พระปิดตาน้ำนมควาย วัตถุมงคล ‘พ่อท่านมุ่ย’ พระเกจิชื่อดังปากพนัง

“พ่อท่านมุ่ย จันทสุวัณโณ” หรือ “พระครูนิโครธจรรยานุยุต” วัดป่าระกำเหนือ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม ชาวใต้ให้ความเลื่อมใสศรัทธา

หนึ่งในพระเกจิอาจารย์ในพิธีพุทธาภิเษก จตุคามรามเทพรุ่นแรก ปี 2530 พระเครื่องและวัตถุมงคลแต่ละชนิดแต่ละรุ่น เช่น พระปิดตา พระพิมพ์ประทานพร ลูกอม จะปลุกเสกเดี่ยว

พระเครื่องที่โด่งดัง เป็นที่นิยมกันมากและหายาก คือ “พระปิดตาน้ำนมควาย” สร้างจำนวนไม่มาก

รุ่นแรก มีทั้งพิมพ์เล็กและพิมพ์ใหญ่ ซึ่งพิมพ์ใหญ่จะเป็นที่นิยมมากกว่า

พระปิดตาน้ำนมควายรุ่นแรกนั้น กรรมวิธีการสร้างพิถีพิถัน และสร้างยากมาก ขั้นแรก จะทำแท่งดินสอที่จะนำมาเขียนอักขระ โดยทำจากข้าวเม่าตำผสมกับสมุนไพรและมวลสารต่างๆ ตามตำราโบราณ ปั้นเป็นแท่งใช้เขียนอักขระลงบนกระดานชนวนพร้อมบริกรรมคาถาไปด้วย แล้วลงอักขระทำผงปถมังด้วยนะต่างๆ จนผงทะลุกระดานชนวน

ในครั้งแรกๆ ผงหายไปหมด จึงไปปรึกษากับพ่อท่านหมุน วัดเขาแดงตะวันออก ซึ่งเป็นสหธรรมิก ได้รับคำแนะนำให้ใช้ใบกล้วยทองลงอักขระยันต์ผูกธรณีรองรับ จึงจะได้ผงปถมัง จากนั้นก็เพียรสร้างผงวิเศษเป็นเวลาหลายปีเก็บไว้ ก่อนจะนำมาสร้างเป็นพระเครื่อง โดยใช้น้ำนมควายเป็นตัวประสาน

พระปิดตา พ่อท่านมุ่ย

พ่อท่านมุ่ยบอกว่า “น้ำนมวัว น้ำนมควาย ชุบเลี้ยงคนบนโลกนี้มานานแล้ว เป็นสัตว์ที่มีคุณต่อมนุษย์”

ด้วยเหตุที่น้ำนมควาย มีความข้นกว่าน้ำนมวัว จึงใช้น้ำนมควายเป็นตัวประสาน ขั้นตอนในการเคี่ยวน้ำนมควายนั้นก็พิถีพิถัน ขั้นแรกก็ต้องนำก้อนเส้าที่จะใช้ทำเตามาลงอักขระบนก้อนเส้าทุกก้อน ฟืนก็ใช้ไม้มงคลต่างๆ และลงอักขระทุกท่อน ภาชนะที่จะใช้เคี่ยวน้ำนมควาย แม้แต่ไม้พายที่จะใช้ในการเคี่ยวก็ต้องลงอักขระทุกชิ้น ขณะเวลาเคี่ยวก็ต้องบริกรรมคาถาตลอดการเคี่ยวจนเสร็จ

เมื่อน้ำนมควายข้นดีแล้ว จึงนำมาคลุกเคล้ากับผงปถมังที่เขียนไว้ โดยมิได้ผสมปูนหรือสิ่งอื่นใดเลย เป็นเนื้อผงปถมังล้วน เมื่อเหนียวดีแล้ว จากนั้นจะกดลงบนพิมพ์ และตกแต่งที่ด้านหลังทุกองค์ ทุกขั้นตอนจะทำผู้เดียวตลอดทุกองค์ หลังจากนั้นจึงมาทาแล็กเกอร์บ้าง เชลแล็กบ้าง ในส่วนนี้มีลูกศิษย์มาช่วยทา

หลังจากนั้นจะนำพระไปปลุกเสกเดี่ยวเป็นเวลานาน ส่วนมากก็จะตลอดช่วงเข้าพรรษา แล้วจึงนำมาแจก

จัดเป็นพระปิดตาที่หายาก เนื่องด้วยจำนวนการสร้างที่น้อย

 

มีนามเดิม มุ่ย ทองอุ่น เกิดเมื่อวันอังคารที่ 4 เมษายน 2442 ที่บ้านป่าระกำ หมู่ที่ 6 ต.ป่าระกำ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช บิดา-มารดาชื่อ นายทองเสน และนางคงแก้ว ทองอุ่น

เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2462 ที่วัดป่าระกำเหนือ อ.ปากพนัง และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูนิโครธจรรยานุยุต เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2498 และในปี พ.ศ.2477 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าระกำเหนือ และเจ้าคณะตำบลป่าระกำ ในปีเดียวกัน

ศึกษาด้านวิปัสสนาธุระกับอาจารย์จืด และอาจารย์ศักดิ์ วัดถ้ำเขาพลู อ.ปะทิว จ.ชุมพร ออกธุดงค์ในป่าลึก แถบจังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และราชบุรี เป็นเวลาหลายปี ร่วมกับหลวงพ่อสงฆ์ วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นสหธรรมิกที่รักใคร่นับถือกันมาก

เป็นพระวิปัสสนาธุระ ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นเลิศ นอกจากนั้น ยังมีความรู้ด้านต่างๆ อีกมาก เป็นหมอยาสมุนไพร เป็นผู้รู้เวทมนตร์คาถา เป็นพระนักเทศน์ เป็นพระเกจิอาจารย์ที่เคารพนับถือของคนทั่วไป

เป็นพระเถระที่มากด้วยเมตตาบารมี ประพฤติพรหมจรรย์มั่นคงยาวนานปี ศีลาจารวัตรเรียบร้อย เป็นที่เคารพนับถือ เป็นพระสุปฏิปันโนอีกรูปของนครศรีธรรมราช มีอัธยาศัยโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อคนทุกระดับชั้น

กล่าวสำหรับคลองใหม่พ่อท่านมุ่ย เป็นคลองขุดอยู่ในพื้นที่ตำบลชะเมา เป็นคลองที่ขุดเชื่อมระหว่างคลองชะเมาที่บ้านโอขี้นาก เชื่อมกับคลองค้อที่บ้านหัวสวน เริ่มขุดเมื่อ พ.ศ.2495 และขุดเสร็จเมื่อ พ.ศ.2497 มีความยาวประมาณ 4 กิโลเมตร ผู้ดำเนินการขุดคลองนี้ คือหลวงพ่อมุ่ยนั่นเอง

ขุดโดยใช้แรงงานคน ส่วนมากเป็นคนในพื้นที่ตำบลชะเมา ต.เกาะทวด อ.ปากพนัง และ ต.เชียรเขา อ.เชียรใหญ่ มีกำนันและผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้รับผิดชอบออกปากคนในหมู่บ้านไปขุด เริ่มแรกคลองมีขนาดกว้าง 2 เมตร ลึก 1 เมตร คนทั่วไปเรียกชื่อคลองนี้ว่า “คลองใหม่พ่อท่านมุ่ย” ตามชื่อของผู้ดำเนินการขุด

พ่อท่านมุ่ย จันทสุวัณโณ

คลองใหม่พ่อท่านมุ่ย มีประโยชน์ในด้านคมนาคมระหว่างคลองค้อกับคลองชะเมา แต่เดิมนั้นการเดินทางจากคลองค้อไปคลองชะเมาต้องไปออกทางบ้านเกาะแก ตำบลชะเมา คลองใหม่พ่อท่านมุ่ยจึงช่วยย่นระยะทาง และช่วยให้การเดินทางได้สะดวกรวดเร็วขึ้น สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปบ้านหัวสะพานชะเมา บ้านเสาธง ในหน้าน้ำชาวบ้านเข้าไปหาไม้ในป่าพรุ และล่องแพมาทางคลองนี้ และยังมีประโยชน์ด้านการเกษตรกรรม มีน้ำใช้ เพื่อการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะเพื่อการทำนา เพราะทั้งสองฝั่งคลองนี้เป็นพื้นที่นาทั้งหมด

คลองใหม่พ่อท่านมุ่ยนี้ บ่งบอกถึงวิสัยทัศน์พระนักพัฒนา ผู้นำและบารมีอย่างแท้จริง เป็นคลองประวัติศาสตร์ที่น่าภาคภูมิใจ

มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม 2535 เวลา 04.46 น. สิริอายุ 93 ปี 1 เดือน 18 วัน พรรษา 73 •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]