ตำรวจเปลี่ยนไป ประชาชนไทยเดือดร้อน

จริงหรือไม่จริง ตำรวจทุกวันนี้เปลี่ยนไปมาก ผิดกันไกลกับตำรวจในอดีต

กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า ตำรวจรุ่นใหม่ไร้ฝีมือ ไม่เก่ง ไม่มีดี

แต่ “น่าสงสัย” ว่าระบบกำลังทำลายคน องค์กรและผู้บังคับบัญชาทำลายผู้ใต้บังคับบัญชา และเมื่อกล่าวกันให้ถึงที่สุดก็ส่งผลกระทบต่อสังคมส่วนรวม

ถ้าจะถามว่า มีตำรวจเอาไว้ทำไม คำตอบจึงมีอยู่ในตัว

มีตำรวจเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับสังคม ดูแลปกป้องให้ความปลอดภัยกับประชาชน

กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีเข็มมุ่ง 2 ข้อ

หนึ่ง “มุ่งรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม” กับอีกหนึ่ง “มุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล”

ตำรวจจึงต้องเรียนกฎหมายให้รู้และให้เข้าใจ ทั้งยังต้องปฏิบัติให้ได้ถึงขั้นที่นักกฎหมายในสายอื่นๆ หมิ่นแคลนไม่ได้ นั่นคือ อย่ามึน อย่าโง่

อย่าใช้อำนาจพร่ำเพรื่อ ทำหน้าที่ “บังคับใช้กฎหมาย” แต่กลับใช้ไปแสวงหาประโยชน์จากธุรกิจผิดกฎหมาย

 

จริงหรือไม่ที่ว่า งานสอบสวนของตำรวจโรงพักทุกวันนี้ฟอนเฟะขาดการกำกับควบคุมดูแลที่เข้มงวด

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พนักงานสอบสวนมีหน้าที่ “ทำการสอบสวนโดยไม่ชักช้า”

ประชาชนเดือดเนื้อร้อนใจแค่ไหนกับ “ความชักช้า” ของพนักงานสอบสวนที่ทำให้เกิดผลเสียหายต่อพยานหลักฐานคดี

ที่แย่ไปกว่านั้นคือการยอมรับ “วัฒนธรรมเป่าคดี” รับแจ้งข้อความ ลงบันทึกประจำวันให้

แต่ไม่ดำเนินการอะไรเลย!

รัฐจ่ายเงินจ้างให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงให้สิ้นเปลืองกันไปวันๆ ไม่เคยสำรวจความพึงพอใจของผู้จ่ายภาษี ไม่เคยมีการกำหนดมาตรฐาน ปรับปรุงพัฒนางาน

ประชาชนไม่มี “ความเชื่อมั่น” ในงานอำนวยความยุติธรรม!

“งานป้องกันปราบปราม” ที่ตำรวจสมัยก่อนถือเป็น “หัวใจ” เป็นเข็มมุ่งข้อแรกแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา นั่นคือ มุ่งรักษาความสงบเรียบร้อยให้สังคม

ทุกวันนี้เป็นอย่างไร

เคยมีพื้นที่เขตความรับผิดชอบกองบัญชาการใด ภาคใด จังหวัดไหน ท้องที่ใด ที่มีความคิดริเริ่มสร้างระบบปฏิบัติการเพื่อ “ป้องกันก่อนเกิดเหตุ” ที่จะทำให้มิจฉาชีพไม่กล้าบุ่มบ่ามเหิมเกริมก่อการอุกอาจ

วันนี้เปลี่ยนไป!

ถึงขั้นสมุนบริวารผู้มีอิทธิพลชั้นปลายแถว เดินเข้ามาจ่อยิง “สารวัตร” ตายคาโต๊ะอาหาร

โดยที่ “พันตำรวจเอก” ร่วมโต๊ะทั้งหลายทำได้แค่ “ปากอ้า ตาค้าง”!!

หน่วยงานตำรวจมีแต่แตกแขนงแยกประเภทเพิ่มมากขึ้นในทุกระดับ กำลังตำรวจก็เพิ่มมากขึ้น ยศตำรวจก็อวยกันมากขึ้นตั้งแต่พลตำรวจตรี พลตำรวจโท และพลตำรวจเอก

มีกี่คนที่ประสีประสานงานในหน้าที่

ทุกวันนี้ มีใครที่เห็นรถสายตรวจวิ่งผ่านมา หรือเห็นด่านตำรวจตั้งอยู่ข้างหน้า แล้วอบอุ่นมั่นใจขึ้นมาโดยพลัน

 

หลายปีมานี้ ภายใต้ระบบการเมืองและสังคมที่เสื่อมทราม ส่งผลทำให้กิจการทุกด้านของตำรวจเลวลง

ถึงอย่างไรในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบบ้าง เต็มใบบ้างนั้น ตำรวจก็ซึมซับเอาวัฒนธรรมที่ต้องแสดงออกถึง “ความรับผิดชอบ” ที่มีต่อประชาชน

แต่เกือบ 2 ทศวรรษมาแล้วที่ตำรวจตกอยู่ในความครอบงำของรัฐบาลซึ่งมาจากคณะรัฐประหาร

เมื่ออำนาจอธิปไตยถูกพรากไปเสียแล้ว ยังจะต้องไปแคร์อะไรกับ “ปวงชนชาวไทย”

ที่กล่าวนี้ไม่ได้ให้ร้ายตำรวจไปเสียทั้งหมด

แต่ยังจำกันได้หรือไม่

สมัยหนึ่ง เมื่อผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีชอบแสดงท่วงท่ากิริยาวาจาก้าวร้าวผ่านช่องทางสื่อสาธารณะ ในเวลาให้สัมภาษณ์ของ “ผู้นำตำรวจ” บางคนท่านก็ทำหน้าตาถมึงทึงและใส่อารมณ์เกรี้ยวกราดใส่ผู้สื่อข่าวเช่นเดียวกัน

ยุคผู้ปกครองมาจากรัฐประหารทำให้ตำรวจเลวลงทุกด้าน

ระบบการปกครองบังคับบัญชาหย่อนยานตั้งแต่ในโรงพัก กองกำกับการ กองบังคับการ กองบัญชาการ ไล่ไปจนถึงชั้นสูงสุดก็คุมกันไม่ได้ ปกครองกันหลวมๆ ปลอมๆ ลูกน้องและรุ่นน้องคุ้นชินกับความร่านทะยานอยากใหญ่ ถึงเวลาก็วิ่งข้ามหัว หักโค่นทำลาย การแต่งตั้งโยกย้ายไร้บรรทัดฐาน ระบบคุณธรรมถูกทำลาย

ใครเป็นใหญ่ก็กลายเป็นความถูกต้อง

 

“ความไม่เป็นธรรม” เป็นความปกติในวงการตำรวจ จนตำรวจเองก็มองไม่เห็นแสงสว่าง ราวกับ “ความยุติธรรม” เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง

ตำรวจดีๆ จำนวนหนึ่งที่ “ทน” ต่อระบบและวัฒนธรรมองค์กรไม่ได้จึงทยอยกัน “ลาออก”

ตามโรงพัก ตามหน่วยงานต่างๆ ปรากฏ “นักล่า” กล้าตายเพิ่มมากขึ้น คนพวกนี้ “ถมเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักเต็ม” ให้กินเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักอิ่ม เรียนกฎหมายมาก็เข้าไม่ถึง “คุณธรรม” ของกฎหมายจริง ใช้กฎหมายแต่ก็เพียงเพื่อ “หาเลี้ยงชีพ” ไม่ใช่ “วิชาชีพตำรวจ” ซึ่งต้องคำนึงถึงประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่เคียงขนานกันไป

สมัยแต่ก่อน แค่ “ผู้การ” ก็มีความรู้ มีฝีไม้ลายมือ มีระเบียบวินัย มี “ภาวะผู้นำ” น่าเกรงขาม

สมัยก่อน “รองผู้บัญชาการ” ที่เป็น “แคนดิเดต” จะขึ้นเป็น “ผู้บัญชาการ” ไม่ว่าในนครบาลหรือภูธร ต่างก็ต้องมีกึ๋นและต้องโชว์กึ๋นด้วย “งาน” ในด้านที่ตัวถนัด ไม่ว่างานสายตรวจ งานสืบสวน งานสอบสวน

หรือแม้แต่ด้านสังคม เช่น การควบคุมเข้มงวดอบายมุข การปราบยาเสพติด หรือเกี่ยวกับสวัสดิภาพของเด็กและสตรี ทุกคน “มีดี” ต้องแข่งขัน เทียบวัดกันด้วยฝีมือ

จะนั่งเก้าอี้สำคัญ สังคมต้องเชื่อมั่น!!

 

ทุกวันนี้ไม่มี ไม่เคยได้ยินว่าจะต้อง “แข่งงาน” เทียบวัดความรู้ความสามารถ

ที่แข่งกันคือ ถือตั๋วใคร ตั๋วใหญ่ ตั๋วเล็ก มีตั๋วกี่ใบทับซ้อนกันมา

หน่วยตำรวจแต่ละระดับจึงมักได้ “นาย” หรือผู้บังคับบัญชาที่เป็น “ของปลอม”!

ไม่รู้เรื่องงาน ไม่เข้าใจความต้องการของประชาชน

ถึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแห่งหนที่สำคัญ แต่ก็ไม่รู้เรื่องงาน ไม่เข้าใจความต้องการของประชาชน ไม่เคยมีเข็มมุ่งในหัวใจว่าจะทำ “เพื่อประชาชน”

ไม่มีแล้ว “โรงพักเพื่อประชาชน” ในความหมายเชิงอุดมการณ์!

ไม่มี “เขตปลอดอาวุธ” ตามพื้นที่ชุมชนและสถานบริการที่สะท้อน “จุดมุ่งหมาย” สร้างความอบอุ่นและมั่นใจในความปลอดภัยให้กับประชาชนอีกแล้ว

นี่เป็นยุคสมัยที่ความเดือดเนื้อร้อนใจของประชาชนถูกจัดลำดับเอาไว้ท้ายสุด!?!!