‘เอไอ’ ขยายตัว เพิ่มเสี่ยงสำหรับอุษาคเนย์

ซาฟดาร์ ข่าน

ก่อนหน้าปีมังกรทองจะมาถึง บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างไมโครซอฟต์ เคยพยากรณ์เอาไว้ว่า ปีนี้จะเป็นปีของการขยายฐานการใช้งาน “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “เอไอ” ออกไปให้กว้างขวางในหมู่ประชาชนทั่วไปในโลก

หลังจากนั้นในอีกไม่กี่ปีถัดไป เอไอจะส่งผลให้เกิด “นวัตกรรม” ใหม่ๆ ที่จะส่งผลให้เกิดวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมโลกชนิดที่ไม่เคยพบไม่เคยเห็นกันมาก่อน

บิล เกตส์ บอกว่าเอไอที่ว่านี้คือ generative AI ซึ่งหมายถึง เอไอที่ถูกประยุกต์ให้อยู่ในรูปของโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นที่คนทั่วไปสามารถใช้งานเองได้ในทำนอง “แชตจีทีพี” ที่ตอนนี้หลายคนคุ้นเคยกันแล้ว

เขาบอกด้วยว่าในประเทศพัฒนาแล้ว การใช้งานเอไอที่ว่านี้จะขยายวงออกไปเร็วหน่อย แต่ในประเทศกำลังพัฒนาก็จะช้าหน่อย แต่ไม่ช้าจนล้าหลังมากมายเหมือนอย่างที่เคยเป็นกับหลายๆ เทคโนโลยีที่ผ่านๆ มา

 

นั่นเป็นการคาดการณ์ในทางบวก แต่ที่คาดหมายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในทางลบก็มีเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ซาฟดาร์ ข่าน ที่ออกมาเตือนว่า การเบ่งบานของการใช้งานเอไอในอนาคตอันใกล้ จะยิ่งทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “เผชิญกับภัยคุกคามทางเทคโนโลยี” เพิ่มมากขึ้น

ซาฟดาร์ ข่าน อาจไม่โด่งดังเป็นที่รู้จักเหมือนอย่างบิล เกตส์ แต่ก็เป็นถึง “ประธาน” ของบริษัทบัตรเครดิตรายใหญ่ของโลกอย่าง “มาสเตอร์การ์ด” ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คงมีคนไม่มากนักหรอกที่จะรู้เรื่องและคุ้นเคยกับภัยคุกคามทางการเงินและเทคโนโลยีการเงินในอุษาคเนย์ ดีกว่าซาฟดาร์ ข่าน

ซาฟดาร์ ข่าน ยอมรับว่า ความแพร่หลายของปัญญาประดิษฐ์เป็นแนวโน้มที่น่าตื่นเต้นก็จริง แต่สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความตื่นเต้นต่ออนาคตที่จะมาถึงนั้น ถูกกลบด้วยความเป็นจริงที่ว่า generative AI ก็สามารถกลายเป็น “เครื่องมือ” ของคนร้ายหรือแก๊งอาชญากรรม ที่จะส่งผลให้การฉ้อโกงออนไลน์แพร่หลายมากขึ้น รุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ประชากรออนไลน์ในอุษาคเนย์เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า 100 ล้านคนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้จำนวนคนที่ใช้งานธุรกรรมการเงินออนไลน์ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเพิ่มเป็น 460 ล้านคนแล้วในปี 2022

 

ยูโรมอนิเตอร์ บริษัทวิเคราะห์ด้านการตลาด ประเมินว่า เมื่อถึงปี 2025 เม็ดเงินที่จะไหลผ่านกระเป๋าสตางค์ออนไลน์หลากหลายรูปแบบ ทั้งบริการธนาคาร, แอพพลิเคชั่น และโปรแกรมบนแพลตฟอร์มต่างๆ จะสูงถึง 138,000 ล้านดอลลาร์

โดยภาพรวมแล้วดูเหมือนจะดี เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วที่ผ่านมาประชากรในอุษาคเนย์มีปัญหามาก ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ ได้เลย เพราะเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรในภูมิภาคนี้ ไม่มีบัญชีธนาคาร

คนที่ไม่เคยมีบัญชีกับธนาคารเช่นนี้ ตอนนี้สามารถใช้งานบริการทางการเงินหลากหลายได้ผ่านแอพพ์การเงินต่างๆ นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมประชากรออนไลน์ในภูมิภาคถึงได้เพิ่มสูงขึ้นรวดเร็วเช่นนั้น

แต่ซาฟดาร์ ข่าน เตือนว่าคนกว่า 100 ล้านคนที่ถือเป็น “ละอ่อนออนไลน์” เหล่านี้อาจกลายเป็นเหยื่อชั้นดีของแก๊งอาชญากร เมื่อใดก็ตามที่อาชญากรเหล่านี้เริ่มใช้งาน “เอไอ” เป็นเครื่องมือ

เอไอช่วยทำงานให้อาชญากรได้ ด้วยการทำหน้าที่แทนที่การใช้กำลังคนแต่เดิม เช่น การส่งอีเมลลวงเหยื่อให้คลิกลิงก์ที่จะกลายเป็นการติดตั้ง “มัลแวร์” หรือซอฟต์แวร์ประสงค์ร้าย สำหรับใช้ในการ “ดูดเงิน” ในบัญชีแอพพ์ต่างๆ รวมทั้งการเสแสร้งล่อลวงให้โอนเงินให้ผิดคน ผิดหน่วยงาน เป็นการโอนให้แก๊งอาชญากรแทน เป็นต้น

การมีเอไอช่วย ยิ่งทำให้แก๊งอาชญากรรมออนไลน์สามารถขยายขอบเขตงานชั่วร้ายออกไปไม่มีขีดจำกัด

ข้อมูลของดาร์กเทรซ บริษัทให้บริการความปลอดภัยทางไซเบอร์ระบุว่า ในทันทีที่บังเกิดโปรแกรมอย่าง generative AI จำนวนการโจมตีด้วยอีเมลลวง เพิ่มมากขึ้นถึง 135 เปอร์เซ็นต์เพียงแค่ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2023 เท่านั้น

 

อาชญากรรมทางไซเบอร์ ถือเป็นปัญหาใหญ่ ปัญหาสำคัญสำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ข้อมูลของบริษัท ไอบีเอ็ม ระบุว่า เอเชีย-แปซิฟิก เกิดเหตุโจมตีทางไซเบอร์จากกลุ่มอาชญากรออนไลน์มากกว่าที่อื่นใด คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 31 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนการโจมตีที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปี 2022 ส่งผลกระทบต่อบริษัทที่ให้บริการในด้านนี้มากถึง 3 ใน 4 ของบริษัททั้งหมด

ซาฟดาร์ ข่าน บอกว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับ “ออนไลน์ อีโคโนมี” จะช่วยกันแสดงบทบาทในการป้องกัน ป้องปราม และปราบปรามการกระทำอันเป็นอาชญากรรมข้ามชาตินี้

เขาชี้ว่า องค์กรขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านการชำระเงิน และสถาบันการเงินต่างๆ จำเป็นต้องพัฒนาและประยุกต์ใช้ “เครื่องมือ” ใหม่ๆ รวมทั้งเครื่องมือที่ใช้เอไอเป็นกำลังสำคัญ เพื่อป้องกันอาชญากรรมออนไลน์ทำนองนี้ เพื่อให้สมน้ำสมเนื้ออยู่ในระดับเดียวกันหรือสูงกว่าเหล่าอาชญากรไซเบอร์ทั้งหลาย

เขาระบุว่า เอไอสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการนี้ได้ โดยอาศัยปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์รูปแบบและข้อมูลที่ในที่สุดจะบ่งชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมฉ้อฉลได้แบบ “เรียลไทม์”

ที่มาสเตอร์การ์ด ในปี 2022 เอไอสามารถช่วยให้บริษัทปกป้องเม็ดเงินไม่ให้สูญเสียไปกับอาชญากรไซเบอร์มากกว่า 35,000 ล้านดอลลาร์ ด้วยการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลการโอนเงินนับ 126,000 ล้านครั้งทั่วโลก และสามารถแยกแยะได้ว่า อันไหนเป็นการโอนเงินด้วยคน อันไหนเป็นการโอนเงินด้วย “บอท” หรือโปรแกรมอัตโนมัติของอาชญากร

เขาเตือนไว้ด้วยว่า รัฐบาลของแต่ละประเทศเองก็จำเป็นต้องลงทุน และเสริมเขี้ยวเล็บตัวเองเพื่อรับมือกับอาชญากรรมทำนองนี้ เพราะอาชญากรรมทางการเงิน ไม่เพียงก่อให้เกิดการสูญเสียในระยะสั้นกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อเท่านั้น

แต่ในระยะยาว ก็สามารถทำลายความเชื่อมั่นที่มีต่อระบบการชำระเงิน ระบบการจับจ่ายซื้อของออนไลน์และธุรกรรมทางไซเบอร์ไปจนหมดสิ้น

ส่งผลกระทบต่อความทะเยอทะยานในการก้าวไปสู่การเป็น “ดิจิทัล อีโคโนมี” อย่างร้ายแรงนั่นเอง