แลนด์บริดจ์ และความไม่สามารถทำตามนโยบายรัฐบาล

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

บทความพิเศษ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

https://www.facebook.com/sirote.klampaiboon/

 

แลนด์บริดจ์

และความไม่สามารถทำตามนโยบายรัฐบาล

 

ไม่มีใครรู้ว่าทำไมอยู่ดีๆ รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ถึงเอาเป็นเอาตายกับโครงการ “แลนด์บริดจ์” ที่จะสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ที่ชุมพรเพื่อขนส่งสินค้าขึ้นบกแล้วเอาลงเรืออีกรอบที่ระนอง เพราะพรรคเพื่อไทยไม่เคยพูดเรื่องนี้ช่วงเลือกตั้ง และแม้แต่รวมไทยสร้างชาติของคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็แทบไม่พูดเรื่องนี้เลย

คำอธิบายของรัฐบาลคือโครงการนี้มูลค่า 1 ล้านล้านบาทซึ่งจะมีผลอย่างสูงต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

ส่วนองคาพยพของรัฐบาลก็ประดิษฐ์วาทกรรมที่พิสดารไปอีกว่าโครงการนี้จะทำให้ไทยมีความหมายในเวทีโลก ขณะที่ข้อมูลพื้นฐานซึ่งทุกฝ่ายยอมรับได้นั้นยังไม่ปรากฏแม้แต่นิดเดียว

ตรงข้ามกับข้อกล่าวหาของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยบางคนว่าคนที่ตั้งคำถามกับโครงการแลนด์บริดจ์เป็นลิ่วล้อสิงคโปร์ สิ่งที่คุณศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.พรรคก้าวไกล และนักวิชาการจากจุฬาฯ ตั้งคำถามคือการจงใจใช้สภารับรองข้อมูลที่สนับสนุนโครงการนี้เพียงด้านเดียว ซึ่งใครทำแบบนี้ก็ไม่ถูกต้องเลย

ข้อมูลที่รอบด้านเป็นพื้นฐานของการตัดสินใจที่รอบคอบสำหรับบุคคลและองค์กร เมื่อใดที่มีการให้ข้อมูลด้านเดียว เมื่อนั้นย่อมเกิดความสงสัยต่อเจตนาในการทำแบบนี้ได้เสมอ ไม่ว่าเรื่องนี้จะเกี่ยวกับสิงคโปร์หรือเด็กมัธยมเถียงกันเรื่องกินหมูกระทะร้านไหนดีก็ตาม

ระบอบประชาธิปไตยถือว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน การกำหนดนโยบายสาธารณะในสังคมประชาธิปไตยจึงมีหลักว่าประชาชนคือผู้ถือหุ้นประเทศ การตัดสินใจเลือกนโยบายในสังคมแบบนี้จึงต้องฟังประชาชนทุกฝ่ายตลอดเวลา

ไม่ใช่ฟังแต่ฝ่ายอวยและด่าคนเห็นต่างจากรัฐบาล

 

ทันทีที่รัฐบาลจงใจให้ข้อมูลเรื่องนี้ด้านเดียวทั้งที่ไม่เคยพูดช่วงหาเสียงเลือกตั้ง สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่การกำหนดนโยบายวางอยู่บนข้อมูลที่บิดเบี้ยวไปหมด ส.ส.ที่สนับสนุนนโยบายนี้ถึงกับพูดตรงๆ ว่าเชียร์โครงการนี้เพราะเชื่อมั่นคุณเศรษฐา ทั้งที่คำอธิบายแบบนี้ไม่ได้บอกอะไรเลยก็ตาม

ข้ออ้างหลักของรัฐบาลคือแลนด์บริดจ์จะกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะใช้เงินลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท แต่โครงการนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจจริงหรือไม่และแค่ไหนเป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้เลย เพราะเรื่องเดียวที่รัฐบาลบอกคือโครงการนี้ลงทุนโดยวิธีแบบ PPP ที่ภาคเอกชนจะออกเงินเองทั้งหมดเท่านั้นเอง

ถ้าเงื่อนไขการลงทุนไม่กำหนดให้ต่างชาติต้องใช้แรงงานหรือผู้รับเหมาไทย โอกาสที่โครงการนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจก็มีน้อยมาก

หรือถ้ากำหนดเงื่อนไขแบบนี้ไว้แต่ไม่มากนัก โอกาสที่โครงการจะกระตุ้นเศรษฐกิจก็มีเพิ่มขึ้นอีกแค่นิดเดียว

เมื่อคำนึงถึงข้ออ้างว่าเรือจากอัฟริกาใต้จะไปอินเดียโดยอ้อมผ่านไทย หรือเรือเกาหลีใต้และญี่ปุ่นก็ไปออสเตรเลียโดยอ้อมผ่านไทยด้วย ต่อให้ทั้งสองเส้นทางจะถึงอินเดียและออสเตรเลียก่อนไทย โอกาสที่โครงการนี้จะขายได้ก็ต้องเอาใจนักลงทุนจนคนไทยอาจไม่ได้อะไรเท่าที่ควรเท่านั้นเอง

 

เศรษฐกิจฝืดเคืองเป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนรู้กัน แต่ระดับความฝืดเคืองของคนแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน เม็ดเงินที่เข้ามาจะทำให้คนกลุ่มไหนรวยขึ้นหรือจนลงย่อมต่างกัน โครงการนี้จะทำเศรษฐกิจโตแค่ไหนและโตที่ใครจึงขึ้นต่อเงื่อนไขลงทุนด้วย ไม่ใช่อย่างที่รัฐบาลคุยว่าโครงการนี้จะพาทุกคนรวย

ต่อให้รัฐบาลทำโครงการนี้โดยนักลงทุนต่างชาติขนเงิน 1 ล้านล้านมาให้คนไทยได้ประโยชน์เต็มที่จริงๆ ระยะเวลาในการทำอภิมหาโครงการยักษ์ขนาดนี้ก็มากจนอีกนานกว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ การให้ข้อมูลด้านเดียวเรื่องแลนด์บริดจ์แก้วิกฤตเศรษฐกิจจึงไม่มีเหตุผลอะไรรองรับเลย

เมื่อเทียบกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่เริ่มต้นปี 2561 และต้องมีการเวนคืนที่ดินรวมทั้งก่อสร้างจนโครงการดำเนินการจริงในปี 2571 แลนด์บริดจ์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ก็คงใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งนานจนแก้วิกฤตเศรษฐกิจตอนนี้ไม่ได้เลย

แลนด์บริดจ์ควรสร้างหรือไม่เป็นเรื่องที่ควรเถียงกันบนข้อมูลที่รอบด้านเพื่อให้คนไทยทุกคนร่วมตัดสินใจอย่างรอบคอบ ไม่ใช่รวบรัดทำทั้งที่ไม่เคยหาเสียง ไม่เคยแถลงว่าจะทำ แต่อยู่ดีๆ ไปปัดฝุ่นโครงการของคุณประยุทธ์แล้วปั่นกระแสว่าคุณทักษิณ ชินวัตร ก็เคยคิดจนคนไทยต้องมาตีกันอย่างปัจจุบัน

ไม่มีใครรู้ว่าคนไทยได้อะไรจากแผนแลนด์บริดจ์ของรัฐบาล บริษัทผู้รับเหมาและรัฐมนตรีได้แน่ๆ จากเงิน 1 ล้านล้านในการสร้างท่าเรือ, มอเตอร์เวย์, ทางรถไฟ, ขายที่ดิน ฯลฯ

แต่ผลประโยชน์ที่คนไทยได้ชัดๆ นอกเหนือจากเป็นแรงงานหรือขายสวนยางก็ยังไม่มีใครทำให้เห็นเลย

 

น่าสังเกตว่ารัฐบาลเปิดประเด็นแลนด์บริดจ์ท่ามกลางความล้มเหลวด้านนโยบายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยไม่ว่าจะเป็นค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มแค่ 2 บาทจากที่ประกาศว่าจะได้ 400 บาท หรือการให้เงินทุกครอบครัวจนมีรายได้เดือนละ 20,000 ซึ่งไม่มีใครในพรรคเพื่อไทยพูดอีกเลย

เมื่อคำนึงถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตซึ่งรัฐบาลเลื่อนกำหนดแจกเงินและวงเงินที่จะแจกไปนับครั้งไม่ถ้วน ปัญหาใหญ่ของรัฐบาลตอนนี้คือไม่มีแผนเศรษฐกิจที่จะเพิ่มความหวังให้ประชาชนได้อีกเลย ไม่ต้องพูดถึงนโยบายรูปธรรมชัดๆ มากกว่าวิสัยทัศน์หรือความฝันประเภท Wish List ของรัฐบาล

ต่อให้โครงการกู้เงินแจกจะเริ่มแจกได้จริงในเดือนพฤษภาคม ประเทศไทยก็ไม่มีนโยบายเศรษฐกิจใหญ่ๆ มาตั้งแต่คุณประยุทธ์ประกาศเลือกตั้งช่วงต้นปี 2566 หรือเท่ากับไม่มีปุ๋ยจากนโยบายเพื่อรดน้ำให้ระบบเศรษฐกิจที่แห้งผากเกือบหนึ่งปีครึ่งหลังจากตกต่ำและชะลอตัวมากว่าแปดปี

เมื่อคำนึงถึงท่าทีธนาคารชาติที่ไม่เห็นด้วยกับการแจกเงิน, คำยืนยันของกฤษฎีกาว่าไม่เคยไฟเขียวรัฐบาลเรื่องนี้ และคำแนะนำ ป.ป.ช.ว่าเศรษฐกิจประเทศยังไม่วิกฤตตามบรรทัดฐานธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

โอกาสที่รัฐบาลจะแจกเงินภายในเดือนพฤษภาคมก็ไม่มีเลย

 

ด้วยการโยนกันไปมาในทำเนียบว่าใครต้องทำหน้าที่ประธานประชุมคณะกรรมการแจกเงิน, ด้วยคำยืนยันของคุณจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ว่าการแจกเงินไม่มีทางทำได้ในเดือนพฤษภาคม และด้วยคำแนะนำของ ป.ป.ช.กับหน่วยราชการอื่นๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือโครงการนี้อาจไม่สามารถแม้กู้เงินมาแจกตามที่ต้องการ

เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ขอความเห็นหน่วยงานอื่นในการกู้เงินแจก 5 แสนล้าน พรรคเพื่อไทยมีทางเลือกเดียวคือแจกเงินโดยไม่กู้แล้วใช้งบประมาณปกติของรัฐบาล นั่นเท่ากับเพื่อไทยอาจต้องรอทำงบปี 2567 จนเสร็จในเดือนตุลาคม แปลว่าเร็วที่สุดจะมีการอัดฉีดเงินนี้เข้าระบบคือช่วงปลายปี

รัฐบาลนี้ประกาศช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่าตัวเอง “คิดใหญ่ ทำเป็น”, “หาเงินได้ ใช้เงินเป็น” และ “มีกินมีใช้ มีเกียรติมีศักดิ์ศรี” แต่ทั้งหมดนี้ประชาชนต้องตัดสินในอนาคตที่อาจเป็นได้ทั้งสำเร็จและล้มเหลว ส่วนปัจจุบันคือเราอาจเป็นประเทศที่เศรษฐกิจฝืดโดยไม่มีการกระตุ้นติดต่อกันถึง 2 ปี

เมื่อคำนึงถึงเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจนเป็นความฝืดเคืองในหมู่ประชาชน ความอัตคัดของการกระตุ้นอาจสร้างผลทางเศรษฐกิจและการเมืองจนยากที่รัฐบาลจะยอมรับได้ แลนด์บริดจ์กลายเป็นนโยบายเดียวในการสร้างความตื่นตัวทางเศรษฐกิจในเวลาที่รัฐบาลไม่มีเครื่องมืออะไรเหลือเลย

หวังว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่ตกต่ำและรัฐบาลจะไม่อับจนถึงขั้นใช้แลนด์บริดจ์เป็นเครื่องมือกระตุ้นความหวังทางเศรษฐกิจในเวลาซึ่งประเทศต้องการมากกว่าสภาวะลมๆ แล้งๆ ทางนโยบาย