พลิกบทบาท ‘ครูไทย’ สู่ ‘ครูยุคดิจิทัล’ ที่ไม่ใช่แค่สอนหนังสือ…อีกต่อไป!!

วันที่ 16 มกราคม 2567 ซึ่งตรงกับ “วันครู”

ปีนี้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาได้จัดพิธีงานวันครู ครั้งที่ 68 ภายใต้แนวคิด “ครูดีสอนดี ศิษย์ดีเรียนดี มีความสุข” โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) มาเป็นประธาน แทนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่เดินทางไปร่วมประชุม World Economic Forum ประจําปี 2567 ที่นครซูริก สมาพันธรัฐสวิส

อย่างไรก็ตาม นายเศรษฐาได้ส่งสารถึงครูทั่วประเทศ ใจความว่า ปี 2547 ได้มอบคำขวัญว่า “ครูวางฐานคิด ส่งเสริมศิษย์ สร้างสรรค์” เพื่อแสดงให้เห็นว่าการเป็นครู ไม่ใช่แค่การสอนหนังสือ ไม่ใช่แค่การให้ความรู้ตามตำรา แต่สิ่งที่ครูที่ดีควรให้กับนักเรียน คือวิธีคิด และวิธีการจัดการกับชุดข้อมูลที่มีอยู่อย่างหลากหลาย

ใครก็ตามที่มีระเบียบวิธีคิดที่ดี จะเติบโตขึ้นเป็นคนที่มีความสามารถในการแสวงหาความรู้ได้ด้วยตัวเองอย่างมีคุณภาพ และครูยังต้องเป็นผู้สามารถสร้างแรงบันดาลใจ ต่อยอดความสร้างสรรค์ ปลดปล่อยศักยภาพ เปิดโอกาสให้นักเรียนแสวงหาทักษะ ตอบสนองต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับการเคารพคุณค่าความเป็นมนุษย์ จริยธรรม ศีลธรรมในโลกสากล รวมถึง การเป็นคนที่เต็มไปด้วยความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น

ทั้งหมดนี้คือ “หัวใจ” ของการพัฒนามนุษย์ เป็นงานของ “ครู” และคือหัวใจของคำว่า “การศึกษา”!!

 

รองนายกฯ อนุทิน กล่าวในงานเดียวกันว่า งานวันครู เป็นโอกาสให้รำลึกถึงพระคุณครู ความสำคัญของอาชีพครู และทบทวนถึงความท้าทายที่สำคัญของการเป็นครูในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เราจะยืนอยู่ตรงไหน ในวันที่เด็กคิดว่าข้อมูลความรู้ที่น่าสนใจอยู่บนโลกออนไลน์ ไม่ได้อยู่ในห้องเรียน จนรู้สึกว่าไม่ต้องฟังครูก็ได้

โลกยุคใหม่ มีสิ่งเร้ามากมาย ถ้าสร้างเด็กให้มีภูมิคุ้มกัน มีฐานคิดที่แข็งแรงในโลกที่มีอันตรายมากกว่าเดิม คือบทบาทของครูในโลกยุคปัจจุบัน ครูต้องวางรากฐานทางความคิด ให้แรงบันดาลใจ และให้วิธีการที่ลูกศิษย์จะต่อยอดได้

ดังนั้น การเป็นครูที่น่าศรัทธา จึงต้องสร้าง และไม่มีวันล้าสมัย เราต้องสร้างศรัทธาเพื่อวางฐานคิดให้ศิษย์ได้

นอกจากนี้ ต้องเป็นครูที่ไม่ตกยุค พร้อมเป็นผู้ฟัง ไม่ปฏิเสธแนวคิดใหม่ๆ คือครูที่ไม่กลัวความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมต่างๆ ได้ รู้เท่าทันความเป็นไปในโลก แต่ไม่ใช่ไหลตามกระแส และต้องรักษาสมดุลให้ได้…

 

ด้าน “ครูอุ้ม” พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก็ได้กล่าวถึงการเป็นครูในยุคการศึกษาดิจิทัล ว่าไม่ใช่แค่ทำหน้าที่สอนเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องเพิ่มความสามารถของตัวเอง ในการสร้างเนื้อหาการเรียนการสอนในสื่อต่างๆ มากขึ้น เพื่อเป็นช่องทางช่วยเหลือให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจ แก้ปัญหา และมีความสุขกับการเรียนด้วย

ดังนั้น บทบาทการเป็นครู จึงต้องสร้างแหล่งข้อมูลสารสนเทศให้มากขึ้น ผ่านเทคโนโลยี เว็บไซต์ และสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อประโยชน์ต่อผู้เรียนได้เข้าใจ และทบทวน

เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ แก้ปัญหา สำหรับการสร้างอนาคตของผู้เรียนต่อไป!!

ขณะที่ประธานรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา พูดถึง “ครู” ในการเปิดการประชุมเวที “99 ขุนพลปฏิวัติการศึกษาไทย” จัดโดยสมาพันธ์ครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) ร่วมกับคณะกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร ว่า ครูเป็นอาชีพชั้นสูง เพราะเป็นอาชีพที่ช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้บ้านเมือง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญ ครูเป็นคนเจียระไน เป็นวิศกรที่สร้างเด็ก

ทั้งนี้ ขอนำพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้

“ครูที่แท้จริงนั้น ต้องเป็นผู้ทำแต่ความดี คือตั้งมั่น ขยัน และอุตสาหะพากเพียร ต้องเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ และเสียสละ ต้องหนักแน่น อดทน และอดกลั้น สำรวม ระวังความประพฤติปฏิบัติของตน ให้อยู่ในระเบียบแบบแผนที่ดีงาม รวมทั้ง ต้องซื่อสัตย์ รักษาความจริงใจ วางใจเป็นกลาง ไม่ปล่อยไปตามอำนาจอคติ”

ฉะนั้น เด็กที่ต้องการปฏิรูปต่อไปนั้น ต้องเป็นคนที่ดี มีความรู้ และมีคุณธรรม อย่างไรก็ตาม ในสังคมยุคใหม่ จะพูดถึงคุณธรรม และความรู้ ที่อยู่ในตำราอย่างเดียวไม่พอ เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ มากมาย ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่การศึกษาไทยต้องมีเทคโนโลยี ให้เด็กสามารถเรียนออนไลน์ อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ ต้องให้เด็กเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ แม้เรากลัวเด็กจะเล่นเกม แต่เกมต่างๆ ก็มีประโยชน์ ฉะนั้น ครูต้องพัฒนาในเรื่องการใช้เทคโนโลยีด้วย

ครูไม่ควรจะทำแทนเด็ก บอกเด็กให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ครูควรเป็นผู้แนะนำ ลงมือปฏิบัติ เรียนรู้ด้วยตนเอง เราควรจะให้ครู และโรงเรียน เป็นผู้ให้การบริการตามความต้องการ ความสมัครใจของนักเรียน เราจะไม่ควรประเมินเด็กที่ผลการเรียนต่ำ ว่าเด็กไม่ฉลาด เด็กโง่ ต้องทำตามที่ครูแนะนำอย่างเดียว

และในโอกาสที่วันครูปีนี้ ขอให้เป็นวันแห่งการปลดปล่อย เป็นวันอิสรภาพ เกิดการเรียนรู้ ขอให้ครูทุกท่านเป็นผู้นำแห่งจิตวิญาณ สร้างปัญญา สร้างความรู้ มีสติปัญญาพัฒนาการศึกษาให้มั่นคงแข็งแรงต่อไป!!

 

หลังจากฟังสิ่งที่ฝ่ายนโยบายคาดหวังจากครูในยุคดิจิทัลแล้ว คราวนี้ลองมาฟัง “ข้อเสนอ” ที่ ส.ค.ท.และองค์กรเครือข่าย 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย สหพันธ์ครูภาคเหนือ 16 จังหวัด ชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ชมรมครูภาคกลาง 27 จังหวัด และสมาพันธ์ครูภาคใต้ 14 จังหวัด ในฐานะองค์กรพัฒนาวิชาชีพครูและสังคม เสนอต่อนายกฯ มีดังนี้

1. การทวงคืนสภาครู โดยขอให้รัฐบาลยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 7/2558 ลงวันที่ 16 เมษายน 2558 เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภา สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของ สกสค.และคำสั่ง 17/2560 เรื่องแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 7/2558 โดยด่วน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ครูไทยทั่วประเทศ โดยนำ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 กลับมาใช้เป็นปกติ ซึ่งจะมีสัดส่วนของผู้แทนครูองค์กรต่างๆ เข้ามาเป็นกรรมการ

2. ให้รัฐบาลยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. ฉบับใหม่ แทนฉบับเดิมที่รัฐบาลชุดก่อนเคยเสนอรัฐสภา โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างเข้มข้น

และ 3. การปฏิวัติการศึกษาไทย ด้านคุณภาพผู้เรียน ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เสมอภาค เท่าเทียม ทั่วถึง มีทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต และทักษะของพลโลก ด้านสถานศึกษา กระจายอำนาจให้สถานศึกษาโดยยกฐานะให้เป็นนิติบุคคลอย่างสมบูรณ์แบบ ด้านกฎหมาย ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทุกฉบับ ปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่ฉุดรั้งการพัฒนาผู้เรียน ด้านโครงสร้าง ลดจำนวนหน่วยงานที่อยู่เหนือสถานศึกษาให้เหลือน้อยที่สุด ด้านวิชาชีพครู ดำรงไว้ซึ่งวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง มีสภาวิชาชีพ มีมาตรฐาน จรรยาบรรณวิชาชีพชั้นสูง ด้านงบประมาณ จัดสรรงบฯ ให้กับทุกโรงเรียนอย่างเพียงพอ เป็นธรรม และทั่วถึง จัดสรรงบฯ พัฒนาครูฯ ให้มีทักษะการสอนในศตวรรษที่ 21 และด้านอื่นๆ

ต้องติดตามว่ารัฐบาล และ ศธ.จะเดินหน้าผลักดัน และพัฒนา ให้ “ครูไทย” รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และสามารถสร้างลูกศิษย์ให้อยู่ในโลกสมัยใหม่ ได้อย่างรู้เท่าทัน เช่นกันหรือไม่…

ขณะเดียวกัน ก็เป็นโจทย์ใหญ่ท้าทายให้ “ครู” ทั่วประเทศ ต้องลุกขึ้นปฏิวัติตัวเอง เพื่อเข้าสู่โหมด “ครูยุคดิจิทัล” แต่ยังคงความเป็น “ผู้นำแห่งจิตวิญญาณ” ของนักเรียน!! •

 

| การศึกษา