33 ปี ชีวิตสีกากี (55) | เมื่อเป็นผู้ช่วยผู้บังคับหมวด

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

เป็นผู้ช่วยผู้บังคับหมวด

เมื่อกลับออกจากการฝึกในป่า ก็จบหลักสูตรและต้องเดินทางกลับสามพรานทันที

ในวันที่เดินทางกลับ นักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 3 ได้ขึ้นรถไฟออกจากสถานีรถไฟเชียงใหม่ เมื่อเวลา 15.00 น. มาถึงถ้ำขุนตาล จังหวัดลำปาง แล้วผ่านห้างฉัตร, แม่ทะ, แม่เมาะ จนมาถึงเด่นชัย จังหวัดแพร่ เมื่อเวลา 19.55 น.แล้วเดินทางต่อไปยังศิลาอาสน์ อุตรดิตถ์, ตรอน, ชุมทางบ้านดารา, เข้าพรหมพิรามผ่านพิษณุโลก เวลา 22.49 น. ยามดึกก็เดินทางมาถึงพิจิตร, ชุมแสง, นครสวรรค์, บ้านตาคลี และเวลา 03.10 น. ถึงลพบุรี จนเข้าเขตอยุธยา, ไม่นานนักเมื่อฟ้าสางแล้ว มาถึงดอนเมือง, บางซื่อ, สามเสน และสถานีสุดท้าย หัวลำโพง เมื่อเวลา 06.00 น.

ผมมีความรู้สึกที่ดีมากมายในการไปฝึกภาคสนามที่จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อสำเร็จหลักสูตรนี้แล้ว นักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 3 จะได้รับการประดับเครื่องหมาย ตปส.ที่อกเสื้อข้างขวาของเครื่องแบบ เหนือป้ายชื่อ

แล้วเวลาของการเดินทางกลับสามพรานเพื่อศึกษาเล่าเรียนต่อก็มาถึง ปล่อยความประทับใจในบรรยากาศของเมืองเหนือให้อยู่ในความทรงจำตลอดไป เป็นการฝึกภาคที่มีความสุขมาก

 

กลับมาที่โรงเรียน

ผลการสอบของผมเมื่อเทอมต้นในชั้นปีที่ 3 ผมสอบได้ลำดับที่ 8 ได้คะแนน 86.96% และได้เท่ากับ นรต.สุกิจ อ่วมวงษ์ ซึ่งสอบได้ลำดับที่ 7แต่ผมได้คะแนนกฎหมายน้อยกว่า

ผู้ที่สอบได้ที่ 1 คือ นรต.สุเทพ ชนะสิทธิ์ และ นรต.ชาติพงษ์ วามะสิงห์ ได้ลำดับที่ 2

นักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 3 กลายเป็นนักเรียนชั้นสูงสุดของโรงเรียนไปแล้ว เพราะรุ่นพี่ชั้นปีที่ 4 คือรุ่น 34 ได้เดินทางไปฝึกงานตามสถานีตำรวจ

ก่อนรุ่นพี่จะไป วันอังคารที่ 2 ธันวาคม 2523 ได้มีพิธีมอบอำนาจ ผู้ช่วยนายร้อยตำรวจเวรรักษาการณ์ จากกองร้อยที่ 4 นรต.รุ่น 34 ให้กับกองร้อยที่ 3 นรต.รุ่น 35

ซึ่งผู้ช่วยนายร้อยตำรวจเวรรักษาการณ์คู่แรกของ นรต.รุ่น 35 คือ นรต.ทศเทพ นิวาศะบุตร และเป็นหัวหน้านักเรียน นรต.ประสิทธิ์ ทำดี รองหัวหน้านักเรียน

ได้มีการคัดเลือกนักเรียนนายร้อยตำรวจจากชั้นที่ 3 หรือนรต.รุ่น 35 เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้บังคับหมวดไปทำหน้าที่ปกครองนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 2 และ 1

รวมทั้งได้มีการคัดเลือก ผู้ช่วยผู้บังคับหมวด สำหรับปกครองชั้นที่ 3 และชั้นปีที่ 4 คือ ต้องควบคุมดูแลในรุ่นเดียวกันเอง

นอกจากนั้น ยังเตรียมผู้ช่วยผู้บังคับหมวด สำหรับไปปกครองกองร้อยที่ 5 ซึ่งเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจอบรมพิเศษ ที่จะเข้ามาอบรมในปีการศึกษาหน้า

ผมได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ช่วยผู้บังคับหมวด กองร้อยที่ 2 ร่วมกับ นรต.สมบัติ เจริญสลุง, นรต.พรหมธร ภาคอัต, นรต.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน, นรต.วีรเดช รัตนโชติทีปกร, นรต.ไพโรจน์ ขันธบุญ, นรต.ไตรรัตน์ อมาตยกุล และ นรต.ณรงค์ มณีโชติ โดยผมอยู่หมวดที่ 7

สำหรับกองร้อยที่ 2 คือ นรต.รุ่น 36 ที่ผมทำการปกครอง มีหัวหน้าตอนเรียน กองร้อยที่ 2 ดังนี้

หัวหน้าตอนที่ 1 หมวดที่ 1 นรต.สมชาย อินโต

หัวหน้าตอนที่ 2 หมวดที่ 2 นรต.ประหยัด สิงสิน

หัวหน้าตอนที่ 3 หมวดที่ 3 นรต.วุฒิพงษ์ นาวิน

หัวหน้าตอนที่ 4 หมวดที่ 4 นรต.ไพบูลย์ เปียศิริ

หัวหน้าตอนที่ 5 หมวดที่ 5 นรต.ศุภชัย โชติมุข

หัวหน้าตอนที่ 6 หมวดที่ 6 นรต.สมพงษ์ เที่ยงธรรม

หัวหน้าตอนที่ 7 หมวดที่ 7 นรต.ณรงค์ ทรัพย์เย็น

หัวหน้าตอนที่ 8 หมวดที่ 8 นรต.สมโชค ตาผล

 

ได้มีการจัดสัมมนาทำการแทนผู้ช่วยผู้บังคับหมวด

โดย พ.ต.อ. (พิเศษ) ชอบ ภัตติชาติ รองผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ มอบหัวข้อ 6 ข้อ คือ ซื่อสัตย์, ยุติธรรม, มีเมตตา, เสียสละ, อดทน และประหยัด

พ.ต.ท.เหมราช ธารีไทย รองผู้กำกับการ 1 ยกหลักการปกครองของ ร.6 ที่ทรงนิพนธ์ ไว้ ดังนี้

1. ความสามารถ ดูความสามารถ มากกว่า ภูมิวิชา เพราะผู้มีภูมิวิชาแล้วใช้ไม่ถูกทาง เปรียบเหมือนวานรได้แก้ว

2. ความเพียร เพียร แปลว่า กล้าหาญ ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก บากบั่น สู้ต่อสิ่งที่มาขัดขวาง

3. ความไหวพริบ มีขึ้นในบุคคลเอง ไม่สามารถที่จะแนะนำได้

4. ความรู้เท่าถึงการณ์ แปลว่า ใช้ประสบการณ์ให้เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง เหมาะแก่เวลาและสถานที่

5. ความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อย ทั้งผู้สั่งและผู้รับคำสั่ง แปลว่า ตั้งใจกระทำกิจการที่ได้รับมอบหมายของตนนั้นให้ดีที่สุด

6. ความซื่อตรงต่อคนทั่วไป เป็นที่ชื่นชมเป็นคุณวิเศษของคนทั่วไป

Leadership สิ่งสำคัญของ ร.6 คือ ทำอย่างไรจึงจะได้ใช้กำลังของคนอื่นเขาโดยความเต็มใจ

และได้หยิบยกไอคิว 45 ของ ต่วย’ตูน วิธีประจบสอพลอนายมี 10 ประการ (ผลตอบแทนจากนาย ก่อนจะได้ควรจะทำให้นายเกิดความพอใจ) ควรจะทำคือ ความสุภาพอ่อนน้อม พึงชนะผู้สูงศักดิ์ ด้วยความสุภาพอ่อนน้อม ควรยอเป็น ตามสุภาษิตไทย ยอนายให้ยอต่อหน้า (ต้องแนบเนียน) ยอข้าเมื่อแล้วกิจ ยอมิตรให้ยอลับหลัง รักษาวาจาสัตย์ พูดเป็นแม่นมั่น เป็นคุณวิเศษที่แท้จริง ทำให้คนนิยมรักใคร่ ยิ่งเราทำตัวให้เหมือนเดิม เมื่อสมัยเราเป็นผู้น้อย จะยิ่งทำให้เขารักใคร่

7. ความรู้จักนิสัยคน จะช่วยในเรื่องการปกครองได้มาก จะดูลักษณะของคนด้วยว่า แต่ละคนมีพื้นฐานเป็นอย่างไร บางคนเป็นคนละเอียดอ่อน ลงโทษโดยการว่ากล่าว ก็เกิดความละอายแล้ว แต่บางคนเป็นคนหยาบคายต้องลงโทษด้วยวิธีรุนแรง

8. ความรู้จักผ่อนผัน… คลองคดให้คดไปตามคลอง… อย่าทำตัวแบบเถรตรง แต่ก็อย่ารู้จักผ่อนผันตะบันไปเหมือนนิทาน เรื่องคนขี่ลากับลูกชาย

9. ความมีหลักฐาน ข้อนี้มิน่าเป็นเรื่องเข้าใจยาก แต่มีผู้เข้าใจน้อย แปลว่า 1.มีบ้านเป็นสำนักมั่นคง 2.มีครอบครัวเป็นมั่นคง มีเมียดี เป็นหลักเป็นฐาน …โลกีย์มีทั่วทุกตัวสัตว์… 3.ตั้งตนไว้ชอบ ไม่ประพฤติเสเพล สำมะเลเทเมา

10. ความจงรักภักดี เป็นคุณวิเศษที่พึงแสวง แปลว่า การยอมสละตนเพื่อประโยชน์แห่งท่าน

 

ในระหว่างที่ผมทำหน้าที่ทำการแทนผู้ช่วยผู้บังคับหมวดที่ 7 กองร้อยที่ 2 ทำการแทนทุกคนได้มอบหมายให้ผมมีหน้าที่จัดเวรยามและเตรียมการณ์ของชั้นปีที่ 2 ซึ่งเป็นงานที่หนักมาก

เพราะผมต้องรับคำสั่งจาก ผู้บังคับกอง ผู้บังคับหมวด จากทำการแทนแต่ละหมวด และจากนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นพี่ ที่สั่งทำโทษนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 2 ว่ามีใครบ้างที่ถูกกักบริเวณ ถูกสั่งให้เข้ายามจำนวนกี่ผลัด ผลัดใดบ้าง และรอคำสั่งว่า ในเสาร์-อาทิตย์ที่จะถึง มีใครบ้างถูกกักบริเวณ

จึงเป็นหน้าที่ผมจะต้องส่งรายชื่อให้หัวหน้าตอนที่ 6 และ 7 จัดเวรยามและเตรียมการ

โทษส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความประพฤติที่ตรวจพบตั้งแต่เรื่องใหญ่จนถึงเรื่องเล็กน้อยๆ

และได้มีการย้ายนายตำรวจเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ซึ่งเป็น นรต.รุ่น 30 ทั้งหมด ดังนี้

กองร้อยที่ 1

ร.ต.ท.ยงยุทธ เจริญวานิช รอง สวป.สน.พระราชวัง

ร.ต.ท.พีระ พุ่มพิเชษฐ์ รอง สวป.สภ.อ.เมืองนนทบุรี

ร.ต.ท.พงษ์สันต์ เจียมอ่อน รอง สวส.สน.บางรัก

กองร้อยที่ 2

ร.ต.ท.อภิชาติ ณรงค์วิทย์ รอง สวส.สภ.อ.หนองแค สระบุรี

ว่าที่ ร.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง รอง สวป.สน.พระโขนง

ว่าที่ ร.ต.ท.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร รอง สวส.สน.พญาไท

กองร้อยที่ 3

ร.ต.ท.ชลธาร จิรณรงค์ รอง สวส.สน.ยานนาวา

กองร้อยที่ 4

ร.ต.ท.ปริญญา จันทร์สุริยา รอง สว.ผ.3 กก.สส.น.ใต้

กองร้อยที่ 5

ว่าที่ ร.ต.ท.สุรพล ศรีวงศ์ รอง สวส.สน.ปทุมวัน

 

25 ธันวาคม 2523 นักเรียนชั้นปีที่ 2 นรต.รุ่น 36 ได้รวมกลุ่มกันทั้งชั้น strike (สไตรก์) ไม่ยอมเข้าร้านค้าสโมสร ต้องการประท้วง นักเรียนปกครอง คือ รุ่น 35 ที่ปกครองแบบทำโทษหนัก เป็นปฏิกิริยาของการเปลี่ยนแผ่นดินทุกครั้งที่รุ่นน้องจะไม่พอใจการปกครองของรุ่นพี่ เพราะเริ่มเคยชินกับรุ่นพี่ที่อยู่ชั้นปี 4 ที่ยอมปล่อยให้สบาย จนระเบียบวินัยโดยรวมหย่อนยาน เมื่อนักเรียนปกครองรุ่นใหม่มา จึงจำเป็นต้องเข้มงวดเพื่อให้ความเป็นระเบียบของนักเรียนนายร้อยตำรวจยังเป็นไปตามมาตรฐาน

ผมเองได้เป็นนักเรียนปกครองกองร้อยที่ 2 และเห็นว่า ระเบียบวินัยหย่อนยานจริงๆ โดยเฉพาะหลังเลิกเรียน จะเดินแถวกลับกองร้อย ไม่มีความเป็นระเบียบ นักเรียนปกครองเห็นดังนั้นจึงสั่งทำโทษ ด้วยการให้เรียกแถวใหม่แล้ววิ่งรอบสระบ่อยๆ

สำหรับนักเรียนปกครอง กองร้อยที่ 2 ไม่ว่าจะเป็น นรต.สมบัติ เจริญสลุง, นรต.พรหมธร ภาคอัต, นรต.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน, นรต.วีรเดช รัตนโชติทีปกร, นรต.ไตรรัตน์ อมาตยกุล, นรต.ณรงค์ มณีโชติ, นรต.ไพโรจน์ ขันธบุญ และตัวผมเองนั้น ทุกคนไม่เคยปรึกษาการทำโทษว่าจะต้องหนักหรือเบาแค่ไหน แต่พิจารณาไปตามความเหมาะสม แต่ละเหตุการณ์ เมื่อเห็นว่าระเบียบวินัยที่หย่อนยาน ก็ต้องการปรับปรุงให้ดีขึ้น ไม่มีเบื้องหน้าหรือเบื้องหลังใดๆ ทั้งสิ้น และเป็นไปตามมาตรฐานในการทำโทษขณะนั้น

แม้ นรต.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน เวลาสั่งทำโทษอาจจะใช้น้ำเสียงที่ดุดัน จริงจัง ก็ทำหน้าที่ตามปกติ จนนักเรียนชั้นปีที่ 2 จะให้ฉายาว่า…ไอ้ลิงเหล็ก…

ผมเห็นว่า ทุกคนได้ทำหน้าที่ได้เหมาะสมกับบทบาทที่ได้รับมอบหมาย