จรัญ มะลูลีม : ภูมิทัศน์ของอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (1)

จรัญ มะลูลีม

ประชาชนในภูมิภาคต่างๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งถือกำเนิดในคาบสมุทรอาหรับมายาวนานหลายศตวรรษ การติดต่อกับชาวมุสลิมมาจากหลายเส้นทางโดยผ่านการค้า การพิชิต และการแต่งงาน อย่างไรก็ตาม การยอมรับอิสลามนั้นมีมายาวนานนับชั่วอายุคน

ทุกวันนี้อิสลามเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดของเอเชีย ผู้นับถือศาสนาอิสลามเหล่านี้จะอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันเป็นดินแดนที่มีชาวมุสลิมอยู่ราว 300 ล้านคน รวมทั้งประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่และเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุด อันดับสามของโลกอย่างอินโดนีเซีย

ชาวมุสลิมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจเรียกได้ว่าเป็นผู้ที่มีการรับรู้ต่อความเป็นมุสลิมเป็นอย่างมากและเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในทางการเมือง การพัฒนากับผู้คนส่วนอื่นๆ ของโลก

ศาสนาอิสลามมีอยู่หลายโฉมหน้าในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งในด้านการปฏิบัติและสำนักคิด

จุดมุ่งหมายของบทความนี้จะเป็นการนำเสนอการสำรวจโฉมหน้าของอิสลาม ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านประวัติศาสตร์และแง่มุมร่วมสมัยทั่วไป เป็นการศึกษาจากเอกสารทุติยภูมิเป็นด้านหลัก

image

ตะวันออกกลางหรือเอเชียตะวันตกถือเป็นต้นกำเนิดของศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมผู้นับถือศาสนานี้ ตะวันออกกลางจึงเป็นจุดศูนย์กลางแห่งการอ้างอิงสำหรับชาวมุสลิมทั่วโลกโดยผ่านเวลาและพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม หรือแม้แต่เหตุผลทางการเมือง

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในดินแดนที่มีประชากรมากที่สุดของโลกมุสลิม (Islamic world) และบ่อยครั้งจะเรียกกันว่าหมู่เกาะมุสลิม (Muslim archipelago) ชาวมุสลิมจำนวนไม่น้อยกว่า 300 ล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับได้เป็นร้อยละ 42 ของประชากรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดหรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของประชากรในโลกมุสลิม ซึ่งปัจจุบันคาดว่ามีอยู่ราว 1.6 พันล้านคน

ประชากรชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมาจากสำนักคิดซุนนีอิสลามและปฏิบัติตามคำสอนทางกฎหมายของสำนักคิดชาฟีอี (Shafii School of Muslims Jurisprudence) ซึ่งเป็นหนึ่งในสำนักคิดของซุนนี สำนักคิดซุนนีนี้มีผู้ปฏิบัติตามในโลกที่เรียกกันว่าโลกมาเลย์-อินโดนีเซีย (Malay-Indonesian world) รวมถึงสิงคโปร์และภาคใต้ของไทยและภาคใต้ของฟิลิปปินส์

สำนักคิดชีอะฮ์ (Shi”ah School of thought) อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมิใช่เกิดจากเหตุการณ์หลังการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านหลังปี 1979 เท่านั้น แต่มันเป็นเรื่องของวิถีทางประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับการมีอยู่ของรหัสยนัยหรือประสบการณ์ทางจิตของอิสลามที่เรียกกันว่าลัทธิซูฟี (Islamic mysticism, or Sufism)

สำนักคิดชีอะฮ์ (Shi”sm) นั้นกล่าวกันว่ามีผู้นับถือมาตั้งแต่ตอนต้นซึ่งเรียกช่วงนี้ว่าช่วงการถือกำเนิดลัทธิชีอะฮ์ดั้งเดิม (proto-Shism) ในหมู่ประชาชนชาวจาม (Cham people) อันเป็นชนกลุ่มน้อยเชื้อชาติมาเลย์ซึ่งปัจจุบันเป็นชาวกัมพูชาและเวียดนาม มาตั้งแต่ตอนต้นของศตวรรษที่ 7 อันเป็นยุคที่อยู่ในช่วงของการวางรูปแบบของอิสลาม

ไม่มีสิ่งใดมีลักษณะเป็นที่ประหลาดใจนักภายในบริบทของที่ตั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เอื้อต่อภูมิทัศน์ทางภูมิศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางการค้าขายทางเรือระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับจีนและมหาสมุทรอินเดียอันกว้างใหญ่ไพศาลกับดินแดนตะวันออกกลาง

ในบรรดาประเทศต่างๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อินโดนีเซียเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศสมัยใหม่และมีพลวัต ส่วนบรูไนเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดของโลก

มีประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีขนาดใหญ่ซึ่งรวมทั้งประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ส่วนที่เหลือเป็นชุมชนมุสลิมเล็กๆ ที่ยังรู้จักกันน้อยและส่วนใหญ่จะอยู่ในดินแดนอินโดจีน

ในเวลาเดียวกันอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติของมาเลเซียและบรูไน และเป็นหนึ่งในศาสนาที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการของประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ชาวมุสลิมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ พูดภาษาต่างกัน อย่างเช่น บาฮาสา อินโดนีเซีย มาเลย์ ชวา มาราเนา มากินดาเนา เตาซุก ไทย จีน และพม่า

ในการเปรียบเทียบกับชาวมุสลิมในส่วนอื่นๆ ของโลก ชาวมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เชื่อว่าพวกเขาได้รับการอำนวยพรด้วยสินทรัพย์และความเข้มแข็งจากพระเจ้า

ความจริงก็คือประเทศทั้งหลายที่อยู่รายล้อมโลกมุสลิมได้มองชาวมุสลิมในพื้นที่นี้ว่าเป็นต้นแบบในเรื่องของความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและความทันสมัยและมีความเป็นสายกลางตามหลักคำสอนของอิสลาม

นอกเหนือไปจากสินทรัพย์ของชาวมุสลิมที่นี่แล้ว ยังมีความหลากหลายอย่างที่สุด รวมทั้งความท้าทายในความสัมพันธ์ของพวกเขากับประชากรมุสลิมส่วนอื่นๆ อีกด้วย

การท้าทายที่ได้กล่าวมาข้างต้นเป็นมากกว่าหลักฐานเมื่อเรานำเอาเรื่องราวต่างๆ อย่างเช่น มุมมองในภาคปฏิบัติของอิสลาม ลักษณะเด่นของความเป็นชาติพันธุ์ แนวทางของอิสลามที่จะนำเอามาใช้ในสังคมสมัยใหม่ และมุสลิมที่มีระดับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกับผู้ที่ไม่ได้เป็นมุสลิมมากล่าวถึง รวมทั้งชาวมุสลิมที่เป็นชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศที่มีการพัฒนาน้อยในดินแดนนี้ ซึ่งมักจะเป็นพวกที่ตั้งข้อสงสัยต่อปัญหาต่างๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น

บทความนี้จะมุ่งความสนใจไปที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก เริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงภูมิศาสตร์การแพร่ขยายของอิสลามในภูมิภาคนี้ รวมทั้งปัจจัยที่ช่วยก่อรูปสังคมมุสลิมซึ่งครอบคลุมทั้งประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ (อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน) และประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อย (สิงคโปร์ ไทย ฟิลิปปินส์ เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา และลาว)