อนาคตประชาธิปัตย์ อนาคตรัฐบาลเศรษฐา ในสายตา ชวน หลีกภัย

เดชพิชญ์ แสงเพ็ชร์

นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานรัฐสภา และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดใจกับมติชนสุดสัปดาห์ ถึงอนาคตของ “ปชป.” ว่าต้องยอมรับในผลการเลือกตั้งเที่ยวที่แล้วว่าผิดหวังกันทุกฝ่าย แต่ว่าถ้ามองข้อเท็จจริงว่ามันเป็นไปได้ยังไงที่พรรคแพ้ราบเรียบอย่างนี้ ก็ต้องยอมรับว่ามันก็ต้องเป็นอย่างนี้เพราะว่ามันเป็นการเลือกตั้งที่การเตรียมพร้อมไม่มีเลย

ผมก็เคยคุยกับหัวหน้าจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ แม้กระทั่งห้องที่จะเตรียมวอร์รูมในการหาเสียงไม่มี ต่างคนต่างไป เลขาฯ พรรคก็ไม่ลงมา เป็นต้น

เวลาเราไปหาเสียงตามที่ต่างๆ เบอร์บัญชีรายชื่อก็ไม่มีการพูดถึงมาก ผมลงพื้นที่ ชาวบ้านยังถามเลย “ท่านชวน เลข 26 มันคืออะไร?” ก็ไม่รู้คือเบอร์บัญชีรายชื่อของเรา เพราะว่า 1. ส.ส.พื้นที่เราก็หาเสียงให้ตัวพวกเขาเอง เขาไม่ได้สนใจที่จะหาเสียงให้เบอร์ 26 ของพรรค ลำพังตัวเองก็จะเอาตัวไม่รอดอยู่ 2. พรรคไม่ได้รณรงค์เบอร์บัญชีรายชื่อ เท่าที่ควร ผมก็เคยคุยกับท่านหัวหน้าจุรินทร์ในประเด็นนี้

เพราะฉะนั้น ผลออกมาก็ต้องยอมรับว่ามันก็เป็นไปตามที่ทุ่มเท เมื่อทุ่มเทไปเท่านี้ก็ได้เท่านี้ แต่ว่ามันผิดหวังสำหรับคนที่หวังดีต่อพรรค

 

ผมคิดว่าคนที่รับผิดชอบดูแลพรรคก็ต้องระลึกถึงคนที่มีส่วนสนับสนุนเราด้วย พรรคเราอยู่มาได้ 77 ปี ไม่ได้อยู่แบบตัวใครตัวมัน แต่อยู่แบบสร้างความดีให้กับพรรค พรรคก่อตั้งขึ้นเหมือนกับพรรคอื่นตั้งนั่นแหละ แต่ทำไมเราอยู่รอด ผมมองว่าถ้าย้อนกลับไปอดีตเราจะเห็นว่าผู้บริหารพรรคของเรา ซึ่งหมายถึงหัวหน้าและผู้บริหารของเราทุกยุค ต่างทุ่มเทสร้างความดีให้กับพรรคด้วยการยึดมั่นการเมืองสุจริต เน้นความซื่อสัตย์สุจริตอันเป็นอุดมการณ์ที่ประกาศเอาไว้เมื่อ 77 ปีที่แล้ว

อันนี้ที่มันทำให้พรรคประชาธิปัตย์เราได้รับการยอมรับจนมีคนบางฝ่ายบอกว่าเราเป็นสถาบันการเมือง ไม่ใช่เพราะว่าอยู่ยาวอย่างเดียว แต่อยู่ด้วยความถูกต้อง อยู่ด้วยความซื่อตรง อยู่ด้วยความสุจริต อยู่ด้วยความเชื่อมั่นในแนวทางประชาธิปไตย

ไม่ใช่อยู่เพราะว่ามีเงินซื้อเพราะโกง เพราะทุจริต

พรรคอื่นๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับเรา หรือเกิดขึ้นใกล้เคียงกัน ที่อยู่ไม่ได้เพราะโคตรโกง โกงทั้งโคตร หรือถูกยุบไป แต่พรรค ปชป.อยู่รอด ถึงแม้จะถูกฟ้องให้ยุบพรรค 2 ครั้ง แต่เราก็สู้อยู่รอด

ผมก็ระลึกถึงคนที่มีส่วนช่วยพรรคมาเสมอ มาถึงวันนี้คนรุ่นปัจจุบันได้ใบบุญของรุ่นก่อนที่ทำเอาไว้ ต้องระลึกแล้วก็ต้องทำสิ่งที่ดีงามไว้ต่อไปเพื่อให้ให้คนรุ่นต่อไปได้รับความดี ไม่ใช่รับความไม่ดี

ต้องเรียนว่าขอบพระคุณผู้ห่วงใยต่อพรรคทั้งหมด เชื่อว่าอนาคตก็ยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้อยู่

 

ผมคิดว่าการที่เราได้เสียงบัญชีรายชื่อมา 3 คน ผมว่าในอนาคตมันไม่มีทางที่จะตกต่ำกว่านี้อีกแล้วเพราะเราไม่เคยตกต่ำอย่างนี้ ผมว่าเที่ยวหน้าถึงอย่างไร ดีๆ ร้ายๆ ยังไงก็ไม่ควรต่ำกว่า 3 คนจากบัญชีรายชื่อ

ส่วนเขตเลือกตั้งนั้นก็ต้องดูต่อไปว่าเป็นอย่างไร

อย่างน้อยคนที่มารับผิดชอบปัจจุบันก็คือคนที่รับผิดชอบครั้งที่แล้วหัวหน้าเฉลิมชัย ศรีอ่อน ก็คือเลขาฯ พรรคคนที่แล้ว หัวหน้าพรรคคือเลขาฯ พรรคตอนที่พรรคเราแพ้เลือกตั้ง แล้ววันนี้ก็มาเป็นหัวหน้าพรรค เพราะฉะนั้น ท่านก็คงจะรู้แล้วว่าเที่ยวที่แล้วมันแพ้เพราะอะไร คงจะได้มีการอ่านเกมออกแล้วก็แก้ไขการไม่ทุ่มเทในครั้งที่แล้ว หรือว่าไม่ได้มีการเตรียมเท่าที่ควรก็คงจะได้มีการแก้ไข

ความจริงแล้วผมก็เคยบอกหัวหน้าพรรคจุรินทร์ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเราก็มีส่วนรับผิดชอบเพราะท่านบัญญัติ บรรทัดฐาน คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รวมถึงผมสนับสนุนให้คุณจุรินทร์เป็นหัวหน้าพรรค คุณจุรินทร์ก็สนับสนุนคุณเฉลิมชัยเป็นเลขาฯ พรรค เลือกคุณเฉลิมชัยตามที่หัวหน้าพรรคเสนอ พวกเราก็จึงมีส่วนที่เลือกเขามา เราก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบ

แต่ว่าคนที่เราเลือกมาไม่ประสบความสำเร็จ แต่บังเอิญคนเหล่านี้บางคนมาทำงานต่อ มารับหน้าที่ต่อ เพราะฉะนั้นก็คงรู้แล้วว่าที่มันผิดพลาดเที่ยวที่แล้วเพราะอะไร ก็จะได้มีการแก้ไขต่อไป

ผมถึงเรียนว่าเวลาใครห่วงใยว่าเที่ยวที่แล้วน่ากลัวจะตกต่ำไปกว่านี้ ผมมองว่าไม่น่าจะต่ำกว่านี้แล้ว

 

: คนนอกอ่านเกม ห่วงอนาคตประชาธิปัตย์จะไปร่วมรัฐบาล?

ผมว่าเราก็อย่าไปประเมินน้อย แต่ในเรื่องนี้เราก็เตือนกันตั้งแต่ต้นแล้วว่าอย่างน้อยผม 1 คนที่ไม่เห็นด้วยที่ไปวิ่งหาเขาเพื่อจะไปเข้าร่วมรัฐบาล แล้วก็พฤติกรรมที่ผมว่ากระทบต่อภาพพจน์พรรคมากก็คือการที่ละเมิดมติของพรรค เพราะว่าผู้ละเมิดมติพรรคคือผู้เสนอให้ลงมติไม่รับ อันนี้คือความจริงที่อยากให้ประชาชนรู้ กล่าวคือ พรรคเราไม่ร่วมรัฐบาล เราก็ไม่ควรรับคุณเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ

พวกเราเสนอ เราประกาศไม่รับ เพราะพรรคเพื่อไทยเลือกปฏิบัติกับภาคใต้และประชาชนในพื้นที่ โดยพัฒนาเฉพาะจังหวัดที่เลือกเขา จังหวัดอื่นไว้ทีหลัง เขาก็เลือกปฏิบัติแบบนี้ แม้กระทั่งการซ่อมถนนในภาคใต้ เขาก็ไม่ให้ซ่อมเพื่อให้ชาวใต้เดือดร้อน อันนี้คือสิ่งที่คนไม่ค่อยรู้นะครับ แต่ว่าเราไปค้นข้อมูลหลักฐานได้เลย แล้วผมเคยถามอธิบดีกรมทางหลวงว่าทำไมท่านไม่ดูแลถนนภาคใต้ที่มันเลวร้ายมาก ท่านก็ยอมรับบอกว่า “ทำไม่ได้ครับ ถ้าทำนี่เขาย้าย”

แม้กระทั่งรัฐมนตรีคมนาคมในตอนนั้น (ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์) สมัยคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เราก็ไปพึ่งท่าน ขอให้ท่านช่วยดูถนนภาคใต้ให้ ท่านก็ไปดูให้ แต่ในที่สุดท่านก็ทำอะไรไม่ได้ ก็ส่งคนอื่นมาดู

หลังจากนั้นเวลาพ้นตำแหน่งผมเคยเจอท่านที่ กทม. ท่านก็บอกผมว่า “อย่าพูดนะครับผมอาย” เพราะว่าท่านพูดตรงไปตรงมาว่าท่านเป็นรัฐมนตรีก็จริงแต่ทำไม่ได้ เพราะรัฐบาลก็มีคนของเขามาคอยดูแล อันนี้คือสิ่งที่เลือกปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ผมก็รู้สึกว่ารัฐบาลไม่ยุติธรรมกับคนในภาคใต้ ก็รณรงค์ว่าอย่าเลือกพรรคนี้

ก็เห็นได้ว่าคนก็ไม่เลือก เที่ยวที่แล้วก็ไม่ได้เลยสักที่ในปักษ์ใต้

ดังนั้น การไปโหวตนายกฯ ของเขา มันเหมือนหักหลังชาวบ้าน เป็นการละเมิดมติของพรรคโดยคนที่เสนอไม่ให้รับแล้วประกาศรับเอง

 

: มองสถานการณ์การเมืองหลังจากนี้

ผมว่าสถานการณ์บ้านเมืองแต่ละช่วงเวลาก็อาจจะมีปัญหาที่เหมือนกันบ้างแตกต่างกันบ้าง แต่ว่าถ้าเราเชื่อมั่นกลไกของระบอบประชาธิปไตย ก็เป็นหน้าที่ของผู้บริหารและเป็นหน้าที่ของแต่ละฝ่ายที่จะต้องติดตามดูแลเพื่อแก้ไขปัญหาไปทำภารกิจหน้าที่ของตัวเองในระบบของเราที่เป็นระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอันมีพระกษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบบนี้เป็นระบบที่รัฐบาลเกิดขึ้นจากเสียงข้างมากในสภา

ถ้าเราดูแล้วเราก็จะเห็นว่ารัฐบาลปัจจุบันประกอบด้วยพรรคการเมืองเสียงข้างมากชัดเจน 300 กว่าเสียง ฝ่ายค้าน 100 กว่า ความมั่นคงของตัวเลขจำนวน ส.ส.ดูว่าจะมีความมั่นคงแล้วก็ประกอบด้วยพรรคการเมืองที่ไม่มากเกินไป ไม่เหมือนชุดที่แล้วพรรคการเมืองเกือบ 20 พรรค

อันนี้ก็แสดงให้เห็นว่าปัญหาชุดที่แล้วจะมากกว่า แต่ว่าก็สามารถดำรงสภาพรัฐบาลได้มาถึง 4 ปี จริงๆ ไม่น่าจะมีอะไรที่น่าเป็นกังวลมากนัก เว้นแต่รัฐบาลจะไปทำอะไรที่ผิดพลาด

หรือกรณีพฤติกรรมของคนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล เพราะถ้าเรื่องในสภาก็เป็นเรื่องของสมาชิกที่พิจารณาได้ แต่เรื่องภายนอก เช่น เรื่องทุจริต เรื่องคอร์รัปชั่น เรื่องการเลือกปฏิบัติ เรื่องการไม่เคารพกฎหมายบ้านเมืองซึ่งรัฐบาลรู้เห็นเป็นใจอย่างที่เราเห็นอยู่ในขณะนี้ก็อาจจะเป็นปัญหาขึ้นมา

บางคนดูว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าในแง่ของระบอบประชาธิปไตย ถือว่ารัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยต้องเป็นรัฐบาลที่เคารรพกฎหมายบ้านเมือง สมมุติว่ากฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ เลือกปฏิบัติ ระบอบประชาธิปไตยก็ล้มเหลว ผมคิดว่าต้องติดตามดูต่อไปว่าพฤติกรรมรัฐบาลนี้เริ่มเห็นแววว่ามีท่าทีที่เลือกปฏิบัติ

ผมคิดว่ากรณีคุณทักษิณเนี่ยชัดเจนว่ารัฐบาลจะพูดยังไงก็ตาม แต่ว่าคนทั่วไปนี่เขาก็รู้สึกว่ามันเป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ข้อกังวลใจเหล่านี้ก็มีหลายฝ่ายว่าเรียกร้องว่าเสียงข้างมาก จะต้องเคารพกฎหมาย เคารพกฎเกณฑ์กติกา ต้องปฏิบัติเสมอเหมือนกัน

จริงอยู่บางเรื่องคนอาจจะไม่รู้ข้อเท็จจริง แต่ว่าโดยทั่วๆ ไปนี่คนก็รู้สึกว่าคุณเลือกปฏิบัติ หลายๆ คนก็รู้สึกว่าความคลุมเครือนี้รัฐบาลต้องทำให้ชัดเจน ต้องมีท่าทีที่ตรงไปตรงมา ให้ชัดให้เคลียร์ เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตอบคำถามให้ได้ ไขข้อข้องใจชาวบ้านให้ได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องของความรู้สึกของคนโดยทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายการเมือง

ประชาชนทั่วๆ ไป สื่อมวลชนก็มีความรู้สึกเหมือนกันว่ามีเหตุการณ์ที่มีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้น ซึ่งต้องระวัง อย่าไปมองประเมินคนว่าสยบยอมทุกอย่างแล้ว รัฐบาลนี้จะทำอะไรก็ได้ เพราะว่าถึงจุดหนึ่งคนก็รู้สึกว่าสิ่งที่รัฐบาลทำไปนั้นถ้ามันมีผลกระทบต่อรัฐบาลไม่เป็นไร แต่กระทบต่อภาพพจน์ประเทศไทย สายตาข้างนอกจะตั้งคำถามว่าทำไมประเทศนั้นไม่เคารพหลักนิติธรรมกับกฎหมายที่ว่าทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเท่าเทียมกัน

ภาพลบที่เกิดขึ้นกับประเทศเป็นเรื่องเสียหายมาก เป็นต้นทุนมาก คนจะมองว่าประเทศไทยเลือกปฏิบัติ กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะว่าคนมีอำนาจได้รับการยกเว้น

อันนี้เป็นภาพที่ต้องระมัดระวัง

ชมคลิป