Power/knowledge : อำนาจ/ความรู้ : กับอนาคตอันพร่ามัวของการวิจัยในไทย (1) | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

อาทิตย์ที่แล้วผมมีโอกาสไปร่วมการเสวนาในหัวเรื่องว่าด้วยการวิจัยในไทย ถึง 2 แห่งคือ 101 Public Policy Think Tank ที่นำเสนอชุดเสวนาเรื่อง ‘ตั้งโจทย์+ตอบอนาคต ประเทศไทยในบริบทโลกใหม่’

โดยครั้งล่าสุดนี้เสวนาในหัวข้อว่า ‘เทคโนโลยีใหม่ ประเทศไทยเปลี่ยน?’ กับที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรซึ่งวางโครงการว่าด้วย “วาระการวิจัยสังคมศาสตร์ และเครือข่ายนักวิจัยสังคมศาสตร์ของประเทศไทย ครั้งที่ 1 : ภูมิทัศน์สังคมศาสตร์ไทย สถานะ คุณค่า และทิศทางการพัฒนา”

เป็นครั้งแรกในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ที่เสียงครวญและวิพากษ์เริ่มดังออกมามากขึ้นจากนักวิจัยสังคมและมนุษยศาสตร์ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางความรู้และการพัฒนาใหญ่ของเทคโนโลยีในการผลิต

แต่ทั้งหมดแทบดำเนินไปภายใต้กรอบและความคิดชี้นำของวิทยาศาสตร์และการแพทย์แต่ถ่ายเดียว โดยทิ้งสังคมและมนุษยศาสตร์ไว้เบื้องหลังอย่างมองไม่เห็น

ข้อสังเกตประการแรกต่อการเสวนาทั้งสองนี้คือ เป็นเวทีสาธารณะที่นำเอานักวิจัยสายสังคมและมนุษยศาสตร์และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เป็น SME มาร่วมการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อเสนอที่มีต่อสถานะของการวิจัยในประเทศเป็นครั้งแรกในหลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่ใช่การแถลงและชี้แจงของผู้บริหารสถาบันวิจัยและเจ้าหน้าที่รัฐต่ออนาคตอันสดใสของการวิจัย นวัตกรรมและวิทยาศาสตร์ (ววน.)

ไม่น่าแปลกใจที่ความคิดเห็นที่ปรากฏออกมาเป็นการวิจารณ์และวิพากษ์ทิศทางและนโยบายการวิจัยระดับชาติภายใต้การนำและสนับสนุนโดยรัฐผ่านองค์กรมหาชนที่ทำหน้าที่กำกับ ตรวจสอบและพิจารณาให้ทุนวิจัยต่อไป

หมอบรัดเลย์หน้าสำนักงานมติชน

การวิจัยในทางทฤษฎีหมายถึงกระบวนการไปสู่ความจริงหรือสัจธรรม ด้วยการอาศัยการศึกษาค้นคว้า สังเกต เปรียบเทียบและทดลอง การวิจัยอาจจัดกลุ่มให้อยู่ในประเภทแตกต่างกัน เพื่อความเข้าใจในมโนทัศน์หรือทฤษฎีนั้นๆ ให้ดีขึ้น โดยทั่วไปมักแบ่งงานวิจัยออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ ระหว่างวิทยาศาสตร์กับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

ก่อนรู้จักการวิจัยนักเรียนไทยถูกสอนให้รับการแบ่งความรู้ดังกล่าวผ่านการเลือกเรียนต่อในสายวิทย์หรือศิลป์ ซึ่งมีความเชื่อถึงคุณค่าความเหนือกว่ากำกับอยู่ด้วยก่อนแล้ว

การพูดถึง “ความรู้” จึงไม่อาจเข้าใจได้หากไม่พิจารณาอีกด้านของมันว่าคือ “อำนาจ” ดังที่นักปรัชญาชื่อดัง มิเชล ฟูโกต์ อรรถาธิบายว่ามโนทัศน์ความรู้มีสองด้านในเวลาเดียวกัน ไม่อาจแยกออกจากกันได้คือ “อำนาจ/ความรู้”

อำนาจทำหน้าที่กำกับและสร้างความจริงให้คนทั้งหลายยอมรับว่าถูกต้อง จากนั้นจึงนำไปสู่การสร้างและสอนความรู้นั้นๆ ได้อย่างไม่มีปัญหาและปราศจากการวิพากษ์วิจารณ์ ลักษณะเด่นของความรู้ในสังคมไทยจึงได้แก่การทำให้เชื่อง ไม่ใช่การทำให้คิดวิพากษ์ แต่อำนาจในสังคมสมัยใหม่ไม่ได้มีเพียงด้านเดียวคือจากบนลงล่าง หากแต่มันยังมีด้านข้างและจากล่างขึ้นบนได้ด้วยเช่นกัน

พัฒนาการล่าสุดของการสร้างความรู้ภายใต้นโยบายและยุทธศาสตร์ 20 ปีมรดกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลประยุทธ์แปดปี ได้สร้างโครงสร้างการวิจัยของชาติที่เป็นแบบ “Top Down” หรือจากบนลงล่าง ภายใต้การกำกับชี้นำของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เน้นการวิจัยเชิงปฏิฐานนิยม (Positivism)

คือการค้นคว้าบนฐานความรู้เชิงประจักษ์ที่จับต้องได้ ยึดหลักเหตุผลสากล รวมถึงการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่มีดัชนี Scopus รองรับ

กรอบวิจัยและวิธีวิทยาดังกล่าวนี้จึงเหมาะสมกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ แต่ไม่เหมาะสมกับการวิจัยทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่ปัจจัยทางอัตวิสัย ลักษณะพื้นที่และประวัติศาสตร์ที่ไม่ร่วมกับสากลนิยม ไปถึงอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ใช่เหตุผลทางสากลยังคงมีอิทธิพลต่อความจริงในสังคมได้

ที่หนักกว่านั้นคือการเน้นและถือเป็นเงื่อนไขในการได้รับทุนหรือไม่ คือผลการวิจัยนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มหรือดัชนีชี้วัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้หรือไม่ นี่คือการกำหนดให้ลักษณะงานวิจัยต้องเป็นไปเพื่อการประยุกต์ใช้ ไม่ใช่วิจัยเพื่อความรู้เท่านั้น

ความไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดระหว่างความรู้สองสายใหญ่นี้ ในระยะยาวคือการทำให้ความรู้ไทยไม่อาจเสนอความรู้ใหม่ในสังคมไทยได้ ไม่อาจนำเสนอทางออกหรือการแก้ไขปัญหาและวิกฤตในประเทศ

ยิ่งไม่ต้องพูดถึงวิกฤตระดับโลกหรือภูมิภาคที่เราก็ไม่มีสมรรถภาพในการเข้าไปจัดการแก้ไขอะไรได้อย่างเป็นกิจลักษณะ เพราะขาดความรู้ที่มั่นคงยั่งยืนและเป็นระบบของตนเอง

SAC Report ภูมิทัศน์สังคมศาสตร์ไทย ศมส.

ก่อนมองหาทางออกต่ออนาคตการวิจัยไทย ผมเสนอให้กลับไปมองความเป็นมาของปมเงื่อนเรื่องการสร้างความรู้ในสังคมและรัฐไทยเสียก่อน

ปัญหาเรื่องการวิจัยเป็นปัญหาสำคัญมาตลอดนับแต่กรุงสยามเริ่มรับเอาความเจริญแบบตะวันตกที่เรียกว่าสมัยใหม่เข้ามาเป็นจุดหมายและแนวนโยบายในการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่แทนที่รัฐราชาธิราชที่กำลังหมดบทบาทและฐานะในทางสากลลงไป นับแต่ยุคแรกที่ตัวแทนความเจริญแบบฝรั่งเข้ามายังกรุงสยามในระยะต้นศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงเวลาที่ทุนอุตสาหกรรมตะวันตกกำลังเข้ายึดกุมอำนาจรัฐยุโรป ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3

หมอบรัดเลย์และบรรดามิชชั่นนารีเดินทางมายังกรุงสยาม (เดิมจุดหมายจะไปเมืองจีนแต่เข้าไม่ได้จึงแวะมาที่สยาม) เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางสังคมศาสตร์ รวมทั้งสอนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้แก่ชนชั้นนำไทย เช่น วิชาไฟฟ้า ดวงดาว ลูกโลก ธรรมชาติวิทยา ไปถึงกายวิภาคและอนามัย ทั้งแต่งตำราดาราศาสตร์ให้ชนชั้นสูงอ่านอีกด้วย

หมอบรัดเลย์ถึงกับเสนอรัชกาลที่ 4 ให้ตั้ง “สกูลแลยูนิเวอซิติ” แลจ้างครูอาจารย์สำหรับไว้สั่งสอนศิลปศาสตร์วิชาการแลภาษาต่างๆ เป็นอันมาก

“ก็ฝ่ายประเทศเบื้องตะวันออกนี้ มิได้มีดุจเขาเช่นเหล่านั้น เด็กจึ่งไม่อาจสามารถเพื่อจะรู้ได้ เหตุฉะนี้เขาทั้งหลายจึ่งยินดีไปด้วยการเล่นต่างๆ หาสู้แสวงหาวิชาความรู้ไม่ดั่งนี้”

แต่มหาวิทยาลัยไทยก็ไม่ได้ตั้งจนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ในปีที่รัสเซียเกิดปฏิวัติบอลเชวิกในรัชกาลที่ 6 (2460) เพราะชนชั้นนำเห็นว่าความมั่นคงของรัฐบาลสำคัญกว่าการสร้างความรู้ ก่อนนี้รัชกาลที่ 5 ทรงตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารบกเรียกว่า “คะเด็ตสกูล” (2430) ก่อนโรงเรียนพลเรือน

กล่าวได้ว่าการสร้างความรู้ในสยามเป็นเรื่องของการเมือง (อำนาจ) นับแต่แรกถึงปัจจุบัน ไม่มีความรู้ที่เป็นภววิสัยหรือวิทยาศาสตร์แท้จริงพัฒนาในระเบียบสังคมไทยได้ เพราะมันอยู่ภายใต้กำกับชี้นำโดยอำนาจ (อัตวิสัย) ตลอดเวลา

นี่เองที่คุณภาพนักวิทยาศาสตร์ไทยในระดับสากลโลกจึงหายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร

 

ข้อที่ผมสังเกตเห็นหลังจากศึกษาประวัติความคิดไทยระยะหนึ่งแล้ว คือการที่ความรู้แบบไทยนั้นเรียนและลอกมาจากตะวันตกเป็นหลัก แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือชนชั้นนำไทยสามารถทำให้ความรู้สมัยใหม่ตกอยู่ใต้อำนาจและการบงการของรัฐไทยได้อย่างสมบูรณ์ กลายเป็นไทยไปทั้งทางความคิดและอุดมการณ์

ทำได้อย่างไร คำตอบคือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของบรรดาชนชั้นนำจารีตจากพระมหากษัตริย์ลงมาถึงขุนนางและคหบดีมีทรัพย์ แทนที่จะทะเลาะขัดแย้งกันเหมือนดังในประเทศเพื่อนบ้านสมัยอาณานิคม กลับพร้อมใจกันรณรงค์เคลื่อนไหวล้อมรอบสถาบันพระมหากษัตริย์

ปัจจัยที่ช่วยทำให้ความรู้สมัยใหม่ไม่อาจแสดงอำนาจผ่านเหตุผลทางโลกในสังคมไทยได้เต็มที่ ก็มาจากการสร้างคติชาตินิยมและอุดมการณ์ความเป็นชาติไทยที่เป็นเอกราชและเท่าเทียมกับมหาอำนาจตะวันตกขึ้นมาผ่านกลวิธีที่แยบยลยิ่งคือคือการถ่ายทอดและเล่าเรียนวิชาใหม่ๆ นั้นกระทำในภาษาไทย ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ

การถ่ายทอดและสอนความรู้สมัยใหม่เหล่านั้น ในประเทศญี่ปุ่นกระทำไปในภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศสเยอรมัน ปัญญาชนญี่ปุ่นสมัยปฏิรูปเมจิ (ร่วมสมัยกับสยามไทย) จึงมีความรู้และยึดกุมทฤษฎีตะวันตกได้ก่อนจะประยุกต์ใช้ในประเทศ

แต่ที่ผมว่าน่าคิดและน่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ บรรดาวิชาการสมัยใหม่ทางสังคมและมนุษยศาสตร์รวมวิทยาศาสตร์ทั้งหลายนั้น ไม่ใช่เรื่องทางศาสนา

ดังนั้น การสอนและถ่ายทอดในภาษาต้นฉบับคืออังกฤษนั้นน่าจะทำได้ดีกว่าและตรงตามเนื้อหามากกว่า

การแปลเป็นภาษาไทยซึ่งไม่มีศัพท์สมัยใหม่มากพอจะรองรับการถ่ายทอดความรู้เหล่านั้นได้อย่างเต็มที่ อีกอย่างหนึ่งชนชั้นนำสยามขณะนั้นก็ได้เล่าเรียนและหัดพูดอังกฤษกันดีมาก เชื่อว่าหากหมอหัสกันหรือหมอบรัดเลย์จะบรรยายอธิบายเป็นภาษาอังกฤษ ท่านเหล่านั้นก็จะเข้าใจและอ่านตำราอังกฤษกันได้สบายดีกว่านักศึกษาสมัยโลกาภิวัตน์อย่างแน่นอน

 

ปมเงื่อนของปัญหานี้ผมว่าอยู่ที่อำนาจและความเป็นเจ้า (hegemony) ใครเป็นเจ้าใคร หากชนชั้นนำไทยต้องเรียนความรู้สมัยใหม่ในภาษาอังกฤษ โอกาสที่จะควบคุมและกำกับเนื้อหาของวิชาความรู้เหล่านั้นก็จะลดน้อยถอยลงไป หนักๆ เข้าก็จะเถียงและโต้แย้งไม่ได้ ดังเห็นได้ว่าวิวาทะในเรื่องศาสนาพุทธกับคริสต์นั้น กระทำไปในภาษาไทย ชัยชนะจึงตกอยู่กับฝ่ายผู้นำไทยไม่ยากนัก

ดังคำวิจารณ์ตอบกลับของรัชกาลที่ 4 ต่อความพยายามของหมอบรัดเลย์ในการสอนศาสนาคริสเตียนให้แก่พระองค์

“…คริสต์ศาสนาเป็นเพียงแต่การงมงายเชื่อลัทธิโบราณของพวกยิว ผู้ใกล้จะเป็นมิลักขะ แต่ว่าได้มีผู้นำเข้าไปแพร่หลายในยุโรปก่อน แสงสว่างแห่งความรู้อันไม่มีข้อสงสัยคือวิทยาศาสตร์อันมหัศจรรย์ได้เกิดขึ้นในยุโรป ดังนั้น คริสต์ศาสนาจึงเป็นลัทธิที่นับถือของชาวยุโรปมาจนทุกวันนี้ เราติดต่อกับมิตรชาวอังกฤษแลอเมริกันนั้นก็เพื่อความรู้ในทางวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ หาใช่ติดต่อเพราะชื่นชมแลอัศจรรย์ใจในศาสนาสามานย์นั้นไม่…”

หมอบรัดเลย์และคณะมิชชั่นนารีอเมริกันจึงต้องเรียนรู้ภาษาไทยในการดำเนินกิจการของพวกเขาในสังคมไทย มีฐานะเป็นรอง ทำได้แค่เป็นผู้ทำดิกชันนารีพจนานุกรมอังกฤษไทยและออกหนังสือพิมพ์ นี่คือลักษณะประหลาดของการรับความเป็นสมัยใหม่แบบไทย ที่ไม่ต้องการรับแก่นเนื้อหาและทฤษฎีตะวันตกทั้งหมด หากพอใจเพียงแค่การนำเอามาประยุกต์ใช้ในสังคมไทยได้โดยชนชั้นนำเท่านั้น และนี่คือมรดกของแนวคิดการวิจัยไทยมาแต่กำเนิด

(ยังมีต่อ)