ปตูโขง-ประตูโขง พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ชาวล้านนา

ปตูโขง

ปตูโขง อ่านว่า ปะตู๋โขง หมายถึง ประตูทางเข้าหรือทางลอดผ่าน ที่มีลักษณะที่เรียกว่า “โขง” คือ ทำขึ้นเป็นทรงสูงขึ้นไป

ปะตู๋โขง หรือประตูโขง ส่วนใหญ่มีส่วนโครงสร้างโค้งหรือโก่งงอขึ้นไปบรรจบตรงส่วนยอด โดยลักษณะของโขงใกล้เคียงกับความหมายของซุ้มในภาษาพื้นบ้านทั่วไป

ช่องประตูโขงเป็นช่องลอดผ่านแบบพิเศษกว่าประตูโดยทั่วไปที่เป็นประตูห้อง ประตูเรือน หรือประตูรั้ว

กล่าวคือ ตั้งใจสร้างสรรค์ ให้เป็นช่องประตูทางเข้าพื้นที่พิเศษ เช่น พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ในเขตพุทธาวาสของวัด ทางเข้าตำหนักราชวัง ทางเข้าอุโบสถวิหาร ทางเข้าลานประทักษิณของพระบรมธาตุเจดีย์

ซึ่งสร้างอย่างแข็งแรง ประณีต สวยงาม

 

สันนิษฐานว่าในภาคเหนือเริ่มมีการสร้างประตูโขง หรือซุ้มโขง เมื่อมีศาสนาเข้ามา คือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่ได้รับอิทธิพลขอมโบราณ ที่มีศูนย์กลางอยู่ตอนกลางประเทศไทย ซึ่งมีคติการสร้างซุ้มประตูเข้าบริเวณและเข้าสู่ภายในเทวาลัย อันเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ สัญลักษณ์ของเทพเจ้า เช่น พระศิวะ และพระนารายณ์ ซึ่งรับมาจากอินเดีย

ต่อมา ในสมัยทวารวดีได้มีอำนาจเหนือขอม และขยายอำนาจขึ้นมาสู่ดินแดนล้านนา ตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวีในพุทธศตวรรษที่ 12

ทำให้ศิลปะและสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์รูปแบบปราสาท เทวาลัย และซุ้มโขง ที่ได้รับจากอินเดีย มาพัฒนาในสมัยขอมต่อเนื่องถึงสมัยทวารวดี และหริภุญไชย

ซึ่งพบหลักฐานเท่าที่หลงเหลือในศิลปะพระเครื่อง ภาพแกะสลัก (พบมากในใบเสมา) และในสมัยโยนกนาคพันธุ์ที่ร่วมสมัยเดียวกันกับหริภุญไชยมีการนับถือพุทธศาสนา มาจนสมัยหิรัญนครเงินยางและอาณาจักรล้านนา รับพุทธศาสนาและรูปแบบพุทธศิลป์และสถาปัตยกรรมของอินเดียผ่านมาทางพุกาม

จนเมื่อพญามังรายมหาราชได้ตีหริภุญไชยและพุกาม จึงได้รวบรวมช่างจากเชียงแสน ลำพูน และพุกาม สร้างสรรค์ผสมผสานศิลปสถาปัตยกรรมขึ้นเพื่อให้เป็นเอกลักษณ์งดงามทรงคุณค่าของล้านนา

จากนั้นรูปแบบศิลปสถาปัตยกรรมจึงได้มีพัฒนาการรูปแบบมาจนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

เริ่มแรกประตูโขงสร้างโดยใช้วัสดุหินศิลา

ภายหลังใช้การก่ออิฐสอปูน มีการตกแต่งด้วยปูนปั้นและเครื่องเคลือบ

ประตูโขงทางเข้าเขตพุทธาวาสของวัด อุโบสถ และวิหาร มีพุทธคติตกแต่งให้มีรายละเอียด สื่อความหมายเป็นประตู เชื่อมต่อแดนโลกมนุษย์และสวรรค์ อันเป็นที่ตั้งของป่าหิมพานต์บริเวณเชิงเขาพระสุเมรุ

ซึ่งบนยอดเขาพระสุเมรุนั้นเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังแดนทิพย์ แดนสวรรค์ แดนพรหม และสูงสุดคือนิพพาน

ลวดลายปูนปั้นเครื่องประดับประตูโขงแสดงความหมายโดยตกแต่งเป็นรูปต้นไม้ดอกไม้ สัตว์ ในหิมพานต์ เช่น หงส์ กินรี นกหัสดีลิงค์ มกร มอม ลวง คชสีห์ คนธรรพ์ และนาค

ในพิธีเทศน์มหาชาติหรือการตั้งธรรมหลวง ในวันพระใหญ่งานบุญสำคัญ เช่น ประเพณีขึ้นปีใหม่มหาสงกรานต์ ออกพรรษา และยี่เป็ง มีการจัดพื้นที่ตั้ง ธรรมาสน์สำหรับการเทศนาของพระภิกษุ มีการตกแต่งซุ้มและล้อมรั้วราชวัตร กำหนดเขตเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

สะท้อนสัญลักษณ์ของป่าหิมพานต์ ที่เป็นทางผ่านสู่แดนทิพย์ •

 

 

อ่านว่า ซุ้มปะตู๋ตางเข้าตี้สักสิดฮ้องว่าปะตู๋โขง
แปลว่า ซุ้มประตูทางเข้าพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เรียกว่า “ประตูโขง”