ดอกเบี้ยแสลงใจ

กระแสข่าวสัปดาห์ก่อนที่เริ่มจากข่าวพาดหัว “ประชาชาติธุรกิจ” ที่ประมาณการกำไรธนาคารพาณิชย์ปี 2566 ช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น มีกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 2.2 แสนล้านบาท แล้วตามด้วย “หนุ่มเมืองจันท์” คอลัมนิสต์นำไปวิเคราะห์ต่อโพสต์ขึ้นเฟซบุ๊ก

กลายเป็นประเด็นข่าวฮอตเมื่อรายการข่าวโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ต่างๆ นำไปเผยแพร่ต่อ จนกลายเป็นกระแสไวรัลในโลกโซเชียล

มีบุคคลในแวดวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องออกมาให้ความเห็นตามแง่มุมประสบการณ์และผลประโยชน์ของคนแต่ละกลุ่ม

แต่แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่มหาศาลคือลูกหนี้เงินกู้ เป็นผู้ที่อึดอัดคับข้องใจกับเหตุการณ์อัตราดอกเบี้ย “ขาขึ้น” ที่ธุรกิจต่างๆ ลำบาก ต้นทุนเพิ่ม กำไรลด แต่ธุรกิจธนาคารกลับมีกำไรมากขึ้นจากส่วนต่างๆ อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

 

ยิ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โครงการบ้าน คอนโดฯ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ผู้ผลิตสินค้าและลูกค้าผู้ซื้อสินค้าต่างต้องกู้เงินธนาคารทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากเป็นสินค้าราคาสูง

บริษัทพัฒนาอสังหาฯ ต้องใช้เงินกู้บางส่วนในการซื้อที่ดิน และต้องใช้เงินกู้ค่าก่อสร้าง ส่วนลูกค้าผู้ซื้อบ้าน คอนโดฯ ก็ต้องใช้เงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจึงกระทบทั้งต้นทุนการผลิตบ้าน คอนโดฯ กระทบกับภาระการผ่อนของผู้ซื้อ

ช่วงอัตราดอกเบี้ย “ขาขึ้น” ที่ผ่านมา ลูกหนี้แบงก์ที่กำลังผ่อนบ้านก็จะพบสถานการณ์ที่เงินงวดที่ผ่อนแต่ละเดือนมีสัดส่วนที่ชำระดอกเบี้ยมาก ส่วนที่ตัดเงินต้นน้อยลง เพราะอัตราดอกเบี้ย “โฟลตเรท” ที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นเรื่องบาดใจแสลงใจ

ส่วนทางด้านบริษัทพัฒนาอสังหาฯ ก็ต้องเจอภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น และขณะเดียวกันก็กู้ยากขึ้นด้วยเพราะธนาคารระมัดระวัง เข้มงวดมากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยขยับขึ้นและกู้ยากขึ้นก็ยังถือว่าเป็นภาวะที่ผู้บริหารธุรกิจต้องเผชิญและแก้ไข

 

แต่ปัญหาที่ใหญ่และหนักยิ่งกว่า คือปัญหาลูกค้าซื้อบ้านคอนโดแล้ว ยื่นกู้ธนาคารแล้วไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่ออัตราสูงมากถึงเฉลี่ย 50% บางระดับราคา บางประเภทโครงการ และบางทำเลอาจสูงถึง 60-70%

สาเหตุก็เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ภาระของผู้กู้ย่อมมากขึ้น ความเสี่ยงก็มากขึ้น บวกกับแนวโน้มอัตราการขาดผ่อนชำระไม่เกิน 3 เดือนลูกหนี้รายย่อยของธนาคารเพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

เมื่อลูกค้าซื้อบ้าน คอนโดฯ กู้ไม่ผ่านครึ่งหนึ่งของผู้ที่จ่ายเงินจองและผ่อนดาวน์ บริษัทอสังหาฯ ก็ต้องนำกลับมาทำตลาดขายใหม่ ต้นทุนการตลาดก็เพิ่มขึ้นอีก เงินสดที่ควรจะได้เข้ามาตามกำหนดก็ไม่ได้ ซ้ำภาระหนี้เงินกู้ค่าที่ดินและก่อสร้างก็ต้องยืดเวลาออกไปอีกเพิ่มต้นทุนการเงินขึ้นอีก

สถานการณ์แบบนี้ เสถียรภาพระบบการเงินก็น่าจะดี แต่ธุรกิจกับเศรษฐกิจนั้น ไม่ดีแน่

ถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ยืดเยื้อไปนานๆ ย่อมเกิดปัญหาสภาพคล่องของธุรกิจ

และสุดท้ายก็จะย้อนกลับไปกลายเป็นปัญหาหนี้เสียให้กับธนาคารอยู่ดี

คิดให้ดี •