ยุทธการ 22 สิงหา : หัวหมู่ ทะลวงฟัน การเมือง จับเส้นทาง “จักรภพ เพ็ญแข”

เห็นได้จากการขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของ นายสมัคร สุนทรเวช

เห็นได้จากการร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคประชาราช

เห็นได้จากการเดินทางกลับประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

แม้จะปรากฏข่าวการพยายามเดินหน้าของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)

ผ่านกรณีเปิดทางสะดวกเงินกู้ 4,000 ล้านบ้านให้แก่เมียนมา

แม้จะปรากฏข่าวการรุกคืบเข้าไปให้ “ใบแดง” แก่ นายยงยุทธ ติยะไพรัช มือวางทางการเมืองคนสำคัญของพรรคพลังประชาชน

จำเป็นต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ “ประธานสภา”

กระนั้น หากมองจากทางด้านของพรรคพลังประชาชน หากมองจากทางด้านของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็มิได้ดำรงอยู่ในลักษณะอันเป็น “เป้านิ่ง”

หากแต่ดำเนินการจัดแถวตั้งทัพเพื่อรับมือและรุกอย่างเป็นฝ่ายกระทำ

 

นั่นก็เห็นได้จากการมอบตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีให้แก่ นายจักรภพ เพ็ญแข

ทำหน้าที่ในฐานะกองหน้าทางด้าน “สื่อ” และการประชาสัมพันธ์

นั่นก็เห็นได้จากการมอบตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้แก่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

จังหวะก้าวของ นายจักรภพ เพ็ญแข น่าจับตามอง

นั่นก็เห็นได้จากการปรับเปลี่ยนสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สวท.) ช่อง 11 มาเป็นสถานีข่าวสารเต็มรูปแบบ

ภายใต้ชื่อใหม่ NBT อันย่อมาจาก National Broadcasting of Thailand สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย

NBT ทำพิธีเปิดโลโก้สัญลักษณ์ใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2551

 

วันที่ 1 เมษายน 2551 ไม่เพียงแต่จะแปรสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยให้ปรากฏในโฉมใหม่

ในการกำกับอย่างใกล้ชิดของ นายจักรภพ เพ็ญแข

ทางหนึ่ง คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกับมาตรการเงินทุนเพื่อประชาชนและเศรษฐกิจฐานราก ประกอบด้วยโครงการอันมีงบประมาณรองรับอย่างหนาแน่นมั่นคง

นั่นก็คือ

โครงการฟิ้นฟูและพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและยากจน โดยพักหนี้เกษตรกรที่มีหนี้ไม่เกิน 100,000 บาท เป็นเวลา 2 ปี

นี่ยอมเป็นการต่อยอดจากมาตรพักหนี้ในยุคพรรคไทยรักไทย

โครงการธนาประชาชน โดยธนาคารออมสินให้สินเชื่อผู้มีรายได้น้อยลงทุนประกอบธุรกิจในปี 2551 วงเงินให้กู้ 5,000 ล้านบาท

โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือที่ใกล้เคียงกับ “บ้านเอื้ออาทร”

โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ปล่อยสินเชื่อจำนวน 10,000 ล้านบาทให้แก่ผู้มีรายได้น้อย

โครงการสินเชื่อเพื่อเกษตรกร

โดยในปี 2551 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) มีเป้าหมายอนุมัติสินเชื่อให้เกษตรกรเพื่อประกอบอาชีพในโครงการสำคัญจำนวน 325,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ทางหนึ่งมีการเคลื่อนไหว “รุก” อีกก้าวในทางการเมือง

 

การรุกหนึ่งซึ่งไม่ควรมองข้าม คือ พรรคพลังประชาชนพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คณะอนุกรรมการศึกษาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่วิปรัฐบาลเสนอมา

รวมทั้งสิ้น 13 มาตรา เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม 7 ประเด็นสำคัญ

นั่นก็คือ แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 68 กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการ ซึ่งเกี่ยวโยงกับการแก้ไขมาตรา 237 และให้มีผลใช้บังคับย้อนกลับไปถึงตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2550

ที่อาจมีผลเท่ากับเป็นการนิรโทษกรรมเกี่ยวกับการยุบพรรค

เพียง 1 วันหลังจากพรรคพลังประชาชนมีมติออกมาในวันที่ 1 เมษายน 2551 ได้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากคณาจารย์คณะนิติศาสตร์จำนวน 41 คน จาก 9 สถาบัน

โดยออก “แถลงการณ์” คัดค้านการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 237

ขณะเดียวกัน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็ออก “แถลงการณ์” คัดค้านการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 มาตรา 309

และประกาศพร้อมจะเคลื่อนไหวต่อต้านทันที

ขณะเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์ก็แถลงท่าทีไปในแนวเดียวกันกับคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ท่าที “รับ” ในลักษณะ “รุก” เช่นนี้มีผลสะเทือน

 

ผลสะเทือนอย่างแรกสุดก็คือ พรรคพลังประชาชนเปลี่ยนท่าที ทั้งเป็นการเปลี่ยนท่าทีที่สะท้อนให้เห็นถึงการคาดคะเนต่อแรงกระทบในทางการเมือง

เหมือนกับจะเป็นการตั้งรับ แต่ก็เป็นการตั้งรับในลักษณะรุก

นั่นก็คือ ที่ประชุม ส.ส.พรรคพลังประชาชนมีมติเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2551 ให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยกเว้นหมวดที่ 1 บททั่วไป และหมวดที่ 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์

โดยนำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาเทียบเคียง พร้อมกับจัดตั้งคณะอนุกรรมการยกร่างแก้ไขของพรรคขึ้นเพื่อยกร่าง

มีข้อน่าสังเกตคือ ตลอดทั้งเดือนเมษายน 2551 พรรคพลังประชาชนไม่อาจได้บทสรุปว่าจะแก้ไขอย่างไร ขณะเดียวกัน ทางด้านของกลุ่มที่ต่อต้านก็พร้อมที่จะออกโรงทันทีที่มีการเสนอเข้าสู่รัฐสภา

มีความพยายามหาทางออกผ่านมติของคณะอนุกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล โดยกำหนดกรอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 โดยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญระหว่าง ส.ส. และ ส.ว.ขึ้น

กระนั้น ข้อเสนอไม่ว่าจะมาจากพรรคพลังประชาชน ไม่ว่าจะมาจากวิปรัฐบาลก็ไม่มีอะไรคืบหน้า

ต่างฝ่ายจึงอยู่ในลักษณะรอดู “ท่าที” ของกันและกัน

 

ภายในการตั้งยันระหว่างพรรคพลังประชาชนกับฝ่ายต่อต้านซึ่งมีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอยู่นั้น

การเคลื่อนไหวทางด้านรัฐบาล ทางด้านพรรคพลังประชาชนก็น่าสนใจ

เป็นความน่าสนใจตั้งแต่การจัดวางตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีให้กับ นายจักรภพ เพ็ญแข

รวมถึงการตั้ง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ด้านหนึ่ง มีการรุกของ นายจักรภพ เพ็ญแข เข้าไปในกรมประชาสัมพันธ์เข้าไปในสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย

เปลี่ยนช่อง 11 เป็น NBT

ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่ง มีคำประกาศปิดสถานีโทรทัศน์ PTV ที่เคยเป็นเครื่องมือสำคัญของกลุ่มการเมืองที่แวดล้อมรัฐบาลพรรคไทยรักไทย

องค์ประกอบของ PTV น่าสนใจอย่างยิ่ง

เพราะ นายวีระ มุสิกพงศ์ เป็นประธานบริหารบริษัท เพราะ นายจตุพร พรหมพันธุ์ เป็นกรรมการผู้บริหารบริษัท

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์

โดยมี นายก่อแก้ว พิกุลทอง ดำรงอยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษาสถานีโทรทัศน์

ไม่ว่าตำแหน่ง นายวีระ มุสิกพงศ์ ไม่ว่าตำแหน่ง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ไม่ว่าตำแหน่ง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ไม่ว่าตำแหน่ง นายก่อแก้ว พิกุลทอง

ล้วนแวดล้อมอยู่โดยรอบ บริษัทเพื่อนพ้องน้องพี่