ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 มกราคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ฝนไม่ถึงดิน |
ผู้เขียน | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี |
เผยแพร่ |
ฝนไม่ถึงดิน | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
ตุ๊กตาของคาฟคา
: กับแง่คิดความสัมพันธ์ของมนุษย์
ผ่านระบบสวัสดิการ
เมื่อปลายปี 2566 ผมมีโอกาสได้รับบทบาทที่สำคัญที่สุดในชีวิต เมื่อลูกสาวตัวน้อยของผมลืมตาดูโลก และเปลี่ยนโลกและความสัมพันธ์
บทบาทการเป็นพ่อเดือนแรก เป็นอะไรที่ท้าทาย ตื่นเต้นและเหนื่อยอย่างมาก
แม้จะสอนหนังสือและสัมพันธ์กับเด็กๆ มาหลายปี แต่การเลี้ยงลูกก็เป็นอะไรที่แตกต่างไป
แต่ละวันผ่านไปคือชีวิตที่ทวีคูณของเด็กน้อย และเหมือนเป็นการถ่ายเวลาและประสบการณ์ในชีวิตของเราสู่ชีวิตใหม่อีกชีวิตหนึ่ง
มีคำอธิบายที่น่าสนใจว่า สำหรับเด็กน้อยขวบปีแรก เวลาที่ต้องการที่สุดคือ “เวลาเชิงปริมาณ” เวลาที่พ่อแม่ หรือคนดูแลให้กับเขาอย่างไม่ต้องมีเหตุผล ให้โดยไม่คำนวณว่าจะได้อะไรกลับมา ซึ่งสำคัญกว่าเวลาเชิงคุณภาพ ที่อาจต้องรอคอยช่วงเวลาพิเศษ หรือสุดสัปดาห์ ที่ยังไม่สามารถรับรู้เวลาคุณภาพได้ในปีแรกๆ ของชีวิตของทุกคน
เป็นเหตุผลที่ในประเทศพัฒนาแล้วจึงมีวันลาสำหรับการเลี้ยงดูบุตร เงินชดเชยรายได้แบบถ้วนหน้าสำหรับแม่และพ่อที่ดูแลบุตรแรกเกิด
เพราะสุขภาพจิตและและความมั่นคงทางการเงินของพ่อแม่ ย่อมทำให้เด็กคนหนึ่งสามารถเติบโตอย่างสมบูรณ์
ชีวิตเด็กคนหนึ่งจะดีหรือไม่ เกี่ยวพันโดยตรงกับชีวิตพ่อแม่
และการพยายามลดความเสี่ยงของพ่อแม่สำหรับการเลี้ยงลูก ก็คือสิ่งที่เป็นประโยชน์โดยตรงกับเด็กๆ ด้วยเช่นกัน
แต่เรื่องราวที่ผมอยากพูดถึงอาจมีรายละเอียดมากกว่าสวัสดิการในการเลี้ยงลูก
เมื่อมีลูกของตัวเอง ผมนึกถึงเรื่องราวหนึ่งที่เคยอ่านมานาน คือเรื่องราว “ตุ๊กตาของคาฟคา”
ฟรานซ์ คาฟคา เป็นนักเขียนที่เกิดในประเทศสาธารณรัฐเช็กปัจจุบัน งานเขียนในภาษาเยอรมันของเขาส่วนมากเป็นเรื่องเศร้า หมองหม่น และสะท้อนอารมณ์ด้านมืดของมนุษย์
เหมือนกับที่เขาเคยกล่าวว่า “ชีวิตนี้สั้นนักเกินกว่าจะตกหลุมรักอย่างหัวปักหัวปำ”
แต่ก็มีเรื่องราวของคาฟคาที่สะท้อนความสวยงามและความสัมพันธ์ของมนุษย์
มีเรื่องราวที่ว่า คาฟคาพบเด็กผู้หญิงร้องไห้ในสวนสาธารณะ เธอทำตุ๊กตาตัวโปรดของเธอหายไป คาฟคาพยายามช่วยหาแต่ก็ไม่เจอ เด็กผู้หญิงเสียใจมาก
คาฟคาจึงบอกว่าตุ๊กตาไม่ได้หายไป มันแค่เดินทางไปที่อื่น
จากนั้นวันแล้ววันเล่า คาฟคามาที่สวนสาธารณะแล้วอ่านจดหมายที่ตุ๊กตาตัวน้อยเขียนหาเจ้าของ ว่าตัวมันได้เดินทางไปทำอะไรต่างๆ เป็นภารกิจที่ทำให้ไม่ได้มาเจอกับเด็กผู้หญิงตัวน้อย
มีเรื่องราวของการเดินทาง และความสัมพันธ์ต่างๆ มากมาย จนวันหนึ่งคาฟคาได้นำตุ๊กตากลับมาให้แก่เด็กผู้หญิง
ซึ่งเธอก็บอกแก่คาฟคาว่ามันไม่ใช่ตุ๊กตาตัวเดิมที่หายไป
คาฟคาอธิบายว่า “การเดินทางและเวลาทำให้ฉันกลายเป็นตุ๊กตาตัวใหม่ ฉันไม่ได้หายไปไหน เพียงแค่ฉันเติบโตตามประสบการณ์ของฉันเอง”
สําหรับเรื่องราวของตุ๊กตาตัวน้อยของคาฟคา ให้แง่คิดที่สำคัญคือ ในชีวิตของมนุษย์ไม่ว่าจะชนชั้นใด ไม่มีใครมีภูมิคุ้มกันต่อ “ความสูญเสีย”
เราล้วนเคยเศร้าใจในการสูญเสียสิ่งที่เรารัก ไม่มีใครเตรียมพร้อมสำหรับเรื่องนี้ แต่ในความสูญเสียก็จะมีสิ่งที่เรารักสิ่งใหม่เข้ามาในชีวิตเรา
แต่อะไรทำให้มนุษย์ผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นได้ เวลาของความสูญเสียที่มีความซับซ้อนตามแต่ละช่วงวัย ตามแต่ละประสบการณ์ของแต่ละคน
ผมเขียนย่อหน้านี้ขณะชำเลืองดูลูกสาวตัวน้อยของผมที่กำลังหลับตาเคลิ้มในเปล
ผมได้ข้อสรุปที่แสนง่ายว่า เพราะเราเป็นมนุษย์ที่อ่อนแอ มนุษย์ที่เกิดใช้เวลาเกือบหนึ่งปีถึงจะเดินได้ ใช้เวลาอีก 2-3 ปีถึงจะสามารถสื่อสารได้
สิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอนี้ ผ่านช่วงที่เลวร้ายทั้งสำหรับปัจเจกชน และสำหรับเผ่าพันธุ์ได้ด้วยการดูแลกัน ช่วยเหลือระหว่างกัน แบ่งปันสิ่งที่มีมากกว่าให้กับผู้คนที่เราไม่รู้จัก
ผมเองก็เป็นตุ๊กตาตัวหนึ่งของลูกสาวผม และเธอจะพบเจอตุ๊กตาต่างๆ มากมายที่เข้ามาในชีวิตของเธอ
ในความสัมพันธ์จะมีทั้งความรัก ความสุข และรอยแผลโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ
จนวันหนึ่งตุ๊กตาตัวนั้นก็แปรสภาพจากวันแรกที่ได้รู้จักกันกลายเป็นตุ๊กตาอีกตัวหนึ่ง ที่อาจไม่ใช่ความรู้สึกที่ดีที่สุด หรือสวยงามที่สุดเช่นกัน
แล้วอะไรที่จะทำให้เราสามารถสัมพันธ์กันได้อย่างที่ไม่ต้องเสียใจภายหลัง หรือเสียใจน้อยที่สุด
ก็คงเป็นสังคมที่เรามีทางเลือกในชีวิต
สังคมที่เราเป็นอิสระจากความกลัว หรือการตัดสินใจต่างๆ เพราะการมีข้อจำกัดที่เราไม่ได้เป็นผู้เลือกแต่แรก
หรือหากให้ผมสรุปคือ หากเรามีสังคมที่ยุติธรรม มีการศึกษาฟรี มีที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่แพง ดอกเบี้ยเงินกู้ไม่สูง มีเงินบำนาญ มีเงินเลี้ยงดูบุตร มีระบบประกันสังคมที่ดี มันก็จะทำให้ เมื่อเราเผชิญอยู่ในความสัมพันธ์กับใครก็ตามไม่ว่าจะเป็นลูก เพื่อน คนรัก หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน เราก็จะมีทางเลือกที่จะสร้างบาดแผลให้แก่พวกเขาน้อยที่สุด
เป็นเรื่องที่ทำให้เราได้เข้าใกล้ความเป็นมนุษย์ของเราได้อีกก้าวหนึ่ง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022