คุยสบายๆ เรื่องหนักๆ กับ อุทัย พิมพ์ใจชน คำถามประชามติง่ายๆ-เชื้อรัฐประหารไม่เคยตาย

รายงานพิเศษ | บุญเลิศ คชายุทธเดช (ช้างใหญ่)

 

คุยสบายๆ เรื่องหนักๆ กับ

อุทัย พิมพ์ใจชน

คำถามประชามติง่ายๆ-เชื้อรัฐประหารไม่เคยตาย

 

อุทัย พิมพ์ใจชน เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆมาอย่างต่อเนื่อง เช่นผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี ประธานสภาผู้แทนฯ ประธานรัฐสภา รัฐมนตรี ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

ยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างทรนงองอาจ พิสูจน์ให้เห็นกรณีร่วมกับเพื่อนสส. 2 คนยื่นฟ้องศาลอาญาให้ดำเนินคดีลงโทษจอมพลถนอม กิตติขจรและพวกรวม ๑๗ คนข้อหาเป็นกบฏ ล้มล้างรัฐธรรมนูญ ยกเลิกสภาผู้แทนฯเนื่องจากก่อการปฏิวัติวันที่ 17 พฤศจิกา ยน 2514 ทำให้จอมพลถนอม หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งจำคุก อุทัย 10 ปี เพื่อนอีก 2 คนโดนไปคนละ ๗ ปี ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำเดือนมกราคม 2517 หลังถูกจำคุกนาน 1 ปี 10 เดือน

แม้จะวางมือทางการเมืองมาหลายปีแล้ว แต่ชื่อเสียงและเกียรติประวัติของเขายังคงได้รับการยอมรับเป็นที่ชื่อถือของสังคม

ตอนสายของวันศุกร์ที่ 10 มกราคม นายอุทัยเปิดบ้านต้อนรับให้เราเข้าสนทนาและรื่องราวต่างๆอย่างเป็นกันเอง ณ บ้านพัก ซอยชินเขต 1 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ

คนไม่ยอมเลิกการเมือง

หลงสรรเสริญ-ลาภยศผลประโยชน์

นายอุทัยกล่าวถึงการวางมือทางการเมืองโดยเล่าเรื่องการพูดคุยกับนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งพบเจอกันนานมาแล้ว

“คุณอานันท์ถามผมว่า ทำไมเงียบไป การเมืองเลิกเหรอ”

นายอุทัยตอบ “เลิกแล้วครับ” เหตุผลก็คือ

“อายุมากแล้ว” นายอุทัยตอบ

อานันท์ถามต่อ “คนอายุมากกว่าคุณอุทัย ทำไมเขายังไม่เลิกการเมือง”

“ผมบอกว่า คนพวกนั้นติดอยู่ 2 อย่าง อย่างที่หนึ่ง ติดสรรเสริญ บางคนเคยมีตำแหน่ง คนก็ยกย่อง ท่านเก่ง ท่านมีคนยังชอบ เลยลืมสังขารตัวเอง นึกว่าสังคมเรียกร้อง อย่างที่สอง ติดลาภยศ ผลประโยชน์ เมื่อมียศ ต่อไปก็มีลูกน้องเป็นบริวาร หรือเข้าไปทำมาหากิน ทำให้เกิดประโยชน์เกี่ยวข้อง เขาเรียกประโยชน์ทับซ้อน มันหาได้ ถ้าได้เข้าไป ผมก็อธิบายให้เขาเข้าใจ”

นายอุทัยกล่าวต่อ คนอายุมาก สติ สมองมันสึกหรอไปเท่าไหร่แล้ว ไม่คิดเรื่องวันข้างหน้า ขนาดเรื่องข้างหลังเมื่อวานนี้ยังจำไม่ได้ว่า กูวางของไว้ที่ไหนวะ นี่คือ ความหย่อนยานประสิทธิภาพที่จะอาสาไปทำเรื่องใหญ่ๆ

เลิกรัฐธรรมนูญ?

เราเปลี่ยนมาคุยเรื่องการออกเสียงประชามติว่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรจะถามด้วยคำถามอะไร ผู้ที่ผ่านประสบการณ์เรื่องรัฐธรรมนูญมาอย่างโชกโชนอย่างนายอุทัยมีความเห็นอย่างไร

“ผมมันหลุดจากตรงนี้ไปแล้วนะ หลุดเรื่องรัฐธรรมนูญไปแล้ว ผมไม่อยากออกความเห็น เพราะอะไร เพราะเราไปบ้ารัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญ ไปคิดว่ารัฐธรรมนูญใหญ่เหลือเกิน ก็เลยใฝ่หากันอยู่นั่นล่ะ แต่หารู้ไม่ว่า เราอยู่กันอยู่แบบไม่มีรัฐธรรมนูญก็ได้ ทุกวันนี้ เรามีกฎหมายคุ้มครองตั้งแต่ปลายเล็บเท้ายันปลายผมอยู่แล้ว แล้วจะไปหารัฐธรรมนูญทำไม เดือดร้อนเรื่องอะไรก็มีหน่วยงานรัฐ มีศาล หน่วยงานตรวจสอบก็มี ป.ป.ช. หน่วยงานดูแลการเลือกตั้งก็มี กกต. องค์กรอิสระมีตัวตนอยู่แล้ว มีที่เกิด มีที่อยู่ของมัน ไม่ต้องเอาไปใส่ในรัฐธรรมนูญแล้ว”

นายอุทัยกล่าวต่อ

“เมื่อก่อนไม่มีกฎหมายอาญาก็มีกฎหมายเพิ่มขึ้นมาแล้ว แต่ก่อนไม่มีกฎหมายให้ผู้ชายแต่งงานกับผู้ชาย ผู้หญิงแต่งงานกับผู้หญิง มันก็มีแล้ว แล้วคุณจะไปหารัฐธรรมนูญทำไม”

เราซักว่า พูดแบบอย่างนี้ หมายความว่าจะให้ใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับของ คสช.ต่อไปอย่างนั้นหรือ?

“จะใช้ไปก็ใช้ไป จะยกเลิกก็ยกเลิกไปเลย” นายอุทัยตอบสั้นๆ

แต่การจะยกเลิกรัฐธรรมนูญ แล้วทำใหม่ ต้องไปถามความเห็นประชาชนหลายครั้ง มันเรื่องมาก เป็นภาระยุ่งยากกับชาวบ้าน – เราเปรยขึ้นเพื่อรอฟังว่าเขาจะตอบอย่างไร

“ใช่” นายอุทัยตอบเสียงดัง

ถามง่ายๆ ประชามติ

เอาไหมเลิก รธน.60 แล้วเขียนใหม่

กับคำถาม กรณีคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ เป็นประธาน มีข้อสรุปให้ถามคำถามเดียวแบบมีเงื่อนไขในเนื้อหา “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”

ถามแบบนี้ อดีตประธานรัฐสภาไม่เห็นด้วย

“ถ้าจะไปลงประชามติ ถ้าจะถาม ก็ถามทีเดียวนะ ถามว่า ถ้าจะเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 แล้วเขียนใหม่ ท่านเห็นชอบหรือไม่ เอาแค่นี้ ยกเลิกแล้วเขียนใหม่ เพราะคุณอยากเขียนใหม่อยู่แล้ว ใช่ไหม คุณอยากยกเลิกบางอย่างอยู่แล้ว”

นายอุทัยย้ำให้เกิดความชัดเจน

“ถามทีเดียวว่า ยกเลิกฉบับ 2560 แล้วเขียนใหม่ ใครเห็นด้วย ลงคะแนนช่องเห็นด้วย ใครไม่เห็นด้วย ลงคะแนนไม่เห็นด้วย เอาแค่นี้ ถ้าเสียงส่วนใหญ่ประชามติออกมาไม่เห็นด้วย ก็ใช้ของเก่า ฉบับปัจจุบันไป ถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย จะแก้อะไรก็ว่ากันไป”

ซึ่งเท่ากับว่าไม่นำเรื่องหมวด 1 หมวด 2 มาเขียนไว้ในคำถามประชามติ

นายอุทัยกล่าวว่า ถ้าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เรื่องใหญ่ๆ 2-3 เรื่องให้คงไว้ ไม่ต้องแก้ไข

เรื่องแรก ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกัน จะแบ่งแยกมิได้ เรื่องที่สอง ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เรื่องที่สาม หากมีกรณีใดเป็นที่สงสัยให้กระทำการนั้น หรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครอง หรือให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาวินิจฉัย ให้ถือเป็นที่สิ้นสุด ดีกว่าให้ศาลรัฐธรรมนูญไปทำ

“ศาลรัฐธรรมนูญไม่ต้องมี” นายอุทัยพูดอย่างตรงไปตรงมา “ไม่ต้องกลัวเชยที่ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ อย่างอเมริกาเป็นประเทศที่ทันสมัย มีปัญหาอะไร เขาให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุดวินิจฉัยตีความรัฐธรรมนูญ ก็จบ”

นายอุทัยแจกแจงว่า กระบวนการพิจารณาของศาลฎีกาจะคัดคนมาเป็นองค์คณะพิจารณาเรื่องที่มีเข้ามา ไม่ต้องมีศาลรัฐธรรมนูญที่ยืนปักหลักอยู่อย่างนี้ ดูเหมือนใหญ่แต่มันเล็กเกินไป ไม่เป็นที่เชื่อถือของสังคม ถ้าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ล้วนแต่เก๋ากึ๊ก เงินเดือนเยอะ ไปออกแบบ ร่างองค์ประกอบเอา มี พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดี คดีที่สภาส่งมาหรือคดีที่ราษฎรให้วินิจฉัย ศาลฎีกาตั้งองค์คณะไปพิจารณา องค์คณะพิจารณาเสร็จปั๊บ ร่างคำพิพากษาแล้วเสนอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาเพื่อมีคำพิพากษา

อย่างไรก็ตาม นายอุทัยให้ความเห็นว่า กรณีจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่จะกำหนดเงื่อนเวลาไว้ในบทเฉพาะกาลให้คณะกรรมการองค์กรอิสระต่างๆ สิ้นสุดไปพร้อมกัน แล้วเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ก็สามารถทำได้ “เอาเสียทีเดียวเลย”

นายอุทัยย้อนกลับมาพูดถึงแนวคิดไม่ต้องมีศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีมานานแล้ว ต่อมารัฐธรรมนูญ 2540 ได้ให้กำเนิดศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เห็นด้วย

“ผมพูดเรื่องนี้ไม่ต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อนมันด่าผม สมัยก่อนที่ผมยังเป็นหนุ่ม เฮ้ย ไอ้ทัย มึงคิดอะไร ผมบอกว่า อีก 10 ปี มึงคอยดู เพราะมึงคิดไปพูดไป อีก 10 ปี คุณตามผมไม่ทันหรอก อย่างการเลิกผู้ว่าฯ แต่งตั้ง แล้วให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ผมคิดและเสนอมาตั้งแต่ พ.ศ.2520 กว่าๆ พรรคก้าวไกลเพิ่งมาพูด”

 

เชื้อปฏิวัติไม่เคยตาย

เราเปิดประเด็นใหม่ “คุณอุทัยคิดว่า การปฏิวัติรัฐประหารคราวที่แล้ว เมื่อปี 2557 จะเป็นครั้งสุดท้ายหรือไม่ คุณอุทัยวางใจได้หรือยังว่า การยึดอำนาจแบบเผด็จการจะปิดฉากเสียทีเพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปไกลมากแล้ว”

“มันยังจ้องปฏิวัติอยู่นะทุกวันนี้ คนคิดปฏิวัติมันยังมีอยู่” นายอุทัยตอบทันควัน ก่อนจะอธิบายเหตุผลให้ฟัง

“คุณไม่ต้องไปวางใจหรอกว่าในอนาคตจะไม่มีปฏิวัติอีกแล้ว คุณรู้ไหม เมืองไทยมีคุณสมบัติเลิศอยู่เรื่องหนึ่ง คือ คุณสมบัติเหมาะแก่การปฏิวัติ ฟังให้ดีนะ ผมเคยบอกกับเพื่อน เพื่อนมันถามผมว่า ไอ้ทัย มึงคิดยังไงวะ คิดไปเป็นนักการเมือง ตอนนั้นผมยังเรียนเนติบัณฑิตอยู่นะ คนนั้นคิดจะไปเป็นผู้พิพากษา คนนั้นจะไปเป็นอัยการ ผมบอก คุณรู้ไหม เมืองไทยนี่ ราษฎรไทยมันน่ารักในการปกครองประเทศมากที่สุดในโลก แต่มันยังขาดนักปกครองที่น่ารัก เพื่อนถาม มันเป็นยังไง อ้าว มึงไม่เห็นเหรอ วันที่เขาปฏิวัติ เขาก็เอาดอกไม้ เอาอะไรไปให้ เข้าแถวต้อนรับ เป็นนายกฯ ก็ให้เป็น สั่งอะไรก็ทำตามหมด พอต่อมา ประชาชนเดินขบวนขับไล่ เฮ้ย ไม่เอาแล้วโว้ยปฏิวัติ มีเลือกตั้ง เขาแย่งกันเป็นหัวคะแนนเลือกตั้งอีก เอาผู้แทนฯ กูเข้าสภา เมื่อวานเป็นเพื่อนเตะตูดกันอยู่ พอแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี เอ้า เพื่อนก็ให้ความเคารพ ขอความร่วมมืออะไร ร่วมมือหมด มีอาสากูก็อาสา ไม่มีกูก็ไม่มี ผมถึงบอกว่า ประชาชนไทยน่ารักในการปกครอง แต่เรายังขาดนักปกครองที่น่ารัก”

ก่อนจะสรุปว่า “ที่คุณถามว่า จะมีการปฏิวัติอีกไหม ก็มี ใครปฏิวัติได้ มันก็เอา”

“ปฏิวัติแล้ว คนทำปฏิวัติซึ่งเป็นทหารจะอยู่ได้เหรอ โลกมันไปถึงไหนแล้ว สมมุติอีก 4-5 ปีข้างหน้า ปฏิวัติอีก บ้านเมืองจะอยู่อย่างไร” เราโต้แย้งเพื่อจะฟังคำตอบ

“อยู่ไม่ได้ มันก็ไป ก็ชาวบ้านก็ยังเอา ฮ่ะๆๆๆๆๆ” นายอุทัยหัวเราะร่วน

“ชาวบ้านก็ยังเอา ผมถึงบอกว่า ไอ้คนที่คิดจะไปเปลี่ยนแปลงโดยการไปร่างรัฐธรรมนูญ เสียเวลาฉิบห…ผมไปเป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 คิดว่า ต่อไปนี้จะดีแล้วล่ะ การเมือง ถึงวันนี้ มันเลวกว่าเก่า เลวร้ายกว่าปี 2540 ถามว่า ได้อะไร เสียเวลาฉิบห…วายป่วง เสียเงินทอง ผมถึงคิดว่า กูเสียค่าโง่ ไม่น่าเสียเวลา…”

“การจะให้ได้นักการเมืองดี ต้องสร้างราษฎรที่ดี ต้องสร้างคนรุ่นใหม่ ใช้เวลา 15 ปี ต้องทำกันจริงจังนะ พวกเขาเป็นอนาคตของประเทศในวันข้างหน้า ไม่ใช่คนรุ่นปัจจุบัน”

 

อุทัย : เกษตรกรวัยเก๋า

เจ้าของสวนปาล์มเมืองชล

แม้จะเข้าสู่บั้นปลายของชีวิต อีก 15 ปีก็อายุครบร้อย แต่อุทัย พิมพ์ใจชน ก็ยังเพลิดเพลินและมีความสุขกับเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปอำเภอหนองใหญ่ ชลบุรี เพื่อตรวจดูไร่ปาล์มในฐานะเป็นเกษตรกรที่ปลูกปาล์มไว้ขาย เดิมเคยปลูกยางพารา แต่เห็นว่าตลาดไม่ค่อยดี จึงเปลี่ยนมาปลูกปาล์ม

“อายุ 85 จะว่าไม่ยอมแก่ ยอมหรือไม่ยอมมันก็แก่อยู่แล้วล่ะ แต่เรายอมไม่ได้ที่จะต้องอยู่เฉยๆ ไม่มีประโยชน์ ผมทำเกษตรเพื่อให้มีรายได้มาเลี้ยงชีพ”

“ผมจะไปเดินตรวจ ทะเลาะกับคนงาน ดูโน่นดูนี่ การเดินในไร่ปาล์มก็เป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง กอล์ฟไม่ได้ตีแล้ว มันร้อน”

นายอุทัยกล่าวว่า ยังติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่ตลอด เรียนรู้การใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นแก้วสารพัดนึกตามยุคสมัยโซเชียลมีเดีย ความเจริญของเทคโนโลยีการสื่อสารเปรียบเหมือนเราเข้ามาสู่ยุคพระศรีอาริย์แล้วโดยไม่รู้ตัว อยากรู้อะไรก็กดกูเกิล เราจึงเป็นคนหูทิพย์ ตาทิพย์

“ไปเมืองชล จะไปเพชรบูรณ์ สามารถบอกได้ว่า ระยะทางเท่าไร ใช้เวลาเดินทางกี่ชั่วโมง ลูกโทรศัพท์อยู่ต่างประเทศคุยกับพ่อแม่ได้ โลกก้าวหน้าไปมากเกินกว่าเราจะคาดคิด ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟใต้ดิน เรือดำน้ำ ยานอวกาศ การแพทย์ นี่คือยุคพระศรีอาริย์มาถึงแล้ว”