใบลาออก และ “ไม่เป็นหมอ” อีกแล้ว
เขาคร่ำครวญกับเพื่อนหมอที่สนิทว่า เขาฟังเสียงหัวใจของคนอื่นมาเยอะ แต่ไม่เคยฟังเสียงหัวใจของแม่เลย ทำไมเขาถึงไม่รู้เลยว่าแม่มีโรคเกี่ยวกับหัวใจ
ตลอดกาลเก็บตัวอยู่ในบ้านที่ทำเป็นคลินิกตั้งแต่ที่แม่ยังอยู่ แต่ตอนนี้ได้ปิดตัวลงแล้ว แม้จิตใจจะย่ำแย่แต่เมื่อมีคนไข้หลงเข้ามาพึ่งพาให้รักษา เขาก็ยังคงทำหน้าที่หมออย่างแข็งขันและเต็มใจ นั่นก็เพราะด้วยความที่ “เป็นหมอ ก็ต้องเป็นหมอตลอดไป” นั่นเอง
ในที่สุดด้วยเหตุการณ์หลายๆ อย่างที่เข้ามา ทำให้เขากลับไปทำงานเป็นหมออีกครั้ง และนั่นเป็นบททดสอบในความเป็น “หมอ” ของเขาที่รอเขาอยู่
ตัวละครที่เป็นหมอไม่ได้มีแค่เขา ยังมีกลุ่มหมอที่เป็นเพื่อนกันที่ทำงานในโรงพยาบาลอีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น “พลอยลดา” หมอนิติเวช ที่แอบรักหมอตลอดกาล, “หมอต้นน้ำ” ที่เป็นทั้งเพื่อนและคู่แข่งกับเขา, “หมอกระแต” หมอจิตเวชที่มีส่วนช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจของเขา, “หมอฝน” “หมอนิว” ที่เป็นหมอฝึกหัด รวมทั้งตัวละครหมออื่นๆ อีกหลายคน
ตัวละครเหล่านี้มีเรื่องราวของตนเอง ในขณะเดียวกันก็มาผูกสัมพันธ์กับหมอตลอดกาลได้อย่างน่าติดตาม ต้องขอชื่นชมคนเขียนบทด้วย
อีกอย่างหนึ่งที่ต้องขอชื่นชมคือการสวมบทบาท “หมอ” ของนักแสดงทั้งหลายได้อย่างน่าปรบมือดังๆ ให้
นอกจากจะพูดศัพท์แสงของหมอได้อย่างคล่องปากและเป็นธรรมชาติแล้ว
ฉากที่ต้องลงมือรักษาไม่ว่าจะแค่ตรวจอาการหรือทำแผลเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงการผ่าตัดหรือต้องช่วยชีวิตคนอย่างฉุกเฉิน พวกเขาก็สามารถทำออกมาได้ดีเหมือนเป็นหมออาชีพจริงๆ
เบื้องหลังก็คือการได้ทำ workshop กับหมอผ่าตัดตัวจริง ที่ทำการติวเข้มในทุกกระบวนการ และใส่ความเป็นหมออาชีพให้กับนักแสดงให้ได้มากที่สุด
หมอที่ช่วยสอนคนหนึ่งได้เล่าว่า “อย่างหมอตลอดกาล จากเรื่องในละคร เขาต้องเรียนหมอมา 6 ปี ใช้ทุนอีก 3 ปี เรียนแพทย์เฉพาะทางอีก 4 ปี และทำงานหมอผ่าตัดหัวใจอีก 2 ปี รวมเวลาคร่าวๆ ก็ร่วม 15 ปี เราจะต้องอัดประสบการณ์ชีวิตของการเป็นหมอตลอดกาลให้กับนักแสดง ซึ่งถือว่าหนักเอาเรื่อง”
นอกจากเรียนภาคทฤษฎีที่ขึ้นกระดานถึงการรักษาแต่ละอย่างอย่างเป็นขั้นเป็นตอนโดยละเอียดแล้ว เช่น เมื่อพบเหตุฉุกเฉินต้องทำอย่างไร, กระบวนการรักษาในแต่ละแบบทำอย่างไร นักแสดงยังต้องเข้าฝึกซ้อมในห้องผ่าตัดจริงอีกด้วย โดยได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าให้ใช้สถานที่ในการฝึกซ้อมและถ่ายทำ
ซึ่งในการหัดใช้เครื่องมือต่างๆ นี้ มีสิ่งที่ต้องทำให้ได้สองอย่างคือ ท่าทางในการเย็บ กับท่าทางในการผ่าตัด ที่ต้องทำอย่างคล่องแคล่ว ในขณะที่เครื่องมือแต่ละชิ้นก็มีขนาดเล็กด้วย โดยมีอุปกรณ์จำลองแผลและอวัยวะภายในให้ใช้ในการฝึกซ้อม
“แค่พูดให้คล่องปากก็ว่ายากแล้ว” โทนี่พูดถึงศัพท์วิชาการของหมอ “แต่ต้องพูดเร็วเวลาเข้าในฉากผ่าตัดหรือห้องฉุกเฉินเพราะต้องแข่งกับเวลา ก็ยิ่งยากขึ้นหลายเท่า”
นอกจากเรื่องศัพท์แล้ว โทนี่ได้พูดถึงความรู้สึกของการเป็นหมอในการรักษาว่า
“อย่างตอนทำ CPR หรือการนวดหัวใจในการกู้ชีพ ตอนนั้นคนเป็นหมอจะไม่ได้คิดว่าคนไข้ต้องรอดนะ แต่จะคิดถึงว่าเกิดอะไรขึ้น กระบวนการรักษาต้องทำยังไงมากกว่า หรืออย่างตอนผ่าตัด จริงๆ แล้วหมอจะไม่ได้ตื่นเต้นเพราะเขาต้องมั่นใจในฝีมือของตนเอง”
ส่วน ณัฏฐ์ ทิวไผ่งาม ที่รับบท “หมอต้นน้ำ” ได้บอกว่า
“การแสดงไม่มีถูกมีผิด แต่การเป็นหมอที่ต้องมีกระบวนการในการรักษาคนมันมีถูกมีผิด ฉะนั้น เมื่อมาเล่นเป็นหมอ เหมือนเราต้องแบกมันเอาไว้ เพราะไม่อยากถ่ายทอดผิดๆ ออกไป”
ในละครนอกจากจะเล่าเรื่องราวของตัวละครแล้ว ยังได้สอดแทรกความเป็นจริงในสังคมที่เกี่ยวกับระบบสาธารณสุข และความคิด ความเชื่อ ตลอดจนพฤติกรรมของคนไข้ไว้ด้วย
เช่น คนป่วยที่มีบัตรทองก็จะไปใช้บริการจากโรงพยาบาลรัฐ หรือคนที่มีฐานะหน่อย มีประกันพร้อม ก็จะไปเข้าโรงพยาบาลเอกชน
แต่ก็มีคนป่วยบัตรทองที่ยอมมาหาหมอคลินิก แม้จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าไปโรงพยาบาล ก็ด้วยเหตุผลของการไม่มีเวลา ต้องทำมาหากินเลี้ยงปากท้อง
หรือคนไข้ที่นำข้อมูลมาปรึกษาแพทย์โดยอ่านมาจาก google ซึ่งไม่น่าเชื่อถือได้ทั้งหมด หรือคนไข้ที่สงสัยในคุณภาพยา, คนไข้ที่เรียกร้องการรักษาที่ไม่จำเป็น
ในขณะเดียวกันเราก็ได้เห็นความหนักหนาและความรับผิดชอบในฐานะ “หมอ” ได้อย่างดีว่าต้องเจอและแบกรับกับอะไรบ้าง เหล่านี้สะท้อนมาจากปากคำของตัวละคร เช่น ครั้งหนึ่งที่หมอตลอดกาลดุหมอฝึกหัดที่ทำงานผิดพลาดว่า
“คนไข้อาจจะตายด้วยโรคที่รักษาไม่ได้ หรืออาจจะตายเพราะเหตุสุดวิสัย แต่คนไข้ไม่ควรตายเพราะความชุ่ยของหมอ”
หมอพลอยลดา ที่เป็นหมอด้านนิติเวช ซึ่งได้รับฉายาจากเพื่อนตอนเรียนว่า “ลัดดาแลนด์” อันเกิดจากตอนที่ฝึกผ่าร่างอาจารย์ใหญ่ตอนปีสอง พลอยจะผ่าด้วยหน้าที่นิ่งมากๆ จนเพื่อนพากันหลอน
ตัวละครหมอพลอยได้บอกว่า ที่ตนเลือกมาเป็นหมอนิติเวชนั่นก็ด้วยเหตุผลสองอย่าง คือ หนึ่ง เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้ตาย และสอง เพื่อรักษาสภาพจิตใจของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะในกรณีที่สันนิษฐานว่าเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย
หรือตัวละครหมอกระแต ที่เป็นหมอจิตเวช ได้คุยกับตลอดกาลเพื่อช่วยเยียวยาจิตใจของเขาว่า
“ในชีวิตคนเรามีทั้งสิ่งที่ชอบและก็ไม่ชอบ ทางออกคือเราก็ไปโฟกัสกับสิ่งที่เราชอบซะ แล้วก็หาความสุขจากมัน”
นอกจากบทละครดีๆ การแสดงที่ดีเป็นธรรมชาติของนักแสดงทั้งหลายแล้ว ต้องขอชื่นชมงานด้านโปรดักชั่นที่ถ่ายทำออกมาได้สวย มีมุมภาพแปลกตา รวมทั้งการตัดต่อและใส่ดนตรีประกอบในฉากการรักษาต่างๆ ได้อย่างน่าลุ้นน่าติดตาม แม้จะไม่ดีถึงขั้นซีรีส์หมอของเกาหลีที่เชื่อว่ามีทุนรอนในการสร้างสูงกว่ามาก แต่ก็ยังคงมีคุณภาพที่น่าพอใจ
โดยส่วนตัวชื่นชอบในพาร์ตที่หมอตลอดกาลไปใช้ชีวิตหมอที่เบตง ละครนำภาพและบรรยากาศสวยๆ ของที่นั่นออกมาให้เราได้ชมกัน รวมทั้งการใส่ดนตรีประกอบแนวใต้ก็ช่วยเสริมอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างมีอรรถรส ทั้งหมดของผลงานละครเรื่องนี้สร้างโดย บ.ทีวี ธันเดอร์ ผ่านการกำกับฯ ของ พงศธร ทองเจริญ ที่มีผลงานซีรีส์ดีๆ มาแล้วหลายเรื่อง
ขอปิดท้ายด้วยประโยคของหมอต้นน้ำ ที่พูดถึงอาชีพของการเป็นหมอผ่าตัดให้กับหมอรุ่นใหม่ได้ฟังว่า
“การผ่าตัดก็เป็นศิลปะแขนงหนึ่ง หมอก็คือศิลปิน ศิลปินไม่ได้ใช้แค่ความรู้และประสบการณ์เท่านั้น แต่จะต้องมีหัวใจด้วย ถ้าเป็นศิลปินที่ไม่มีหัวใจ ไม่มีความรัก ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ก็ไม่สามารถสร้างผลงานให้ออกมาดีได้ นั่นก็คือ ศิลปะของการรักษาชีวิตนั่นเอง”
ติดตามชมได้ในวันศุกร์-อาทิตย์ เวลา 20.30 น. ทางช่อง Thai PBS นะครับ มาดูกันว่าพวกเขาและเธอจะเป็นหมอ แล้วต้องเป็นหมอตลอดไปได้จริงไหม? เพราะอะไร?
ขอเชียร์ครับผม •
เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022