เจ็บไข้ได้ป่วย แชตบ็อตช่วยได้ไหม | จิตต์สุภา ฉิน

การวินิจฉัยอาการตัวเองโดยใช้ Google น่าจะเป็นสิ่งที่เราทุกคนเคยทำกันมาแล้วทั้งนั้น

เมื่อเกิดอาการผิดปกติบางอย่างขึ้นกับร่างกาย วิธีที่เราพอจะหาคำตอบคร่าวๆ ได้ด้วยตัวเองอย่างรวดเร็วก็น่าจะเป็นการพิมพ์อาการเหล่านั้นเข้าไปใน Google นี่แหละ จากนั้นก็ค่อยๆ ไล่กดอ่านตามลิงก์ต่างๆ ว่าอาการของเราน่าจะตรงกับโรคอะไรมากที่สุด

ในยุค AI แบบนี้ หลายๆ คนอาจจะไม่เลือกที่จะ Google อาการอย่างเดียวแล้ว แต่หันไปพึ่งอีกหนึ่งตัวเลือกที่เราเชื่อว่าฉลาดกว่าและตรงจุดกว่า

นั่นคือการให้ AI อย่าง ChatGPT หรือ Bard ช่วยวินิจฉัยอาการให้

ChatGPT เป็นแชตบ็อตที่ใช้พลังเอไอในการขุดค้นหาข้อมูลจากบนอินเตอร์เน็ต นำมาร้อยเรียงให้เป็นภาษาที่เป็นธรรมชาติ เข้าใจง่าย เพื่อใช้ในการตอบคำถามที่เราป้อนเข้าไปถาม

หากลองเปรียบเทียบกันระหว่างการนำอาการไป Google กับการบอกอาการให้ ChatGPT ช่วยวินิจฉัยให้ ผลลัพธ์ที่ได้จาก ChatGPT จะตรงจุดมากกว่า รวบรวมคัดย่อมาให้อ่านเข้าใจได้สั้นๆ

ไม่เหมือนการต้องไล่อ่านลิงก์ผลลัพธ์การค้นหาของ Google เองจนกว่าจะได้คำตอบที่พอใจที่สุด

 

ฉันลองใส่อาการบางอย่างเข้าไปให้ ChatGPT วินิจฉัย เช่น อาการแน่นหน้าอก อ่อนเพลีย แขนชา แน่นอนว่ามันจะต้องเริ่มด้วยการเตือนให้เรารับทราบเงื่อนไขก่อนว่า ChatGPT ไม่ใช่หมอ ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ แต่จากอาการที่เล่ามา นี่อาจจะเป็นสัญญาณของอาการเจ็บป่วยร้ายแรงอย่างเช่นหัวใจวายได้ และบอกให้รีบไปหาหมอโดยด่วนที่สุด

ถ้าใส่อาการที่ไม่ซีเรียสมากอย่างอาการปวดหัว มึนหัว เข้าไป ChatGPT ก็จะบอกว่าอาจจะเป็นเพราะขาดน้ำ มีความเครียด หรือนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ถ้าหากหยุดพักสักหน่อย ดื่มน้ำเยอะๆ ก็อาจจะดีขึ้น และไล่ให้ไปหาหมอถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง

เมื่อลองใช้อาการเดียวกันนี้ค้นหาบน Google บ้าง ถึงแม้ว่าผลลัพธ์สุดท้ายจะไม่ต่างกันมากสักเท่าไหร่ แต่คำตอบที่ได้จาก ChatGPT นั้นกระชับ เข้าใจง่าย และประหยัดเวลามากกว่าเพราะเป็นคำตอบที่ถูกร่างขึ้นเพื่อตอบคำถามของเราโดยเฉพาะ

ยิ่งได้คำตอบที่อ่านเข้าใจง่ายและว่องไวแบบนี้ก็ยิ่งทำให้คาดการณ์ได้ง่ายว่าเราจะใช้ AI ช่วยวินิจฉัยอาการกันมากขึ้นกว่าที่ผ่านมาแน่ๆ

 

บุคลากรทางการแพทย์ได้ออกมาเตือนอยู่เรื่อยๆ ว่าการวินิจฉัยโรคด้วยตัวเองโดยเสิร์ชข้อมูลบนออนไลน์ค่อนข้างอันตราย เราอาจจะได้ข้อสรุปแบบที่ผิดจากความเป็นจริงไปคนละทาง ถ้าไม่ใช่ไม่กังวลมากเกินไป ก็อาจจะกังวลน้อยเกินไป อาการเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ได้สลักสำคัญอะไรมากอาจจะกลายเป็นโรคร้ายขึ้นมาได้

ในขณะที่อาการที่ควรจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องหาหมอเร่งด่วนก็อาจถูกเข้าใจว่าเป็นความน่ารำคาญจิ๊บจ๊อยจนอาจจะทำให้รับการรักษาไม่ทันท่วงที

ยังดีที่นักวิจัยในยุโรปค้นพบในปี 2017 ว่ากว่าครึ่งหนึ่งของคนที่บอกว่าวินิจฉัยอาการตัวเองบนโลกออนไลน์นั้นสุดท้ายก็ยังเลือกที่จะไปหาหมออยู่ดี

อย่างไรก็ตาม การ Google หรือ ChatGPT ถามอาการตัวเองก่อนไปหาหมอก็ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป อย่างไรเสีย การพอจะรู้ภาพกว้างๆ ของสิ่งที่ตัวเองอาจจะกำลังเผชิญอยู่ก็เป็นเรื่องดีตราบใดที่เราไม่หยุดอยู่ที่การหาข้อมูลง่ายๆ จากบนอินเตอร์เน็ตแต่เพียงอย่างเดียว หากเราหาข้อมูลความเป็นไปได้บางอย่างไว้ก่อน เมื่อได้คุยกับหมอเราก็อาจจะเข้าใจเนื้อหาได้มากขึ้น หรือถามได้อย่างตรงจุดมากขึ้น

วิธีที่เหมาะสมที่สุดในการใช้ ChatGPT ช่วยวินิจฉัยอาการที่เรื้อรังบางอย่างก็คือจะต้องให้ข้อมูลของตัวเองอย่างละเอียดแล้วนำคำตอบที่ได้ไปปรึกษาหมอ

เว็บไซต์ CNET ยกตัวอย่างพร็อมพ์ที่สามารถใช้ได้ อย่างเช่น

“ฉันอายุ 30 ปี มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ ฉันกังวลว่าตัวเองจะมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจเมื่ออายุมากขึ้น ฉันควรจะต้องปรึกษาหมอว่ายังไงดี”

หรือ “ฉันเป็นผู้หญิงอายุ 50 ปี มีภาวะก่อนเบาหวาน หมอที่ฉันไปหาไม่ค่อยมีเวลาตอบคำถามของฉันสักเท่าไหร่ นัดครั้งต่อไปฉันควรจะต้องถามอะไรหมอบ้าง”

เมื่อใส่พร็อมพ์เข้าไปแบบนี้ ChatGPT จะไล่เรียงความสำคัญมาให้อย่างละเอียดว่ามีอะไรที่เราจะต้องใส่ใจบ้าง จะต้องเตรียมตัวคุยกับหมอว่าอะไร หรือเราจะร้องขออะไรจากหมอได้บ้าง ก็จะช่วยทำให้ประสบการณ์การหาหมอครั้งต่อไปตรงจุดและได้ประสิทธิภาพมากขึ้น

 

นอกจากการใช้เพื่อวินิจฉัยอาการที่เกิดขึ้นแล้ว แชตบ็อตพลัง AI ยังสามารถช่วยออกแบบการออกกำลังกายเพื่อทำให้เรามีสุขภาพดีขึ้นได้

ฉันเชื่อว่าตั้งแต่ขึ้นปีใหม่เป็นต้นมา คุณผู้อ่านหลายคนน่าจะตั้งปณิธานเอาไว้ว่าปีนี้จะต้องออกกำลังกายให้มากขึ้น การลุกขึ้นมาออกกำลังกายอย่างมีระเบียบวินัยก็ว่ายากแล้ว แต่อีกอุปสรรคที่จะทำให้เราไม่สามารถทำตามความตั้งใจที่วางไว้ได้ก็อาจจะเป็นเรื่องเงิน อย่างเช่น เงินค่าสมัครสมาชิกฟิตเนส หรือค่าจ้างเทรนเนอร์ส่วนตัว

หากเราใส่พร็อมพ์ที่ถูกต้องและละเอียดพอ แชตบ็อตอย่าง ChatGPT ก็สามารถช่วยออกแบบแผนการออกกำลังกายให้เราได้ คล้ายๆ กับที่เทรนเนอร์ส่วนตัวจะทำให้เราได้

พร็อมพ์ที่เหมาะสมก็อย่างเช่น เราต้องให้ข้อมูลว่าเราเป็นเพศชายหรือหญิง อายุเท่าไหร่ น้ำหนักตัวปัจจุบันเท่าไหร่ เป้าหมายของการออกกำลังกายคืออะไร มีเวลาออกกำลังกายบ่อยแค่ไหนในหนึ่งสัปดาห์ มีอุปกรณ์การออกกำลังกายอะไรบ้าง

ยิ่งเราใส่รายละเอียดเข้าไปให้ได้มากเท่าไหร่ แผนการออกกำลังกายของเราก็จะแม่นยำเหมาะสมกับเรามากขึ้นเท่านั้น

เทคโนโลยีอย่างแชตบ็อต AI สามารถช่วยเราได้ตั้งแต่การเริ่มสร้างสุขภาพที่ดี ไปจนถึงการช่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติมในตอนที่เรามีปัญหาด้านสุขภาพ โดยทักษะที่เราจะต้องเตรียมให้พร้อมคือจะสื่อสารกับมันอย่างไรให้เราได้คำตอบที่แม่นยำที่สุด ซึ่งก็จะต้องทำผ่านการฝึกทักษะการเขียนพร็อมพ์นั่นเอง

ส่วนการใช้ AI แทนเทรนเนอร์ส่วนตัว แม้จะเขียนแผนออกกำลังกายให้ได้ แต่มันก็ยังไม่สามารถโทร.จิก หรือยืนเฝ้าเราวิดพื้นจนครบจำนวนครั้งได้

อันนั้นยังต้องอาศัยวินัยจากตัวเราเองล้วนๆ ค่ะ