อุปมาเรื่องรัฐนาวาของเพลโต

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

www.facebook.com/bintokrit

 

อุปมาเรื่องรัฐนาวาของเพลโต

 

“รัฐนาวา” เป็นคำเรียกขาน “รัฐบาล” ที่คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกันดี พอกล่าวถึงคำนี้เมื่อใดก็มักเข้าใจว่าหมายถึงรัฐบาลชุดหนึ่งซึ่งเน้นหนักไปที่ “คณะรัฐมนตรี” และบางทีอาจกินความไปถึงพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดก็ได้ ไม่มีใครทราบที่มาของคำนี้อย่างแน่ชัด แต่เป็นไปได้ว่าอาจมาจากคำว่า “Ship of State” ซึ่งเป็นแนวคิดของเพลโต (Plato) นักปรัชญากรีกผู้โด่งดังแห่งยุคโบราณ โดยปรากฏอยู่ในงานปรัชญาการเมืองชิ้นสำคัญของเขาเรื่อง “Republic” ที่มีชื่อภาษาไทยตามสำนวนแปลจากภาษาอังกฤษของ “ปรีชา ช้างขวัญยืน” ว่า “อุตมรัฐ” หรือทับศัพท์ตรงตัวว่า “รีพับลิก” ตามสำนวนแปลจากภาษากรีกของ “เวธัส โพธารามิก”

“เพลโต” ศิษย์เอกของ “โสคราตีส” (Socrates) ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ใน Republic ออกมาในรูปบทสนทนาระหว่างโสคราตีสกับผู้คนต่างๆ โดยแบ่งเป็น 10 บทต่อเนื่องกัน แต่ใช้คำว่า “เล่ม” แทนคำว่า “บท” เนื่องจากต้นทางในภาษาอังกฤษใช้คำว่า book ไม่ใช่คำว่า chapter อันที่จริงแล้วการเปรียบเปรยรัฐบาลว่าเป็นเสมือนเรือลำหนึ่งนั้นมีมาตั้งแต่ก่อนเพลโตแล้ว เพลโตจึงไม่ใช่คนแรกที่ใช้และไม่ได้ริเริ่มประดิษฐ์คำนี้ขึ้น แต่ความคิดนี้ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากจากการเปรียบเทียบของเพลโตใน Republic เล่ม 6 ช่วง 488b-489a ตามสำนวนแปลของเวธัส ดังนี้

“ลองจินตนาการว่าถ้าเหตุการณ์ดังต่อไปนี้เกิดขึ้นบนเรือเดินสมุทรลำหนึ่งหรือหลายๆ ลำจะเป็นอย่างไร สมมุติมีเจ้าของเรือคนหนึ่ง ร่างสูงใหญ่และแข็งแรงกว่าลูกเรือทุกคนบนเรือ ทว่า เขากลับเป็นคนหูตึงและสายตาค่อนข้างสั้น นอกจากนั้น ความรอบรู้ด้านการเดินเรือของเขาก็ยังอยู่ในระดับพอๆ กับลูกเรือคนอื่นๆ ลูกเรือทั้งหลายจึงมักทะเลาะกันเรื่องการคุมเรือ โดยแต่ละคนต่างก็เห็นว่าตนนั่นล่ะสมควรได้เป็นต้นหน ทั้งๆ ที่ไม่มีใครเคยเรียนศิลปะการเดินเรือมาสักคน ไม่มีใครบอกได้ว่าอาจารย์ของตัวเองเป็นใคร หรือตนเคยไปเรียนมาตอนไหน นอกจากนั้น พวกเขายังอ้างอีกว่าเป็นสิ่งที่สอนกันไม่ได้ ซ้ำยังพร้อมจะฉีกร่างของใครก็ตามที่กล้าเอ่ยปากแย้งว่ามันสอนได้อีกด้วย”

เรื่องราวนี้กล่าวถึงเรือซึ่งมีผู้คนอยู่มากมาย แต่ผู้นำในเรือไม่ค่อยมีความรู้เรื่องการเดินเรือและมีคุณสมบัติอื่นๆ ที่ไม่เหมาะกับหน้าที่ควบคุมเรือ เช่น มีศักยภาพทางกายบางอย่างที่ดีกว่าคนอื่น แต่ก็เป็นลักษณะที่ไม่ได้เกื้อหนุนการเดินเรือ ส่วนคุณสมบัติที่จำเป็นต้องใช้เดินเรือกลับด้อยกว่าคนอื่น โดยรวมแล้วเขาจึงมีคุณภาพพอๆ กับคนทั่วไปซึ่งก็ไม่ได้มีความรู้ความชำนาญในการเดินเรือเช่นกัน ผลที่ตามมาก็คือทุกคนเชื่อว่าตนเองถูกโดยไม่มีใครฟังใคร เรื่องราวต่อมาก็คือ

“ทุกๆ คนมักกรูกันเข้าไปห้อมล้อมตัวเจ้าของเรืออยู่เสมอเพื่อร้องขอ และยินดีทำทุกอย่างเพื่อให้เขายอมยกหน้าที่ต้นหนให้แก่ตน บางครั้งบางครามีคนบางคนโน้มน้าวได้สำเร็จ แต่ฝ่ายล้มเหลวก็มักจะฆ่าอีกฝ่ายทิ้งเสีย หรือไม่ก็จับพวกเขาโยนออกจากเรือไป จากนั้นก็จะทำการกล่อมเจ้าของเรือผู้สูงส่ง โดยใช้ยานอนหลับบ้าง ใช้เหล้าองุ่นบ้าง หรือใช้สิ่งต่างๆ อีกมากมาย จนพวกเขาได้ขึ้นปกครองเรือลำนั้น พวกเขาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทุกอย่างในเรือ ดื่มกินกันจนเกลี้ยงและเดินเรือเหมือนอย่างที่เรารู้กันว่าคนประเภทนี้น่าจะเดินเรือกันอย่างไร”

จะเห็นได้ว่าแม้คนบนเรือไม่มีความรู้เรื่องการเดินเรืออยู่ก็ตาม แต่พวกเขากลับกระหายที่จะควบคุมเรือตามความคิดของตนและพยายามมีบทบาทนำ ทำให้ใช้สารพัดวิธีตะเกียกตะกายไปสู่ตำแหน่งนั้น อาจใช้ศิลปะการคำพูดเพื่อเอาชนะใจ แต่ก็ถูกคนอื่นขับไล่เพื่อแก่งแย่งอำนาจในเวลาต่อมา พอคนเก่าหายไปคนใหม่ก็ใช้วิธีต่างๆ ในการเข้าสู่ตำแหน่งเช่นกัน แต่ไม่ว่าใครได้อำนาจไปก็จะใช้อย่างสะเปะสะปะตามใจ นอกจากนี้ ยังหลงตัวเองเพราะขาดความรู้ที่แท้จริงและการยกย่องสรรเสริญคนประเภทเดียวกัน ขณะที่คนมีความรู้ความชำนาญจริงๆ กลับไม่ได้รับการชื่นชม เพราะคนไม่มีความรู้ย่อมมองไม่เห็นคุณค่าของความรู้ที่ตนไม่มีหรือไม่รู้จักนั่นเอง ดังที่กล่าวไว้ว่า

“นอกจากนี้ พวกเขายังพากันใช้คำเรียก เช่น นักเดินทะเลผู้ชำนาญ ต้นหน หรือผู้รอบรู้เรื่องเรือเดินสมุทร เพื่อสรรเสริญผู้มีความเก่งกาจ รู้วิธียึดอำนาจปกครองเรือ ไม่ว่าจะด้วยการพูดจาโน้มน้าว หรือด้วยการใช้กำลังบังคับเจ้าของเรือก็ตาม ส่วนคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประเภทเดียวกับตนก็จะถูกประณามว่าไร้ประโยชน์ อนิจจา คนเหล่านี้ไม่รู้หรอกว่าต้นหนอันจริงแท้นั้น จำเป็นจะต้องใส่ใจต่อเดือนปี ฤดูกาล ท้องฟ้า ดวงดาว สายลม และทุกสิ่งซึ่งศิลปะแขนงดังกล่าวได้กำหนดเอาไว้ ผู้ชำนาญด้านการปกครองเรือจะต้องเคยได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้มาก่อน กระนั้น พวกเขาก็ยังไม่เชื่อว่าจะมีศิลปะแขนงใดช่วยให้ตนถือครองพังงาได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคนอื่นๆ ก่อน และศิลปะดังกล่าวยังต้องฝึกฝนควบคู่ไปกับศิลปะของต้นหนได้อีกด้วย ดังนั้น ขณะเหตุโกลาหลเหล่านี้กำลังเกิดขึ้น เจ้าเชื่อหรือไม่ว่าต้นหนอันจริงแท้นั้น จริงๆ ก็คือผู้ถูกเรียกว่านักดูดาว ผู้ซึ่งคนอื่นๆ ซึ่งเป็นผู้เดินเรือลำนั้นเห็นว่าเป็นเพียงนักพล่ามไร้สาระ และไร้ประโยชน์ต่อพวกเขานั่นเอง”

เพลโตคิดว่าผู้ปกครองไม่ต่างอะไรกับผู้นำในการเดินเรือที่ต้องอาศัยทักษะหรือความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางจึงจะทำได้ถูกต้อง การเดินเรือเป็นศาสตร์ที่ต้องฝึกฝนจนชำนาญฉันใด การปกครองก็ฉันนั้น ผู้ปกครองจึงต้องมีความสามารถทางการปกครองและผ่านการศึกษาเรียนรู้ในศาสตร์การปกครองมาแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงมีเฉพาะบางคนที่มีคุณสมบัติเป็นผู้ปกครอง ไม่ใช่ใครๆ ก็เป็นได้ เขาเห็นว่าผู้ปกครองที่ถูกต้องเหมาะสมคือคนส่วนน้อยที่เรียกว่า “ราชาปราชญ์” (philosopher king) เป็นนักปรัชญาที่รู้ “ความจริงแท้” (reality) และมีศักยภาพในการเห็นคุณค่าและผลประโยชน์ที่แท้จริงของรัฐ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ ภูมิปัญญาของราชาปราชญ์นี้เป็นความจริงนิรันดร์ที่ไม่แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ต่างกับคนหมู่มากที่มีเพียงแค่ความเห็นไปต่างๆ นานาเท่านั้น

เพลโตระบุถึง “นักดูดาว” ซึ่งเป็นผู้เดียวในเรือที่รู้เรื่องดาราศาสตร์ วิชาดูดาวนี้เป็นความรู้ที่จำเป็นต่อการบ่งบอกทิศทางและควบคุมการเดินเรือ ทว่า กลับไม่มีใครมองเห็นคุณค่าและประโยชน์ของนักดูดาว เพราะคนบนเรือไม่มีความรู้ที่แท้จริงว่าการเดินเรือต้องอาศัยภูมิปัญญาใดบ้าง เมื่อปล่อยให้เรือล่องไปภายใต้การนำของคนหมู่มากที่ปราศจากความรู้ ชะตากรรมของเรือย่อมเดินไปสู่หายนะและความล่มจมในที่สุด

รัฐนาวาเป็นอุปมาที่เพลโตใช้โจมตีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ทัศนะเช่นนี้ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ดังที่ปรากฏให้เห็นการแบ่งแยกชนชั้นและดูหมิ่นดูแคลนการเลือกตั้งจากคนบางกลุ่มที่คิดว่าตนเหนือกว่า ตัวอย่างเช่น คนที่มีการศึกษาสูงกว่าเหยียดชาวบ้านหรือคนที่มีการศึกษาน้อยกว่าว่าโง่และไม่ควรมีสิทธิเลือกตั้ง ทัศนคติเช่นนี้นำไปสู่การปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยและไม่ยอมรับรัฐบาลจากพรรคที่ได้รับชัยชนะ

แต่อุปมาเรื่องรัฐนาวานี้ใช้ไม่ได้ผลกับประเทศที่ประชาธิปไตยลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงแล้ว ด้วยหลายเหตุผล เช่น ประชาธิปไตยแบบเอเธนส์นั้นไม่เหมือนกับประชาธิปไตยสมัยใหม่ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคือเสรีประชาธิปไตย ประชาธิปไตยแบบเอเธนส์เป็นแบบทางตรงที่มีเฉพาะคนกลุ่มหนึ่งใน “นคร” (polis) เท่านั้นที่มีส่วนร่วมและยึดแต่เสียงส่วนใหญ่ คือนับเพียงปริมาณโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง รวมทั้งไม่มีหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานและเสรีภาพของปัจเจกชนแบบในสมัยปัจจุบันด้วย

ที่สำคัญก็คือประชาธิปไตยสมัยใหม่นั้น รัฐบาลคือผู้ตอบสนองความต้องการของประชาชน และมีหน้าที่ปกปักรักษาสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในรัฐ ดังนั้น แม้ผู้ปกครองจำเป็นจะต้องมีความรู้ความสามารถอยู่มากก็ตาม แต่เป็นความรู้ทั่วไปที่ใครก็เรียนรู้และพัฒนาได้ ไม่ใช่ทักษะเฉพาะที่มีเพียงแต่นักปรัชญาเท่านั้นที่รู้ ยังไม่นับเหตุผลอื่นๆ อีก เช่น ความจริงแท้อันเป็นนิรันดร์แบบที่เพลโตเชื่อนั้นไม่สามารถพิสูจน์ได้ ต่อให้พิสูจน์ได้ก็ตอบไม่ได้อยู่ดีว่าทำไมชีวิตของทุกคนจึงจำเป็นต้องมุ่งไปสู่เป้าหมายนั้น