สุจิตต์ วงษ์เทศ : ชนชาติไทย เชื้อชาติไทย ไม่มีจริงในประวัติศาสตร์ไทย

ไทยแลนด์ 4.0 จะทำสำเร็จได้ต้องมีพร้อมด้วยมหาวิทยาลัย 4.0 

มหาวิทยาลัยจะไปให้ถึง 4.0 ก็ต้องมีกระบวนการเรียนการสอน เชื่อมโยงความรู้ก้าวหน้าในโลก โดยไม่ตกหลุมดำอำมหิตย้อนยุคอาณานิคมเกี่ยวกับแนวคิดชนชาติ, เชื้อชาติ

 

หลุมดำ ยุคอาณานิคม

ชนชาติไทย, เชื้อชาติไทย ไม่เคยพบหลักฐานวิชาการว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ของจีน

และไม่เคยพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ว่ามีชนชาติไทย, เชื้อชาติไทย ในยุคต่างๆ ได้แก่ กรุงสุโขทัย, กรุงศรีอยุธยา, กรุงธนบุรี รวมถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นๆ

ทั้งนี้ เพราะชนชาติไทย, เชื้อชาติไทย เป็นสิ่งประดิษฐ์คิดสร้างใหม่ของคนชั้นนำไทยสยาม ราว 100 ปีที่แล้ว (หรือหลัง พ.ศ. 2400) โดยรับแนวคิดเพิ่งสร้างจากฝรั่งยุโรปเจ้าอาณานิคมเรื่องชนชาติ, เชื้อชาติ

[ไทยไม่เป็นเมืองขึ้นตามนิตินัย แต่ทางพฤตินัยเป็นอาณานิคมอย่างไม่เป็นทางการของตะวันตก]

ชนชาติ, เชื้อชาติ เป็นแนวคิดสร้างใหม่ของฝรั่งเจ้าอาณานิคม ถ้าอยากรู้ลึกลงไปอีกก็ยังมีคำนิยามอีกมากอย่างละเอียดอยู่ในหนังสืออย่างน้อย 2 เล่ม ได้แก่ (1) ความไม่ไทยของคนไทย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2559 และ (2) ชุมชนจินตกรรม โดย เบน แอนเดอร์สัน (บรรณาธิการแปลเป็นภาษาไทย โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ) โครงการตำราฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2552

 

อุดมศึกษาโลกยุคใหม่

“มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเป็นแหล่งการเรียนรู้ตามทิศทางอุดมศึกษาโลกยุคใหม่…มีกระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงภาพใหญ่ของโลก…มีความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจอันแรงกล้าในการสร้างการเปลี่ยนแปลงชุมชน สังคม และโลก”

นพ. อุดม คชินทร รมช.ศึกษา (ศธ.) กล่าวที่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) เมื่อวันพฤหัส 4 มกราคม 2561 (มติชน ฉบับวันศุกร์ 5 มกราคม 2561 หน้า 8)

รมช. ศธ. บอกอีกว่า “รัฐบาลนี้มีเป้าหมายชัดเจนคือ พัฒนาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0….มหาวิทยาลัยจะต้องเป็น มหาวิทยาลัย 4.0 ด้วย”

มหาวิทยาลัย 4.0 ต้องเลิกงมงายเรื่องชนชาติไทย, เชื้อชาติไทย แล้วปรับกระบวนการเรียนรู้ใหม่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์โบราณคดี และความเป็นมาของความเป็นไทยตามพะยานหลักฐานจริง ซึ่งไม่มีชนชาติเชื้อชาติ แต่มีวัฒนธรรม